ข้อคิดรอบตัว
เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D.) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
ความรู้เกี่ยวกับ
การทำทาน
การทำบุญกับการทำทานเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?
ถ้ามองไปถึงที่สุดต้องถือว่าคล้าย ๆ กัน แต่ที่ใช้แยกเป็นทำบุญทำทาน เพราะเป็นนัยว่า ถ้าทำบุญจะเป็นการทำกับผู้ที่มีสถานะสูงกว่า มีคุณธรรมสูงกว่า เช่น ทำบุญกับพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น ส่วนการทำทานมีนัยในเชิงว่า เป็นการทำทานทั่วไป เห็นคนลำบากยากจนก็ไปช่วยกัน ก็เลยเรียกว่าเป็นการให้ทาน อย่างนี้เป็นต้น แต่จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นการให้กับใครก็ได้บุญ ทั้งนั้น จะได้มากหรือน้อยแล้วแต่กรณี
อานิสงส์ในการทำบุญทำทานเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?
ถ้าหากจะทำบุญให้ได้บุญเยอะ จะทำทานให้ได้บุญมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าต้องประกอบด้วยบริสุทธิ์ ๓ ประการ คือ
๑. วัตถุบริสุทธิ์ คือ ได้ทรัพย์มาด้วยความถูกต้อง ไม่ได้ทุจริตฉ้อโกงใครมา
๒. เจตนาบริสุทธิ์ คือ ตัวเราเองทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ มีศรัทธาเต็มเปี่ยม
๓. บุคคลบริสุทธิ์ คือ บุคคลที่เราให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ยิ่งมีศีลมีคุณธรรมสูงเท่าใด เราก็ได้บุญมากไปตามส่วน
ท่านจึงเปรียบพระภิกษุเหมือนเนื้อนาบุญ ใครทำนาบนเนื้อนาดีย่อมได้รับผลตอบแทนดี ข้าวก็ออกเต็มรวง ถ้าเป็นนาดอนแห้งแล้งไม่มีปุ๋ย ก็ได้ผลผลิตแค่นิด ๆ หน่อย ๆ ท่านเปรียบอย่างนั้น บริสุทธิ์ ๓ เมื่อไรได้บุญมาก
การทำทานด้วยเงิน สิ่งของ หรือใช้ แรงกายช่วยงานพระพุทธศาสนา ได้ รับอานิสงส์ต่างกันอย่างไร ?
ได้บุญทุกกรณี ไม่ว่าให้ทานเป็นสิ่งของหรือปัจจัยก็ได้บุญ เพราะว่าเสร็จแล้วท่านก็เอาไปจัดหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพระศาสนามาใช้ได้ หรือเวลาเห็นวัดมีการก่อสร้าง เราเอาไม้เอาปูนไปช่วยก็ได้บุญ หรือจะถวายเป็นปัจจัยให้ท่านไปจัดหาอุปกรณ์มาดำเนินการก่อสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลา ก็ได้บุญเหมือนกัน แล้วแต่ความสะดวก เพียงแต่ในยุคหลัง ๆ รู้สึกว่า ถ้าเป็นปัจจัยก็ง่ายต่อการนำไปใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์
บางกรณีซื้อถังสังฆทานไปถวายพระ ท่านรับมาแล้วก็เรียงอยู่ในกุฏิหลายถัง ไม่ได้แกะออกมาใช้ อย่างนี้บุญก็ยังได้อยู่ แต่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นไม่เต็มที่ เพราะถวายสิ่งที่ท่านไม่ได้ใช้ อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นให้พิจารณาดูว่า เวลาถวายพระ ของที่ถวายควรเป็นของที่ท่านได้ใช้จริง ๆ ถ้าเราเอาแรงกายไปช่วยก็เป็นบุญอีกแบบ ที่เรียกว่า ไวยาวัจจมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายการงานที่ชอบ ไม่มีเงินก็ช่วยด้วยกำลังกาย หรือบางทีต้องการสติปัญญา ความคิด อย่างนี้ถ้าไปช่วยเราก็ได้บุญ
การทำบุญทำทานกับพระภิกษุ มนุษย์ และสัตว์ ได้อานิสงส์ต่างกันไหม ?
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้หลักไว้ว่า การให้ทานจะได้บุญมากต้องประกอบด้วยบริสุทธิ์ ๓ ข้อ ๑ สมมุติว่าทรัพย์ที่เราได้มาเป็นทรัพย์ก้อนเดียวกัน อันนี้ถือว่าทุกคนได้บุญเท่ากัน ข้อ ๒ อยู่ที่ว่าก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ เรามีความเลื่อมใส ศรัทธาขนาดไหน เช่น ก่อนทำปลื้มอกปลื้มใจ มีปีติ มีศรัทธามาก เห็นประโยชน์ ตั้งใจทำบุญจริง ๆ ถ้าศรัทธาเหนียวแน่นมากอย่างนี้ได้บุญเยอะ ระหว่างถวายปลื้มปีติมาก หลังถวายนึกถึงบุญนี้ทีไรก็ชื่นใจ ไม่รู้สึกเสียดาย บางคนก่อนถวาย ระหว่างถวายรู้สึกปลื้ม แต่ถวายเสร็จแล้วมาคิดว่า เมื่อครู่ถวายมากไปหน่อย ถ้าถวายน้อยลงสักครึ่งหนึ่ง เราจะมีเงินเหลือมากขึ้น คิดอย่างนี้ต่อไปพอบุญส่งผลจะทำให้รวย แต่รวยแล้วจะเกิดความตระหนี่ ไม่อยากใช้ทรัพย์ เป็นเศรษฐีแต่ว่าต้องใส่เสื้อขาด ๆ หรือเวลาซื้อผลไม้ต้องซื้อแบบเน่าไปครึ่งลูก เวลากินต้องแอบกินไม่ให้ใครเห็น กลัวเขาจะขอ คือมีทรัพย์แต่ว่าใช้ทรัพย์ได้ไม่เต็มที่ เพราะความเสียดาย อีก ๑ ข้อ คือข้อ ๓ ผู้รับเป็นผู้ที่มีคุณธรรมมากเพียงใด ถ้ามีคุณธรรมมาก เวลาผู้รับนำสิ่งที่เราถวายไปบริโภคใช้สอย แล้วเอาเรี่ยวแรงกำลังที่เกิดขึ้นไปทำความดี เราก็ได้บุญมากไปตามส่วน ตัวตัดสินอยู่ตรงนี้
ถ้าให้เงินขอทานหรือคนยากจนแล้วเขาเอาไปทำในสิ่งที่ผิด เราจะมีส่วนในบาปกับคนเหล่านั้นหรือไม่ ?
ตัวผู้ให้ไม่บาป แต่จะได้บุญแค่ไหนขึ้นอยู่ที่ผู้รับนำไปทำคุณประโยชน์หรือความดีมากแค่ไหน ต่างจากที่เราสนับสนุนให้เขานำเงินไปทำอะไรที่ไม่ถูก ไม่ดี
เห็นเด็กนั่งขอทานรู้สึกสงสาร แต่ไม่รู้ว่าเด็กถูกหลอกมาขอทานหรือเปล่า ถ้าเราไปช่วยจะผิดไหม ?
ถ้าเราไม่สบายใจ อย่าทำ แต่ถ้าอยากทำ ให้ทำเลย ถ้าเรารู้สึกว่าเป็นแก๊งขอทานแน่ ไม่อยากให้ เพราะให้แล้วเหมือนสนับสนุนให้เขาเอาเด็กมาทรมาน อย่าให้ ถ้าให้โดยที่เราคิดอย่างนี้ มันเหมือนการสนับสนุน เราจะมีส่วนหน่อย ๆ แต่ถ้าเราไม่ได้คิดอย่างนี้ เราอยากจะช่วยเขาแล้ว เราก็ให้โดยใจเราไม่ได้คิดสงสัยอะไร อันนี้เราไม่มีส่วนในบาปใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเราให้ด้วยจิตที่เมตตา แต่ถ้าเราเกิดความระแวงขึ้นมา ไม่ต้องให้
อยากถวายสังฆทานเป็นถัง ไปซื้อก็กลัวเป็นของเก่า ควรทำอย่างไรดี ?
บางคนเวลาพูดถึงสังฆทานก็นึกถึงถังเลย ในนั้นมีผงซักฟอก มีผ้าไตรเล็ก ๆ สบงเล็ก ๆ มีอะไรต่าง ๆ นานา
การถวายสังฆทานคือการถวายแด่สงฆ์โดยไม่เฉพาะเจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง มีพระมานั่งเรียงอาจจะ ๔ รูป ๙ รูป ก็แล้วแต่ ไปถึงแล้วนั่งตรงรูปไหน ก็ถวายรูปนั้น ถือว่าเป็นการถวายสงฆ์โดยภาพรวม แล้วแต่สงฆ์จะนำไปใช้อะไร สังฆทานจริง ๆ คืออย่างนี้ แต่บางครั้งคนไม่ค่อยรู้ธรรมเนียมพระ ไม่รู้จะเตรียมอะไรไปถวาย พอไปที่ร้านสังฆภัณฑ์เห็นถังสำเร็จรูป ก็รู้สึกว่ามันง่ายดี เลยซื้อไปถวายพระ
แต่ความต่างอยู่ที่ว่า การถวายพระต่างจากการซื้อของมาใช้เอง ถ้าซื้อมาใช้เอง ได้ของไม่ดี เราไปต่อว่าเขาได้ แต่การถวายของพระเป็นสิ่งที่คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ ถวายเสร็จพระเปิดดูอาจจะเจอนมบูด หรือผ้าสบงผืนนิดเดียว สามเณรยังใส่ไม่ได้เลย เพราะคนขายต้องการกำไรมาก ๆ เลยตัดผืนเล็กนิดเดียว ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ กรณีอย่างนี้ถ้าหากเราเตรียมเครื่องสังฆทานเองได้ก็ดี ถ้าถวายเป็นอาหารให้ถวายก่อนเพล แต่ถ้าเป็นเครื่องดื่ม น้ำปานะ ถวายหลังเพลพอได้ พวกของใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอกอะไรต่าง ๆ ก็ถวายได้
การถวายสังฆทานพระต้องครบ ๔ รูปไหม ?
ต้องมี ๔ รูปขึ้นไปจึงจะนับว่าเป็นสงฆ์ แต่การที่เราไปถวายสังฆทาน เราถือว่าพระท่านเป็นตัวแทนมา จะมารับรูปเดียวเราก็ถวายได้ไม่เป็นไร
นอกจากการกรวดน้ำ มีวิธีไหนที่จะอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับได้อีกบ้าง ?
การกรวดน้ำเวลาอุทิศส่วนกุศลนั้นเป็นอุบายอย่างหนึ่ง เพราะคนทั่วไปไม่ค่อยได้ฝึกสมาธิ ถึงคราวอุทิศส่วนกุศลก็เหมือนเครื่องส่งที่สัญญาณไม่ค่อยแรง แต่ถ้าใจใครเป็นสมาธิ เวลาส่งบุญไปมันจะแรง จึงมีอุบายเอาน้ำมากรวด จะได้อาศัยจังหวะที่น้ำรินไหลช่วยให้ใจจดจ่อ ไม่คิดฟุ้งซ่าน พอใจเป็นสมาธิเครื่องส่งก็จะแรงขึ้น บุญจะได้ส่งไปเต็มที่มากขึ้น
แต่บางคนนึกว่าบุญมาจากสายน้ำที่ไหล เลยเอามือไปจ่อ ความจริงที่เขาเอานิ้วไปจ่อก็เพราะว่า เวลาเทน้ำมันย้อยก้น เลยเอานิ้วไปจ่อที่ปากแก้ว น้ำจะได้ไหลตามนิ้วมือลงไป ไม่หกเลอะเทอะ ถ้ามีที่กรวดน้ำเป็นกิจจะลักษณะ เช่น เป็นโถที่เทแล้วไม่ย้อยก้น ก็เทลงไปได้เลย แล้วจังหวะที่น้ำไหลก็เอาใจจดจ่อที่น้ำ จะช่วยให้เป็นสมาธิได้ในระดับหนึ่ง แม้ในช่วงสั้น ๆ ก็ตาม จะได้ส่งบุญไปด้วยกำลังที่แรงขึ้น
แต่ถ้าคนที่เคยฝึกสมาธิมา ถึงแม้ไม่ได้กรวดน้ำก็ส่งบุญได้ สมมุติว่าไปกัน ๒๐ - ๓๐ คน มีตัวแทนกรวดน้ำสักคนหนึ่ง คนอื่นพนมมือรับพร แล้วทำใจเป็นสมาธิ นึกให้บุญกุศลที่เกิดขึ้นไปถึงหมู่ญาติที่ละโลกไปแล้ว
ตอนกรวดน้ำต้องมีบทสวดอะไรหรือ เปล่า ?
ไม่จำเป็น บทสวดอิมินา สักกาเรนะ...ที่เป็นบทกรวดน้ำ เป็นอุบายช่วยคนที่ยังไม่เคยฝึกสมาธิให้มีสมาธิมากขึ้น จะได้ส่งบุญไปได้แรงขึ้นเท่านั้น แล้วถือเป็นธรรมเนียมต่อ ๆ กันมา แต่ถ้าเราเคยฝึกสมาธิอยู่แล้ว หลักจริง ๆ คือให้นึกถึง ผู้ที่เราจะอุทิศบุญไปให้ ให้นึกถึงเขาใส ๆ ที่กลางท้องของเรา อย่างนี้บุญแรงที่สุด อุทิศให้ผู้ที่ละโลกไปแล้วได้ บุญส่งได้เต็มที่ยิ่งกว่าการกรวดน้ำเสียอีก
ถ้าเรากรวดน้ำไปให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่จะถึงไหม ไม่ถึง กรวดให้ได้แต่ผู้ที่ละโลกไปแล้วและอยู่ในภพภูมิที่เหมาะสม ถ้าตกมหานรกขุมลึก ๆ ไม่ถึงเหมือนกัน แต่บุญจะไปรออยู่ พ้นกรรมจากมหานรกขึ้นมาเกิดในยมโลกเมื่อไร บุญจึงจะไปถึง แต่ถ้าไปเกิดเป็นเปรตบางประเภท หรือเป็นเทวดา บุญไปถึง ถ้าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานบุญไปไม่ถึง
แล้วถ้าผู้มีพระคุณของเรายังมีชีวิตอยู่ เราอยากให้ท่านได้บุญด้วย ต้องทำอย่างไร ให้บอกท่านว่า เราไปทำบุญอย่างนี้ ๆ มา แล้วให้ท่านอนุโมทนา ถ้าท่านอนุโมทนา ท่านก็ได้บุญด้วย เป็นปัตตานุโมทนามัย จะส่งบุญให้มนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องบอกให้เขาอนุโมทนา ส่วนการกรวดน้ำกรวดให้ผู้ที่ละโลกไปแล้ว
การอุทิศบุญให้คนอื่นทำให้บุญเราหมดไหม ?
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ว่าทางมาแห่งบุญ โดยย่อมี ๓ ข้อ คือ ทาน ศีล ภาวนา ถ้าขยายละเอียดขึ้นมี ๑๐ ข้อ หนึ่งในนั้นคือปัตติทานมัย (บุญสำเร็จด้วยการอุทิศส่วนกุศล) ถามว่าทำอย่างนี้แล้วบุญหมดไหม ไม่หมด เพราะการอุทิศส่วนกุศลเป็นทางมาแห่งบุญอย่างหนึ่ง เหมือนใครมีเทียนอยู่เล่มหนึ่ง ยิ่งจุดต่อกันไปก็ยิ่งสว่างขึ้นทั่วถึงกัน เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัวเรื่องนี้ ให้ใจเรามีเมตตาจิต แล้วอุทิศส่วนบุญนี้ไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ ฝึกให้เป็นนิจ แล้วเราจะเป็นคนที่ไม่มีเวรไม่มีภัยต่อใคร
การชวนคนทำบุญได้อานิสงส์อย่างไร ?
จะเป็นอานิสงส์ติดตัวไปเลยว่า ต่อไปถ้าเรามีทรัพย์แล้วจะไม่มีทรัพย์แบบโดดเดี่ยว แต่จะมีเพื่อนฝูงคนรู้จักที่เป็นคนดีมีทรัพย์ตามไปด้วย คนที่ทำบุญคนเดียวไม่ชวนใคร ต่อไปจะรวยแต่ไม่มีเพื่อน คนบางคนชอบชวนคนอื่นเขาทั่วไปหมด แต่ตัวเองไม่ทำ ต่อไปจะมีเพื่อนมหาเศรษฐีเป็นใหญ่เป็นโตมากมาย ตัวเองไม่รวย แต่ภูมิใจว่ามีเพื่อนรวย บางคนทั้งไม่ชวนใคร แล้วตัวเองก็ไม่ทำด้วย แถมใครมาชวนยังว่าเขาอีก ถ้าอย่างนี้
ต่อไปจะจน เพื่อนฝูงก็ไม่มี ถ้ามีก็มีแต่เพื่อนจน ๆ แต่คนไหนทำบุญด้วยตัวเองด้วย ชวนคนอื่น ทำด้วย ต่อไปจะมีทรัพย์มาก มีชื่อเสียงเกียรติยศ ทุกคนยอมรับ แล้วพรรคพวกเพื่อนฝูงทุกคนมี พาวเวอร์หมดเลย จะเป็นสมาคมมหาเศรษฐี ทำอะไรสำเร็จหมด เพราะมีเครือข่ายเพื่อนฝูง เกื้อหนุนกัน อะไรก็ง่ายไปหมด ฉะนั้นทำความดีอย่าทำคนเดียว ให้ชวนคนอื่นทำกันเยอะ ๆ ด้วย
วิธีไปบอกบุญต้องทำอย่างไร ?
คนที่เขาชวนเพื่อนไปดื่มสุรา เขาเกรงใจไหม ชวนไปดื่มสุราต้องจ่ายเงิน สุขภาพก็เสีย ครอบครัวก็มีปัญหา ที่จริงควรจะเกรงใจ กลับไม่เกรงใจ แต่การชวนกันไปทำความดี ทำแล้วได้บุญกุศลติดตัวไป ตายแล้วยังเอาติดตัวไปได้อีก แบบนี้กลับเกรงใจ เคอะ ๆ เขิน ๆ อย่าไปเกรงใจ ให้ชวนเต็มที่ ตอนนี้สังคมกลับตาลปัตร ชวนกันไปเที่ยว ไปดื่มสุรา ไม่เกรงใจ แต่ชวนทำความดี เกรงใจ ทำให้ทุกอย่างเริ่มเป๋ สังคมเลยแย่ ฉะนั้นเราต้องกลับให้มาอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง ชวนทำดีต้องกล้าชวนเสียงดัง ชวนทำสิ่งไม่ดี ต้องให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดปกติ อย่างนี้แล้วสังคมจะสงบร่มเย็น ศีลธรรมจะกลับคืนมาสู่โลก
เวลาชวนคนทำบุญ ทำความดี เขามักจะมีข้อจำกัดเรื่องเวลา ควรทำอย่างไร ?
ถ้าเขาไม่มีเวลาจริง ๆ ก็ฝากมาทำได้ แต่มีข้อคิดนิดหนึ่ง คือปัจจุบันแต่ละคนรู้สึกว่าตัวเองงานยุ่งทั้งนั้น แต่เชื่อไหมคนที่ว่ายุ่ง ๆ ถ้าเขาชอบคอนเสิร์ต แล้วมีคอนเสิร์ตดัง ๆ มา เขาบอกพอมีเวลาดู อย่างพวกแฟนฟุตบอล เวลามีฟุตบอลโลกทีไรไม่ค่อยมีปัญหา ตี ๑ ก็ดูได้ ตี ๓ ก็ดูได้ อยู่ที่ว่าเขาเห็นความสำคัญหรือเปล่า คนเราถ้าเห็นความสำคัญของอะไร จะมีเวลาให้สิ่งนั้น และแต่ละคนจะสามารถจัดสรรตัวเองได้ แล้วถ้าเขาจัดสรรเวลาให้กับบุญกุศล มาทำความดี สวดมนต์ นั่งสมาธิ เขาจะพบว่า ชีวิตเขาเป็นระเบียบมากขึ้น แล้วเวลาในชีวิตที่มีอยู่จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะคุณภาพชีวิตดีขึ้น คุณภาพของการใช้เวลาดีขึ้น