วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ สัมมนาพระไตรปิฎก การสืบทอดพุทธธรรม : จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน

เรื่องเด่น
โดย : Tipitaka / ภาพ : วัลลภ เกียรติจานนท์

 


สัมมนาพระไตรปิฎก

การสืบทอดพุทธธรรม : จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน

          คำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่สรรพชีวิตมาตลอดกว่า ๒,๖๐๐ ปี เหล่าพุทธสาวกในยุคแรกรักษาสืบทอด คำสอนอันล้ำค่าโดยวิธีมุขปาฐะ (การท่องด้วยปาก) และบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรลงในคัมภีร์ใบลาน เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๔๕๐ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป คัมภีร์ใบลานเหล่านี้ก็ผุกร่อนตามกาลเวลา บ้างก็สูญหาย บ้างก็ถูกทำลายไปอย่างน่าเสียดาย

 

 

          ด้วยตระหนักถึงสภาวการณ์ดังกล่าว ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ วัดพระธรรมกายจึงจัดทำโครงการรวบรวม ถ่ายภาพคัมภีร์ใบลานและจัดทำฐานข้อมูล พระไตรปิฎกขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน ให้คงอยู่เป็นมรดกธรรมของโลกไปตลอด ชั่วกาลนาน และเพื่อจัดทำฐานข้อมูลพระไตรปิฎก สำหรับการศึกษาค้นคว้าแก่ผู้สนใจทั่วไป

          นอกจากนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ของโครงการ ซึ่งประกอบด้วยพระภิกษุและฆราวาสจากนานาประเทศแล้ว ทางโครงการยังได้รับคำแนะนำและ ข้อเสนอแนะด้านวิชาการอันทรงคุณค่าจากคณะ ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ล้วนมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในวงการบาลี เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ได้พระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ที่สุด

 

 

          ด้วยความตั้งใจและความร่วมมือจากหลายฝ่าย จึงทำให้พระไตรปิฎกบาลีฉบับสาธิตเล่มแรก คือ สีลขันธวรรค แห่งทีฆนิกายในพระสุตตันตปิฎกแล้วเสร็จ และได้จัดพิธีถวายพระไตรปิฎกฉบับดังกล่าว ไว้เป็นมรดกธรรมแก่วงการพระพุทธศาสนา เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี ซึ่งในโอกาสนี้มีการจัดสัมมนาพระไตรปิฎกในหัวข้อ การสืบทอดพุทธธรรม : จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน อีกด้วย

 

 

          พิธีในครั้งนี้ได้รับความเมตตาจากพระพรหมเมธี กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ คุณนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส คุณนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธ-ศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวรายงานแด่ประธานสงฆ์ และคุณบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ประธานอุปถัมภ์โครงการพระไตรปิฎก เป็นผู้นำกล่าวถวายพระ-ไตรปิฎกแด่คณะสงฆ์

 

 

          ในงานสัมมนามีการเชิญนักวิชาการบาลีชั้นนำของโลกมาเป็นวิทยากร ได้แก่ ศาสตราจารย์ Richard Gombrich จากมหาวิทยาลัย Oxford ศาสตราจารย์ Oskar von Hin?ber ผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีและคัมภีร์ใบลาน ศาสตราจารย์ Rupert Gethin ประธานสมาคมบาลีปกรณ์แห่งประเทศอังกฤษ และศาสตราจารย์ Masahiro Shimoda จากมหาวิทยาลัยโตเกียว มาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการสืบทอดพระพุทธวจนะตั้งแต่ยุคมุขปาฐะ ยุคคัมภีร์ใบลาน ยุคพระ-ไตรปิฎกฉบับพิมพ์ จนถึงยุคพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ แก่ผู้เข้าร่วมงานกว่า ๕๐๐ ท่าน

 

 

          นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา และพระไตรปิฎก ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ร่วมงาน

          การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญ ของทั้งด้านวิชาการและวงการพระพุทธศาสนา ในการสืบทอดขุมทรัพย์ทางปัญญาอันยิ่งใหญ่ ให้คงอยู่เป็นแสงประทีปแก่บุคคลรุ่นหลังสืบไป

คำนิยมจากนักวิชาการชั้นนำของโลก

ศาสตราจารย์ Oskar von Hinuber 
ปรมาจารย์ด้านภาษาบาลีและคัมภีร์ใบลาน
ผู้แต่งตำราที่วงการบาลีโลกใช้อ้างอิง

         ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ ที่ผมเดินทางมา และสิ่งที่ผมประทับใจมาก คือ โครงการมีความก้าวหน้าอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการมาคราวก่อน และนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่แสดงให้เห็นว่าเราเดินมา ถูกทางแล้ว

 

ศาสตราจารย์ Richard Gombrich
ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดประเทศอังกฤษ

        นับเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ แต่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่งานด้านจัดทำคัมภีร์บาลี ให้ได้มาตรฐานน่าเชื่อถือโดยใช้กระบวนการ วิชาการสมัยใหม่ยังคงทำกันอยู่น้อยมาก ปริมาณเนื้องานของงานด้านนี้มากมายมหาศาลจนน่ากลัว ดังนั้นวัดพระธรรมกายจึงสมควรได้รับคำขอบคุณ และคำแสดงความยินดีที่ได้สนับสนุนทุนวิจัย และดำเนินโครงการขึ้นมา โครงการนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นก้าวสำคัญ ในหน้าประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ที่มีความสำคัญยิ่งไปกว่างานสัมมนา และงานเฉลิมฉลองอื่นใด

 

Dr.Mark Allon 
อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

        โครงการพระไตรปิฎกวัดพระธรรมกายนับว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องใช้เวลาและทรัพยากรอื่น ๆ ในการดำเนินการ แต่รูปแบบการนำเสนอและการเก็บรักษาข้อมูลก็สามารถทำออกมาได้ดีมาก โดยเฉพาะโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงตัวใบลานจริงได้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักวิชาการ

 

ศาสตราจารย์ Masahiro Shimoda 
ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

        ความพยายามที่จะจัดทำพระไตรปิฎกฉบับดิจิทัล ที่โครงการพระไตรปิฎกวัดพระธรรมกายกำลังดำเนินการอยู่นั้น จะเชื่อมโยงกับนักวิชาการยุคต่อไปในอนาคต ผมเชื่อมั่นว่าแม้โครงการจะต้องเผชิญกับงานยากที่ท้าทาย แต่ก็จะผ่านพ้นไปจนสามารถขยายความรู้ไปสู่คนรุ่นใหม่ได้

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 126 เมษายน ปี2556

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล