วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หลวงพ่อตอบปัญหา : ถ้าต้องการพัฒนาชีวิตให้ดีกว่าเดิม จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร ?

หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

 

หลวงพ่อตอบปัญหา

ถาม : ถ้าต้องการพัฒนาชีวิตให้ดีกว่าเดิม จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร ?

ตอบ : โลกและชีวิตเป็นไปตามเหตุและผล ประกอบเหตุอย่างหนึ่งย่อมให้ผลอย่างหนึ่ง ประกอบเหตุอีกอย่างก็ย่อมให้ผลเป็นอีกอย่าง เมื่อต้องการชีวิตที่ดีกว่าเดิม ก็หมายถึงผลที่เปลี่ยนไปผลเกิดจากเหตุ เมื่อต้องการผลที่แตกต่างออกไป ก็ต้องประกอบเหตุที่แตกต่างออกไปเช่นกันคือต้องเปลี่ยนแปลงการประกอบเหตุหรือการกระทำให้แตกต่างไปจากเดิม ดีกว่าเดิม ชีวิตมนุษย์ดำเนินไปภายใต้กฎแห่งกรรมหรือกฎของการกระทำ ใครทำกรรมใดไว้ย่อมเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ ทำแทนกันไม่ได้ ยกผลกรรมให้ใครก็ไม่ได้ ฉะนั้นตัวเองต้องเป็นผู้ทำเหตุนั้นเอง ต้องเป็นผู้ทำการเปลี่ยนแปลงนั้นเอง หาใช่ผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงให้

         การเปลี่ยนแปลงจะบรรลุผลสำเร็จได้ต้องเปลี่ยนที่นิสัย เพราะนิสัยคือความประพฤติที่ทำประจำเป็นปกติ นิสัยเป็นต้นเหตุ เป็นโปรแกรมความประพฤติที่เจ้าตัวตั้งไว้ เมื่อเจอสถานการณ์เดียวกัน ก็จะมีพฤติกรรมการกระทำซ้ำตามแบบเดิมที่คุ้นเคย ซึ่งก่อให้เกิดผลลัพธ์ต่อชีวิตอย่างมาก เพราะทุกครั้งที่ทำกรรมหรือการกระทำ ก็จะมีวิบากเป็นผล ผลของกรรมดีหรือกรรมฝ่ายบุญจะส่งเสริมชีวิตให้ดีขึ้น แต่ถ้าเป็นผลของกรรมชั่วหรือกรรมฝ่ายบาป ก็จะส่งผลในทางตรงกันข้าม เมื่อต้องการชีวิตที่ดีกว่าเดิม ก็ต้องทำกรรมดีหรือกรรมฝ่ายบุญให้เป็นนิสัย ดังนั้นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนประการแรกคือ นิสัย

            ผู้มีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงนิสัย คือผู้มีสติปัญญามากพอที่จะรู้จักชีวิตตามความเป็นจริงว่า ชีวิตคนเรานั้นเป็นทุกข์ การเกิดเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อมีการเกิดก็มีทุกข์ให้ต้องเผชิญเริ่มตั้งแต่ทุกข์จากสังขาร คือร่างกายที่ต้องการอาหาร น้ำ อากาศ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค มาหล่อเลี้ยงชีวิต จึงต้องทำการงานหาเลี้ยงชีพและแสวงหาปัจจัย ๔ มาบำรุงเลี้ยงร่างกายนี้ให้คงอยู่ได้ สิ่งต่าง ๆ ที่นำมาบรรเทาทุกข์นี้ ใครจะหามาได้อย่างสะดวกสบายหรืออัตคัดขัดสน ก็ขึ้นอยู่กับเหตุและวิบากแห่งกรรมที่เคยกระทำไว้มาส่งผล ผลดี ๆ ที่ได้รับ ก็ต้องการให้มีความมั่นคง ไม่เสื่อมหรือตกไป ส่วนผลร้าย ๆ ก็อยากให้พ้น ๆ หรือจบสิ้นไปโดยเร็ว

          ในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ เสด็จไปโปรดมนุษย์และอมนุษย์ในแว่นแคว้นต่าง ๆ มีผู้สนใจถามคำถามเกี่ยวกับการพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นว่า ต้องทำอย่างไรบ้างอะไรจะเป็นหลักประกันให้ได้ประโยชน์และความสุขในชีวิตนี้และเมื่อละโลกไปแล้วได้บ้าง ซึ่งผู้สนใจถามมีทั้งที่เป็นมนุษย์ ยักษ์ ทั้งคนที่มีครอบครัวสร้างฐานะได้แล้ว และคนที่เพิ่งเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างฐานะ

           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้แนะ หลักธรรมที่ทำแล้วเป็นเหตุให้ได้ประโยชน์ ได้ความสุขในชาติปัจจุบันนี้ ได้แก่ อุฏฐานสัมปทา อารักขสัมปทา กัลยาณมิตตตา และสมชีวิตา หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายว่า หาทรัพย์เป็น รักษาทรัพย์เป็น คบคนเป็น และ ใช้ทรัพย์เป็น

     เหตุที่ทำไว้ในปัจจุบันเพื่อให้ได้ประโยชน์  เพื่อความสุขในภายหน้าหลังจากละโลกนี้ไปแล้ว ได้แก่ สัทธาสัมปทา สีลสัมปทา จาคสัมปทา และปัญญาสัมปทา หรือเรียกว่า เป็นบุคคลมีศรัทธา ศีล จาคะ และ ปัญญา

          คนดีย่อมประสบความสุข ความเจริญ ความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม เพราะประกอบเหตุแห่งความเป็นคนดี และคนจะดีได้ต้องมีความรับผิดชอบทั้ง ๔ ด้าน คือ

            ๑. รับผิดชอบต่อความเป็นคนของตัวเอง ด้วยการเว้นกรรมกิเลส ๔ ซึ่งก็คือ ศีล ๔ ข้อแรกของศีล ๕

      ๒. รับผิดชอบต่อสังคมที่เราอยู่ร่วมกัน รักษาความชอบธรรมโดยเว้นอคติ ๔ ได้แก่ ฉันทาคติ โทสาคติ ภยาคติ โมหาคติ

             ๓. รับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ คือ ปิดทางเสื่อมของทรัพย์โดยไม่ข้องเกี่ยวกับอบายมุข ๖

             ๔. รับผิดชอบการสร้างคนดีให้สังคม ด้วยการทำหน้าที่ต่อทิศ ๖

          คุณสมบัติดี ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นในตัวผู้ใด ผู้นั้นย่อมมั่นใจได้ว่าจะมีชีวิตที่ดีทั้งชาติปัจจุบันและอนาคตภายหน้า แต่เราก็ทราบกันดีว่าไม่มีอะไรตกมาจากฟ้าหรือโผล่ขึ้นมาจากดินและน้ำแล้วบันดาลให้คุณสมบัติเหล่านี้เกิดในตัวเราได้ เราต้องประกอบเหตุเองจึงจะเกิดเป็นผลขึ้นมาและคุณสมบัติทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นในตัวเราได้ ก็ด้วยบทฝึกหรือแบบฝึกหัดจาก “ฆราวาสธรรม ๔” ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงแก่อาฬวกยักษ์ เมื่อตรัสแล้ว พระองค์ทรงบอกให้ยักษ์ไปถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นดูว่า ในโลกนี้มีอะไรที่ยิ่งไปกว่าสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ยักษ์ ทูลตอบพระบรมศาสดาว่าตนไม่จำเป็นต้องไปถามใครอีกแล้ว เพราะวันนี้ได้รู้คำตอบชัดเจนจากพระพุทธองค์แล้ว

        ดังนั้น หากต้องการชีวิตที่ดีกว่าเดิม ก็ต้องเริ่มฝึกนิสัยจากฆราวาสธรรม ผู้ที่จะศึกษาและฝึกฝนตนตามฆราวาสธรรม ๔ ประการนี้ เบื้องต้นต้องเป็นผู้มีศรัทธาเชื่อในการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ตรัสรู้ได้โดยชอบด้วยพระองค์เอง เมื่อตรัสรู้แล้ว ด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวโลก จึงทรงแสดงธรรมเหล่านั้นเพื่อให้ชาวโลกได้ปฏิบัติตาม ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกค้นคว้าด้วยตนเอง

        “สัจจะ” ธรรมประการแรกในฆราวาสธรรม คือ บทที่ใช้ฝึกเพื่อแก้ไขนิสัยตน ให้ทำสิ่งใดด้วยความจริงจัง ทั้งต่อหน้าที่ ต่อการงาน ตั้งใจทำให้สำเร็จ ไม่เลิกล้ม ไม่ทอดทิ้งการงาน เมื่อจะพูดก็รักษาคำพูด ยึดมั่นคำสัตย์ มีความจริงใจ มีความปรารถนาดีต่อทุกคนที่ได้เกี่ยวข้องไม่เบียดเบียนทำร้ายใคร มั่นคงตรงต่อการทำความดียิ่งชีวิต

          การฝึกตนทำอะไรด้วยสัจจะนั้นไม่ง่าย ต้องอาศัยการฝึกฝนอบรมตนเองอย่างเข้มงวดการฝึกเช่นนี้ จะทำให้เราต้องเคี่ยวเข็ญตัวเองตั้งแต่ตื่นเช้าจนกระทั่งกลับเข้านอน และผลจากการฝึกกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้จะกลายมาเป็นนิสัยมีสัจจะต่อตัวเองให้แก่ตัวเราทั้งสิ้น

        การที่มีความวิริยะมุ่งมั่นทำให้ดีจริง การฝึกตัวอย่างนี้ก่อให้เกิดธรรมหรือคุณสมบัติประการที่ ๒ คือ “ทมะ” ขึ้นมาโดยปริยาย ทมะมี ๓ ลักษณะ คือ ฝึก หยุด ข่ม สิ่งใดที่ดี ฝึกทำให้เกิด ให้เป็นนิสัย สิ่งใดที่ไม่ดี ต้องหยุดไม่ทำอีก หากทำอะไรได้ดีขึ้นมาบ้างแล้ว ต้องปรามตัวเองไม่ให้เหลิงหรือย่ามใจ รู้ประมาณฐานะและกำลังของตัว ลักษณะนี้คือ ข่ม

          ธรรมหรือคุณสมบัติประการที่ ๓ “ขันติ” เกิดตามมาเอง เมื่อตั้งใจที่จะแก้ไขตัวเองให้มีสัจจะ จะถูกบังคับให้ฝึกโดยปริยาย ความขยันจะเกิดขึ้นมาจากการเอาชนะความเกียจคร้านสิ่งเหล่านี้จะบังคับให้ต้องทนไปในตัว มันเกิดความทนขึ้นมาเอง เมื่อจริงจังต่องาน ต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ในที่สุดความอดทนเหล่านี้จะเกิดขึ้นเอง และเมื่อจริงใจกับทุกคน จะทำให้อดทนต่อการกระทบกระทั่ง อดทนต่อความโกรธ ความน้อยใจ ความเจ็บใจได้ มันเกิดขึ้นมาเอง แล้วในที่สุดถ้าเราจริงแสนจริงที่จะไปถึงที่สุดแห่งธรรม เราจะทนต่ออำนาจกิเลสได้โดยอัตโนมัติ

          จากนั้น ธรรมหรือคุณสมบัติประการที่ ๔ “จาคะ” จะเกิดขึ้นมาในใจผู้ฝึกได้เอง เพราะกว่าที่จะฝึกตนมาได้ขนาดนี้ ความตระหนี่ก็หายไปจากใจ ไม่มีสิ่งใดที่ต้องกังวลอีก สมบัติส่วนเกินมีก็แจกแบ่งปัน เปลี่ยนเป็นบุญติดตัว ยิ่งให้ออกไปก็เป็นหลักประกันว่าต่อไปไม่มีอดไม่มีจน แม้อารมณ์ขุ่นมัวต่าง ๆ ก็สละขาดจากใจได้อย่างง่ายดาย เหลือเพียงความปรารถนาดีต่อกัน

          เส้นทางฝึก “ฆราวาสธรรม ๔” นี้ จะก่อเกิดนิสัยหรือโปรแกรมความประพฤติที่ดีงาม ใครมีนิสัยเช่นนี้ ไปประกอบกิจการงานใดก็จะทำอย่างดีมีคุณภาพ ส่งผลให้ชีวิตได้รับความสุขความเจริญ ทั้งชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนเป็นหลักประกันได้ถึงสุคติโลกสวรรค์ในยามที่ละโลกไปแล้ว ดังนั้น หากต้องการชีวิตที่ดีขึ้นก็ต้องแสวงหาความรู้ที่แท้จริงว่า อะไรเป็นหลักประกันให้แก่ชีวิตได้จริง และลงมือฝึกหัดตนเองให้เป็นผู้มี “สัจจะ” ให้ได้ จึงจะสมกับเป็นผู้ประกอบเหตุหรือการกระทำเพื่อประโยชน์ของชีวิตอย่างแท้จริง เพราะตัวเองเท่านั้นที่จะเป็นผู้กระทำ เพื่อให้ผลที่ดีบังเกิดแก่ตน


 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล