บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙ /
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
ภาวนามัย
สุขใจ เมื่อใจหยุด
ผู้มีอายุทั้งหลาย สมาธิภาวนาที่ฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน..
เป็นไปเพื่อการได้ญาณทัสสนะ.. เป็นไปเพื่อสติ และสัมปชัญญะ..
เป็นไปเพื่อการสิ้นกิเลสอาสวะ (สังคีติสูตร)
ภาวนา หมายถึง การทำจิตให้ สะอาด บริสุทธิ์ผ่องใส ให้ สงบ จากกิเลสอาสวะ หยุดนิ่งอยู่ภายในตัว และให้ สว่าง ด้วยแสงแห่งธรรมภายใน ซึ่งปัจจุบันมีการเรียกชื่อไปต่าง ๆ เช่น การบำเพ็ญกรรมฐาน การทำสมาธิ การเจริญภาวนา การเจริญจิตภาวนา แต่เป้าหมายเดียวกันคือเป็นไปเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน
ภาวนามัย คือ บุญที่เกิดจากการทำใจ ให้ผ่องใส เกิดจากการละกิเลส ตั้งแต่ขั้นหยาบไปจนถึงกิเลสอย่างละเอียด เป็นการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นโดยใช้สมาธิปัญญา รู้ทางเจริญและทางเสื่อม จนเข้าใจอริยสัจ ๔ บรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้ในที่สุด บุญที่เกิดจากการเจริญภาวนาเป็นบุญละเอียด มีอานิสงส์มากกว่าการทำทาน รักษาศีล เนื่องจากบุญจากการให้ทาน และรักษาศีลจะส่งผลให้ได้มนุษย์สมบัติ และสวรรค์สมบัติ เวียนวนอยู่ในสุคติภูมิ ส่วนภาวนามัยจะสามารถส่งผลให้ได้นิพพานสมบัติ คือ หมดกิเลส บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ในที่สุด ดังนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า การฝึกจิตเป็นสิ่งที่ดี จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ.. จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้.. ถ้าจิตผ่องใสไม่เศร้าหมองก็มีสุคติเป็นที่ไป
ใจหยุด.. ที่สุดของภาวนามัย
ธรรมชาติของใจสุดแสนจะว่องไว พร้อมจะท่องเที่ยวไปได้ทุกที่ทุกเวลา แม้ใจคนเราจะ เป็นสิ่งที่อ่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ง่าย แต่ก็ฝึกได้ การทำใจหยุดนิ่งนับเป็นสุดยอดของการฝึก เพราะก่อนที่เราจะฝึกใคร ต้องฝึกตนเองก่อน การฝึกตนที่ดีที่สุดคือฝึกใจ ยิ่งใจหยุดนิ่งบริสุทธิ์ผ่องใส บุญใหญ่จากภาวนามัยก็ยิ่งเกิดขึ้นทับทวี การฝึกใจนับเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เหมือนเอามีดกรีดลงบน ใบบัวให้เป็นรอย หนักไปใบก็ขาด เบาไปใบก็ไม่เป็นรอย ถ้าวางใจเบา ๆ สบาย ๆ เป็นกลาง ๆ ไม่ช้าจะเห็นภาพภายใน เห็นดวงธรรม และในที่สุดจะเห็นพระธรรมกายที่สว่างไสว
ผู้ที่เจริญสมาธิภาวนาอยู่เป็นประจำจะได้รับอานิสงส์ คือ มีรูปร่างหน้าตาดี มีผิวพรรณผ่องใส มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง มีความจำดี มีปัญญาแตกฉาน เป็นคนใจคอเยือกเย็น เป็นที่ ดึงดูดดวงตาดวงใจของผู้ได้พบเห็น เกิดในตระกูลดี มีบุคลิกสง่างาม มีมิตรสหายมาก เป็นที่เคารพยำเกรงของคนทั่วไป เป็นที่ชื่นชอบของบัณฑิต มีอายุยืน ครั้นตายไป ด้วยใจที่ผ่องใสทำให้ไปบังเกิดในสุคติภูมิ ยิ่งถ้าใครหมั่นแผ่เมตตาถึงขั้นเจริญพรหมวิหารธรรมอยู่เป็นประจำ ด้วยผลแห่งบุญนั้น หากละโลกแล้วจะไปบังเกิดในพรหมโลก เสวยสุขที่เกิดจากฌานสมาบัติเป็นเวลายาวนานเลยทีเดียว
ในสมัยหนึ่ง มีเจ้าลัทธิชื่อสุเนตตะ รักในการทำสมาธิมาก ท่านหมั่นเจริญเมตตาฌานเป็นประจำ จนปราศจากความกำหนัดในกาม ท่านทำหน้าที่สั่งสอนลูกศิษย์ ให้หมั่นเจริญสมาธิภาวนาอยู่เป็นประจำ สาวกของท่านที่ปฏิบัติตามอย่างจริงจัง บางพวกละโลกแล้วได้ไปบังเกิดในพรหมโลก บางพวกไปบังเกิดในสวรรค์ ๖ ชั้น ตั้งแต่จาตุมหา-ราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานนรดี และปรนิมมิตวสวัตตี ตามกำลังบุญที่เกิดจากการเจริญภาวนา บางคนได้กลับมาเกิดเป็นลูกของพระราชามหากษัตริย์ บางคนกลับมาเกิดเป็นเศรษฐีผู้มั่งคั่ง ไม่มีใครพลัดไปเกิดในอบายภูมิเลย นี่เป็นผลบุญ ที่เกิดจากการเจริญภาวนาจนตลอดชีวิต
ฝ่ายเจ้าลัทธิผู้เป็นอาจารย์เป็นผู้ได้ฌานสมาบัติ ได้ทำสมาธิตรวจดูด้วยกำลังฌานว่า ลูกศิษย์แต่ละคนที่ละโลกไปแล้ว ไปบังเกิดที่ไหนบ้าง ครั้นเห็นความเป็นไปทั้งหมดแล้วก็สบายใจที่ ลูกศิษย์มีสุคติเป็นที่ไป ส่วนตัวท่านกลับมาคิดว่า แล้วเราล่ะ ถ้าตายแล้วจะไปบังเกิดที่ไหนดี การจะไปบังเกิดในภพภูมิที่เสมอกับลูกศิษย์นั้นหาควรไม่ เราต้องไปให้สูงกว่านั้นและเสวยสุขได้ยาวนานกว่า คิดดังนี้แล้ว ท่านก็ตั้งใจเจริญเมตตาให้ยิ่งขึ้นไปอีก
ครั้นละโลกแล้ว ท่านไม่มาสู่โลกนี้ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป เมื่อโลกวิบัติเกิดไฟบรรลัยกัลป์ ท่านได้เข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อโลกเจริญก็เข้าถึงวิมานพรหมที่ว่าง ในวิมานนั้น สุเนตตศาสดาเป็นท้าวมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่มีใครยิ่งกว่า รู้เห็นเหตุการณ์โดยถ่องแท้ เป็นผู้มีอำนาจมาก ครั้นบุญจากการเจริญภาวนาหย่อนลงมา ก็ได้มาเกิดเป็นท้าวสักกะจอมเทพ ๓๖ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ตั้งอยู่ในธรรมหลายร้อยครั้ง มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ได้ชัยชนะโดย ไม่ต้องใช้อาวุธสงครามเข้าประหัตประหารศัตรู คู่อริราช สถาปนาประชาชนไว้เป็นปึกแผ่นมั่นคง พรั่งพร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการ พระราชโอรสของพระเจ้าจักรพรรดิล้วนแต่องอาจกล้าหาญชาญชัย ย่ำยีศัตรูได้ พระเจ้าจักรพรรดินั้นทรงปกครองปฐพีมณฑลโดยมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต ไม่ต้องใช้อาญา ไม่ต้องใช้ศาสตรา แต่ทรงใช้ธรรมปกครอง ทำให้เหล่าพสกนิกรอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะทุกคนมีศีลห้าเป็นปกติ บ้านเมืองไม่มีโจรขโมย ประชาชนจึงมีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย
เราจะเห็นว่า ผลบุญที่เกิดจากภาวนามัย มีอานิสงส์ใหญ่ ส่งผลให้ได้รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติที่ยาวนาน นอกจากนี้บุญจากการ
ทำสมาธิไม่ใช่เพียงช่วยให้ได้เสวยสุขในสุคติภูมิ ซึ่งยังเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏเท่านั้น แต่ยัง ส่งผลยิ่งใหญ่ไพศาล คือ สามารถบรรลุมรรค ผล นิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษยชาติ ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้ จำเป็นต้องเจริญภาวนาให้ครบทั้ง ๓ อย่าง ควบคู่กันไป คือ
๑. กายภาวนา หมายถึง การฝึกอบรมกายให้รู้จักติดต่อกับสิ่งภายนอกทางอินทรีย์ทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ด้วยดี และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ ให้กุศลธรรมงอกงาม และเพื่อให้อกุศลธรรมเสื่อมไป
๒. จิตภาวนา หมายถึง การขยันนั่งสมาธิทำใจให้ผ่องใสเป็นประจำทุกวันสม่ำเสมอ และ ฝึกอบรมใจให้งอกงามด้วยคุณธรรมภายใน เช่น ฝึกเป็นคนไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ มีจิตเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลกประดุจว่าเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน และหมั่นแผ่เมตตาจิตอยู่เสมอ อานิสงส์ในการแผ่เมตตาเป็นประจำจะทำให้หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย เทวดาลงรักษา เป็นที่รักของมนุษย์และเทวดา อัคคีภัย อุทกภัย หรือโจรภัยไม่มากล้ำกราย มีผิวพรรณผ่องใส เป็นคนไม่หลงทำกาละ แม้ละโลก แล้วก็ไปสู่สุคติ
๓. ปัญญาภาวนา หมายถึง การพัฒนาปัญญาให้เข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง สามารถใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทำจิตให้เป็นอิสระ และทำตนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ ทั้งปวงได้
ดังนั้น การเจริญภาวนาที่ถูกหลักจะต้องพัฒนาทั้ง ๓ ด้าน ได้แก่ พัฒนากาย คือรู้จักสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่น ดูในสิ่งที่ควรดู ฟังในสิ่งที่ควรฟัง ที่เป็นไปเพื่อบุญกุศล ไม่ดูหรือฟังในสิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมองหรือกิเลสกำเริบ เราพัฒนากายเพื่อนำไปสู่การ พัฒนาใจ คือ เมื่อกายสงบ เวลาทำสมาธิใจจะสงบ หยุดนิ่งได้ง่าย ครั้นใจผ่องใส ใจสว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยาม เที่ยงวัน เมื่อต้องการจะ พัฒนาปัญญา คือ อ่านธรรมะ ฟังธรรม หรือไตร่ตรองธรรม ก็จะแจ่มแจ้ง และสามารถน้อมนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นก็แก้ไขกันไป มีบุญก็สั่งสมควบคู่กับการทำมาหากิน ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมที่เกิดขึ้น เป็นต้น ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ได้ จึงจะชื่อว่าสั่งสมภาวนามัยอย่างแท้จริง