วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ข้อคิด ก่อนตัดสินใจ ใครเป็นพุทธแท้ พุทธเทียม

เคลียร์ข่าววัด
เรื่อง : ร.ลิ่วเฉลิมวงศ์
Line ID : natchy1972

 

ข้อคิด ก่อนตัดสินใจ ใครเป็นพุทธแท้ พุทธเทียม

ข้อคิด ก่อนตัดสินใจ ใครเป็นพุทธแท้ พุทธเทียม,เนื้อนาใน,อยู่ในบุญ

   จะเห็นว่า  ขนาดการนับถือศาสนาพุทธในประเทศไทยเราเองยังมีแนวทางปฏิบัติหลายสายมาก ซึ่งแต่ละสายก็เชื่อมั่นอย่างสุดโต่งว่า แนวทางของตัวเองถูกต้องที่สุด !!!

    แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะตัดสินว่าใครเป็น “พุทธแท้” หรือ “พุทธเทียม” ไปแล้ว ผู้เขียนก็อยากให้ลองตัดสินใหม่ เพราะหลังจากอ่านบทความนี้จบ คุณอาจค้นพบความคิดใหม่ที่นอกเหนือจากสิ่งที่อยู่ในใจตอนนี้ไปเลยก็ได้

   ทุกวันนี้ แม้คนไทยเราจะแตกแยกเกลียดชังกันเพิ่มขึ้นด้วยการกล่าวหากันว่า ใครเป็นพุทธแท้-พุทธเทียม แต่คนทั้งสองพวกนี้ก็มีความเห็นตรงกัน คือ เชื่อว่า ศาสนาพุทธสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่คือพุทธแท้แน่นอน

 

    จนกระทั่งก่อนสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๓ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือ เกิดการแบ่งนิกายครั้งแรกออกไปเป็นนิกายเถรวาท กับ นิกายมหาสังฆิกะ (รูปที่ ๑)

 

    และต่อมาทั้ง ๒ นิกายนี้ ต่างก็แยกนิกายย่อยออกไปอีก จนมีนิกายรวมแล้วมากถึง ๑๘-๒๐ นิกาย ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าตกใจเลยทีเดียว !!! (รูปที่ ๒)

 

      และเมื่อกาลเวลาผ่านไป  ก็เกิดนิกายใหม่ขึ้นมาอีก คือ “นิกายมหายาน” แล้วพวกมหายานก็เหมารวมเรียกนิกายทั้ง ๑๘-๒๐ ที่เกิดขึ้นแล้วว่า “หินยาน” (รูปที่ ๓)

        แต่ต่อมาทั้ง ๑๘-๒๐ นิกายนี้ ได้ค่อยๆหายไปเรื่อย ๆ จนเหลือแต่นิกายเถรวาทเท่านั้น

    จนกระทั่งยุคปัจจุบัน หลังจากองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกจัดประชุมนานาชาติ ณ ประเทศศรีลังกา เมื่อวันที่ ๒๕พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ มีการเสนอให้ใช้คำว่า “เถรวาท” แทนคำว่า “หินยาน”

 

 

   จุดนี้ เลยทำให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์เข้าใจผิดไปว่า พุทธศาสนามีแค่ ๒ นิกาย คือ “เถรวาท” กับ“มหายาน” (รูปที่ ๔)

  จากการที่คำสอนในพระพุทธศาสนาผ่านร้อนผ่านหนาวมานานถึง ๒,๖๐๐ ปี และถูกโค่นล้มทำลาย เปลี่ยนแปลง แตกนิกายออกไปเป็นจำนวนมากจนน่าตกใจ แถมยังเกิดการยุบ การหายไป หรือเกิดนิกายขึ้นมาใหม่อย่างโชกโชนมาก กว่าจะตกทอดมาถึงเรา

 

ถามจริง ๆ เถิด ณ จุดจุดนี้ เราแน่ใจได้อย่างไรว่า แนวทางปฏิบัติที่เรานับถืออยู่เป็นพุทธแท้ดั้งเดิม ?

        หรือเราได้หลงปฏิบัติตามคำสอนที่ผิดเพี้ยนมาจากนิกายไหนในอดีตหรือไม่ ?

        แต่ทุกวันนี้ คนไทยจำนวนน้อยที่คิดถึงประเด็นนี้

     แล้วที่สำคัญ คนไทยส่วนใหญ่ศึกษาพระพุทธศาสนาแต่เพียงผิวเผิน แล้วสรุปหลักธรรมจากสิ่งที่คิดเองเออเอง โดยเอาสิ่งที่ฟังๆ เขามาผสมลงไป เช่น เชื่อว่าใครกินเนื้อสัตว์คือพวกไม่เคร่งศาสนา

      แต่พอมาศึกษาข้อมูลจริงๆ จากพระไตรปิฎก ก็พบความจริงที่ต้องผงะว่า คำสอนเรื่องการห้ามกินเนื้อสัตว์ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของพระเทวทัต (ลองไปอ่านเรื่องวัตถุ ๕ ที่พระเทวทัตทูลขอกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)


หรือความเชื่อที่บอกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้สร้างวัดเล็ก ๆ สมถะ ๆ

      แต่พอมาดูข้อมูลจากพระไตรปิฎกกลับพบว่า ทั้งนางวิสาขา ทั้งอนาถบิณฑิกเศรษฐี และทั้งอปราชิต (อดีตชาติของโชติกเศรษฐี) สร้างวัดในพุทธกาลไว้ใหญ่โตอลังการมาก แล้วพอสร้างเสร็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงจำพรรษาที่วัดใหญ่โตอลังการนั้น แล้วใช้วัดนั้นเพื่อรวมคนให้เยอะที่สุด เพื่อจะได้สั่งสอนเผยแผ่ศาสนาไปให้มากที่สุด

    จากข้อมูลตรงนี้ เราจะบอกว่าพระไตรปิฎกผิด หรือเพราะเราเชื่อกันมาแบบผิดๆ โดยไม่ได้ศึกษากันแน่ ???

    หรืออย่างคำสอนเรื่องการทำบุญก็เหมือนกัน ปัจจุบันเชื่อว่า..อย่าไปทำเยอะ การทำบุญจนหมดตัวถือว่าผิด

   ซึ่งถ้าการทำบุญจนหมดตัวผิดจริง ทำไมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงลงทุนถึงขนาดพยายามเทศน์จูเฬกสาฎกพราหมณ์ (ผู้ยากจนมาก) ตั้งแต่หัวค่ำจนเกือบถึงเช้า เพื่อให้จูเฬกสาฎกพราหมณ์ยอมเอาผ้าเก่าๆที่มีเพียงผืนเดียวสละมาทำบุญถวายพระองค์ ทั้งๆที่การทำบุญครั้งนั้นของจูเฬกสาฎกพราหมณ์จัดว่าหมดตัวเลยทีเดียว ???

   ตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่า เป็นเพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยากได้ผ้าเก่าๆที่ใช้แล้วของพราหมณ์หรือ ? เปล่าเลย  แต่เป็นเพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงสงสารที่พราหมณ์ยากจนมาก ทรงอยากให้พราหมณ์ได้บุญใหญ่ที่มีกำลังมากพอที่จะบันดาลให้ชีวิตของพราหมณ์พ้นจากความยากจนให้ได้

    และหากศึกษาให้ลึกไปกว่านั้น เราอาจตกใจเพิ่มขึ้น เพราะขนาดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ท่านยังทรงทุ่มเททำบุญบริจาคทานอย่างยิ่งยวด ถึงขนาดสละชีวิตในหลายชาติมาอย่างนับไม่ถ้วน อีกทั้งในชาติที่เป็นพระเวสสันดร ก็ถึงขนาดบริจาคบุตรและภรรยาเลยทีเดียว

    จากการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสละชีวิตเป็นทาน หรือบริจาคแม้กระทั่งบุตรและภรรยา หรือที่พระองค์ทรงเทศน์ให้จูเฬกสาฎกพราหมณ์ยอมทำบุญจนไม่เหลือสมบัติแม้ชิ้นสุดท้าย ก็แสดงว่า..ความเชื่อที่บอกว่าการทุ่มเททำบุญเยอะเป็นสิ่งผิด ก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง !!!

  จะเห็นว่า..ความเชื่อที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยเชื่อถือไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องหรือตรงตามพระไตรปิฎกเสมอไป ซึ่งความเชื่อประเภทนี้มีอยู่มากเสียด้วย !!!

   เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงเกิดคำถามต่อว่า..อ้าว..แล้วในเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปตั้ง ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้วเราจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้เรียนรู้ธรรมะสายที่เป็นพุทธแท้จริงๆ หรือใกล้เคียงความเป็นพุทธแท้มากที่สุดล่ะ ???

    ณ จุดนี้..ไม่ใช่เรื่องยากนัก เพราะทั้งพระสายปริยัติและปฏิบัติ รวมถึงนักวิชาการทางพุทธศาสนาทั่วโลกต่างยืนยันเป็นเอกฉันท์แล้วว่า ข้อมูลและคำสอนในพระไตรปิฎกเป็นสิ่งที่เชื่อได้สูงสุดในยุคนี้แล้ว !!!

 

    ดังนั้น..ไม่ว่าเราจะไปนั่งสมาธิวัดไหนนับถือสายไหน ก็เอาที่สบายใจแล้วถูกจริตกับเราได้เลย แต่สิ่งที่จำเป็นต้องทำเพิ่มขึ้นก็คือ ต้องอ่านและศึกษาพระไตรปิฎกหรืออรรถกถาควบคู่ไปด้วย แล้วเราก็จะตอบตัวเองได้ว่า คำสอนที่เรารับรู้มานั้นถูกบิดเบือนหรือไม่ ด้วยตัวของเราเอง

    การที่ผู้เขียนยกข้อมูลมาแบบนี้ ไม่ได้จงใจจะมาเปลี่ยนความคิดใครให้เชื่อใดๆทั้งหมด แต่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการให้เกิดขึ้นก็คือ เราอย่ามัวมาทะเลาะโจมตีว่าร้ายกัน อย่างเอาเป็นเอาตายเรื่องพุทธแท้-พุทธเทียมเลย อย่าไปคิดว่า..พุทธศาสนาที่ต่างสายจากที่เรานับถือสอนผิด หรือกล่าวว่า เขาเป็นสัทธรรมปฏิรูปหรือเป็นลัทธิ แล้วบอกว่าของตัวเองเป็นพุทธแท้ !!!

       อีกทั้งพุทธแท้จริง ๆ เขาก็จะไม่ว่าใครด้วย พุทธแท้ย่อมทำตามโอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน คือ อนูปวาโท (การไม่ว่าร้ายกัน) และพุทธแท้ก็ควรรีบหันมาประพฤติธรรมจนหมดกิเลสด่วนที่สุด

      ในเมื่อทุกวันนี้สังคมไทยเจอเรื่องราวอะไรร้ายๆ จนบอบช้ำกันมามากพอแล้ว ดังนั้นจะดีกว่าไหม..?? คือไม่ว่าใครจะนับถือพุทธสายไหน เมื่อเขาปฏิบัติตามความเชื่อนั้นแล้วเกิดความสุข ไม่เดือดร้อนใคร ก็แล้วแต่เขาเถิด มันเป็นสิทธิของเขา เราไม่ควรมุ่งโจมตีกัน แต่ควรนำจุดเด่นของพุทธแต่ละสายมาพัฒนาจิตใจคนในประเทศให้พบความสงบร่มเย็นที่แท้จริง เหมือนศาสนาพุทธหลายสายในประเทศไต้หวัน ที่แม้จะแตกต่างกันมาก แต่ก็เอาจุดเด่นที่ดีของแต่ละสายมาเสริมกัน จนคนพุทธที่นั่นอยู่ด้วยกันอย่างผาสุกนั่นเอง

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๗๗ เดือนกันยายน ๒๕๖๐

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล