วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๖)

บทความพิเศษ
เรื่อง : นวธรรม และคณะนักวิจัย DIRI

 

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๖)

หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๖),เนื้อนาใน ,อยู่ในบุญ

       ในฉบับที่แล้ว สิ่งที่ผู้เขียนได้ฝากไว้มีอยู่ ๒ - ๓ ประเด็นที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ประเด็นที่ ๑ การให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามพันธกิจ ๗ ขั้นตอน การสรรหาและคัดเลือกบุคลากรที่รักด้านวิชาการ การประสานความร่วมมือกับนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด ในการทำงานศึกษาค้นคว้าหลักฐานธรรมกายประเด็นที่ ๒ เรื่องของการจัดหาอาคารเพื่อสถาปนาเป็นสถาบันวิจัยทางพระพุทธศาสนา(Buddhist Research Institute) เพื่อรองรับภารกิจการค้นคว้าและปริวรรตคัมภีร์พุทธโบราณ ตลอดจนใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมนักวิจัยที่มีคุณภาพในระดับอุดมศึกษาขั้นสูง เพื่อทำงานสืบค้นหลักฐานธรรมกายจากทั่วโลกให้สำเร็จ ซึ่งก็เป็นภารกิจที่สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยได้ดำเนินการเป็นเวลามากกว่า ๑๗ ปีมาแล้ว และประเด็นสำคัญมากคือ การผนวกภารกิจทั้งหมดที่กล่าวมานี้เพื่อร่วมฉลองครบ๑๐๐ ปี แห่งการค้นพบวิชชาธรรมกายในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ (ตรงกับวันอังคารที่ ๕ กันยายน พุทธศักราช๒๕๖๐) ที่จะถึงนี้

  อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงไว้ในฉบับที่แล้ว ซึ่งเป็นสาระสำคัญในการทำงานสืบค้นหลักฐานธรรมกายของสถาบันวิจัย นานาชาติธรรมชัย (DIRI) โดยตรงก็คือ ประเด็นที่ผู้เขียนนำเสนอว่าพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายนั้น คือ “ต้นแบบของนักวิจัย” ทางพระพุทธศาสนาที่แท้จริง ซึ่งได้ทำงานสืบค้นหลักฐานธรรมกายมาจนตลอดชีวิตของท่าน โดยที่ท่านได้ใช้กระบวนการศึกษาทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธมาอย่างครบถ้วน ท่านก็ยังคงหมั่น “สอบทาน” และ “สอดส่องธรรม” ทบทวนความรู้ในวิชชาธรรมกายของท่านมาอย่างต่อเนื่องตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิตทีเดียว

       ดังที่เราทราบกันมาโดยตลอดว่า การค้นพบวิชชาธรรมกายของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ นั้น มิได้เริ่มต้นจากการบรรลุธรรมในคืนวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ในกลางพรรษาที่ ๑๒ ที่วัดโบสถ์บน บางคูเวียงจ.นนทบุรี เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วจะต้องย้อนไปตั้งแต่ช่วงแรกที่ท่านบรรพชาอุปสมบทที่วัดสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรีเลยทีเดียว ที่เป็นเช่นนั้นเพราะถือเป็นเรื่องอัศจรรย์อย่างยิ่งที่เมื่อท่านได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว
วันรุ่งขึ้นท่านก็มิได้ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเลยแต่ได้ศึกษาทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระจากพระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ โดยทันที จนได้ไปพบกับคำว่า “อวิชฺชาปจฺจยา” และนับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ท่านตัดสินใจเดินทางมาสืบค้นความรู้เกี่ยวกับคำคำนี้ต่อมาที่กรุงเทพมหานคร

    การตัดสินใจเดินทางมาสืบค้นความหมายของคำว่า “อวิชฺชาปจฺจยา” เพียงคำเดียว ที่กรุงเทพมหานคร (หรือจังหวัดพระนคร) ในช่วงเวลานั้น (สมัยรัชกาลที่ ๕ ราวปีพุทธศักราช๒๔๔๙) ย่อมมิใช่เรื่องง่ายเลย เพราะการคมนาคมยังไม่สะดวก ประกอบกับเอกสารตำราและคัมภีร์ต่าง ๆ ก็เป็นของที่หายากอย่างยิ่ง การตัดสินใจเดินทางไกลมาเพราะต้องการสืบค้นความหมายของคำเพียงคำเดียวนี้ จึงเป็นเครื่องยืนยันเป็นอย่างดีว่าพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สดจนฺทสโร) นั้น ท่านมีหัวใจที่มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวและสมกับการเป็น “ต้นแบบของนักวิจัยทางพระพุทธศาสนา” เพียงใด

     หลังการเดินทางมายังกรุงเทพมหานครแลว้ ด้วยการศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่องทั้งทางปริยัติและปฏิบัติเป็นเวลาหลายปี พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ท่านไม่เพียงแต่จะได้ศึกษามูลกัจจายนะอย่างทบไปทวนมาถึง ๓ จบพระธรรมบท ๘ ภาค คัมภีร์มังคลัตถทีปนี และสารสงเคราะห์เท่านั้น การหมั่นเข้ารับการฝึกสมาธิจากพระวิปัสสนาจารย์ในสำนักต่างๆอย่างต่อเนื่อง เช่น ท่านเจ้าคุณสังวรานุวงศ์เถระ (เอี่ยม) วัดราชสิทธาราม พระครูฌานวิรัติ (โป๊) วัดพระเชตุพน พระอาจารย์สิงห์วัดละครทำ ฯลฯ นั้น น่าจะทำให้พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ท่านได้ค้นพบความหมายของคำว่า“อวิชฺชาปจฺจยา” ในแง่ของนิยาม (Definition) นั้นนานแล้ว แต่การที่ท่านยังคงศึกษาค้นคว้าต่อไปอีกอย่างไม่ลดละนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะท่านอาจขยายขอบเขตหรือปริมณฑลของความรู้ของท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้วหลายเท่าตัว ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้ท่านได้พบข้อมูลปฐมภูมิดั้งเดิม (Primary Source) ที่สำคัญยิ่งกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัวด้วยเช่นกัน

 

       ถ้าเราจะเปรียบว่า การตั้งใจบรรพชาอุปสมบทเพื่ออุทิศชีวิตไว้ในพระพุทธศาสนาก็ดี การตัดสินใจเดินทางเข้ามาค้นหาความหมายของคำว่า “อวิชฺชาปจฺจยา” และการตั้งใจศึกษาหาความรู้ทั้งทางปริยัติและปฏิบัติจากคณาจารย์หลายท่านของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ก็ดีนั้น เป็นเสมือนกับการรวบรวมหลักฐานใน “การศึกษาค้นคว้าความเป็นจริงของชีวิต” แล้ว ประเด็นการวิจัยหลักของท่านก็ย่อมจะไม่พ้นเรื่องของคำถามที่ว่า “เกิดมาทำไม” “ตายแล้วไปไหน” “อะไรคือความเป็นจริงของชีวิต” ไปได้ ซึ่งหากเรายิ่งทำความเข้าใจลงไปให้ลึกซึ้งในประวัติและคำสอนของท่านแล้ว เราจะยิ่งพบว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายสิบปีของท่านนั้น มีแต่การสืบค้นคำตอบในเรื่องราวเหล่านี้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสืบค้นคำตอบที่ท่านยอมสละชีวิตเป็นเดิมพันทีเดียว

        สิ่งที่เหมือนกันของเรื่องราวชีวิตของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ในช่วงก่อนและหลังการบรรลุธรรมนั้น คือ “ปฏิปทา ในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้อย่างลึกซึ้ง” ของท่าน ซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลง ดังปรากฏว่า เมื่อท่านสนใจศึกษาประเด็นใดแล้ว ท่านจะตั้งใจอย่างจริงจังเพื่อให้เข้าใจเรื่องราวนั้น ๆ อย่างแตกฉาน ทั้งในระหว่างการศึกษาสืบค้นนั้นพบว่า ท่านได้ใช้วิธีการอย่างหลากหลายเพื่อเป็นต้นแบบนักวิจัย ในการศึกษาค้นคว้าหาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องอย่างมากที่สุด ดังที่ปรากฏในอัตชีวประวัติของท่านว่าต้องแบกคัมภีร์จนไหล่ลู่ และมีความเชี่ยวชาญมากและหมั่นไปพบปะขอความรู้จากคณาจารย์ ผู้รู้มากมายหลายสำนัก ทั้งสังเกต ทบทวน และฝึกปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านคณาจารย์เหล่านั้นอย่างจริงจัง จนเจนจบความรู้ของครูบาอาจารย์ ฯลฯ เพียงแต่สิ่งที่อาจต่างออกไปก็คือ ในช่วง ๑๒ พรรษา ก่อนการบรรลุธรรมนั้น สิ่งที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ท่านมุ่งมั่นก็คือ การแสวงหาการบรรลุธรรมตามอย่างพระบรมศาสดา และการแสวงหาคำตอบของเป้าหมายชีวิต และหลังจากที่ท่านได้บรรลุธรรมเข้าถึงพระธรรมกายแล้ว เป้าหมายของท่านจึงมีการพัฒนามาสู่การ “ศึกษาวิชชาธรรมกายชั้นสูง” ให้ลึกซึ้ง และรวมถึงการ“เผยแผ่วิชชาธรรมกาย” ที่ท่านค้นพบนั้นออกไปให้กว้างขวางต่อมา

        ที่สำคัญก็คือ การค้นพบวิชชาธรรมกายของท่านนั้น ยังได้ทำให้ท่านมีความเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับ “อวิชฺชาปจฺจยา” อย่างลึกซึ้งอีกด้วย ทั้งนี้เพราะเหตุไร เกี่ยวกับประเด็นนี้หากเรานำคำคำนี้มาพิจารณา เราจะพบว่า คำว่า“อวิชฺชาปจฺจยา” นั้น นักวิชาการทางพระพุทธศาสนานิยมอธิบายไว้ในรูปของหลักปฏิจจสมุปบาทธรรม โดยระบุไว้ว่า “สาเหตุหลักของการเกิดทุกข์ก็คืออวิชชา” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นปฏิจจสมุปบาทสายเกิด
คือ “อวิชชาเป็นรากเหง้าของการเกิดทุกข์” ซึ่งภายหลังเมื่อได้ศึกษาค้นคว้าพระธรรมเทศนาทั้ง ๖๓ กัณฑ์ของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) อย่างละเอียดแล้ว ก็พบว่า ทุก ๆ คำสอนของท่านที่ปรากฏอยู่ในบทพระธรรมเทศนาดังกล่าวล้วนแต่เชื่อมโยงไปสู่เรื่องของการดับ “อวิชชา” ทั้งสิ้น ซึ่งก็เท่ากับว่า พระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านได้สรุปผลการศึกษาวิจัยของคำว่า “อวิชฺชาปจฺจยา” ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยผ่านองค์ความรู้ของวิชชาธรรมกาย นั่นเอง

     ในทัศนะของผู้เขียน แม้ในเบื้องต้นไม่สามารถกล่าวได้ว่าพระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านจะมีสมมติฐานเกี่ยวกับวิชชาธรรมกายมาก่อนหรือไม่ อย่างไร ? แต่การที่ท่านเริ่มต้นศึกษาค้นคว้าความรู้ในพระพุทธศาสนาทุก ๆ ด้านทุก ๆ วิธีการด้วยใจที่บริสุทธิ์และมุ่งมั่น เพื่อจะได้ทราบถึงเป้าหมายอันแท้จริงของชีวิตมนุษย์ (ถือว่าเป็นการตามรอยธรรมของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรง)
ผู้เขียนเชื่อว่าสมมติฐานหลักของท่านก็น่าจะเป็นการเชื่อมั่นในการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามีอยู่จริง จึงได้เป็นแรงบันดาลใจประการหลักในการตั้งใจเดินทางมาแสวงหาคำตอบของคำว่า “อวิชฺชาปจฺจยา” และกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ท่านบรรลุธรรมเข้าถึงพระธรรมกายในคืนวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ ในที่สุด

      อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ท่านได้บรรลุธรรมเข้าถึงพระธรรมกายแล้วนั้นเอง ที่เราอาจกล่าวได้ว่าพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ท่านยิ่งมีกระบวนการศึกษาวิจัยเรื่องของธรรมกายที่ชัดเจนขึ้นกว่าเดิมมาก ดังจะเห็นได้จากการที่ในช่วงหลายปีต่อจากนั้น ท่านยิ่งให้ความสำคัญกับการศึกษา ทบทวน ปรับปรุงและพัฒนาการค้นคว้าวิชชาธรรมกายก้าวหน้าไปอีกมาก ซึ่งหากเปรียบไปแล้วเราอาจกล่าวได้ว่า กระบวนการที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯท่านวิจัยธรรมด้วยธรรมจักษุและญาณทัสนะ ของ “ธรรมกาย” ภายหลังจากที่ท่านบรรลุธรรมแล้ว พอจะเปรียบเทียบได้ว่าเป็น“กระบวนการวิจัยและพัฒนา” (ResearchProcess and Development) ก็ได้ โดยมีวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และโรงงานทำวิชชาเป็นศูนย์วิจัยแห่งแรก

     จากการศึกษาค้นคว้ามาอย่างต่อเนื่องผู้เขียนเชื่อว่า ในช่วงหลังจากการบรรลุธรรม หรือในช่วงที่ท่านได้สอนธรรมอยู่ที่วัดบางปลา จนได้ศิษยานุศิษย์ที่บรรลุธรรมตามท่านเป็นพระภิกษุ ๓ รูป และคฤหัสถ์ ๔ คนแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ท่านก็ยังคงศึกษาพระปริยัติธรรมควบคู่ไปด้วยเสมอ แต่การศึกษาพระปริยัติธรรมของท่านในภายหลังนี้เป็นไปเพื่อการนำมาใช้อ้างอิง หรือเป็น “เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง” ทั้งปฐมภูมิและทุติยภูมิ (Primary & Secondary Sources) สำหรับยืนยันความถูกต้องของวิชชาธรรมกายนั่นเอง

      ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อวันที่๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ นั้น ท่านแสดงพระธรรมเทศนาเรื่อง “รตนตฺตยคมนปณามคาถา”(ความนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย) ท่านได้อธิบายเกี่ยวกับความหมายของการนอบน้อมวิธีการในการนอบน้อม การเปล่งวาจาในการนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย ฯลฯ แล้วท่านได้ระบุชัดว่า “พระรัตนตรัยเป็นแก้วจริงๆหรือเปรียบด้วยแก้ว ถ้าเป็นทางปริยัติ เข้าใจตามอักขระแล้ว เป็นอันเปรียบด้วยแก้ว แต่เป็นทางปฏิบัติ เข้าใจตามปฏิบัติแล้ว เป็นแก้วจริงๆ การถึงพระรัตนตรัย ต้องเอากายวาจา ใจ เราที่ละเอียด จรดเข้าไปให้ถึงแก่นพระรัตนตรัยจริงๆ ได้ในบทว่า สกฺกตฺวา พุทธรตนํ กระทำตนให้เป็นแก้วคือพุทธสกฺกตฺวา ธมฺมรตนํ กระทำตนให้เป็นแก้วคือธรรม สกฺกตฺวา สงฺฆรตนํ กระทำตนให้เป็นแก้วคือสงฆ์

 

     นอกจากนี้ พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯท่านยิ่งกล่าวชัดขึ้นไปอีกในภาคปฏิบัติด้วยว่า  “ธรรมกายนี้เองเป็นพุทธรัตนะ ซึ่งแปลว่าแก้วคือพุทธะ ธรรมที่ทำให้เป็นกายต่างๆนี้เอง เป็นธรรมรัตนะ ซึ่งแปลว่าแก้วคือธรรมและธรรมกายคือกายธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น ยกธรรมกายของพระสัพพัญญูและธรรมกายของพระปัจเจกพุทธเจ้าออกเสีย นอกจากนั้นเป็นธรรมกายของสาวกพุทธทั้งสิ้น มีมากน้อยเท่าใดเป็นสังฆรัตนะ แก้วคือสงฆ์”

      ความชัดเจนที่ปรากฏเป็นผลประจักษ์ เกี่ยวกับการตอกย้ำความมีอยู่จริงของธรรมกายนั้น มิได้ปรากฏอยู่แต่เพียงในคำเทศน์สอนของพระเดชพระคุณท่านเท่านั้น นับตั้งแต่ได้รับศาสนกิจให้ทำหน้าที่สมภารปกครองวัดปากน้ำ ท่านยังแสดงจุดยืนและดำเนินการค้นคว้าเพิ่มเติมในวิชชาธรรมกาย ที่ได้ค้นพบและส่งเสริมให้เผยแผ่ออกไปอย่างแพร่หลายและกว้างขวางเสมอมา แม้ว่าจะมีอุปสรรคมากมาย หรือมีผู้ที่ไม่เข้าใจเพียงใดก็ตาม แต่ในที่สุดเมื่อท่านได้ให้การอบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์มาได้ราว ๓๔ ปีเศษ ปรากฏว่ามีผู้ได้รับการศึกษาวิชชาธรรมกายจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีผู้ได้รู้และได้เห็นธรรม คือ “ได้ธรรมกาย” เป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน นอกจากนี้สำหรับผู้ที่ได้ธรรมกายแล้ว ท่านยังมี “หลักสูตร” เพิ่มเติมสำหรับวิชชาชั้นสูง เป็นประจำทุก ๆ วันสำหรับผู้ที่ได้รับผลการปฏิบัติก้าวหน้า เนื่องจากท่านมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับ “กระบวนการวิจัยและพัฒนา” ทั้งบุคคลและวิชชาธรรมกายไปพร้อมกัน กล่าวคือ “มีการค้นคว้าคืบหน้าทุกวัน ไม่มีหยุดแม้แต่วินาทีเดียว” พร้อมๆไปกับการสนับสนุนให้มีการจัดส่งพระภิกษุและอุบาสิกา ที่มีความเชี่ยวชาญในวิชชาธรรมกายให้จาริกไปสอนยังสำนักต่างๆ เป็นประจำทุกปีทั้งในประเทศและต่างประเทศ

   จากการศึกษาปฏิปทาของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ มาจนถึงบัดนี้ ทำให้ผู้เขียนเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่าวิชชาธรรมกายนั้น สำคัญเพียงใด วิชชาธรรมกายมีความสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาอย่างไร การศึกษาพระปริยัติธรรมกับการปฏิบัติมีความสัมพันธ์กันอย่างไร และ “ปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ” นั้นเกี่ยวข้องเชื่อมโยงไปสู่การเข้าถึงพระธรรมกายอย่างไรฯลฯ ประเด็นสำคัญๆ เหล่านี้มีคำตอบอยู่แล้วในพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน เพียงแต่จำเป็นจะต้องมีการศึกษาค้นคว้ารวบรวมอย่างเป็นระบบ ด้วยกระบวนการวิจัยและจะต้องทำอย่างจริงจังแบบเดียวกับที่ พระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี (สดจนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายท่านได้กระทำเป็นตัวอย่างสืบมา สำหรับในปีนี้ วันขึ้น๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ (หรือตรงกับวันอังคารที่ ๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๐) ที่จะถึงนี้ ต้องถือว่าเป็นวาระพิเศษ เพราะเป็นวันครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งการค้นพบวิชชาธรรมกาย สำหรับพวกเราที่เป็นลูกศิษย์หลานศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ นั้น ย่อมจะต้องตระหนักและซาบซึ้งถึงความสำคัญ เพราะเราต่างก็รู้ว่าการเกิดขึ้นของวิชชาธรรมกายมิใช่เรื่องง่าย การเกิดขึ้นของบุคคลผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายก็มิใช่เป็นเรื่องง่าย กว่าที่วิชชาธรรมกายจะสืบทอดมาถึงพวกเรา ก็เป็นสิ่งที่ยากอย่างยิ่งคณะบุคคลผ้เป็นมหาปูชนียาจารย์ของพวกเราไม่ว่าจะเป็นพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายก็ดี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ก็ดี หรือ หลวงพ่อทั้งสองของเราก็ดี ต่างก็ต้องทุ่มเทเอาชีวิตเป็นเดิมพันประคับประคองวิชชาธรรมกายมาด้วยความยากลำบาก กว่าจะส่งทอดมรดกธรรมนี้มาถึงพวกเรา

 

  

        เพื่อให้เรื่องราวของวิชชาธรรมกาย ความจริงแท้ของการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย ตลอดจนหลักฐานธรรมกาย และการศึกษาคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกี่ยวกับหลักฐานธรรมกาย ได้รับการปักหลักอย่างมั่นคงในโลกนี้และเป็นที่พึ่งของมวลมนุษยชาติได้สำเร็จ ผู้เขียนและคณะทำงานคณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) จึงใคร่ขอเชิญชวนให้ลูกศิษย์หลานศิษย์แห่งวิชชาธรรมกายมาร่วมกันสถาปนาอาคารสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ประเทศนิวซีแลนด์ ให้สำเร็จ ในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี ของวิชชาธรรมกายที่จะถึงนี้ ทั้งนี้อาคารสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ที่กำลังจะสถาปนาขึ้นนี้ มีพันธกิจในการเป็นสถาบันวิจัยทางพุทธศาสตร์ การเป็นสถาบันวิจัยที่ผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยเรื่อง “ธรรมกาย” การสืบทอดการปฏิบัติสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านได้ตั้งสัตยาธิษฐานสรุปใจความได้ว่า “หากไม่เห็นธรรมคราวนี้ จักขอนั่งไม่ลุกจากที่ ยอมตายตรงนี้ หากธรรมที่บรรลุนี้จักเกิดโทษ อย่าโปรดประทานให้ หากว่าเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาแล้วไซร้ ขอพระองค์จงได้โปรดประทานเถิด ข้าพเจ้าจักรับเป็นทนายแก้ต่างให้พระพุทธศาสนา” เมื่อปฏิบัติสมาธิจนบรรลุธรรมกาย ในคืนวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปี พุทธศักราช ๒๔๖๐ ณ วัดโบสถ์บน บางคูเวียง จ.นนทบุรี ซึ่งนับเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ของชีวิตที่เราทุกคนไม่ควรปล่อยให้ผ่านเลยไป

      ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอให้ทุกท่านมีความสมบูรณ์พร้อมด้วยสมบัติทั้งสาม รู้แจ้งแทงตลอดในวิชชาธรรมกาย มีดวงปัญญาที่สว่างไสว เป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นเดียวกับพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายตลอดไป ได้มาร่วมกันเป็นทนายแก้ต่างให้แก่พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย และขอให้สมความปรารถนาในสิ่งที่ดีงามจงทุกประการเทอญ ขอเจริญพร

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๗๗ เดือนกันยายน ๒๕๖๐

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล