DOU ความรู้สากล
เรื่อง : พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
ความสำคัญของอริยสัจ ๔
พระพุทธศาสนามีเป้าหมายสูงสุด คือการมุ่งไปสู่ความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เพื่อเข้าสู่พระนิพพาน คำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้านำมาถ่ายทอดนั้น ล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคคลผู้ปฏิบัติตามมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางคือพระนิพพาน หลักธรรมเหล่านี้มีการจัดรวมเป็นกลุ่มๆได้ทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ หลักธรรมเหล่านี้เป็นเพียงแค่เศษของความรู้ ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้เปรียบเสมือนใบไม้ที่อยู่ในกำมือ แต่ความรู้
ที่พระองค์ทรงรู้มีมากมายเหมือนใบไม้ในป่า แต่กระนั้นความรู้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้ ก็เพียงพอที่จะนำมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต
อริยสัจ ๔ ถือเป็นหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา มีผู้กล่าวว่าอริยสัจ ๔ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เพราะอะไรจะได้มาศึกษากัน
อริยสัจ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ,ความจริงของพระอริยะ, ความจริงที่ทำให้บุคคลผู้เข้าถึงเป็นอริยชน และความจริงอันทำให้บุคคลผู้ปฏิบัติตามห่างไกลจากข้าศึก
๑. เป็นความจริงอันประเสริฐ เพราะว่าเป็นความจริงที่เป็นจริงอยู่เสมอ ไม่เปลี่ยนแปลงแปรผันเป็นอย่างอื่นหรือกลับตรงกันข้าม เช่น ชีวิตเจืออยู่ด้วยทุกข์ ตัณหา (ความทะยานอยากต่าง ๆ) เป็นเหตุแห่งทุกข์นานาประการ ความดับกิเลสตัณหาเป็นความดับทุกข์ และการปฏิบัติชอบในรูปแบบต่างๆ เป็นมรรคไปสู่ความดับทุกข์ สิ่งเหล่านี้เป็นความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ตลอดมาตั้งแต่บรรพกาลจวบจนปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ในการแสดงอริยสัจครั้งแรกนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงยืนยันว่า ธรรมจักรที่พระองค์ทรงหมุนไปแล้วนี้ ใครจะหมุนกลับไม่ได้ (อปฺปฏิวตฺติยํ) คือ ใครจะกล่าวคัดค้านว่าไม่เป็นจริงหาสำเร็จไม่
๒.เป็นความจริงของพระอริยะ หมายความว่า พระอริยเจ้าท่านมีความเห็นอย่างนี้ มีความเข้าใจในเรื่องชีวิตอย่างนี้ตรงกัน ไม่ขัดแย้งกัน คือเห็นว่าชีวิตเจืออยู่ด้วยทุกข์ ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ การดับกิเลสได้เป็นความดับทุกข์ และมรรคมีองค์ ๘ เป็น ทางไปสู่ความดับทุกข์ได้จริง ซึ่งความเห็นอย่างนี้ ความเข้าใจอย่างนี้ อาจสวนทางกับความเห็นของปุถุชนส่วนมากก็ได้
๓. เป็นความจริงที่ทำให้บุคคลผู้เข้าถึงเป็นอริยชน หมายความว่า แม้เดิมทีเดียวเป็นปุถุชน แต่เมื่อมารู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ครบถ้วน บริบูรณ์ทุกประการแล้ว ย่อมแปรสภาพจากปุถุชนเป็นอริยชนไปทันที เหมือนคนจนเมื่อมีทรัพย์ขึ้น ก็กลายเป็นเศรษฐี
๔. เป็นความจริงอันทำให้บุคคลผู้ปฏิบัติตามห่างไกลจากข้าศึก ข้าศึกนั้นมี ๒ อย่าง คือ ข้าศึกภายนอกอันได้แก่ผู้มุ่งร้ายต่อเรา และข้าศึกภายในคือกิเลสซึ่งเป็นข้าศึก อันร้ายกาจของบุคคล โรครบกวนกายให้ไร้ซึ่งความสงบสุขอย่างไร กิเลสก็รบกวนใจให้ปราศจากความสงบสุขอย่างนั้น บรรดาข้าศึกทั้ง ๒ อย่างนั้น กิเลสดูเหมือนจะเป็นข้าศึกที่ร้ายแรงกว่า เพราะรบกวนใจอยู่ทุกวันและอิงอาศัยอยู่กับเรา หลอกล่อเราให้ลุ่มหลง แล้วทำร้ายในภายหลัง
ความสำคัญของอริยสัจ
อริยสัจเป็นหัวข้อธรรมสำคัญอย่างยิ่ง หัวข้อหนึ่งในหลักคำสอนสำคัญของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังจะเห็นได้จากหลักฐานต่อไปนี้
๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปฏิญาณ พระองค์ว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะเพราะทรงรู้แจ้งในอริยสัจ ความข้อนี้ปรากฏอยู่ในธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่ทรงแสดงเป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์นั่นเอง ว่า “ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ นี้ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ ยังไม่หมดจดดีแล้วเพียงใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังยืนยันไม่ได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ เพียงนั้น“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ นี้ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ หมดจดดีแล้วดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้นเราจึงยืนยันได้ ว่าเป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์”
๒. พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระสารีบุตร ให้เป็นพระธรรมเสนาบดี คือแม่ทัพธรรม ทรงให้เหตุผลว่า เพราะพระสารีบุตรสามารถแสดงธรรมจักร ซึ่งมีอริยสัจ ๔ เป็นแกนกลางได้เสมอพระองค์ ไม่มีพระสาวกอื่นรูปใดจะทำให้เทียมถึง แสดงว่าทรงถือเอาอริยสัจ ๔ เป็นมาตรฐานวัดความสามารถของพระสาวกทั้งหลายในเรื่องการแสดงธรรม
๓. พระสารีบุตรเองก็ได้แสดงไว้ว่าอริยสัจ ๔ เป็นที่รวมลงแห่งธรรมที่เป็นกุศลทั้งหลาย เหมือนรอยเท้าช้างใหญ่กว่ารอยเท้า สัตว์บกทุกชนิด เอารอยเท้าของสัตว์อื่นทุกชนิด มาใส่ในรอยเท้าช้างได้ฉันใด ธรรมที่เป็นกุศลทุกอย่างรวมลงในอริยสัจ ๔ ได้ฉันนั้น
๔. เมื่อพูดให้ใกล้เข้ามาถึงชีวิตของคนเราทุกคน อริยสัจ ๔ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาชีวิตและการแก้ไขปัญหานั้น ความทุกข์ เป็นปัญหาชีวิตที่เผชิญหน้าทุกคนอยู่ การแก้ไขปัญหาชีวิตจะต้องดำเนินไปตามหลักเหตุผลและสติปัญญา หรือดำเนินการให้ถูกต้องตามเหตุของปัญหานั้น ๆ แล้วดับที่เหตุ ปัญหาจึงจะคลี่คลายหรือดับลง
ดังนั้น การที่เราได้สวดธัมมจักกัปปวัตนสูตร นอกจากจะได้บุญจากการสวด ซึ่งถือเป็นการสาธยายธรรมแล้ว หากเราเข้าไปศึกษารายละเอียดของหลักธรรมที่ปรากฏอยู่ในธัมมจักกัปปวัตนสูตร โดยเฉพาะเรื่องอริยสัจซึ่งถือเป็นหลักธรรมสำคัญ และนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต เราย่อมจะได้อานิสงส์ทั้งจากการสวดและการประพฤติมากยิ่งๆขึ้นไป