บวชเณรล้าน
เรื่อง : มาตา
บรรพชาสามเณรล้านรูปทั่วไทย
สืบต่อลมหายใจพระพุทธศาสนา
ย้อนไปเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ พระเทพญาณมหามุนี(หลวงพ่อธัมมชโย) หรือคุณครูไม่ใหญ่ หารือกับนักเรียนโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง DMC ว่าอีก ๒ ปี ท่านอยากบวชเณรให้ได้ล้านรูป และชวนนักเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาทั่วโลกเป็นเจ้าภาพโครงการบรรพชาสามเณรล้านรูป
ต่อมาในวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ท่านกล่าวถึงเรื่องนี้อีกครั้ง สรุปใจความได้ว่า “เมื่อวานนี้ครูไม่ใหญ่ยกร่างหารือเรื่องบวชเณรล้านรูป ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นเลยในโลกยุคนี้ แต่กำลังจะเกิดในยุคของเรา ดังนั้นนอกจากทำบุญนี้ด้วยตัวของเราเองแล้ว อย่าลืมชวนทิศทั้ง ๖ มาเอาบุญด้วยกัน ตั้งแต่ทิศเบื้องหน้า--บิดามารดา ทิศเบื้องขวา--ครูบาอาจารย์ ทิศเบื้องหลัง--สามีภรรยา ทิศเบื้องซ้าย--มิตรสหาย ทิศเบื้องบน--สมณะ ทิศเบื้องล่าง--บริวาร และเวลาอธิษฐานจิตเราจะต้องนึกถึงภาพสามเณร ๑ ล้านรูป ที่เราจะมีส่วนในการทำให้เกิดขึ้นมาในโลกใบนี้ และให้ร่วมบุญเป็นเจ้าภาพงานบวชได้ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ จนถึงวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙”
๑
หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา นักเรียนโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาซึ่งมีหัวใจตรงกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ก็ร่วมใจกันทำทุกอย่างให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้จริง ๆ โดยทุกคนต่างถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันที่จะต่อสู้เพื่อความยั่งยืนของพระพุทธศาสนาด้วยการปลูกฝังอุดมการณ์ในการดูแลรักษาพระพุทธศาสนาไปยังเยาวชนคนรุ่นใหม่
ภารกิจสำคัญครั้งนี้เริ่มต้นที่โครงการบรรพชาสามเณรแสนรูปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามด้วยโครงการบรรพชาสามเณรล้านรูปในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ (อบรมในเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙) โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง ทั้งจากบ้าน วัด และโรงเรียนซึ่งต่างเห็นคุณค่าของการบวชในครั้งนี้ว่าจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ผู้บวช ครอบครัวสังคม ประเทศชาติ และพระพุทธศาสนาดังนั้นในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนนี้ พวกเราทั้งหลายจึงได้เห็นผ้ากาสาวพัสตร์ทอแสงงามเหลืองอร่ามเต็มแผ่นดิน
๒
สำหรับหลักสูตรในการฝึกอบรมสามเณรโครงการนี้ประกอบด้วยกิจกรรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยอยู่ภายใต้การอบรมดูแลอย่างใกล้ชิดของพระอาจารย์และพระพี่เลี้ยง
ภาคทฤษฎี เรียนรู้พุทธประวัติ ประวัติพุทธสาวก-พุทธสาวิกา หลักธรรมในพระพุทธศาสนา ฯลฯ
ภาคปฏิบัติ สวดมนต์ ทำวัตรเช้า-เย็น ฝึกทำสมาธิ บิณฑบาต ออกกำลังกาย ทำความ
สะอาดเสนาสนะ เดินธุดงค์ พัฒนาวัด และทำกิจกรรมสร้างกระแสศีลธรรมในชุมชน ฯลฯ
เนื่องจากวัยเด็กเป็นวัยที่ใสสะอาดเกลี้ยงเกลา เมื่อได้รับการปลูกฝังสิ่งดี ๆ เหล่านี้ลงไป สามเณรทั้งหลายจึงมีพฤติกรรมในเชิงบวกมากขึ้นอย่างง่ายดาย และเมื่อจบโครงการไปแล้วผลก็คือ พ่อแม่ได้ลูกที่ดีขึ้น ครูอาจารย์ได้ศิษย์ที่ดีขึ้น ตัวเด็กเองก็มีแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น และที่สำคัญมาก ๆ ก็คือขณะนี้พวกเขารู้แล้วว่า พระพุทธศาสนามีความสำคัญอย่างไร และยังรู้ด้วยว่าตนเองก็มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาเช่นกัน ดังนั้นพวกเขาจึงเกิดความคิดที่จะปกปักรักษาพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป ซึ่งผลดี ๆ ที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ ทำให้ทุกฝ่ายที่มีโอกาสเข้ามาสัมผัสรู้สึกชื่นอกชื่นใจเป็นอย่างยิ่ง
๓
นอกจากกิจกรรมที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีกิจกรรมสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการประกวดสามเณรแสดงธรรมระดับประเทศ ชิงทุนการศึกษาพระเทพญาณมหามุนี ในหัวข้อ “อานิสงส์ของการตักบาตร ๑๐๐,๐๐๐ รูปแรกของโลกในยุคนี้เราจะได้อะไร ญาติโยมจะได้อะไร พระพุทธศาสนาจะได้อะไร ประเทศชาติและโลกใบนี้จะได้อะไร”
หลังจากผ่านการแข่งขันแสดงธรรมกันอย่างเข้มข้น ในที่สุดก็มีสามเณร ๖ รูปเข้ารอบสุดท้าย และเมื่อการแข่งขันรอบสุดท้ายเสร็จสิ้นลงก็ปรากฏผลการตัดสินดังนี้
รางวัลชนะเลิศอันดับ ๑
สามเณรวรพรต พันธะไชย (สามเณรโอเด้ง)จากธุดงคสถานแก้วมีชัย จังหวัดร้อยเอ็ด
รางวัลชนะเลิศอันดับ ๒
สามเณรเขมนันต์ แป้นจันทร์ (สามเณรแบม) จากธุดงคสถานพิษณุโลกจังหวัดพิษณุโลก
รางวัลชนะเลิศอันดับ ๓
สามเณรชยุตม์ กล้าณรงค์ (สามเณรเก้า) จากศูนย์อบรม วัดเกาะขวาง จังหวัดจันทบุรี
รางวัลสุดยอดสามเณรขวัญใจญาติโยม
สามเณรพีรพัฒน์ คำเจริญ (สามเณรเอเจ) จาก ศูนย์ปฏิบัติธรรมเบญจธรรม กรุงเทพมหานคร
ส่วนสามเณรที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายอีก ๒ รูป ก็คือ สามเณรศุภกร วงศ์ศรี (สามเณรลีโอ) จากศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติเบตง จังหวัดยะลาสามเณรชัชชัย นาดี (สามเณรถุงเงิน) จากศูนย์อบรมเยาวชนหนองขนาก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๔
ไม่น่าเชื่อว่า การแข่งขันแสดงธรรมในครั้งนี้ก่อให้เกิดการตื่นตัวเป็นกระแสการพัฒนาพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่เลยทีเดียว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ต่างเข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขันด้วย
ในส่วนของสามเณร เริ่มจากการแข่งขันกันระหว่างสามเณรตามศูนย์ต่าง ๆ ทุกศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งทำให้ทุกรูปต้องฝึกเทศน์ ทำให้เกิดการพัฒนาการเทศน์ครั้งยิ่งใหญ่ โดยมีพระอาจารย์และพระพี่เลี้ยงช่วยกันดูแลให้คำแนะนำเกี่ยวกับเนื้อหาในการเทศน์ การออกเสียงควบกล้ำ อักขระกิริยามารยาท บุคลิกภาพ ฯลฯ
ผลจากการซ้อมเทศน์ครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ความรักความหวงแหนในพระพุทธศาสนาค่อย ๆ ซึมลึกเข้าไปอยู่ในใจของสามเณรทั้งโครงการและต่างเตรียมพร้อมที่จะไปเป็นเนื้อนาบุญในงานตักบาตรแสนรูปในวันคุ้มครองโลก
ในส่วนของพระพี่เลี้ยง การได้ดูแลสามเณรทำให้พระพี่เลี้ยงซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระใหม่ได้ฝึกฝนตนเองให้มีศักยภาพมากขึ้นในหลาย ๆ ด้านซึ่งเป็นผลดีต่อการเตรียมตัวเป็นพระพี่เลี้ยงของพระภิกษุในโครงการบวชรุ่นเข้าพรรษาต่อไป
ในส่วนของพ่อแม่ ญาติโยม ครูบาอาจารย์และพุทธศาสนิกชน ซึ่งเข้ามาดูแลเป็นกำลังใจให้สามเณร ก็ได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา ได้เห็นศีลาจารวัตร ความตั้งใจ ความอดทน และความรักพระพุทธศาสนาของพระภิกษุ-สามเณรทุกรูปทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อพระ-เณรมากขึ้นมีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนามากขึ้น และเมื่อได้ฟังเทศน์ของสามเณรเรื่องอานิสงส์การตักบาตรต่างก็พากันชื่นชมในความสามารถของสามเณรและตื่นตัวอยากไปตักบาตรที่วัดพระธรรมกาย กันเป็นการใหญ่
ในส่วนของเพื่อนนักเรียน ขณะนี้เกิดเป็นกระแสในหมู่นักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ แล้วว่าปิดเทอมภาคฤดูร้อนต่อไปจะต้องมาบวชในโครงการนี้ให้ได้ และจากการเล่ากันไปปากต่อปากทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่ลูกหลานยังไม่ได้มาบวชอยากให้บุตรหลานของตนมาบวชในปีหน้าและจะมาแข่งเทศน์แบบนี้บ้าง
หนึ่งในโครงการบรรพชาสามเณรล้านรูปทั่วไทย เพื่อสืบต่อลมหายใจพระพุทธศาสนา
๕
กระแสดี ๆ ที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้จะช่วยให้งานพระศาสนาขับเคลื่อนต่อไปได้เรื่อย ๆ และหากโครงการนี้ยังดำเนินต่อไปทุกปี คือยังมีการบรรพชาสามเณรปีละล้านรูป เชื่อได้เลยว่า พระพุทธศาสนาในกำมือของเยาวชนรุ่นใหม่จะมั่นคงเป็นปึกแผ่นยิ่งกว่าปัจจุบัน และจะช่วยสร้างความสงบสุขให้แก่ประเทศชาติและโลกใบนี้ได้มากขึ้น เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้คนพากันหันมาปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน (ทาน) ละเว้นการเบียดเบียน (ศีล) และทำจิตให้สงบ (ภาวนา)โลกนี้ก็จะสงบร่มเย็นขึ้นจริง ๆ
สุดท้ายนี้ ขอกราบอนุโมทนาบุญหลวงพ่อที่ดำริโครงการนี้ขึ้นมาและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เต็มกำลังเพื่อสืบต่ออายุพระศาสนาและประโยชน์สุขของมหาชน... ภารกิจนี้แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สำเร็จได้ด้วยความสามัคคีของพุทธบริษัท ๔ ทั้งแผ่นดิน