วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ มุขปาฐะ อัศจรรย์การทรงจำสืบทอดคำสอน

 

เรื่องเด่น     
 
เรื่อง : Tipitaka
 
มุขปาฐะ   อัศจรรย์การทรงจำสืบทอดคำสอน
มุขปาฐะ   อัศจรรย์การทรงจำสืบทอดคำสอน
มุขปาฐะ   อัศจรรย์การทรงจำสืบทอดคำสอน
มุขปาฐะ   อัศจรรย์การทรงจำสืบทอดคำสอน
 
 
       พระไตรปิฎกบาลี เป็นพระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนาเถรวาทที่สืบทอดรักษาต่อ ๆ กันมาเป็นภาษาบาลี ซึ่งถือเป็นพระไตรปิฎกที่มีเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์และเก่าแก่ดั้งเดิมที่สุด มีเนื้อหาแบ่งเป็น      ๓ หมวด ได้แก่ พระวินัยปิฎก คือ บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติของคณะสงฆ์ พระสุตตันตปิฎก คือ ประมวลพระธรรมเทศนาและเรื่องราวต่าง ๆ เมื่อครั้งพุทธกาล และ พระอภิธรรมปิฎก คือ ประมวลเนื้อหาธรรมล้วน ๆ ไม่มีบุคคล สถานที่ และเหตุการณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง 
 
มุขปาฐะ   อัศจรรย์การทรงจำสืบทอดคำสอน
 
     พระไตรปิฎกบาลีเดินทางไกลผ่านกาลเวลามาประมาณ ๒,๖๐๐ ปี สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจน   มาถึงปัจจุบัน แต่แทบไม่น่าเชื่อว่าการสืบทอด     ดังกล่าวจะมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่อินเดียโบราณ   ในยุคที่ปราศจากเทคโนโลยีสื่อสารคมนาคม แม้แต่การขีดเขียนตัวอักษรก็ยังไม่แพร่หลาย    ในสังคมอินเดียยุคนั้น จึงนับเป็นเรื่องอัศจรรย์ไม่น้อยที่พระธรรมคำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ได้รับการสืบทอดต่อกันมาจนถึงมือเรา
 
      วิธีการเดียวในการสืบทอดพระธรรมและพระวินัยในครั้งพุทธกาล คือ การสวดทรงจำ ซึ่งนิยมเรียกว่า “มุขปาฐะ” โดยมีจุดเริ่มต้นจาก  พระภิกษุสงฆ์ที่เดินทางไปรับฟังพระวินัยและ  พระธรรมเทศนาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า     จากนั้นก็ทรงจำคำสอนนั้นไปถ่ายทอดให้แก่       พระภิกษุสงฆ์ในแคว้นต่าง ๆ 
 
มุขปาฐะ   อัศจรรย์การทรงจำสืบทอดคำสอน
 
     พระภิกษุเหล่านี้คือพระภิกษุที่จำพรรษาอยู่ในแคว้นต่าง ๆ เมื่อเสร็จสิ้นการอยู่จำพรรษา ก็จะเดินทางไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าตามธรรมเนียมปฏิบัติในครั้งพุทธกาล เพื่อศึกษา   พระธรรมคำสอนและพระวินัยที่ทรงแสดงเพิ่มเติมในพรรษานั้น ๆ ณ เชตวันมหาวิหารและวัดบุพพารามในกรุงสาวัตถี ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงจำพรรษาตลอดต่อเนื่องนานถึง ๒๕ พรรษา 
 
     พระภิกษุอาคันตุกะที่เดินทางไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในครั้งนั้นจะพักแรมในที่พักที่จัดแบ่งตามความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านของ พระภิกษุ เช่น กลุ่มที่ชำนาญพระสูตร กลุ่มที่ชำนาญพระวินัย เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเลือกศึกษา พระวินัย พระธรรม หรือพระสูตรตามที่ตนสนใจ เมื่อสามารถสวดทรงจำพระธรรมวินัยที่ศึกษาได้ขึ้นใจแล้ว ก็จะกราบทูลลาจาริกไปในแคว้นต่าง ๆ และนำพระธรรมคำสอนที่เพิ่งศึกษามาไปถ่ายทอดแก่พระภิกษุอื่นต่อ ๆ กันไป  พระวินัยและ   พระธรรมจึงได้รับการถ่ายทอดไปยังพระภิกษุ   ทั้งแผ่นดินโดยทั่วถึงกันด้วยการสวดทรงจำนี้เอง 
 
     ต่อมา เมื่อการเขียนบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแพร่หลายมากขึ้น พระไตรปิฎกจึงได้รับการจารลงในคัมภีร์ใบลานบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อราวปี พ.ศ. ๔๐๐ เศษ ๆ และวิธีการในการบันทึกพระไตรปิฎกก็ได้ปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าขึ้น จากคัมภีร์ใบลานเป็นพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ จากพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์เป็นพระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าคัมภีร์ใบลานเป็นจำนวนมากถูกปล่อยปละละเลย ทำให้บางส่วนผุกร่อนไปตามกาลเวลา บางส่วนก็สูญหายไป อีกทั้งผู้ที่สามารถอ่านอักษรโบราณก็มีน้อยลงไปทุกที
 
      โครงการพระไตรปิฎกจึงรวบรวม อนุรักษ์ และถ่ายภาพคัมภีร์ใบลานอันเป็นหลักฐานชั้นต้นของพระไตรปิฎกที่เก่าแก่ที่สุดเป็นข้อมูลดิจิทัลที่ง่ายต่อการเก็บรักษาและสะดวกต่อการนำมาศึกษา พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูลพระไตรปิฎกจากคัมภีร์ใบลานดังกล่าว เพื่อศึกษาเปรียบเทียบด้วยความร่วมมือกันของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญพระไตรปิฎกและภาษาบาลีจากหลากหลายชาติ เช่น ศรีลังกา พม่า ไทย อังกฤษ เป็นต้น จนกระทั่งสามารถสรุปหลักฐานคัมภีร์ใบลานจากสายจารีตต่าง ๆ เป็น
 
พระไตรปิฎกบาลี ฉบับธรรมชัย เล่มสาธิต คือ คัมภีร์สีลขันธวรรค ได้เป็นผลสำเร็จเรียบร้อยแล้ว
 
     ทางโครงการจึงจัดงานสัมมนาพระไตร-ปิฎกบาลีในหัวข้อเรื่อง “การสืบทอดพุทธธรรม จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน” ขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ เพื่อเปิดตัวพระไตรปิฎก-บาลีเล่มสาธิตดังกล่าว โดยได้รับเกียรติจาก    นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิจากนานาประเทศมาให้ความรู้เกี่ยวกับการสืบทอดพระไตรปิฎกบาลี     ตั้งแต่ยุคมุขปาฐะ การสวดทรงจำด้วยปากเปล่า การจารจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรลงบนวัสดุต่าง ๆ การตีพิมพ์บนกระดาษ และการเก็บรักษาพระไตร-ปิฎกในรูปแบบดิจิทัล นอกจากนี้ภายในงานยังจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการสืบทอดพุทธธรรมตั้งแต่ยุคพุทธกาลจนถึงยุคปัจจุบันให้   ผู้สนใจทั่วไปเข้าชมด้วย 
 
พระไตรปิฎกบาลี ฉบับธรรมชัย เล่มสาธิต คือ คัมภีร์สีลขันธวรรค ได้เป็นผลสำเร็จเรียบร้อยแล้ว
 
      ขณะนี้ โครงการพระไตรปิฎกได้นำนิทรรศการดังกล่าวมาจัดแสดงไว้ที่สภาธรรมกายสากล ท่านที่สนใจศึกษาเพิ่มเติมสามารถเข้าชมได้ที่เสา N24 (ฒ 24) ทุกวันอาทิตย์ เข้าชมนิทรรศการ  ครั้งนี้แล้ว ท่านจะได้เรียนรู้เรื่องการสืบทอดพุทธธรรม ๒,๖๐๐ ปี ได้ภายใน ๑ วัน
 
Prof. Richard Gombrich  ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Oxford
 
Prof. Richard Gombrich  ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Oxford 
เจ้าของงานวิจัยสำคัญที่นักวิชาการในวงการบาลีโลกใช้อ้างอิง ให้เกียรติมาบรรยายเรื่องการสืบทอด
พุทธธรรมด้วยมุขปาฐะ ซึ่งเป็นกระบวนการสืบทอดคัมภีร์พระพุทธศาสนาในยุคแรก
 
 
คุณนิวัฒน์ธำรง  บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  คุณนิวัฒน์ธำรง  บุญทรงไพศาล
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  
 
      “ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาร่วมงานสัมมนาพระไตรปิฎกบาลี ที่รวบรวมมาจากพระไตรปิฎกใบลาน จากใบลานทั้งหมด ๔ จารีต จากอักษรต่าง ๆ คือ พม่า ขอม สิงหล และ   ล้านนา โดยมีการนำใบลานทั้งหลายมาถ่ายรูปเก็บไว้ในอมพิวเตอร์ ซึ่งจะช่วยให้คงอยู่ถาวรตลอดไป นอกจากนั้นยังสามารถที่จะเปรียบเทียบใน   จารีตต่าง ๆ ได้ง่าย ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ดีมากที่เราจะเก็บรวบรวมพระไตรปิฎกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเล่าเรียนต่อไป  โดยไม่จำเป็นจะต้องไปค้นหาด้วยตัวเอง แต่เข้ามาที่ข้อมูลตรงนี้ก็สามารถดูได้ทั้งหมดทุกจารีตที่มี ขอชื่นชมคณะทำงาน และเชื่อมั่นว่า สิ่งที่ทำนี้จะเป็นประโยชน์กับพุทธศาสนิกชนทั่วไป และจะช่วยธำรงพระพุทธศาสนาด้วย” 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 128 มิถุนายน ปี2556

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล