อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.
ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
ตอนที่ ๓๐ : ปัจฉิมโอวาท...ย่นย่อพระพุทธโอวาทตลอด ๔๕ พรรษาลงในความไม่ประมาท
จากเป้าหมายในใจที่ไม่มีแม้แต่ภาพ และไม่อาจทราบได้ว่า “พระโพธิญาณ” ที่ตนตั้งความปรารถนาไว้นั้นจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด แต่ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านการลองผิดลองถูกต่าง ๆ นานัปการ จนกระทั่งมีโอกาสได้พบและฟังพระสัทธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต ทำให้พระโพธิสัตว์เกิดความมั่นใจในพระโพธิญาณอันยอดเยี่ยมนั้น
จนกระทั่งบุญบารมีเต็มเปี่ยม พร้อมที่จะบรรลุพระโพธิญาณตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในภพชาติสุดท้าย ตามมโนปณิธานที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ในกาลก่อน เพื่อขนสรรพสัตว์ทั้งหลายไปสู่ฝั่งพระนิพพาน เป็นการ “ทำหน้าที่กัลยาณมิตร” แก่มวลมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงส่งหรือต้อยต่ำเพียงใดก็ตาม ขอเพียงมีอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์ สามารถบรรลุธรรมได้เท่านั้น พระองค์ก็จะเสด็จไปโปรด
แม้พระพุทธองค์จะสามารถกำจัด “กิเลสมาร” ไปได้ในวันที่พระองค์ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ แต่ถึงกระนั้น พุทธกิจที่พระพุทธองค์ทรงกระทำเพื่อเวไนยสัตว์ตลอด ๔๕ พรรษา ก็ยังถูกรังควานด้วยมารที่เหลืออีก ๔ ฝูง คือ “เทวบุตรมาร มัจจุมาร ขันธมาร อภิสังขารมาร” แม้บุคคลผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” มหาบุรุษผู้ก้าวข้ามบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของมนุษย์และของทิพย์ แต่ก็ยังไม่อาจหลีกพ้นจาก “ความตาย” ไปได้ เนื่องด้วยมี “ความเกิด” มาเป็นจุดเริ่มต้นเสียแล้ว แต่ทว่าความตายหรือการเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระองค์เป็น “ความตายที่สมบูรณ์แบบ” คือ หลุดพ้นจากวงจรสังสารวัฏ ไม่ต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป
พระพุทธดำรัสสุดท้ายหรือ “พระปัจฉิมวาจา” ของพระตถาคตที่ว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด” (ที.มหา. ๑๐/๒๑๘/๑๖๖ ไทย.มจร) เปรียบเสมือนมรดกธรรมชิ้นสุดท้ายที่พระพุทธองค์ประทานให้แก่พุทธบริษัท เป็นการย่นย่อพระพุทธโอวาทที่ทรงประกาศตลอด ๔๕ พรรษา ลงในบทที่ว่า “ทำกิจทั้งปวงอันประกอบด้วยสติ...ชื่อว่าไม่ประมาท” (ที.มหา.อ. ๑๓/๔๔๒ ไทย.มมร) นั่นเอง
ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเข้าฌานสมาบัติโดยอนุโลมปฏิโลมไปตามลำดับ และได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ปิดฉากการสร้างบารมีตลอด ๔ อสงไขยแสนมหากัป นับตั้งแต่ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า และโปรดเวไนยสัตว์ตลอด ๔๕ พรรษาลงอย่างงดงาม เป็นมหาบุรุษลำดับที่ ๔ แห่งภัททกัป (ภัทรกัป) นี้