วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๘)

บทความพิเศษ
เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI

 

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ
(ตอนที่ ๕๘)

หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และบทบาทของท่านที่มีต่อการขยายความ “คาถาธรรมกาย”

          ในฉบับที่แล้ว ผู้เขียนเพิ่งจะได้กล่าวถึงประเด็นแต่พอสังเขปเกี่ยวกับ “คุณค่าของคาถาธรรมกาย” ความนอบน้อมถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันมีมาแต่ยุคโบราณโดยผู้เขียนได้กล่าวถึงการบรรยายทางไกลเรื่อง “ที่มาของคาถาธรรมกาย” ของ ดร.กิจชัย เอื้อเกษม นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย ซึ่งบรรยายไว้เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ที่อาคาร ๑๐๐ ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง โดยได้นำมาขยายความไว้บางส่วน เนื่องด้วยเนื้อหาของ “คาถาธรรมกาย” (รวมทั้งหลักฐานธรรมกายต่าง ๆ) นั้นเป็นเรื่องที่มีความละเอียดและซับซ้อนยิ่ง แม้จะมีการอรรถาธิบายเพิ่มขึ้นเท่าใดก็ไม่อาจสาธยายได้ครบถ้วน ทั้งนี้โดยความเห็นของผู้เขียนแล้ว ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเรื่องราวของหลักฐานธรรมกายนั้นเป็นเรื่องลึกซึ้งมีความลุ่มลึกทั้งในภาคปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ โดยตัวของเรื่องราวเองกับทั้งในการศึกษาค้นคว้านั้น พบว่ามีการทำงานศึกษาค้นคว้าเพิ่มขึ้นทุก ๆ วันด้วยคุณลักษณะดังนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่า การอรรถาธิบายขยายความเรื่องหลักฐานธรรมกายนั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งอธิบายก็ยิ่งมองเห็นปริมณฑลที่กว้างไกลออกไปอย่างไม่อาจประมาณได้ทีเดียว 

 

โปสเตอร์งานเสวนาหลักฐานธรรมกาย


              อนึ่ง ในระหว่างที่ผู้เขียนกำลังเรียบเรียงต้นฉบับอยู่นี้ ผู้เขียนยังได้รับข่าวที่น่ายินดีจากผู้ช่วยวิจัยของสถาบันฯ (คุณวรเมธ มลาศาสตร์) เพิ่มเติมมาว่า ในระหว่างการเก็บข้อมูล เพื่อการศึกษาวิจัยอยู่นั้น เขาได้เดินทางไปยังหอจดหมายเหตุแห่งชาติ พระนคร (ท่าวาสุกรี) แล้วได้ไปพบเอกสารเกี่ยวกับการหล่อพระพุทธรูป ชื่อเรื่องว่า “ปูชาปริวาน วิธีสูตกะทำมังคละกัมมทั้งมวล, วิธีขวกหล่อพระเจ้า..” เป็นเอกสารตำราที่เขียนบนกระดาษสาในอักษรธรรมล้านนา ๑ ผูก (๑ เล่ม) จำนวน ๖๑ แผ่น พบที่วัดตุ่นกลาง จารขึ้นตั้งแต่จุลศักราช ๑๒๗๐ ซึ่งเอกสาร “ปูชาปริวานฯ” ดังกล่าวนี้มีปรากฏคาถาธรรมกายอยู่ในเนื้อความของเอกสารนี้ด้วย โดยปรากฏอยู่ในหน้า ที่ ๑๘ และ ๒ บรรทัดแรกของหน้า ๑๙ ด้วย สันนิษฐานว่าเป็นเอกสารฉบับเล็กไว้สำหรับพระภิกษุผู้ประกอบพิธีกรรมพกติดตัวในเวลาเดินทางไปสวดในพิธีพุทธาภิเษก การหล่อพระพุทธรูปต่าง ๆ เนื่องจากโดยปรกติแล้ว คาถาธรรมกายจะขึ้นต้นด้วยพระบาลีว่า “สพฺพญฺญุตญาณปวรสีสํ”ฯ เป็นอาทิ แต่พับสานี้ขึ้นต้นด้วยคำว่า “สพฺพญุตฺญาณปวร ส๊ลํ” อันเป็นการนำเอาคำพระบาลีมาผสมกับภาษาล้านนา ซึ่งคำว่า “สีลํ” ในภาษาล้านนามีความหมายว่า “ศีรษะ” หรือ “หัว” ซึ่งตามความเห็นของ ดร.กิจชัย เอื้อเกษม นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) นั้นได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า “การที่เราเห็นบทคาถาธัมมกายถูกจารไว้ในลักษณะที่ผสมกับคำพื้นเมืองแบบนี้ อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นการเขียนกำกับไว้สำหรับพระเถราจารย์ผู้สวดประกอบเองจะได้ใช้ได้อย่างสะดวก เหมือนเป็นสมุดบันทึกส่วนตัว และประกอบกับขนาดของพับสานี้มีขนาดไม่ใหญ่นัก การจะพกพาไปในโอกาสต่าง ๆ จึงเป็นไปได้โดยง่าย ทั้งนี้การพบเอกสารนี้เพิ่มเติมขึ้นนั้น ในทางหนึ่งทำให้เราสามารถบอกได้เช่นกันว่า คาถาธัมมกายนี้คงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ถือเป็นบทมงคลคาถาที่พระเถราจารย์ในยุคนั้นใช้สวดกันเป็นการทั่วไปก็ได้”1 ด้วยเหตุนี้ ข่าวการพบเอกสาร “ปูชาปริวานฯ” ข้างต้นนี้จึงเป็นข้อยืนยันที่ดีอีกทางหนึ่งว่าเรื่องคาถาธรรมกายนั้นเป็นของที่มีมาแต่ดั้งเดิมอย่างแท้จริง ซึ่งย่อมจะต้องมีการศึกษาค้นคว้าให้ถูกต้อง ละเอียดถี่ถ้วนกันต่อไป

               ดังที่ผู้เขียนเคยกล่าวไว้เสมอว่า บทคาถาธรรมกายนั้นมิได้เป็นของใหม่ โดยเฉพาะเมื่อคณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ได้ศึกษามากขึ้น ก็ยิ่งพบความเก่าแก่และความสอดคล้องกันอย่างน่าประหลาดใจ ทั้งที่เอกสารหลักฐานต่าง ๆ เหล่านั้นอยู่คนละยุคคนละสมัย ถูกค้นพบมาจากคนละพื้นที่ทั้งในพื้นที่ที่เคยนับถือพระพุทธศาสนามาแต่ก่อน และในพื้นที่ที่ยังนับถือพระพุทธศาสนาอยู่ ความเชื่อมโยงอันนี้กำลังค่อย ๆ เคลื่อนเข้ามาหากันอย่างต่อเนื่อง และจะเป็นคำตอบที่ชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า เรื่องราวของธรรมกายนั้นเป็นความจริงแท้เพียงใด ซึ่งความสำเร็จทีละขั้น ๆ ในยุคของเรา ก็จะช่วยทำให้ความจริงเกี่ยวกับธรรมกายนั้นค่อย ๆ สมบูรณ์ขึ้น ๆ ในอนาคตด้วย ทั้งในแง่ของปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธทีเดียว

 

พับสาวัดตุ่นกลาง พ.ศ. ๒๔๕๑ อายุ ๑๑๒ ปี

 

หลวงปู่วัดปากน้ำท่านขยายความ “คาถาธรรมกาย” ไว้อย่างไร

            ดังได้ทราบมาแล้วว่า เนื้อหาของคาถาธรรมกายนั้นเป็นการพรรณนาถึงพุทธคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหลัก และเป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนชาวไทยมาช้านานแล้ว โดยปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีและวรรณกรรมทางพุทธศาสนามากมาย ทั้งนี้นอกจากคาถาพระธรรมกายแล้ว ยังพบเรื่องราวของพระธรรมกายในที่อื่น ๆ อีก เช่น ในคัมภีร์จตุรารักขา ซึ่งพบทั้งที่เขียนด้วยอักษรขอม-ไทยและอักษรธรรม คัมภีร์จตุรารักขา คือ คู่มือแนะนำ       การปฏิบัติธรรมที่มีมาแต่โบราณ ประกอบด้วยคาถาบาลี ๓๒ คาถา ในคาถาที่ ๑๑ มีเนื้อความแปลได้ว่า แม้รูปกายของพระองค์ที่ปรากฏอยู่ก็ยังเป็นเรื่องอจินไตย ไม่จำเป็นต้องพูดถึงพระธรรมกายซึ่งมั่งคั่งไปด้วยญาณคือความรู้ที่ไม่ทั่วไป (อสาธารณะ)2

 

คัมภีร์จตุรารักขา

 

            ขณะเดียวกัน “คาถาธรรมกาย” ก็ยังปรากฏในคัมภีร์อุปปาตสันติที่แต่งเป็นคาถาบาลีมากถึง ๒๗๒ บท3 เป็นคาถาที่นิยมสวดเป็นบทพระปริตรในดินแดนล้านนา ล้านช้าง และพม่า โดยเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์ตกทอดกันมา แต่งโดยพระมหามังคลสีลวังสเถระ สมัยสงครามล้านนากับจีนฮ่อที่เชียงแสน พ.ศ. ๑๙๕๐ ตรงกับรัชสมัยพญาสามฝั่งแกน ที่อาจมีอายุย้อนหลังไปมากกว่า ๖๐๐ ปี สิ่งที่น่าศึกษาก็คือ ในคาถาบทที่ ๒๕๕ เป็นการกล่าวสรรเสริญรูปกายของพระพุทธเจ้า ส่วนบทที่ ๒๕๖ กล่าวว่าธรรมกายมิใช่อารมณ์ของจักษุ แต่เป็นอารมณ์ของปัญญาเท่านั้น หรือพระธรรมกายไม่อาจเห็นได้ด้วยตาแต่เห็นได้ด้วยปัญญา พร้อมกับเขียนว่าธรรมกายประกอบด้วยญาณ เป็นต้นว่าพระสัพพัญญุตญาณ ด้วยเหตุนี้สิ่งที่เป็นสาระหลักที่สำคัญที่สุด หรืออาจเรียกว่า “คุณค่า” ของคาถาธรรมกายนั้น หากจะกล่าวไปแล้วก็น่าจะอยู่ที่การตามระลึกนึกถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสำคัญนั่นเอง

           เมื่อย้อนมาพิจารณาในยุคสมัยของเรา บุคคลผู้ที่ควรกล่าวว่าเป็นผู้อรรถาธิบายขยายความเรื่องราวของคาถาธรรมกายให้ชัดเจนขึ้นมากที่สุด (ตรงกับสาระหลักของคาถาธรรมกายที่มีมาแต่ครั้งโบราณไว้มากที่สุด) ก็คือ พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายนั่นเอง ดังนั้นเมื่อเราค่อย ๆ นำบทพระธรรมเทศนาของท่านมาศึกษาและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ก็จะพบว่า บทพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) นี้เอง ที่เท่ากับเป็นบทขยายความอย่างละเอียดของคาถาธรรมกายโดยตรง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นบทขยายความธรรมดา หากแต่เป็นการขยายความ โดยพิสดารทีเดียว ดังข้อความในหลาย ๆ ตอนว่า “... ธรรมกายนี้เองเป็นพุทธรัตนะ ซึ่งแปลว่า แก้ว คือ พุทธะ เมื่อรู้จักพุทธรัตนะแล้ว ก็ควรรู้จักธรรมรัตนะเสียทีเดียว ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม อรูปพรหม เป็นธรรมรัตนะ แต่เป็นส่วนโลกีย์ส่วนธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายนั้นเป็นโคตรภู ต่อเมื่อใดธรรมกายเลื่อนขึ้นไปเป็นพระโสดาแล้ว ธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายพระโสดานั้นเอง เป็นโลกุตตระ

          ส่วนศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ที่อยู่ในศูนย์กลางของดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม และกายอรูปพรหมเป็นโลกียมรรค เพราะกายทั้ง ๔ นั้นเป็นโลกีย์ ธรรมจึงเป็นโลกีย์ไปตามกาย ส่วนศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ที่อยู่ในศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายเป็นโลกุตตระ เพราะธรรมกายของพระโสดาเป็นโลกุตตระ ธรรมจึงเป็นโลกุตตระไปตามกาย ธรรมที่ทำให้เป็นกายต่าง ๆ นี้เองเป็นธรรมรัตนะ ซึ่งแปลว่า แก้วคือธรรม เมื่อรู้จักธรรมรัตนะแล้ว ก็ควรรู้จักสังฆรัตนะเสียทีเดียว ธรรมกายหรือกายธรรมหมดทั้งสิ้น ยกธรรมกายของพระสัพพัญญูและธรรมกายของพระปัจเจกพุทธเจ้าออกเสีย นอกจากนั้นเป็นธรรมกายของสาวกพุทธทั้งสิ้น มีมากน้อยเท่าใดเป็นสังฆรัตนะ แก้ว คือ สงฆ์...”4

           “พระรัตนตรัยเป็นแก้วจริง ๆ หรือเปรียบด้วยแก้ว ถ้าเป็นทางปริยัติ เข้าใจตามอักขระแล้ว เป็นอันเปรียบด้วยแก้ว ถ้าเป็นทางปฏิบัติ เข้าใจตามปฏิบัติแล้วเป็นแก้วจริง ๆ ซึ่งนับว่าประเสริฐเลิศกว่าวิญญาณกรัตนะและอวิญญาณกรัตนะซึ่งมีในไตรภพ ลบรัตนะในไตรภพทั้งหมดสิ้น...”5

             “อรหํ เป็นพระคุณข้อต้น (ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) มีนัยจะแสดงดังต่อไปนี้ ......อรหํ เป็นเนมิตกนาม เกิดขึ้นเองพร้อมกับที่พระองค์บรรลุพระโพธิญาณ อรหํ เป็นคำที่พวกเรานักปฏิบัติธรรมเชิดชูกันหนักหนา ถึงแก่ได้นำมาใช้เป็นบทบริกรรมภาวนาในเมื่อนั่งสมาธิฉะนั้นจึงขอนำมาแปลไว้ในที่นี้ เพื่อจะได้ซาบซึ้งพระคุณนามข้อนี้ไว้บ้าง แต่การจะพรรณนาให้สิ้นสุดได้ เมื่อคิดเทียบแล้วก็เท่ากับอากาศในปีกนก กล่าวคือบรรดาอากาศทั้งหลายในสากลโลก มีมากสุดคณนา แต่คิดเฉพาะอากาศเท่าที่ปีกนกกระพือขณะบินหนหนึ่ง จะมีอากาศอยู่ในระหว่างปีกนิดเดียวในจำนวนอากาศทั้งหลาย ฉันใดก็ฉันนั้น... อรหํ แปลสั้น ๆ ว่า ไกลว่า ควร เป็นสองนัยอยู่ “ไกล” หมายความว่าไกลจากกิเลสหรือพ้นจากกิเลสเสียแล้ว ... ไกลตรงกันข้ามกับปุถุชนคนเรา ซึ่งยังใกล้ชิดกิเลส พระองค์บริสุทธิ์ผุดผ่องดังแท่งทองชมพูนุทหรืออีกนัยหนึ่งว่าใสเหมือนดวงแก้วอันหาค่ามิได้ สมคำว่า “พุทธรัตนะ”6

 

พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

 

               เราจะพบว่า เนื้อความในพระธรรมเทศนาที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) แสดงไว้ดังกล่าว (รวมทั้งในที่อื่น ๆ อีกเป็นอันมาก) ย่อมเป็นการยืนยันตรงกันได้ว่า เนื้อความในคาถาธรรมกายที่กล่าวถึงโคตรภูญาณ มรรคญาณ ผลญาณนั้นมีความเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน โดยแสดงถึงความเป็นกายแห่งอริยมรรค อริยผล รวมทั้งวิมุตติด้วย ซึ่งพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ก็แสดงไว้อย่างชัดเจนว่า “วิมุตติ ที่ตัดทั้งเบื้องต่ำและเบื้องสูงได้นั้นอยู่ในธรรมกายพระอรหัตต์” นั่นเอง พร้อมทั้งตอกย้ำอยู่เสมอว่าให้เราหมั่นปฏิบัติสมาธิภาวนา ให้เราเห็น ให้เราเป็นธรรมกาย และให้อยู่กับธรรมกายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่งว่าล้วนมีความสอดคล้องกับคาถาธรรมกายอย่างมีนัยสำคัญ

            อนึ่ง เมื่อเรานำข้อความที่ปรากฏในคาถาธรรมกายจากศิลาจารึกหลักที่ ๕๔ (จารึกพระธรรมกาย) ที่ระบุว่าอยู่ในพุทธศักราช ๒๐๙๒ ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็จะพบอีกว่า ข้อความในคาถาธรรมกายเป็นการกล่าวถึงญาณรู้แจ้งและพระคุณต่าง ๆ ของพระธรรมกายนั้น ล้วนสอดคล้องกับพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ด้วย ดังข้อความเริ่มต้นว่า

          “...สพฺพญฺญุตญาณปวรสิสํ นิพฺพานารมฺมณปวรวิลสิตเกสํ จตุตฺถชฺฌานปวรนลาตํ วชฺชิรสมาปตฺติ ญ าณํปวรอุณาภาสํ...”

          แปลความว่า ข้าพเจ้าขอนอบน้อมผู้มีสัพพัญญุตญาณประดุจดั่งเศียร มีอารมณ์ในพระนิพพานประดุจดั่งพระศก มีจุตตถฌานประดุจดั่งพระนลาฏ มีวชิรสมาปัตติญาณประดุจดั่งแสงพระอุณาโลม ข้อความต่อจากนั้นเป็นการพรรณนาถึงพระพุทธคุณ ๓๐ ประการกับส่วนต่าง ๆ ในพระวรกาย เช่น มีพระขนงคู่งามเกินกว่าแสงงามของนิลกสิณ มีพระเนตรทั้งคู่ประดุจดั่งทิพพจักขุ ปัญญาจักขุ สมันตจักขุ พุทธจักขุ และธรรมจักขุ มีทิพพโสตญาณประดุจดั่งพระกรรณทั้งคู่ มีโคตรภูญาณประดุจดั่งพระนาสิกโด่งงาม จนถึงจตุสติปฏฺฐานปวรกายพนฺทนํ แปลว่ามีสติปัฏฐาน ๔ ประดุจดั่งรัดประคด ขณะเดียวกันในคาถาธรรมกายนี้ก็ยังปรากฏข้อความกล่าวสรรเสริญพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ประเสริฐเหนือกว่ามนุษย์และเทวาทั้งหลายด้วยพระธรรมกายดังข้อความว่า

            “...อญฺเญสํเทวมนุสฺสานํ พุทฺโธอติวิโรจติ ยสฺสตมุตฺตมงฺคาทิญาณํ สพฺพญฺญุตาทิกํ ธมฺมกายมคฺคํ พุทฺธํ นเมตํ โลกนายกํ อิมํ ธมฺมกายพุทฺธลกฺขณํ โยคาวจรกุลปุตฺเตน ติกฺขญาเณน สพฺพญฺญุพุทฺธภาวํ ปตฺเถนฺเตน ปุนปฺปุนํ อนุสฺสริตพฺพํ ฯ สพฺพญฺญุตญาณํ นาม กถํ ฯ...”

          แปลความว่า พุทธลักษณะอันเป็นธรรมกายนี้ อันพระโยคาวจรกุลบุตร ผู้มีญาณอันแข็งกล้า ซึ่งปรารถนาความเป็นสัพพัญญูพุทธภาวะ พึงระลึกถึงเนือง ๆ ...”

             ข้อความเหล่านี้ถึงเวลาจะห่างกันไกลนับเป็นร้อย ๆ ปี แต่ก็นับว่าเป็นความน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เหมือนกับว่าบทพระธรรมเทศนาของหลวงปู่ฯ นั้น ก็เท่ากับเป็นการอธิบายคาถาธรรมกายในภาคปฏิบัติและเพื่อให้พุทธศาสนิกชนในยุคต่อไปได้ใช้เป็นหลักฐานยืนยันความมีอยู่จริงของพระธรรมกายนั่นเอง

 

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล