สร้างปัญญาเป็นทีม
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
สร้างปัญญาเป็นทีม
ตามแบบฉบับของพระสารีบุตร
พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญา
ตอนที่ ๒ หลักการแก้ปัญหาโลกวุ่นวาย
หลักการแก้ปัญหามีเพียงประการเดียวคือปัญหาเกิดจากที่ใดก็ให้ดับที่ต้นเหตุของปัญหานั้น ในเมื่อปัญหาความวุ่นวายในโลกเกิดจากความผิดพลาด ๓ ประการ คือ
๑) ให้ความรู้แต่ขาดการสร้างนิสัยดี ๆ
๒) ความบกพร่องเรื่องการวางเป้าหมายการศึกษาเกี่ยวกับการดับทุกข์
๓) ขาดความรู้ขั้นพื้นฐานในการดับทุกข์ได้จริง
ดังนั้น ในการจะแก้ไขก็ต้องย้อนกลับมาแก้ไขที่ความผิดพลาดดังกล่าว จึงจะเป็นการดับปัญหาถูกเป้า ตรงตามหลักธรรมที่ว่า “ดับที่เหตุ” ปัญหาก็จะผ่อนจากหนักเป็นเบาหรือหมดไป โดยไม่เพิ่มปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก
คำถามที่ตามมาก็คือ ใครคือบุคคลที่มีความรู้ ความชำนาญ และประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหานี้มากที่สุดในโลก ?
คำตอบ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาเอกของชาวโลก
พระองค์ทรงเป็นบุคคลผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐอย่างไม่อาจหาบุคคลใดในภพสามมาเปรียบได้ เพราะทรงมีพระปรีชาสามารถในการกำจัดกิเลสอันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งมวลได้เด็ดขาดด้วยลำพังพระองค์เอง ความรู้ที่พระองค์ทรงค้นพบจากการตรัสรู้นั้น จึงเป็นความรู้ที่สมบูรณ์และมีคุณสมบัติพิเศษหลายประการ เช่น
๑) เป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ ไม่มีโทษภัยใด ๆ เจือปนอยู่เลยแม้แต่นิดเดียว
๒) เป็นความรู้สากลที่ดับทุกข์ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นทุกข์กายหรือทุกข์ใจของผู้คนเชื้อชาติศาสนาใด ก็สามารถช่วยดับทุกข์ได้ทั้งสิ้น
๓) เป็นความรู้ที่เป็นอมตสัจธรรม คือ เป็นความรู้จริงแท้ตลอดกาล ไม่มีวันหมดอายุ ไม่มีวันล้าสมัย ใช้ดับทุกข์ได้ทั้งยุคอดีต ยุคปัจจุบันยุคอนาคต เพราะความทุกข์ของคนเมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีที่แล้วกับคนในปัจจุบันนี้ ก็เกิดขึ้นจากกิเลสกลุ่มเดียวกันทั้งสิ้น ความรู้ของพระองค์เกิดจากการกำจัดกิเลส จึงเป็นสัจธรรมที่ใช้ดับทุกข์ได้ตลอดกาล
๔) เป็นความรู้ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าดีจริง ถูกต้องจริง เป็นประโยชน์จริง ดับทุกข์ได้จริง ผู้เพียรปฏิบัติตามย่อมสามารถดับทุกข์และหมดกิเลสได้จริงดุจเดียวกับพระพุทธองค์เพราะเหตุนี้จึงทำให้พระพุทธศาสนากลายเป็นศาสนาเดียวในโลกที่ศาสดาและสาวกดับทุกข์ได้ด้วยการบรรลุธรรมเช่นเดียวกัน
จากความรู้อันสุดแสนบริสุทธิ์วิเศษที่เกิดจากการดับทุกข์ดับกิเลสได้เด็ดขาดนี้เอง ทำให้เมื่อถึงคราวที่พระองค์ทรงประกาศเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระองค์จึงกลายเป็นพระบรมศาสดาเพียงผู้เดียวในโลกที่วางระบบการศึกษาโดยไม่สร้างปัญหาวุ่นวายให้แก่โลก นั้นคือ
๑. วางเป้าหมายการศึกษาไว้ที่การดับทุกข์อย่างชัดเจน
การวางเป้าหมายการศึกษาของสถาบันการศึกษาแทบทั้งโลกจะมุ่งเน้นไปที่การทำมาหากินเพื่อเพิ่มตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างเดียวทำให้โลกทั้งโลกกลายเป็นสนามแข่งขันทางการค้า ใครมีศักยภาพสูงก็แย่งชิงพื้นที่การตลาดได้มากกว่า ใครอ่อนหัดกว่าก็ถูกเอารัดเอาเปรียบจนแทบไม่มีที่ทำมาหากิน
ปัญหากระทบกระทั่งเพราะการเลี้ยงชีพการแย่งชิงทรัพยากร ความต้องการผูกขาดการค้า จึงกลายเป็นไฟลุกท่วมโลกมาทุกยุคทุกสมัย ทั้ง ๆ ที่ตามจริงแล้ว ถ้ามนุษย์เรารู้จักแบ่งปันกัน ก็จะสามารถบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ให้ทั่วถึงกันทั้งโลกได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำสงครามการค้าหรือสงครามโลก เพื่อแก่งแย่งแข่งขันเป็นผู้ครองตลาดอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงก็เกิดจากความผิดพลาดในการตั้งเป้าหมายด้านการศึกษานั่นเอง
เป้าหมายในการศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธองค์มิได้ทรงวางไว้เพื่อให้คนเราแก่งแย่งแข่งขันชิงความเป็นใหญ่กัน แต่ทรงวางไว้เพื่อการดับทุกข์ให้ครบทุกด้านเพียงสถานเดียวเท่านั้น ดังที่มีหลักฐานปรากฏในพรหมจริยสูตร ว่า
“การศึกษาปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนานั้น ๑) มิใช่เพื่อหลอกลวงคน ๒) มิใช่เพื่อเรียกร้องให้คนมานับถือ ๓) มิใช่เพื่อลาภสักการะหรือคำสรรเสริญ ๔) มิใช่เพื่อความเป็นเจ้าลัทธิ มิใช่เพื่อหักล้างลัทธิอื่น ๕) มิใช่เพื่ออวดให้คนอื่นรู้ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราประพฤติปฏิบัติเพราะ ๑) เพื่อความสำรวม ๒) เพื่อการละกิเลส ๓) เพื่อคลายความกำหนัดยินดี ๔) เพื่อความดับทุกข์”
การตั้งเป้าหมายการศึกษาไว้ที่การดับทุกข์เช่นนี้ ย่อมทำให้โลกสงบเย็นลง เพราะจะทำให้ผู้เข้ามาศึกษามีความระมัดระวังที่จะไม่เพิ่มทุกข์ให้แก่ตนเองและผู้ที่อยู่ร่วมโลก ดังนั้นจึงช่วยลดปัญหากระทบกระทั่งในเรื่องต่าง ๆ ลงได้อย่างมากมาย
๒. มุ่งเน้นการสร้างปัญญาดับทุกข์ผ่านการฝึกนิสัยดี ๆ
มีหลักฐานปรากฏใน คาถาธรรมบท ว่า “ความรู้ที่เกิดแก่คนพาล ย่อมมีแต่นำความวิบัติเสียหายมาให้ เพราะความรู้นั้นย่อมถูกคนพาลนำไปใช้เพื่อการทำลายฝ่ายเดียว ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายความดีงามของเขาให้หมดสิ้นลงด้วย” และหลักฐานที่ปรากฏใน นิสสยสูตร ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอจงตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้ คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา แล้วพึงอบรมอุปนิสัย ๔ ประการนี้ ให้บังเกิดขึ้น คือ ๑) พิจารณาแล้วบริโภค ๒)พิจารณาแล้วอดกลั้น ๓) พิจารณาแล้วงดเว้น ๔) พิจารณาแล้วบรรเทา ทั้งนี้เพื่อละอกุศล (ความไม่ดี) ทั้งหลาย”
๓. ให้ความสำคัญกับการฝึกดับทุกข์ขั้นพื้นฐาน
มีหลักฐานปรากฏใน พระวินัย ว่า “สิ่งที่บรรพชิตควรปฏิบัติเพื่อยังชีพ คือ นิสสัย ๔ ได้แก่ ๑) เลี้ยงชีพด้วยการบิณฑบาตก้อนข้าวจากชาวบ้าน ๒) นุ่งห่มผ้าบังสุกุลจีวร ๓) อยู่โคนไม้ ๔) ฉันยารักษาโรคที่ดองด้วยน้ำมูตร (ปัสสาวะ)”
แม้ภายหลังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงอนุญาตให้รับภัตตาหาร จีวร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคอันประณีตที่มีเจ้าภาพจัดถวายแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ทรงยกเลิกการเลี้ยงชีพด้วยนิสสัย ๔ และยังทรงเข้มงวดกับการเตือนสติให้บริโภคใช้สอยปัจจัย ๔ อย่างรู้ประมาณอยู่เช่นเดิม
ทั้งนี้ก็เพราะการกำหนดให้นิสสัย ๔ เป็นหลักสูตรการดับทุกข์ขั้นพื้นฐานในชีวิตประจำวันนั้น พระองค์ทรงมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกสาวกให้แยกแยะได้ว่า วัตถุสิ่งของใดเป็นสิ่งจำเป็น สิ่งใดเป็นเพียงความต้องการ สิ่งใดเป็นส่วนเกินในการดำเนินชีวิต ซึ่งส่วนที่เกินมานี้คือส่วนที่เกิดจากอำนาจกิเลส จะเป็นส่วนที่เพิ่มความทุกข์แก่ชีวิตและทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายตามมาอีกมากมายไม่รู้จบ
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากการวางระบบการศึกษาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็จะพบความจริงว่า พระองค์ทรงเป็นผู้มีพระปรีชาสามารถอย่างยิ่งในการวางหลักสูตรการศึกษาเพื่อฝึกคนให้มีปัญญาดับทุกข์ผ่านการฝึกนิสัยดี ๆ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวที่จะแก้ปัญหาความวุ่นวายในโลกนี้ให้ลดลงได้ พ้นจากแนวทางนี้แล้วย่อมไม่มีทางทำได้สำเร็จ
(อ่านต่อฉบับหน้า)