ส่องธรรม ล้ำภาษิต
เรื่อง : พระครูสมุห์ณรงค์ ทนฺตจิตฺโต
ขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่
โลโภ โทโส จ โมโห จ ปริสํ ปาปเจตสํ
หํสนฺติ อตฺตสมฺภูตา ตจสารํว สมฺผลํ
โลภะ โทสะ โมหะ เกิดจากตัวเอง
ย่อมเบียดเบียนผู้มีใจชั่ว ดุจขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ฉะนั้น
(ขุ.อิติ. ๒๕/๒๖๔)
โลภะ โทสะ โมหะ กิเลส ๓ ตัว ที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา
เป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งปวง เป็นเครื่้องเศร้าหมองของจิตใจ
โลภะ ความอยากได้ในทางที่ผิด
โทสะ ความคิดประทุษร้าย โกรธ พยาบาท
โมหะ ความหลงไม่รู้จริง ประมาท มัวเมา
กิเลสทั้ง ๓ ตัวนี้เป็นมหันตภัยร้ายที่พึงระวัง
แม้กิเลสแค่ตัวเดียวก็ก่อทุกข์ - โทษ - ภัย
ได้มากมายมหาศาลเกินพรรณา
กิเลสเมื่อเกิดขึ้นกับบุคคลใด ย่อมเบียดเบียนบุคคลนั้น
ทำลายผู้นั้นอย่างย่อยยับไม่ปราณี เหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไม้
บัณฑิตจึงสั่งสมทาน ศีล และภาวนา
อันเป็นคุณเครื่องดับกิเลสทั้ง ๓ นี้
ทาน การให้ การสละแบ่งปัน
ศีล การรักษาความสงบทางกาย วาจา
ภาวนา การฝึกอบรมจิตให้สงบและก่อปัญญา
ทาน ศีล ภาวนา เมื่อเกิดขึ้นกับบุคคลใด ย่อมส่งเสริมบุคคลนั้น
ยังบุคคลนั้นให้เจริญรุ่งเรือง สว่างไสว ประดุจพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
ลอดเด่นกระจ่างกลางนภาเหนือดวงดาวใดๆ