วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ตอนจบ ความรู้ประมาณ รากฐานความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

tyle type="text/css">

พระธรรมเทศนา


ความรู้ประมาณ

ตอนจบ

รากฐานความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

๓. โจทย์ข้อสาม คือหลักธรรมสำหรับฝึกความรู้ประมาณการบริโภคปัจจัย ๔ มีอะไรบ้าง

คำตอบก็คือ มีบทฝึกความรู้ประมาณในชีวิตประจำวันอยู่ ๔ ประการ คือ

          ๑) บทฝึกพิจารณาความรู้ประมาณในการรับปัจจัย ๔ ตามความจำเป็นของชีวิต

          ๒) บทฝึกพิจารณาการใช้ปัจจัย ๔ ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการดำรงชีวิต

          ๓) บทฝึกพิจารณาความเป็นธาตุเปื่อยเน่าของร่างกาย ทำให้แปดเปื้อนปัจจัย ๔

          ๔) บทฝึกการละนิวรณ์ ๕ ด้วยการพิจารณาความเป็นธาตุเปื่อยเน่าของร่างกาย

๑) บทฝึกพิจารณาความรู้ประมาณในการรับปัจจัย ๔ ตามความจำเป็นของชีวิต บทฝึกแรกของการสู้กับกิเลส เริ่มต้นตั้งแต่การมีปัจจัย ๔

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ฝึกความรู้ประมาณในการรับปัจจัย ๔ ด้วยการ แยกแยะให้ได้ระหว่าง ความจำเป็น ความต้องการ และความอยากได้ ให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก ทั้งนี้เพราะทุกข์ทั้งหลายในชีวิตประจำวันนั้น เริ่มจาก การสะสม การกักตุน การกอบโกย ไว้เกินความจำเป็นในชีวิต ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากความไม่รู้จักพิจารณาว่า อะไรบ้างคือความจำเป็นสำหรับชีวิต จึงแสวงหาเข้ามามากเกินไป ขาดความพอเหมาะพอดี ทำให้สิ้นเปลืองเงินทอง สิ้นเปลืองสถานที่จัดเก็บ สิ้นเปลืองเวลาในการดูแลรักษา และสิ้นเปลืองเวลาในชีวิต ที่หมดไปกับการหาทรัพย์ เพื่อจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่เกินความจำเป็น

          การพิจารณาความจำเป็นในการรับปัจจัย ๔ หรือการแสวงหาปัจจัย ๔ เพื่อการหล่อเลี้ยงชีวิตนั้น มีหลักพิจารณาอยู่ ๒ ประการ คือ ความพอดี และ ความเหมาะสม

          ๑.๑) การพิจารณาความพอดี

          ความพอดี คือ พอแล้วดี หมายความว่า อย่าคิดว่าพอ ทั้ง ๆ ที่ตามความจริงแล้ว ยังขาดอีก หรืออย่าคิดว่าไม่พอ แต่ที่จริงแล้วมากเกินไป โดยการพิจารณาจาก ๒ เรื่องประกอบกัน คือ

          (๑) ไม่น้อยเกินไป จนเป็นการทรมานตนเองมากโดยใช่เหตุ

          (๒) ไม่มากเกินไป จนเป็นการพอกพูนกิเลส เป็นอุปสรรคต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม ทำให้กลายเป็นคนเห็นแก่ปากแก่ท้อง และเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สูญสิ้นไปโดยใช่เหตุ

          ผู้ที่รู้จักความพอดีในการรับปัจจัย ๔ หรือการแสวงหาปัจจัย ๔ เพื่อนำมาหล่อเลี้ยงชีวิตนั้น จะสามารถแยกแยะได้ระหว่าง

          (๑) ความจำเป็น คือ ขาดไม่ได้ หากขาดแล้วมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่อย่างมาก

          (๒) ความต้องการ คือ ถ้าได้ก็ดี ถ้าไม่มีก็ไม่ต้อง ถ้าได้สิ่งนั้นมาก็จะมีความสะดวกขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่ถึงกับเดือดร้อน

          (๓) ความอยาก คือ ถึงได้มาหรือไม่ได้มา ก็ไม่ได้กระทบกระเทือน หรือเกิดประโยชน์ต่อชีวิตนัก แต่ที่อยากได้ก็เพราะตกอยู่ในอำนาจของความอยากอันเป็นกิเลสที่คอยบีบคั้น อยู่ นอกจากแยกแยะได้แล้ว ยังมีสติคอยควบคุมใจ ไม่ยอมให้ตนเองตกเป็นทาสของความอยากอีกด้วย

          ๑.๒) การพิจารณาความเหมาะสม

          ความเหมาะสม คือ สมควรแก่ฐานะและเพศภาวะของตนเอง โดยพิจารณาจาก ๕ เรื่องประกอบกัน ได้แก่ (๑) ชนิด (๒) คุณภาพ (๓) วิธีการที่ได้มา (๔) วิธีการใช้ (๕) วัตถุประสงค์ในการใช้

          การพิจารณาทั้ง ๕ เรื่องนี้ จะทำให้เรามีสติก่อนที่จะนำสิ่งใด ๆ มาบริโภคใช้สอย เพราะบางสิ่งบางอย่างแม้จะมีกำลังทรัพย์พอจะซื้อหามาบริโภคใช้สอยได้ แต่ถ้าพิจารณาดูแล้ว ไม่เหมาะสมกับฐานะ และเพศภาวะของตน ก็ต้องถือว่าสิ่งนั้นเกินจำเป็นสำหรับชีวิต และหน้าที่การงานของตน

          ดังนั้น การที่ใครจะแหกคุกออกจากวัฏสงสารไปได้ ก็ต้องเริ่มฝึกฝนสติจากการต่อสู้ กับกิเลสซึ่งเป็นศัตรูที่มองไม่เห็นตัวนี้ ด้วยการพิจารณาความรู้ประมาณในการรับปัจจัย ๔ ตามความจำเป็นของชีวิต

          ๒) บทฝึกพิจารณาการใช้ปัจจัย ๔ ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการดำรงชีวิต บทฝึกที่สองของการสู้กับกิเลส เริ่มต้นในขณะที่ใช้ปัจจัย ๔

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้จักพิจารณาการใช้ปัจจัย ๔ ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินชีวิต โดยทรงกำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้เครื่องนุ่งห่ม การรับประทานอาหาร การใช้ที่อยู่อาศัย และการใช้ยารักษาโรคไว้เพื่อการดำรงชีวิต ดังนี้

๒.๑) จีวร (เครื่องนุ่งห่ม) มีวัตถุประสงค์ คือ

          (๑) เพียงเพื่อบำบัดหนาว

          (๒) เพียงเพื่อบำบัดร้อน

          (๓) เพียงเพื่อบำบัดสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน

          (๔) เพียงเพื่อปกปิดอวัยวะอันทำให้เกิดความละอาย

๒.๒) บิณฑบาต (อาหาร) มีวัตถุประสงค์ คือ

          (๑) ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่งร่างกายให้สวยงาม (ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเหตุให้กิเลสฟูเฟื่องเบ่งบานอย่างรวดเร็ว)

          (๒) เพียงเพื่อให้กายดำรงอยู่ได้

          (๓) เพียงเพื่อให้กายเป็นไปได้

          (๔) เพียงเพื่อให้ความลำบากสงบ

          (๕) เพียงเพื่ออนุเคราะห์การประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า เราจักบรรเทาเวทนาเก่า คือความหิวเสียได้ และจักป้องกันไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ด้วยประการดังนี้ ความเป็นไปแห่งชีวิต ความไม่มีโทษ และความอยู่สบายจักมีแก่เรา

๒.๓) เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) มีวัตถุประสงค์ คือ

          (๑) เพียงเพื่อบำบัดหนาว

          (๒) เพียงเพื่อบำบัดร้อน

          (๓) เพียงเพื่อบำบัดสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน

          (๔) เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายอันเกิดจากฤดูกาล

          (๕) เพื่อความเป็นผู้ยินดีในการหลีกเร้นเพื่อเจริญภาวนา

๒.๔) ยารักษาโรค มีวัตถุประสงค์ คือ

          (๑) เพียงเพื่อกำจัดเวทนาอันเกิดจากโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

          (๒) เพียงเพื่อความไม่ลำบากกาย

          การที่พระองค์ทรงสอนเรื่องวัตถุประสงค์ของการใช้ปัจจัย ๔ ตามความเป็นจริงไว้ชัดเจนอย่างนี้ ก็เพื่อฝึกให้เรามีสติ ไม่หลงใหลฟุ้งเฟ้อไปกับการสร้างเหตุผลต่าง ๆ ขึ้นมาสนับสนุน การบริโภคสนองกิเลสตัณหา เช่น บริโภคเพื่อความโก้หรู เพื่อความหล่อความสวย เพื่อความอวดมั่งอวดมี เป็นต้น

          การบริโภคเพื่อสนองตัณหา ได้ก่อปัญหาหลายอย่างขึ้นในสังคม จนกระทั่งเกิดการบัญญัติศัพท์เรียกสังคม ที่ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคนี้ว่า สังคมบริโภคนิยม หรือแท้จริงก็คือ สังคมที่บริโภคเพื่อสนองตัณหา ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่างขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น ปัญหาหนี้นอกระบบ ปัญหาบุกรุกทำลายป่า ปัญหาคอร์รัปชั่น ปัญหาทำลายสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ปัญหาอบายมุขท่วมเมือง เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากความไม่รู้ประมาณในการบริโภคปัจจัย ๔ ทั้งสิ้น ถ้าหากยังบริโภคกันแบบนี้ตลอดไป ก็คงหลีกหนีไม่พ้นการตกเป็น ทาสตัณหา ไปตลอดชีวิต และเป็นสาเหตุให้ต้องติดอยู่ ในการเวียนว่ายตายเกิดในคุกแห่งวัฏสงสารไปตลอดกาลนาน

          ๓) บทฝึกพิจารณาความเป็นธาตุเปื่อยเน่าของร่างกาย ทำให้แปดเปื้อนปัจจัย ๔ บทฝึกที่สามของการสู้กับกิเลส เริ่มต้นที่การเปรียบเทียบสภาพของวัตถุที่เกิดขึ้นก่อนและหลังการใช้ ปัจจัย ๔

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้จักพิจารณาความเป็นธาตุเปื่อยเน่าของร่างกาย ทำให้แปดเปื้อนปัจจัย ๔ ซึ่งดูจากสภาพก่อนใช้นั้น ปัจจัย ๔ ยังมีความสะอาดอยู่ แต่เมื่อผ่านการบริโภคไปแล้ว ก็กลับกลายเป็นของสกปรกขึ้นมา เพราะมีธาตุความเปื่อยเน่าของร่างกายแปดเปื้อนและปนเปื้อนลงไปด้วย โดยทรงให้พิจารณาว่า

          ปัจจัยนั้นๆ เป็นเพียงธาตุ เป็นไปตามปัจจัยปรุงแต่ง คือเป็นของที่ผสมรวมกันของ ธาตุ ๔ ในปริมาณต่าง ๆ กัน ปรุงแต่งให้เป็นปัจจัยแต่ละประเภท บุคคลผู้ใช้ปัจจัยนั้น ก็เป็นเพียงธาตุ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน

          ปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งปวงนี้ เดิมเป็นของสะอาด ครั้นมาถูกต้องกับร่างกายอันเปื่อยเน่านี้แล้ว ก็กลับกลายเป็นของน่ารังเกียจทันที

จากพระพุทธพจน์นี้ เมื่อนำมาพิจารณาการใช้ปัจจัย ๔ ในชีวิตประจำวัน ก็จะพบตัวอย่างมากมาย เช่น

          เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เดิมทีก็เป็นของสะอาด แต่เมื่อนำมานุ่งห่มก็กลายเป็นของเหม็นจากเหงื่อไคล เพราะความเป็นธาตุเปื่อยเน่าของร่างกาย

          อาหารและน้ำดื่ม เดิมทีก็เป็นของสะอาด แต่เมื่อบริโภคลงไปในร่างกาย ก็ขับถ่ายออกมาเป็นอุจจาระและปัสสาวะ เพราะความเป็นธาตุเปื่อยเน่าของร่างกาย

          ผ้าห่ม ที่นอน หมอน มุ้ง เดิมทีก็เป็นของสะอาด แต่เมื่อถูกร่างกายเกลือกกลั้ว ก็กลายเป็นของเหม็นด้วยเหงื่อไคล เพราะความเป็นธาตุเปื่อยเน่าของร่างกาย

          ยารักษาโรค เดิมทีก็เป็นของสะอาด แต่เมื่อบริโภคเข้าไป ก็ผสมกับน้ำเลือดน้ำหนองในร่างกาย ครั้นถูกขับถ่ายออกมากับปัสสาวะและเหงื่อไคล ก็กลายเป็นของสกปรก เพราะความเป็นธาตุเปื่อยเน่าของร่างกาย

          การฝึกพิจารณาความเปื่อยเน่า ของร่างกายอยู่เป็นประจำเช่นนี้ จะทำให้ใจมีสติอยู่ในตัวตลอดเวลา ไม่เปิดช่องให้กิเลสกำเริบเสิบสานขึ้นมาบีบคั้นใจได้ ทำให้ไม่ติดเหยื่อล่อทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจได้ง่าย จึงทั้งไม่หลงตัวเอง และไม่หลงไปกับ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่มาล่อลวงใจให้ไปติดกับดักของตัณหา เมื่อมองเห็นสภาพร่างกายของตนเองและผู้อื่นตามความเป็นจริงแล้วว่า ล้วนเป็นธาตุเปื่อยเน่า ก็จะทำให้เกิดความไม่ประมาทในชีวิต รู้จักคิดพัฒนาตนให้ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมต่างๆ ได้ ทำให้เป็นผู้มีจิตใจผ่องใสเยือกเย็น และมีกำลังใจที่จะประพฤติปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

          ๔) บทฝึกการละนิวรณ์ ๕ ด้วยการพิจารณาความเป็นธาตุเปื่อยเน่าของร่างกาย บทฝึกที่สี่ของการสู้กับกิเลส

          การพิจารณาความเป็นธาตุเปื่อยเน่าของร่างกายนี้ เป็นบทฝึกสติที่เอื้อให้ละนิวรณ์ ๕ ได้เร็วขึ้นในคราวเจริญสมาธิภาวนา ทั้งนี้เพราะเมื่อพิจารณาความเป็นธาตุเปื่อยเน่าของร่างกายแล้วใจย่อมมีสติ มั่นคง และไม่แล่นออกไปนอกตัว ทำให้รู้จักพิจารณาสอนตนเองให้รู้วิธี ขัดขวางป้องกันการกำเริบของนิวรณ์ธรรมได้อย่างต่อเนื่อง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

          ๔.๑) ขัดขวางป้องกันการกำเริบของกามราคะ เพราะได้ตระหนักถึงความจริงว่า ร่างกายของมนุษย์นั้น ดูสวยงามก็เพียงแค่หนังกำพร้า แต่เนื้อในนั้นก็เปื่อยเน่าเหมือน ๆ กันหมด แม้แต่หนังกำพร้าที่แลดูว่าสวยงาม แท้จริงก็กำลังเปื่อยเน่าอยู่ตลอดเวลา อย่าได้เสียเวลาไปตามคิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ ที่เต็มไปด้วยความเปื่อยเน่าไม่จีรังยั่งยืนนั้นเลย เราควรรีบเร่งบำเพ็ญภาวนา เพื่อกำจัดกิเลสคือกามราคะนี้ให้หมดสิ้นจะดีกว่า อย่ามัวเสียเวลาหลงใหลไปกับกามราคะที่ไม่มีวันอิ่ม ไม่มีวันจีรังยั่งยืนนี้อยู่เลย

          ๔.๒) ขัดขวางป้องกันการกำเริบของความพยาบาท เพราะได้ตระหนักถึงความจริงว่า คนเรานั้นไม่มีใครสมบูรณ์พร้อม แม้แต่ร่างกายของเราเองก็ยังมีความเปื่อยเน่าไปเป็นธรรมดา และเมื่อถึงเวลาก็จะต้องหมดอายุขัย หมดสิ้นลมหายใจ ทอดทิ้งสังขารตายจากโลกนี้ไป เหมือน ๆ กันหมด มิต้องไปคิดตามล้างตามผลาญกันให้เสียเวลา เราควรรีบเร่งบำเพ็ญภาวนา เพื่อกำจัดกิเลสคือพยาบาทนี้ให้หมดสิ้นจะดีกว่า อย่าเสียเวลาคิดผูกพยาบาทใครเพราะเป็นการก่อบาปก่อเวรไม่รู้จบรู้สิ้น

          ๔.๓) ขัดขวางป้องกันการกำเริบของถีนมิทธะ ความหดหู่เซื่องซึม เพราะได้ตระหนักถึงความจริงแล้วว่า ความหดหู่เซื่องซึม ความท้อแท้ท้อถอย เพราะความผิดหวังนั้นเป็นทุกข์และเสียประโยชน์อย่างยิ่ง หากจมปลักครุ่นคิดถึงความผิดหวังต่อไป ก็รังแต่จะทำให้ชีวิตอับเฉาไปเรื่อย ๆ ตามธรรมดาชีวิตของคนเรา ก็มีทุกข์มากเกินพอแล้ว ลำพังแค่ทุกข์จากความเปื่อยเน่าของร่างกาย เพียงอย่างเดียวก็มากเกินพอแล้ว เหตุใดจะต้องมาเพิ่มความหดหู่เซื่องซึมเพื่อ ซ้ำเติมชีวิตให้ทุกข์ระทมตรมตรอมเพิ่มขึ้นอีกเล่า อันที่จริงอายุเฉลี่ยของคนเราในยุคนี้ไม่เกินร้อยปี สังขารก็เปื่อยเน่าอยู่ตลอดเวลา ความแก่ชราก็เพิ่มขึ้นทุกวัน เวลาในชีวิตก็ถอยหลัง เหลือน้อยลงทุกนาที จึงควรใช้เวลาในชีวิตที่น้อยลงไปเรื่อย ๆ นี้ รีบเร่งทำภาวนา เพื่อกำจัดกิเลสคือความหดหู่เซื่องซึมนี้ให้หมดสิ้นไปจะดีกว่า อย่ามัวเสียเวลาจมปลักอยู่กับความผิดหวังท้อแท้ใจนี้อยู่เลย

          ๔.๔) ขัดขวางป้องกันการกำเริบของอุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านเดือดร้อนใจ เพราะได้ตระหนักถึงความจริงแล้วว่า ความฟุ้งซ่านและความเดือดร้อนใจนั้น เกิดจากความอยากได้ ความอยากมี ความอยากเป็น ในสิ่งที่เพ้อเจ้อ ฟุ้งเฟ้อ เหลวไหล ที่กิเลสบีบคั้นใจให้คิดปรุงแต่งไปต่าง ๆ นานา จนเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจในเรื่องไม่เป็นเรื่องทั้งสิ้น ทำให้จิตใจร้อนรนเหมือนคนตีตนไปก่อนไข้ แท้ที่จริงแล้วชีวิตคือความไม่แน่นอน ความกลัดกลุ้มกังวลไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะปัญหาบางอย่างก็แก้ได้ แต่ปัญหาบางอย่างก็แก้ไม่ได้ ปัญหาบางอย่างก็แก้ไขได้ทันที ปัญหาบางอย่างก็ต้องแก้ไขเป็นเปลาะ ๆ ไปตามลำดับ จะใจร้อนไม่ได้ เมื่อวางแผนไว้พร้อมสรรพ ก็ต้องเผื่อใจพร้อมที่จะยอมรับความจริงด้วยว่า อะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องให้มันเกิด เมื่อเกิดแล้วก็ต้องตัดสินและตัดใจ แก้ไขปัญหาทุกอย่างด้วยสติปัญญาความสามารถให้ดีที่สุด เหมือนกับสังขารร่างกายของเราที่มีความเปื่อยเน่าอยู่ตลอดเวลา ที่ถึงแม้เราจะไม่สามารถห้ามความแก่ ความเจ็บ ความตายได้ แต่เราก็สามารถใช้สังขารนี้ทำความดีได้ เราจึงควรรีบใช้เรี่ยวแรงกำลังของสังขารที่ยังมีความแข็งแรงอยู่ในขณะนี้ รีบเร่งทำภาวนากำจัดกิเลส คือความฟุ้งซ่านเดือดร้อนใจให้หมดสิ้นไปดีกว่า อย่าเสียเวลาจมปลักอยู่กับความคิดปรุงแต่งไปต่าง ๆ นานาในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงนี้อีกเลย

          ๔.๕) ขัดขวางป้องกันการกำเริบของวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย เพราะได้ตระหนักถึงความจริงว่า ความลังเลสงสัยเกิดขึ้นจากความไม่รู้ว่าสิ่งใดถูก-ผิด ดี-ชั่ว บุญ-บาป ควรทำ-ไม่ควรทำ จึงทำให้เราตัดสินใจไม่ได้ หรือไม่กล้าตัดสินใจ ทำให้เกิดความห่วงหน้าพะวงหลังขึ้นมาบ้าง ทำให้เกิดความวิตกกังวลขึ้นมาบ้าง แต่ปัญหาเหล่านี้ มิใช่เราเป็นคนแรกที่พบ แม้พระ-สัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ทรงพบกับปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้มาก่อนแล้ว พระองค์จึงทรงเมตตา สั่งสอนว่า ปัญหาทั้งหลายนั้น เกิดจากทุกข์ประจำชีวิตคนทั้งสิ้น บางคนทุกข์เพราะสังขาร ไม่เอื้ออำนวย บางคนทุกข์เพราะการอยู่ร่วมกัน บางคนทุกข์เพราะการทำมาหากิน บางคนทุกข์เพราะกิเลสบีบคั้นใจ ให้วิตกกังวลในเรื่องความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เกิดจาก ๒ สถาน คือ

          (๑) ใจของเราไม่บริสุทธิ์

          (๒) ธาตุในกายของเราไม่บริสุทธิ์

          การที่จะกำจัดความวิตกกังวลและความลังเลสงสัยให้หมดสิ้นไป ก็คือเราต้องรีบเร่งทำภาวนา กลั่นกาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ ยิ่งมีความบริสุทธิ์ผุดผ่องมากเท่าใด ใจก็จะยิ่งใสสงบนิ่งได้เร็วเท่านั้น ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ ก็จะสะสมอยู่ในใจมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ในทันทีที่ใจหยุดนิ่งถูกส่วนสมบูรณ์ เราก็จะก้าวข้ามนิวรณ์ ๕ ไปได้ ทำให้เข้าถึงธรรมะเบื้องต้น คือ ปฐมมรรค อันเป็นก้าวแรกของการหลุดพ้นจากทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ดังนั้นเราจึงต้องรีบเร่งทำภาวนา ในขณะที่สังขารร่างกายยังมีเรี่ยวแรงสะดวก แก่การปฏิบัติธรรม อย่าเสียเวลาจมปลักอยู่กับความลังเลสงสัยนี้อยู่เลย

          จากตัวอย่างที่ยกมาอรรถาธิบายนี้ ย่อมเห็นได้ว่า ผู้ที่ฝึกฝนความรู้ประมาณจนเป็นปกตินิสัย ย่อมเป็นการฝึกสติในการติดตามรักษาใจให้สงบนิ่งมั่นคงอยู่ในกายได้อย่างต่อเนื่อง ทุกอิริยาบถ ทั้งนั่ง นอน ยืน เดิน ครั้นเมื่อถึงคราวเจริญสมาธิภาวนา ย่อมก้าวข้ามนิวรณ์ ๕ บรรลุปฐมฌานอันเป็นต้นทางของการหลุดพ้น จากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ได้อย่างไม่ยากเย็นเกินไปนัก ทุกข์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันย่อมลดน้อยถอยลงไปโดยปริยาย พร้อมกันนั้นก็มีกำลังใจที่จะสู้กับกิเลส สู้กับมาร ๕ ฝูง เพิ่มพูนตามมา เพื่อการเตรียมพร้อมในการแหกคุก ออกจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร

สรุป

ความรู้ประมาณ

รากฐานความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

          เมื่อเราศึกษามาถึงตรงนี้แล้ว ก็จะพบความจริงว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงลำพังพระองค์เดียวทรงทำอย่างไร จึงสามารถวางรากฐานพระพุทธศาสนาได้มั่นคง ส่งผลให้มีอายุยืนยาวมานานกว่าสองพันห้าร้อยปี และในเมื่อเราจะต้องสืบทอดรักษาพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป เราจะต้องทำอย่างไร พระพุทธศาสนาจึงจะยืนยาวต่อไป อีกเป็นพันปี หมื่นปี แสนปี ล้านปี

          คำตอบก็คือ อิฐหรือฐานรากอันดับแรกที่ค้ำยันพระพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นอยู่ได้ก็คือ ความรู้ประมาณของพุทธบริษัท ยิ่งความรู้ประมาณของพุทธบริษัทมั่นคง อยู่ในกรอบมาตรฐานเพียงใด พระพุทธศาสนาก็จะมีความมั่นคงเพียงนั้น ซึ่งจะส่งผลให้ยืนยาวต่อไปนานแสนนาน ทั้งนี้เพราะบทฝึกความรู้ประมาณ ในชีวิตประจำวันทั้ง ๓ ประการ ดังได้กล่าวมาแล้ว แท้จริงก็คือ วิธีฝึกความไม่ประมาท วิธีฝึกอริยมรรคมีองค์ ๘ ในชีวิตประจำวัน และวิธีการวางรากฐานพระพุทธศาสนา ให้มั่นคงแข็งแรงนั่นเอง

          การที่มนุษย์ได้ฝึกสติอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถชิงพื้นที่ใจกลับคืนมาจากกิเลส ได้แล้ว ย่อมจะสามารถควบคุมใจ ไม่ให้ตกเป็นทาสของตัณหาได้ ทำให้รู้จักประมาณใน การแสวงหา รู้จักประมาณในการบริโภคใช้สอยปัจจัย ๔ รู้จักสภาพความเป็นจริง โดยความเป็นธาตุเปื่อยเน่าของร่างกาย จึงไม่คิดทำการสะสม กักตุน กอบโกย ในสิ่งที่เกินจำเป็นต่อชีวิต ทำให้มีเวลาในชีวิตประจำวัน เหลือพอที่จะศึกษาพระธรรมคำสอน ในพระพุทธศาสนา ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญญาเข้าใจสัจธรรมของชีวิต มองเห็นประโยชน์ และคุณค่าของการฝึกฝน การเจริญภาวนา ซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อปราบกิเลสโดยตรง และนั่นก็จะเป็นโอกาสสำหรับฝึกอบรมตนของคนเรา เพื่อให้สามารถตรัสรู้อริยสัจ ๔ บรรลุมรรคผลนิพพานตาม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์ไปได้สำเร็จนั่นเอง

เพราะฉะนั้น จากการศึกษาเรื่องการวางรากฐานพระพุทธศาสนามาตามลำดับจนกระทั่ง ถึงบัดนี้ จึงได้ข้อสรุปว่า

          ๑) การเร่งสร้างคน การเร่งสร้างครู การเร่งสร้างความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ต้องเริ่มต้นที่การฝึกอบรมเรื่องความรู้ประมาณให้เกิดเป็นนิสัยประจำใจของพุทธบริษัทจนตลอดชีวิต

          ๒) ชีวิตของเราจะดีขึ้นหรือตกต่ำลง ก็เริ่มต้นที่ความรู้ประมาณ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นอิฐก้อนแรกในการวางรากฐานของชีวิตนั่นเอง

          ๓) พระพุทธศาสนาของเราจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นหรือทรุดโทรมลงต่อไปภายหน้า ก็เริ่มต้นที่การปลูกฝังนิสัยคนรุ่นต่อไป ให้รู้จักใช้ความรู้ประมาณเป็นเสมือนอิฐก้อนแรกในการวางรากฐานของชีวิตพร้อม ๆ ไปกับการวางรากฐานของพระพุทธศาสนา ดังที่พระสัมมาสัมพุทธ-เจ้าทรงทำไว้เป็นแนวทางการฝึกฝนอบรมคนมาตลอด ๔๕ พรรษา แต่ส่งผลให้พระพุทธศาสนามีอายุยืนยาวหลายพันปี

          โดยสรุปก็คือ ความรู้ประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญอันดับแรก ที่สำคัญที่สุด และมีประสิทธิภาพสูงสุด ในการกำจัดกิเลสในจิตใจผู้คน ซึ่งจะส่งผลมาเป็นรากฐานแห่งความมั่นคง ของพระพุทธศาสนา และเป็นปฐมปัจจัยแห่งการหลุดพ้น จากคุกแห่งวัฏสงสารของมวลมนุษยชาติ หากเราต้องการบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็ต้องฝึกความรู้ประมาณซึ่งเป็นก้าวแรก ของการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ในชีวิตประจำวัน อันเป็นรากฐานสำคัญของการบำเพ็ญภาวนาในการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อปราบกิเลสให้หมดสิ้นไปในอนาคต จึงจะสมกับความเหนื่อยยากลำบากของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงวางรากฐานของพระพุทธศาสนา ไว้ให้ชาวโลก ที่ยังตกค้างอยู่ได้ศึกษา และปฏิบัติตามเพื่อความหลุดพ้น มาตราบกระทั่งถึงทุกวันนี้

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 126 เมษายน ปี2556

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล