วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ “กว่าจะถึงวันนี้ต้องแกร่งเกินร้อย”

ลูกหลวงพ่อ
เรื่อง : กลุ่มดาวมีน

“กว่าจะถึงวันนี้ต้องแกร่งเกินร้อย”

วารสาร , อยู่ในบุญธันวาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย , กว่าจะถึงวันนี้ต้องแกร่งเกินร้อย , พระมหา ดร.พงศ์ศักดิ์ ฐานิโย

     นาฬิกาบอกเวลาบ่ายสองโมง เรารู้สึกตื่นเต้นกับนัดสำคัญ ที่จะได้สัมภาษณ์อาจารย์มหาวิทยาลัยด้านพุทธศาสตร์ชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น เจ้าของสถิติ “ผู้จบปริญญาเอกเร็วที่สุดในรอบ ๓๗๐ ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมา”  “พระมหา ดร.พงศ์ศักดิ์ ฐานิโย” คือ เจ้าของสถิตินี้


วารสาร , อยู่ในบุญธันวาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย , กว่าจะถึงวันนี้ต้องแกร่งเกินร้อย , พระมหา ดร.พงศ์ศักดิ์ ฐานิโย

    ปัจจุบัน ท่านมีอายุ ๓๙ ปี ๒๐ พรรษา เรียนจบปริญญาตรี-โท-เอก จากมหาวิทยาลัยริวโคขุ (Ryukoku University) ประเทศญี่ปุ่นจบแล้วได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นถึง ๓ แห่ง ๕ วิทยาเขต

      ระหว่างเรียนท่านต้องสร้างวัดไปด้วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนที่ศรัทธาเรื่องศาสนาถดถอยควบคู่ไปด้วย

       ภารกิจอีก ๒ ประการ ตอนนี้สำเร็จไปถึงระดับไหน ? ท่านผ่านภารกิจหนักแบบนี้มาได้อย่างไร ? ต้องฟันฝ่าอะไรมาบ้าง ?

        เชิญเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากชีวิตท่านซึ่งน่าสนใจตั้งแต่ด่านแรกจนถึงด่านสุดท้าย...

 

ด่านแรก : ステージ I

      พระมหา ดร.พงศ์ศักดิ์ ฐานิโย ซึ่งในที่นี้ขอเรียกท่านว่า “พระอาจารย์ฐานิโย” เล่าให้ฟังว่า “หลวงพี่จบ ปวช. จากวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และกำลังจะเรียนต่อปริญญาตรีในคณะวิศวกรรมศาสตร์แต่ช่วงปิดเทอม พ.ศ. ๒๕๔๐ หลวงพี่ไปอบรมธรรมทายาทที่วัดพระธรรมกาย ได้นั่งสมาธิได้ฟังธรรม ก็เกิดความศรัทธาในพุทธศาสนาขึ้นมาจับใจ และเล็งเห็นว่า ‘ความตายไม่มีนิมิตหมาย’ ไม่รู้ว่าเราจะจากโลกนี้ไปเมื่อไรจึงตัดสินใจบวชต่อ แล้วก็ไปลาออกจากมหาวิทยาลัย เพื่อมาใช้ชีวิตให้มีคุณค่าที่สุดในฐานะพระภิกษุ”  ประวัติสั้น ๆ แต่ไม่ธรรมดานี้ ทำให้มีเสียงผุดขึ้นมาในใจของเราว่า “ใจเด็ด”

      เมื่อตัดสินใจแบบนี้แล้ว ด่านแรกที่ท่านต้องฟันฝ่าก็คือ “ความรักความห่วงใย” จากครอบครัว ที่ต้องการให้ท่านออกไปมีอนาคตที่สดใสทางโลกมากกว่า

      กว่าจะผ่านด่านนี้มาได้ พระอาจารย์ฐานิโยต้องทำหน้าที่กัลยาณมิตรและพิสูจน์ให้ทุกคนในครอบครัวเห็นความตั้งใจจริงที่จะครองเพศสมณะ โดยใช้เวลาถึงสิบกว่าปีทีเดียว

 

ด่านที่สอง : ステージ II

        หลังจากบวชได้ประมาณ ๓ ปี ท่านก็เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น...

        อะไรทำให้ผู้ที่ตัดใจทิ้งอนาคตทางโลกไปแล้ว หวนกลับมาเรียนต่ออีก ?
       “ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะเรียนต่อ เพราะทิ้งทางโลกมาก็เพื่อจะใช้ชีวิตเป็นสมณะ แต่ตอนหลังมารู้ว่า หน้าที่ที่สมบูรณ์ของพระภิกษุมี ๒ ประการ คือ ทำเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน จึงตัดสินใจเรียนต่อทางด้านพุทธศาสตร์ เพราะคิดว่า ‘การเผยแผ่ที่ได้ผลดีในระยะยาว คือการเผยแผ่ผ่านทางการศึกษา’ เพราะสามารถเผยแผ่ได้ง่ายกว่าการชักชวนให้คนมานับถือศาสนาหรือเปลี่ยนความเชื่อการเรียนครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่ต่างจากตอนเป็นฆราวาสอย่างสิ้นเชิง”


        โลกกว้างใหญ่ไพศาล ทำไมถึงเลือกเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น ?
     “หลวงพี่ทราบมาว่า นักวิชาการชาวญี่ปุ่นเก็บรวบรวมองค์ความรู้ด้าน ‘พุทธศาสตร์’ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศเอาไว้มากมาย จึงคิดว่า ถ้าหากเรารู้ภาษาญี่ปุ่นก็เหมือนมีกุญแจที่จะไขตู้เก็บองค์ความรู้เหล่านี้ได้ จึงเลือกเรียนที่ประเทศนี้ พร้อม ๆกับเริ่มสร้างวัดไปด้วย”ตอนนั้น พระอาจารย์ฐานิโยเรียนภาษาญี่ปุ่น อยู่ ๒ ปี แล้วจึงสอบเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยริวโคขุ (Ryukoku University)

   “ริวโคขุมีชื่อเสียงทางด้านพุทธศาสตร์ชั้นนำของประเทศ เปิดสอนมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๘๒ สอนระดับอนุปริญญาถึงปริญญาเอกปัจจุบันมีนักศึกษาชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติเรียนอยู่กว่า ๒๐,๐๐๐ คน หลวงพี่จบปริญญาตรี-โท-เอก จากภาควิชาพุทธศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์”


         เคยได้รับรางวัลอะไรบ้าง ?
       “ตอนจบปริญญาตรี (พ.ศ. ๒๕๔๘) หลวงพี่ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมอันดับ ๑ ในหัวข้อ ‘ธัมมจักกัปปวัตนสูตร’(ภาษาญี่ปุ่น) ปริญญาโท (พ.ศ. ๒๕๕๐) ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมอันดับ ๑ ในหัวข้อ ‘สมถวิปัสสนาในคัมภีร์พระสุตตันตปิฎกบาลี’(ภาษาญี่ปุ่น)”

        สำหรับปริญญาเอก ท่านเรียนแค่ ๓ ปี (จบเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๓) ทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ “สมถวิปัสสนาในคัมภีร์ยุคต้นถึงอรรถกถาฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้” มีสิทธิ์ใช้คำว่า “ดอกเตอร์” นำหน้าชื่อเมื่ออายุ ๓๒ ปี

         กว่าจะคว้าชัยระดับนี้มาได้ ท่านบอกสั้น ๆ ซึ่งเราอยากขีดเส้นใต้ทุกคำเลยว่า “ต้องทุ่มเทและเอาใจใส่ทั้งก่อนเรียนและหลังเรียนหมั่นปรึกษาอาจารย์ รุ่นพี่ และเพื่อน ๆ ให้เขาช่วยอธิบายสิ่งที่เรายังเข้าใจไม่สมบูรณ์ และต้องบริหารเวลาให้ดี หลวงพี่ไม่ได้มีเวลาเรียนเต็มที่เท่าไรนัก เพราะมีภารกิจสร้างวัดด้วย(ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายโอซาก้า) แต่ก็ใช้เวลาเต็มที่ทั้ง ๒ ภารกิจ”

       เมื่อเรียนจบแล้ว ในฐานะที่ท่านเป็น “ผู้เชี่ยวชาญด้านเถรวาท” จึงมีมหาวิทยาลัย ๓ แห่ง ๕ วิทยาเขต เชิญท่านไปเป็นอาจารย์พิเศษ

      “หลวงพี่สอนนักศึกษาชาวญี่ปุ่นระดับปริญญาตรีและโทที่มหาวิทยาลัยริวโคขุ วิชาพระพุทธศาสนาเถรวาท, พระพุทธศาสนากับสังคมปัจจุบัน, พระพุทธศาสนาในเอเชีย สอนมา ๖ ปีแล้ว มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนกว่า ๑,๐๐๐ คน อีก ๒ แห่งที่หลวงพี่ไปสอนก็คือมหาวิทยาลัยบุคเคียว (Bukkyo University) และมหาวิทยาลัยโดชิฉะ (Doshisha University)”

           มาถึงจุดนี้ ด่านที่สอง คือ “การศึกษา”ถือว่าผ่านไปอีกด่านอย่างสง่างาม


วารสาร , อยู่ในบุญธันวาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย , กว่าจะถึงวันนี้ต้องแกร่งเกินร้อย , พระมหา ดร.พงศ์ศักดิ์ ฐานิโย

ด่านที่สาม : ステージ III
          ด่านนี้เป็นเรื่องของ “การเผยแผ่” ซึ่งมีเรื่องราวของการทำงานที่น่าสนใจไม่น้อย

        “ยุคแรกของการเผยแผ่ศาสนาพุทธดั้งเดิมในญี่ปุ่น เราเผยแผ่แก่ชาวไทยเป็นหลักยุคนั้น ชาวญี่ปุ่นที่มาวัดคือคนที่มีภรรยาเป็นชาวไทย รู้จักวัฒนธรรมไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การสอนจึงไม่ค่อยมีปัญหา ลูก ๆ ที่เป็นลูกครึ่ง เราก็อบรมสั่งสอนมาตั้งแต่ยังเด็กตอนนี้เรียนมหาวิทยาลัยหลายคนแล้ว และเข้ามาช่วยงานเราอยู่จนถึงปัจจุบัน”

       การเผยแผ่กับกลุ่มนี้ไม่ยากเท่าไร แต่ที่ต้องออกแรงเยอะมากคือการต่อยอดเผยแผ่แก่ชาวท้องถิ่น ซึ่งต้องมีการวางรากฐาน คือ “วางทีม” และ “วางที่” ขั้นตอนนี้ต้องทุ่มเทมากและใช้เวลานานกว่าฐานจะแน่น

        “ถ้ารากฐานดี แข็งแรง จะต่อตึกขึ้นไปสูงแค่ไหนก็ไม่มีปัญหาตามมา” พระอาจารย์ฐานิโยกล่าว “ปัจจุบัน เรามีวัดในพื้นที่หลัก ๆ ๑๐ วัด ถือว่ารากฐานค่อนข้างมั่นคง เมื่อ ๓-๔ ปีที่ผ่านมาก็เลยขยับขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งคือ เริ่มตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมญี่ปุ่น เพื่อสอนชาวญี่ปุ่นที่ไม่มีพื้นด้านพุทธศาสนา เริ่มจากการสอนสมาธิเป็นหลัก โดยไม่พูดถึงเรื่องศาสนา เพราะคนญี่ปุ่นไม่ชอบการยัดเยียดแต่พออยู่ไปสักพักเขาก็รู้เอง”

       การเผยแผ่ได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจคือ นอกจากมีคนสนใจมานั่งสมาธิเยอะขึ้นแล้วกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การบรรพชาสามเณรที่ญี่ปุ่นและการบรรพชาอุปสมบทระยะสั้นที่จัดในประเทศไทย เพื่อฝึกคนไว้เป็นกำลังพระศาสนาต่อไปในอนาคต ก็มีคนสนใจเข้าร่วมไม่น้อยและเมื่อลาสิกขาแล้วก็ยังแบ่งเวลามาช่วยงานวัด บางรูปบวชแล้วยังไม่สึกก็มี เรียกว่ากล่มุ คนที่มาวัดมีศรัทธาในพระศาสนามากขึ้นเยอะ

        “สาธุชนทั้งชาวไทยชาวญี่ปุ่นเอาใจใส่พระภิกษุมากขึ้น เกิดศรัทธาในศาสนาพุทธมากขึ้น จากที่ไม่เคยทำทาน ไม่รักษาศีลก็เริ่มทำทาน รักษาศีลมากขึ้น และที่สำคัญเขานำสมาธิไปปฏิบัติจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้ว ทำให้ชีวิตดีขึ้นตามลำดับ บางคนมาเล่าให้ฟังว่า เวลามีปัญหาชีวิตไม่รู้จะหันไปทางไหน ก็นึกถึงสิ่งที่เราเคยสอน แล้วลงมือทำจนสถานการณ์เปลี่ยนไปในทางที่ดี มีอยู่รายหนึ่ง ตอนแรกอยากจะฆ่าตัวตาย พอมาเจอเรา ได้พูดคุยได้ลงมือปฏิบัติธรรม สุดท้ายก็ล้มเลิกความคิดไป”

        ในปัจจุบัน ไม่น่าเชื่อว่า “สมาธิ” เป็นที่ต้องการมาก จนกลายเป็นว่า วัดมีบุคลากรไม่เพียงพอ หลายวัดพระสับคิวกันไปจัดปฏิบัติธรรมไม่ทัน ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเราจะฝึกพระที่สามารถเทศน์สอนได้ทันไหม เพราะการฝึกบุคลากรที่มีประสิทธิภาพต้องใช้เวลาหลายปี


วารสาร , อยู่ในบุญธันวาคม , อานิสงส์แห่งบุญ , นิตยสาร , หนังสือธรรมะ , วัดพระธรรมกาย , กว่าจะถึงวันนี้ต้องแกร่งเกินร้อย , พระมหา ดร.พงศ์ศักดิ์ ฐานิโย

ด่านที่สี่ : ステージ IV
       สิ่งที่คู่ขนานไปกับการสร้างคน สร้างวัดก็คือการสร้างศรัทธา ซึ่งมีความสำคัญมาก ๆต่อการเผยแผ่ศาสนาพุทธแก่ชาวญี่ปุ่น เพราะระยะหลัง ๆ นี้ “ศรัทธา” ของชาวญี่ปุ่นที่มีต่อพระพุทธศาสนาลดน้อยถอยลงจนน่าใจหายส่วนใหญ่มองติดลบด้วยซ้ำ     

        เกี่ยวกับเรื่องนี้พระอาจารย์ฐานิโยเล่าให้ฟังเพลินทีเดียว

     “พระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นเป็นแบบมหายาน เผยแผ่จากประเทศจีน ผ่านมาทางเกาหลี และเข้าสู่ญี่ปุ่นเมื่อราว ๆ ๑,๕๐๐ ปี มาแล้ว และเจริญรุ่งเรืองในสมัยต่อมา แต่ว่าในสมัยเมจิ (พ.ศ. ๒๔๑๑) รัฐบาลออกกฎหมายให้พระแต่งงานได้ ตอนแรกคนไม่เห็นด้วยเยอะแต่อยู่ไป ๆ ก็เริ่มมีคนเอากฎหมายนี้มาปฏิบัติสถานการณ์พระพุทธศาสนาจึงค่อย ๆ เปลี่ยนไป จนกระทั่งสุดท้ายข้อปฏิบัติของพระญี่ปุ่นแทบไม่ต่างจากฆราวาส ทำให้คนญี่ปุ่นค่อย ๆ ถอยห่างพุทธศาสนาออกไป ความศรัทธาลดน้อยถอยลงเรื่อย ๆ”

        ได้ฟังแล้วรู้สึกสะเทือนใจว่า ปัจจุบันพระญี่ปุ่นแทบไมมี่บทบาทอะไรเลย และนับวันความสำคัญยิ่งลดลง

      “ภาพของพระญี่ปุ่นยุคนี้ไม่ใช่ภาพของการเทศน์สอน แต่เป็นภาพการจัดพิธีกรรมงานศพเป็นส่วนใหญ่ แล้วช่วงหลังคนไม่ค่อยเห็นด้วยกับการจัดงานศพที่มีค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง จึงเริ่มมีบริษัทเข้ามารับจัดงานศพในราคาที่ถูกลง และตัดขั้นตอนพิธีกรรมที่เกี่ยวกับพระออกไปเลย”

      ประกอบกับมีเหตุการณ์ที่ช็อกความรู้สึกครั้งใหญ่เกิดขึ้น ทำให้ชาวญี่ปุ่นยิ่งไม่ชอบเรื่องศาสนามากกว่าเดิม

     “ประมาณ ๑๘-๑๙ ปีที่แล้ว สาวกของลัทธิโอมชินริเคียวไปปล่อยก๊าซพิษซารินในขบวนรถไฟใต้ดินในกรุงโตเกียว ทำให้มีคนเสียชีวิตสิบกว่าคน และบาดเจ็บหลายพันคนพวกนี้อ้างชื่อศาสนาพุทธด้วย ทำให้หลังจากนั้นคนญี่ปุ่นค่อนข้างกลัวคำว่าศาสนา กลัวจะมาชวนเขาไปทำอะไรไม่ดี ตอนวัดเราไปใหม่ ๆ จึงทำงานกันลำบากพอสมควร เพราะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศของเขา”


เจอ “ด่านหิน” เข้าแล้ว แบบนี้ต้องทำอย่างไรดี ?
      พระอาจารย์ฐานิโยและทีมงานแก้ปัญหา “ศรัทธาเสื่อม” ด้วยการทำงานหนักและสร้างพันธมิตรกับนิกายอื่น ๆ แล้วชูความเป็นพระพุทธศาสนาขึ้นมา โดยมีแกนหลัก คือ “สมาธิ” ที่ทำให้คนพ้นจากความทุกข์ ส่วนเรื่องยิบย่อยซึ่งแต่ละนิกายมีข้อปฏิบัติต่างกันไม่ได้เข้าไปแตะ

      นอกจากนี้ การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญด้านเถรวาท ก็เป็นภาพลักษณ์ที่ดี ช่วยให้พระอาจารย์ฐานิโยได้รับการยอมรับจากลูกศิษย์ลูกหาและผู้คนในแวดวงวิชาการพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นง่ายขึ้น

     ที่สำคัญ คำสอนครูบาอาจารย์ที่นำไปใช้ก็ช่วยได้มาก เพราะว่าการที่จะไปสอนคนในประเทศที่พัฒนากว่าประเทศเราได้นั้น เราต้องมีดีพอที่จะทำให้เขายอมรับ

     “เวลาเราอยู่ในวัด สิ่งที่หลวงพ่อสอนบางทีเรานึกไม่ออก แต่พอไปอยู่ข้างนอก สิ่งที่ท่านสอนนำไปใช้ได้จริง เช่น ที่ท่านบอกว่า ‘เราอยู่ในสายตาของมนุษย์และเทวดาทั้งหลายไม่ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้ตัวก็ตาม’ หลวงพี่เพิ่งมาเข้าใจจริง ๆ ตอนไปอยู่ญี่ปุ่น ที่นั่นเขาสังเกตเราทุกอย่าง แล้วพูดต่อ ๆ กันไป เช่น พระไทยมีกิริยามารยาทแบบนี้ มีข้อวัตรปฏิบัติแบบนี้เอาสิ่งที่อยู่ในพระไตรปิฎกมาใช้จริง เขาสังเกตเราตลอด การเผยแผจึ่งไม่ใช่แค่การเทศน์สอนอย่างเดียว ทุกอิริยาบถอยู่ในสายตาเขาหมดโดยที่เราไม่รู้ตัว เขาจะยอมรับเราหรือไม่ศรัทธาเราหรือไม่ มาจากเรื่องพวกนี้เป็นหลัก”

        งานสร้างศรัทธาในญี่ปุ่นซึ่งถือได้ว่าเป็น “ด่านหิน” เมื่อใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในที่สุดก็ผ่านมาได้

 

ด่านที่ห้า : ステージ V
      อีกด่านสำคัญที่พระภิกษุผู้ไปเผยแผ่ในต่างประเทศเป็นเวลานาน ห่างไกลหมู่คณะและมีภารกิจมากมาย จะต้องฟันฝ่าไปให้ได้ก็คือ “การต่อสู้กับตนเอง” ซึ่งธรรมชาติของการต่อสู้มีผลอยู่ ๓ อย่าง คือ แพ้-ชนะ-เสมอ


พระอาจารย์ฐานิโยใช้วิธีใดถึงจะได้เป็นผู้ชนะในการต่อสู้ ?
     “หลวงพี่อยู่ที่ญี่ปุ่น ๑๗ ปี ดูแลตนเองด้วยการหมั่นทบทวนโอวาทของครูบาอาจารย์และปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาสม่ำเสมอเพราะเราอยู่ไกลหมู่คณะ ไม่มีใครที่จะสั่งสอนเราได้ดีกว่าตัวของเราเอง จึงต้องอาศัยโอวาทของครูบาอาจารย์และการปฏิบัติธรรมเป็นเครื่องเตือนใจและสร้างกำลังใจ สำหรับการแบ่งเวลา เมื่อไปอยู่ที่มหาวิทยาลัย หลวงพี่ใช้เวลากับเรื่องเรียนเต็มที่ เมื่อกลับมาถึงวัดก็ใช้เวลากับงานวัดเต็มที่ อาจไม่ง่าย แต่ก็ถือเป็นบทฝึกเรื่อง ‘การตัดใจ’ ได้เป็นอย่างดี”

     นอกจากนี้ การมีต้นแบบและกัลยาณมิตรก็มีความสำคัญมากต่อการเอาชนะปัญหาและอุปสรรคนานัปการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชนะใจตนเอง”

      "หลวงพี่มีครูบาอาจารย์อย่างพระเดชพระคุณหลวงพ่อทั้ง ๒ รูป เป็นต้นแบบทุกเรื่องทั้งเรื่องประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน หลวงพ่อทั้งสองทำได้ไม่บกพร่อง ไม่ว่าจะพบอุปสรรคใด ๆ หลวงพี่ก็ไม่เคยสัมผัสถึงความท้อแท้ท้อถอยของท่านเลย ท่าน ‘ถือธรรมเป็นใหญ่’ ในการดำเนินชีวิต อีกทั้งหลวงพี่ยังมีพระอาจารย์พี่ ๆ เพื่อน ๆ สหธรรมิกคอยให้กำลังใจ รวมถึงกัลยาณมิตรและสาธุชนที่ให้การสนับสนุนด้วยดีมาตลอด อีกทั้งตัวเราก็ต้องปฏิบัติธรรมควบคู่ไปด้วยไม่ขาด นี้เป็นปัจจัยที่ทำให้สามารถทำภารกิจสำเร็จลุล่วงไปได้และบวชมาได้จนถึงปัจจุบัน”

 

ด่านสุดท้าย : ラストステージ
      ด่านสุดท้ายเป็น “การกอบกู้ฟื้นฟูพระพุทธศาสนา” ด่านนี้ไม่ว่าจะแกร่งแค่ไหนก็ผ่านไปคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยชาวพุทธผู้มีใจรักพระพุทธศาสนาร่วมมือฟันฝ่าไปด้วยกันเรื่องนี้ ในฐานะพระภิกษุรูปหนึ่งที่ตั้งใจทำภารกิจฟื้นฟูพระพุทธศาสนาตลอดมา และในฐานะอาจารย์ด้านพุทธศาสตร์ พระอาจารย์ฐานิโยมีความเห็นว่า

     “เราไม่อาจทราบได้เลยว่า จริง ๆ แล้วอนาคตของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร แต่การเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาในต่างประเทศนั้น เหมือนกับสิ่งที่พระเจ้าอโศกเคยทรงกระทำเอาไว้ ที่ทรงส่งพระธรรมทูตออกไปประกาศพระศาสนายังดินแดนต่าง ๆ และหนึ่งในดินแดนเหล่านั้นที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองถึงปัจจุบันก็คือ ดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ ดังนั้นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาภายในประเทศควบคู่กับการเผยแผ่ในต่างประเทศ จึงมีความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน”


    วิกฤตศาสนาตอนนี้ มีผลต่ออนาคตพระพุทธศาสนาอย่างไร ชาวพุทธควรปฏิบัติอย่างไร จึงจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ?
     “หลวงพี่คิดว่า หากเราปล่อยให้มีการกล่าวตู่จาบจ้วงพระสงฆ์องค์เจ้าต่อไป อีกทั้ง ‘การตัดสินความ ก่อนความจะถูกตัดสิน’ ด้วยโลกโซเชียล และพุทธบริษัทเองก็เหินห่างจากการประพฤติปฏิบัติธรรม แบบนี้ไม่ว่าใครก็ทำนายได้ว่า อนาคตของพระพุทธศาสนาทั้งภายในและต่างประเทศจะเป็นอย่างไรหลวงพี่จึงอยากให้ท่านผู้อ่านช่วยนำข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องไปบอกสู่สาธารณชน อันเป็นการทำ ‘ประโยชน์ผู้อื่น’ ให้บริบูรณ์ นอกจากนี้หลวงพี่ยังหวังจะเห็นสิ่งที่พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เคยกล่าวไว้ว่า ‘พุทธบริษัท ๔ ต้องเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนดวงตะวันที่มีดวงเดียว’ เพราะว่าหากพุทธบริษัทมีความสมัครสมานสามัคคีกันทำตามหน้าที่ ตามเพศภาวะของตน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน แล้วหมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อทำ ‘ประโยชน์ตน’ ให้สมบูรณ์ ควบคู่กับการทำหน้าที่กัลยาณมิตรแนะนำสิ่งดี ๆ ให้แก่ผู้อื่น หากทำได้อย่างนี้ไม่ว่าจะเป็นเถรวาท มหายาน หรือวัชรยานพระพุทธศาสนาย่อมเจริญรุ่งเรืองแน่นอน”


     ปัจจุบัน พระอาจารย์ฐานิโยกลับมาทำภารกิจด้านการศึกษาและงานวิจัยทางพุทธศาสตร์ที่สำนักการศึกษา วัดพระธรรมกายประเทศไทย แต่ยังคงไปสอนที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นในช่วงซัมเมอร์

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๗๐ เดือนธันวาคม ๒๕๕๙

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล