วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ วิชาครูของพระสารีบุตร

สร้างปัญญาเป็นทีม
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว


           สร้างปัญญาเป็นทีมตามแบบฉบับของพระสารีบุตร
พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญา
ตอนที่ ๘ พระสารีบุตร : วิชาครูของพระสารีบุตร

 

สร้างปัญญาเป็นทีม ตามแบบฉบับของพระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญา ตอนที่ ๗ พระสารีบุตร  ต้นแบบการหมุนธรรมจักรเป็นทีม ,เนื้อนาใน,อยู่ในบุญ

         ในเรื่องการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น พระสารีบุตรและพระอสีติมหาสาวกทุกรูปล้วนมีหัวใจดวงเดียวกัน นั่นคือการช่วยพระพุทธองค์รื้อขนสรรพสัตว์แหกคุกคือวัฏสงสารไปให้ได้มากที่สุด ก่อนที่อายุสังขารของท่านจะหมดลงอันเป็นเหตุให้ถึงวาระปรินิพพาน

         ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ต้องแข่งเวลากับอายุสังขารทั้งของตัวเองและพระบรมศาสดาเช่นนี้ ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันงานเผยแผ่ให้ขยายออกไปอย่างรวดเร็วที่สุดก็คือ พระสารีบุตร ทั้งนี้เพราะว่า “วิชาครู” ของพระมหาสาวกทุกรูปนั้น วิชาครูของพระสารีบุตร อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับพระพุทธองค์มากที่สุด ดังนั้น การถ่ายทอดคุณธรรม ความรู้ และความสามารถ ไปสู่ลูกศิษย์ของท่าน จึงทำได้เต็มศักยภาพกว่าพระมหาสาวกรูปอื่น จนกระทั่งได้รับการรับรองจากพระบรมศาสดาว่า

       “สารีบุตร เธอไปในทิศใด ทิศนั้นไม่ว่างเปล่าจากพุทธบริษัท โอวาทของเธอเช่นเดียว กับโอวาทของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”

         สาเหตุที่พระสารีบุตรมีวิชาครูมากกว่าพระสาวกรูปอื่นๆ ก็เพราะว่า การสร้างบารมี เพื่อเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญา จะต้องใช้เวลาสั่งสมวิชาครูประมาณ ๑ อสงไขย กับ ๑ แสนมหากัป

       ส่วนการสร้างบารมีเพื่อเป็นมหาสาวกเอตทัคคะด้านใดด้านหนึ่งใช้เวลาสั่งสมวิชาครูประมาณ ๑ แสนมหากัป

        ขณะที่พระบรมศาสดาใช้เวลาสั่งสมวิชาครูประมาณ ๔ อสงไขย กับ ๑ แสนมหากัปเมื่อนำมาเทียบเคียงกันแล้ว ก็จะพบว่าพระอัครสาวกใช้เวลาสั่งสมวิชาครูมากกว่าพระมหาสาวกที่เป็นเอตทัคคะประมาณ ๑ อสงไขย แต่ยังน้อยกว่าพระบรมศาสดาอยู่ประมาณ ๓อสงไขย ด้วยเหตุนี้ ในบรรดาพระสาวกทั้งหมดนั้นจึงมีเพียงพระสารีบุตรกับพระโมคคลั ลานะ ที่มีวิชาครูอยู่ในระดับใกล้เคียงพระบรมศาสดามากที่สุด แต่เนื่องจากพระโมคคัลลานะชอบสอนพระโสดาบันให้เป็นพระอรหันต์ ขณะที่พระสารีบุตรชอบสอนปุถุชนให้เป็นพระโสดาบันแล้วส่งต่อให้พระโมคคัลลานะสอนต่อให้เป็นพระอรหันต์ ดังนั้นในฐานะที่เรายังเป็นปุถุชนอยู่ เมื่อต้องการศึกษาเรื่องวิธีหมุนธรรมจักรด้วยกองทัพธรรม ก็ควรศึกษาจากวิชาครูของพระสารีบุตร ซึ่งท่านใช้ฝึกปุถุชนให้เป็นผู้เลิศด้วยปัญญา โดยศึกษาผ่านประเด็นสำคัญ ๔ เรื่อง ดังต่อไปนี้ คือ ๑) กิจวัตรประจำวัน ๒)คุณธรรมประจำตัว ๓) การสร้างเครือข่ายคนดี ในทิศ ๖ ไว้รอบตัว ๔) การป้องกันภัยอันตรายให้แก่พระพุทธศาสนา

        ๑. การหมุนธรรมจักรผ่านกิจวัตรประจำวัน
        พระสารีบุตรเป็นธรรมเสนาบดีที่พระบรมศาสดาทรงยกย่องว่าเป็นผู้หมุนธรรมจักรได้ดุจเดียวกับพระองค์ สิ่งต่าง ๆ ที่ท่านทำ    จึงมองข้ามไม่ได้ เพราะแฝงไว้ด้วยบทฝึกแห่งปัญญาที่นำพาสันติสุขมาสู่สังคมโลก

        ๑.๑ กิจวัตรของพระสารีบุตร
        ในยามเช้าของทุกวัน หลังจากพระภิกษุส่วนใหญ่ออกจากวัดไปบิณฑบาตแล้ว พระสารีบุตรมีกิจวัตรประจำวันในการ “เดินตรวจวัด” อยู่ ๘ ประการ คือ

๑) กวาดสถานที่ที่ยังไม่ได้กวาด

๒) ทิ้งขยะที่ยังไม่ได้ทิ้ง

๓) เติมน้ำในหม้อที่ไม่มีน้ำ     

๔) เก็บงำเตียง ตั่ง เครื่องไม้ และเครื่องดินที่เก็บไว้ไม่ดีให้เรียบร้อย

๕) ไปตรวจดูภิกษุป่วยไข้ ปลอบใจ ให้กำลังใจ และถามถึงสิ่งที่ต้องการ

๖) ไปหาภิกษุใหม่ที่อยู่ในอารามเพื่อให้กำลังใจ และให้โอวาทว่า “อาวุโสทั้งหลายขอท่านจงยินดีเถิด จงอย่าเบื่อหน่ายในพระศาสนาอันมีสาระในการปฏิบัติเลย”

๗) ออกบิณฑบาตไปยังสกุลอุปัฏฐากเพื่อแสวงหายาแก้ไข้ หรือสิ่งที่ภิกษุไข้ต้องการ แล้วฝากให้ภิกษุหรือสามเณร ที่ติดตามมานำกลับไปที่วัด จากนั้นท่านจึงไปบิณฑบาตหรือไปยังสกุลอุปัฏฐาก๘) ในคราวที่พระบรมศาสดาเสด็จจาริกเผยแผ่ในชนบท ท่านจะเดินตามอยู่ท้ายขบวนคอยจัดหาน้ำมันทาเท้าให้ภิกษุแก่หรือภิกษุหนุ่มที่เจ็บเท้า และให้ภิกษุหรือสามเณรที่เท้าไม่เจ็บช่วยถือบาตร จีวร

        พระสารีบุตรปฏิบัติกิจวัตรเช่นนี้สม่ำเสมอไม่ขาดแม้แต่วันเดียว จวบจนกระทั่งในเวลาที่จะปรินิพพาน ท่านก็ยังเก็บกวาดทำความสะอาดเสนาสนะเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นจึงกราบทูลลาปรินิพพาน ท่านจึงเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยไม่มีข้อบกพร่องแม้แต่วันเดียว [ที.ม.อ. (ไทย) ๑๓/๓๘๒]


      ๑.๒ การสร้างปัญญาผ่านกิจวัตรประจำวัน จากกิจวัตรประจำวันของพระสารีบุตรนี้ แสดงให้เห็นว่า ปัญญาที่พระสารีบุตรมีนั้น มิใช่ปัญญาแค่เอาตัวรอด แต่เป็น “ปัญญาสร้างสันติสุข” ให้แก่คนทั้งโลก ทั้งนี้เพราะว่า

๑) วิธีการฝึกคนให้มีปัญญาได้เร็วที่สุดก็คือ ฝึกผ่านการทำงาน เพราะในขณะที่ทำงานจะต้องมีการควบคุมคุณภาพ ควบคุมเวลาควบคุมงบประมาณ ควบคุมความปลอดภัยและสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน และนั่นคือ ชั่วโมงสำคัญในการบ่มเพาะปัญญาในภาคปฏิบัติ

๒) เหตุที่จะทำให้คนเราเกิดแรงบันดาลใจ ในการฝึกตนก็คือ ต้องมีต้นแบบที่ดีปฏิบัตินำเป็นแบบอย่างที่ดีให้ดู เพราะคนเราถ้านั่งๆ นอนๆ อยู่เฉยๆ คงดีขึ้นมาเองไม่ได้ จะดีได้ก็ต้องมีครูดีคอยแนะนำสั่งสอนอบรม ให้ทั้งความรู้ ความสามารถ นิสัยใจคอ และคุณธรรมความดี เขาจึงจะมีปัญญาที่ใช้ดับทุกข์ให้ตนเองและดับทุกข์ให้ชาวโลกได้

๓) ในทางตรงข้าม ถึงแม้คนคนนั้นจะเก่งแค่ไหน ฉลาดแค่ไหน แต่ถ้าไม่ได้ครูดีก็ยากจะมีนิสัยที่ดี ยากที่จะรู้ถูก-ผิด ดี-ชั่ว เมื่อตัดสินถูก-ผิด ดี-ชั่วไม่ได้ ความรู้ที่ได้ไปก็กลายเป็นดาบสองคมที่ตกอยู่ในมือคนพาล คมหนึ่งมีไว้สร้างความวิบัติเสียหายให้ตนเอง อีกคมหนึ่งมีไว้สร้างความพินาศล่มจมให้ทรัพย์สินและชื่อเสียงของครอบครัว วงศ์ตระกูล และสังคม

๔) ครูดีที่จะตัดสินถูก-ผิด ดี-ชั่วได้ ต้องมีธรรมะอยู่ในใจ คนที่มีธรรมะอยู่ในใจ จะแยกแยะดีชั่วขั้นพื้นฐาน ของการดำเนินชีวิตประจำวันได้ว่า สิ่งใดคือความจำเป็น สิ่งใดคือความต้องการ สิ่งใดคือความสุรุ่ยสุร่ายเกินจำเป็น เพราะนี้คือวิธีฝึกลดความทุกข์ในชีวิตและวิธีฝึกควบคุมกิเลสในจิตใจ อันเป็นต้นทางแห่งความเจริญงอกงามของธรรมะภาคปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ดังนั้นการที่ใครได้ครูบาอาจารย์ดีๆ แบบพระสารีบุตร
จึงเป็นมหาโชคมหาลาภอย่างยิ่งของการเกิดมาเป็นมนุษย์

๕) ธรรมะทั้งหมดในพระพุทธศาสนาจะออกฤทธิ์ได้เต็มประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อคนคนนั้นนำธรรมะที่ศึกษาเล่าเรียนในภาคทฤษฎี มาฝึกปฏิบัติอย่างจริงจังผ่านกิจวัตรประจำวันผ่านกิจกรรม และอาชีพการงานจนกลายเป็นนิสัยดีๆ เป็นศีลธรรมประจำใจ และเป็นคุณธรรมเบื้องสูงเพื่อการกำจัดทุกข์ได้ในที่สุด

๖) กิจวัตรประจำวันที่ทำให้ผลลัพธ์ของการปฏิบัติ มรรคมีองค์ ๘ กลายเป็นนิสัยจนเกิดเป็นคนเจ้าปัญญาได้นั้น ต้องฝึกผ่านกิจวัตรประจำวันแบบเดียวกับพระสารีบุตรเท่านั้นผิดจากนี้ไม่ได้ ผิดจากนี้นิสัยเจ้าปัญญาไม่เกิดทั้งนี้เพราะว่า

๖.๑) กิจวัตรข้อที่ ๑-๔ คือ การทำความสะอาดสถานที่และการจัดระเบียบสิ่งของเครื่องใช้ ย่อมอำนวยผลให้เกิดปัญญาดูแลสมบัติพระศาสนาเป็น

๖.๒) กิจวัตรข้อ๕, ๖, ๘ คือ การดูแลสมาชิกที่ป่วยไข้และสมาชิกใหม่ขององค์กรย่อมอำนวยผลให้เกิดปัญญาดูแลสมาชิกกองทัพธรรมเป็น

๖.๓) กิจวัตรข้อ ๗ คือ การดูแลสุขทุกข์ของประชาชนและการอนุเคราะห์เกื้อกูลชาวโลกย่อมอำนวยผล ให้เกิดปัญญาดูแลกองเสบียงเลี้ยงพระพุทธศาสนาเป็น

          กิจวัตรประจำวันเหล่านี้ ไม่ได้เกิดจากรับสั่งของพระบรมศาสดาที่สั่งให้ท่านทำ ไม่ได้เกิดจากมนุษย์มาวิงวอนขอร้อง ไม่ได้เกิดจากเทวดามาดลอกดลใจ แต่เกิดจากความรับผิดชอบที่มีต่อพระพุทธศาสนา ความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความอนุเคราะห์เกื้อกูลที่มีต่อสรรพสัตว์ และความเป็นมิตรแท้ที่มีต่อเพื่อนสหธรรมิก ซึ่งมีอยู่อย่างเปี่ยมล้นใจของท่าน สมดังพระดำรัสที่พระบรมศาสดาตรัสไว้ ในอุมมัคคสูตร ว่า

        “บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามากในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตน ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น

      “เมื่อคิด ย่อมคิดเพื่อเกื้อกูลแก่ตน เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เกื้อกูลแก่ตนและผู้อื่น และเกื้อกูลแก่โลกทั้งหมดทีเดียว บุคคลเป็นบัณฑิตมีปัญญามากอย่างนี้แล”


         ๑.๓ ศาสนทายาทผู้ค้ำจุนพระพุทธศาสนาและวงศ์ตระกูล

      บุคคลที่ฝึกฝนตนเองหรือได้รับการฝึกตามกิจวัตรของพระสารีบุตรทุกวัน เช่นนี้ เขาย่อมมีปัญญาดูแลสมบัติ ปัญญาดูแลสมาชิก ปัญญาดูแลกองเสบียง ไม่ว่าย่ำไปที่ใดบนผืนปฐพีนี้ก็จะสร้างปฏิรูปเทส ๔ ขึ้นมาได้ในที่นั้น คืออาวาสเป็นที่สบาย อาหารเป็นที่สบาย บุคคลเป็นที่สบาย ธรรมะเป็นที่สบาย เมื่อปฏิรูปเทส๔ เกิดขึ้นที่ใด คนดีสังคมดีก็เกิดขึ้นในที่นั้น การศึกษาธรรมะก็เกิดขึ้นในที่นั้น การสร้างบุญก็เกิดขึ้นในที่นั้น ความเจริญรุ่งเรืองย่อมไหลมาเทมาไม่ขาดสาย

       เพราะฉะนั้น การตรวจตราวัดเป็นกิจวัตรของพระสารีบุตร จึงไม่ใช่เรื่องที่จะมองแบบผิวเผินเสียแล้ว แต่แท้ที่จริงเป็นวิธีการถ่ายทอดปัญญาดูแลสมบัติ ปัญญาดูแลสมาชิก ปัญญาดูแลกองเสบียงผ่านกิจวัตรในชีวิตประจำวัน จึงเท่ากับว่าเป็นการปฏิบัติและการประกาศพระธรรมจักรคือมรรคมีองค์ ๘ อย่างเป็นรูปธรรมโดยตรงเลยทีเดียว

       หากวัดใดครอบครัวใดนำวิธีการนี้ไปใช้ฝึกคน  วัดนั้นก็จะได้ศาสนทายาทที่มีปัญญามากในการค้ำจุนพระพุทธศาสนา บ้านนั้นก็จะได้ทายาทที่มีปัญญามากในการค้ำจุนวงศ์ตระกูล เพราะเขาไม่ใช่มีแค่ปัญญาพาตัวเองรอดเท่านั้น แต่มีปัญญาพาวัด พาครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วทันตาเห็นได้เป็นอัศจรรย์

       ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากทายาทของครอบครัวใดไม่ได้ฝึกกิจวัตรเหล่านี้ ถึงพ่อแม่ผู้ปกครองจะทุ่มเทเงินทอง ส่งเสียให้เขาศึกษาเล่าเรียนสูงเพียงใดก็ตาม เขาก็จะมีปัญญาแค่เอาตัวรอดเป็นอย่างมากเท่านั้น แต่จะไม่มีปัญญาดูแลสมบัติของตระกูล ดูแลสมาชิกครอบครัวดูแลกิจการที่เลี้ยงวงศ์ตระกูลได้

       ทั้งนี้เพราะว่าเขาไม่เคยถูกฝึกให้มีปัญญาแบกภาระส่วนรวม เมื่อเขาลงไปทำงาน จึงไม่รู้วิธีจัดระบบงาน ไม่รู้วิธีบริหารงาน ไม่รู้วิธีตรวจตรางาน ไม่รู้วิธีหาทุน ไม่รู้วิธีสร้างคน ไม่รู้วิธีเลี้ยงคน ไม่รู้วิธีผูกใจรักษาทีมงาน ไม่รู้วิธีแก้ปัญหาเร่งด่วนที่หน้างาน ยิ่งทำงานสมบัติก็ยิ่งร่อยหรอ คนเก่ง ๆ ในทีมก็ทยอยออก ลูกค้าใหม่ก็ไม่มี ลูกค้าเก่าก็ทยอยหาย กิจการงานที่ปู่ย่าตายายเคยทำไว้เจริญรุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีต จึงถึงคราวพินาศล่มจมในทันที เพราะว่าขาดปัญญา ที่ได้จากการฝึกตรวจตรางานของครอบครัวเป็นกิจวัตรประจำวันนั่นเอง

        ดังนั้น เราจึงมองข้ามวิชาฝึกคนผ่านการตรวจวัดเป็นกิจวัตรประจำวันของพระสารีบุตรไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะเป็นวิชาครูในการฝึกคนให้มีนิสัยเจ้าปัญญาแบบเป็นทีม ตามแบบฉบับของพระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญาผู้ได้รับการรับรองจากพระพุทธองค์ว่า เป็นผู้ให้โอวาทแทนพระบรมศาสดาได้ เป็นผู้หมุนธรรมจักรได้ดุจเดียวกับพระองค์

         นี้คือวิธีที่ ๑ ที่ท่านใช้หมุนธรรมจักรให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว ย่ำไปที่ใด ปฏิรูปเทส ๔ ก็เกิดขึ้นที่นั่น เมื่อไปตรวจตราวัดใด ขุนพลแห่งกองทัพธรรมรุ่นใหม่ ๆก็จะเติบโตขึ้นที่วัดนั้นทันที

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๗๗ เดือนกันยายน ๒๕๖๐

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล