พรุ่งนี้จะถึงวันเข้าพรรษาแล้ว ประเพณีการเข้าพรรษานั้น มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยทั่วไปแล้วพวกเรารู้กันแต่ว่า การเข้าพรรษาเป็นเรื่องของพระภิกษุเท่านั้น ความจริงไม่ใช่ เพราะพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นของพระภิกษุเพียงลำพัง แต่เป็นของพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา รวมเป็น ๔ แต่ปัจจุบันนี้ภิกษุณีได้หมดไปจากโลกแล้ว คงเหลือแต่พุทธบริษัท ๓ คือ ภิกษุ อุบาสก และ อุบาสิกา
ภารกิจของพุทธบริษัทในฤดูเข้าพรรษา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเลือกเอาฤดูฝนสำหรับเข้าพรรษา เพราะว่าเป็นฤดูที่เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง แล้วเหมาะกับการอยู่กับที่ด้วย เพราะฝนตก ไม่สะดวกต่อการไปไหนกัน
เมื่อฤดูนี้เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมอย่างนี้ เลยมีภารกิจที่พุทธบริษัทต้องทำ คือ
๑. พระภิกษุผู้บวชใหม่ ก็ตั้งใจศึกษาอบรมตัวเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ตามวัตถุประสงค์ของการบวช โดยมีอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นผู้ควบคุม
๒. พระภิกษุเก่าโดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์ เผยแผ่พระศาสนาก็ตั้งใจมาศึกษาอบรมค้นคว้าเพิ่มเติมให้มากขึ้น เพื่อจะได้เตรียมตัว ไปประกาศพระศาสนาในฤดูต่อไป
๓. อุบาสก อุบาสิกา ก็ต้องตั้งใจศึกษาธรรมะ และปฏิบัติธรรมเช่นกัน เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการเจริญรุ่งเรืองหรือว่าล่มจมของพระพุทธ-ศาสนา ถ้าเราเอาแต่นอน ขี้เกียจปฏิบัติธรรม ความล่มจมของพระศาสนาก็กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้เข้ามาทุกทีๆ แต่ถ้าเราขยันปฏิบัติธรรม ความเจริญรุ่งเรืองของพระศาสนาก็จะมีมากตามมา
เพราะเหตุนี้ ตั้งแต่โบราณมา จึงมีธรรมเนียมอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวพุทธในประเทศไทย พอถึงฤดูเข้าพรรษา ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลาย จะถือว่าเป็นฤดูกาลแห่งการบำเพ็ญบารมี ใครมีข้อบกพร่องอะไร ความประพฤติเสียหายอะไร ก็จะพยายามแก้ไขให้ลดลงไปให้ได้ จะได้เป็นคนดีล้วนๆ ส่วนใครที่เป็นคนดีอยู่แล้วก็พยายามสร้างความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
กุศโลบายวันเข้าพรรษาของหลวงปู่วัดปากน้ำฯ
หลวงพ่อขออาราธนาคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำฯ ถึงวิธีที่จะละนิสัยที่ไม่ดี มาฝากพวกเรา
เมื่อสมัยที่หลวงปู่วัดปากน้ำฯ ยังมีชีวิตอยู่ พอวันอาสาฬหบูชาอย่างวันนี้ หลวงปู่ท่านจะประชุมลูกศิษย์ลูกหา ทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และแม่ชี ว่า
"เอ้อ!...ถึงฤดูเข้าพรรษา ฤดูแห่งการบำเพ็ญบารมี ไป...ไปนั่งสมาธิเสียให้ใจใส แล้วสำรวจดูซิว่า ตัวของเรานี้ ยังมีข้อบกพร่องอะไรอยู่บ้าง เช่น บางคนยังสูบบุหรี่อยู่ ยังชอบเที่ยวกลางค่ำกลางคืนอยู่ เอ้า...พรรษานี้เลิกให้ได้ ส่วนออกพรรษาจะยังไงอย่าเพิ่งพูดกัน พรรษานี้เลิกให้ได้"
หรือ "เอ่อ...เมื่อก่อนเข้าพรรษา โอกาสจะตักบาตรก็ไม่ค่อยมี งั้นพรรษานี้จะขยันลุกขึ้นมาแต่เช้าเชียว มาตักบาตรทุกเช้ากัน"
หรือ "ตัวของเรานี้เป็นคนขี้โมโหโทโส ใครพูดอะไรหน่อยล่ะขัดหูขึ้นมา เดี๋ยวได้ปึงปังกันมั่งล่ะ ถ้าอย่างนั้นพรรษานี้จะแก้ไขนิสัยไม่ดีของเราให้ ตกไป ส่วนเรื่องที่ทะเลาะเบาะแว้ง เรื่องชกต่อยเรื่องตี อันเกิดมาจากการโมโหโทโสของเรา ก็จะแก้ให้ตกให้ได้ ใครชอบนินทาชาวบ้าน พรรษานี้ล่ะจะหยุดนินทา" นี่ยกตัวอย่าง
เราเอาฤดูกาลอย่างนี้เป็นฤดูกาลของการแก้ไขข้อบกพร่องของตัวเองให้มันหมดไป แล้วความดีที่ยังไม่เคยทำ ก็ทำให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เช่น
ใครที่ตลอดปีมานี้ ถือศีล ๕ ข้อไม่ค่อยจะได้ ถ้าอย่างนั้นตลอดพรรษานี้จะถือให้ได้หรือใครเคยถือศีล ๕ ข้อมาแล้ว ในวันโกนวันพระจะถือศีล ๘ ให้ได้อีกด้วย
หรือใครเคยถือศีล ๘ มาได้ในวันโกนวันพระมาแล้ว พรรษานี้ลองถือศีล ๘ สัก ๗ วัน แล้วสลับด้วยศีล ๕ อีกสัก ๗ วัน
ใครถือศีล ๘ ได้ ๗ วัน
หยุดอีก ๗ วัน ตั้งแต่ พรรษาที่แล้ว ถ้าอย่างนั้นพรรษานี้ถือศีลเดือนหนึ่ง แล้วหยุดไปถือศีล ๕ อีก ๗ วัน
สำหรับเด็กๆ ถืออย่างนี้ไม่ไหว ก็ให้สวดมนต์ ก่อนนอนทุกคืน แล้วคนไหนที่ก่อนนอนไม่เคยกราบพ่อกราบแม่ก็ไปกราบเสีย แล้วบอกท่านด้วยว่า"นับแต่นี้เป็นต้นไปจะไม่ดื้อ จะไม่ว่ายาก จะไม่ซนแล้ว" เราแก้ไขกันไปอย่างนี้
หลวงพ่อเคยถามพระรุ่นพี่ๆ สมัยยังอยู่ วัดปากน้ำฯ ถามว่า "เวลาเข้าพรรษาสำหรับ พระสำหรับเณร หลวงปู่วัดปากน้ำฯ ท่านให้ทำอย่างไรบ้าง"
ท่านเล่าให้ฟังว่า หลวงปู่วัดปากน้ำฯ ท่านให้นั่งเข้าที่หาข้อบกพร่องของตัวเองให้เจอ ซึ่งอาจจะมีข้อบกพร่อง ๕ อย่าง ๑๐ อย่าง ๒๐ อย่าง อะไรก็ตามเถอะ ท่านให้เลือกมาเพียงอย่างเดียวที่เราเห็นว่าร้ายแรงเสียหายกับเรามากที่สุด แล้วอธิษฐานให้ดีเชียวว่า นับแต่วันนี้ไปตลอดพรรษาจะไม่ทำอีก
แล้วท่านก็ยกตัวอย่างให้ฟังว่า มีอยู่พรรษาหนึ่ง หลวงปู่วัดปากน้ำฯ ท่านก็ให้ทุกคนอธิษฐานว่าจะทำความดีสัก ๑ อย่าง พอทุกคนอธิษฐานเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่ท่านก็ถามเป็นรายบุคคล ท่านก็ชี้ไป "เอ้า..พระองค์นี้จะทำอะไรนี่ที่อธิษฐานเมื่อสักครู่นี้"
ท่านบอกว่า "ผมจะสวดปาฏิโมกข์ให้ได้พรรษานี้ครับ"
หลวงปู่ก็โมทนาสาธุด้วย ไล่ถามมาที่พระองค์ที่ ๒ "จะทำอะไร"
" ผมจะสอบมหาให้ได้ครับ พรรษานี้"
" เอ่อ!...ก็ดี แล้วองค์นี้ล่ะจะทำอะไร"
" ผมจะลุกขึ้นมานั่งสมาธิตั้งแต่ตี ๔ ครับ"
ก็ไล่กันเรื่อยมา จนกระทั่งมาถึงเณรองค์ เล็กๆ ท้ายแถว "เณร!..อธิษฐานว่ายังไง"
เณรอายุสัก ๗ - ๘ ขวบ หันซ้ายหันขวาและตอบว่า "ผมอธิษฐานว่า พรรษานี้จะไม่แอบกินข้าวเย็นครับ"
สามเณรอธิษฐานอย่างนี้ก็เข้าท่าดีเหมือนกัน อย่างน้อยหิริโอตตัปปะเกิด หลวงปู่ท่านไม่ทำโทษทั้งๆ ที่เณรว่าอย่างนี้ ก็ยังดีที่เณรรู้ตัวว่า ไม่ดี แล้วพยายามจะแก้ไข
พวกเราก็เหมือนกัน ใครรู้ตัวว่ามีนิสัยที่ไม่ดีมีอะไรไปเอามาอย่างหนึ่ง ที่เห็นว่าร้ายที่สุด อธิษฐานให้ดี แล้วนำมาแก้ไข แล้วขอให้ตั้งใจ ทำจริงๆ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ เมื่อวันเวลาผ่านไปแล้ว ยิ่งอายุมากเข้าๆ เราจะรู้เองว่า ข้างหน้านี่ไม่มีอะไร มีแต่ข้างหลังว่า ถ้าท่านทำความไม่ดีเอาไว้ เมื่อเหลียวกลับไปดูแล้วใจห่อเหี่ยว ทางธรรมะเรียกว่า "วิปฏิสาร" คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจเป็นเครื่องตอบสนอง
แต่ถ้าใครทำสิ่งที่ดีๆ เอาไว้อย่างที่หลวงพ่อว่ามา นึกถึงเมื่อไร เหลียวหลังไปดูเมื่อไร มันชื่นใจเมื่อนั้น ท่านใช้คำว่า "ปีติ" เป็นเครื่องตอบสนอง นี้เป็นเรื่องสำคัญนัก
หลวงพ่อเคยไปเจอผู้ว่าราชการบางท่าน
เคยไปเป็นผู้ว่าราชการที่จังหวัดไหนก็ตาม หลังจากปลดเกษียณแล้วไม่ยอมกลับไปที่นั่นอีก เพราะท่านไปทำเรื่องไม่ค่อยดีเอาไว้หลายเรื่อง ในขณะเดียวกันผู้ว่าราชการบางท่าน พอปลดเกษียณแล้ว ว่างๆ ก็กลับไปเยี่ยมจังหวัดที่ตัวเคยไปปกครองมาก่อน กลับไปถึงก็มีคนทักทาย มีคนเข้ามากราบไหว้ สรรเสริญคุณความดีของท่านที่เคยทำไว้ในอดีต ได้เห็นได้ยินแล้วท่านก็ชื่นใจ อย่างนี้อายุยืน
เพราะฉะนั้น ความดีอะไร ให้รีบไปทำเสีย พรรษานี้อย่างน้อยที่สุด ถ้าภาพรวมของเราที่ผ่านมาพบว่าตลอดเวลา ๖๐ ปี เราแสบมาตลอดทาง พอพรรษานี้อายุเข้าปีที่ ๖๑ แล้วตั้งใจเลย อะไรที่เคยทำไม่ดี พรรษานี้จะขอรักษาศีล ๕ ให้ได้ ตรงนี้ก็ยังมีความชื่นใจอยู่หน่อยหนึ่งว่าเราได้ตั้งใจถือศีลแล้ว มีความตั้งใจที่จะแก้ไขไม่ให้มันผิดพลาดอีกต่อไป นี่ก็ยังดี ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี สำหรับวันนี้ หลวงพ่อขอฝากพวกเราไว้เพียงแค่นี้
ขออำนาจบุญที่พวกเราได้ตั้งใจทำความดี ละเว้นความชั่ว กลั่นใจให้ผ่องใสให้ได้ตลอด พรรษานี้ จงดลบันดาลให้ทุกคนมีแต่ความสุข ทั้งกายและใจ แตกฉานวิชชาธรรมกาย บำเพ็ญบารมีติดตามพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย และคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ไปได้ตลอดรอดฝั่งตราบวันถึงที่สุดแห่งธรรมเทอญ