วันคุ้มครองโลก ๒๒ เมษายน
สหประชาชาติ หรือ UN กำหนดให้วันที่ ๒๒ เมษายน ของทุกปี
เป็นวัน Earth Day แปลเป็นไทยว่า วันคุ้มครองโลก
วันคุ้มครองโลกเกิดขึ้นได้อย่างไร และคนทั้งโลกให้ความสำคัญกับวันนี้อย่างไร
วันคุ้มครองโลกเริ่มต้นเมื่อประมาณ ๔๐ กว่าปีที่แล้ว โดยเริ่มจากอเมริกา ซึ่งตอนนั้นถือว่าเป็นผู้นำเทคโนโลยีและเศรษฐกิจทุกอย่างของโลก เพราะอเมริกาเริ่มเห็นว่าเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปมากขึ้น คนมีจำนวนมากขึ้น การใช้ทรัพยากร ธรรมชาติก็มากขึ้น ป่าไม้ถูกบุกรุกทำลาย น้ำเสีย อากาศเสียมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าปล่อยอย่างนี้ต่อไปโลกเราจะไปไม่รอด แล้วมนุษย์ก็จะอยู่อย่างไม่มีความสุข ก็เลยเริ่มรณรงค์ให้คนเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ว่าเราอยู่บนโลกใบนี้ เราก็ต้องช่วยกันคุ้มครองดูแลโลก อเมริการณรงค์จนกระทั่งคนเห็นความสำคัญมากขึ้น ๆ และจุดที่สำคัญคือวันที่ ๒๒ เมษายน เขาสามารถปลุกคนอเมริกันออกมาชุมนุมกันได้กว่า ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ คน กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ทั่วทั้งประเทศ เขาเลยถือเอาวันที่ ๒๒ เมษายน ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นวันเริ่มต้นของวันคุ้มครองโลก
ต่อมารัฐบาลอเมริกันออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และมีการจัดตั้งสำนักงาน สิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น แล้วขยายไปทั่วโลก จนกระทั่งสหประชาชาติ หรือ UN กำหนดให้วันที่ ๒๒ เมษายน ของทุกปี เป็นวัน Earth Day แปล เป็นไทยว่า วันคุ้มครองโลก
เป็นที่น่าสังเกตว่า เขาเริ่มต้นวันคุ้มครองโลกเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ซึ่งบังเอิญตรงกับวันคล้าย วันเกิดของพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) พอดี และเริ่มเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ซึ่งเป็นปีที่มีการขุดดินก้อนแรกสร้างวัดพระธรรมกายในวันมาฆบูชา เดือนกุมภาพันธ์ ถัดมา ๒ เดือน ก็เกิดวัน Earth Day ขึ้นในโลก เหตุการณ์มาบรรจบพร้อมกันทั้ง วัน เดือน และปี แสดงว่าเรื่องนี้ต้องมีเหตุ
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง เราจะพบว่า ในการคุ้มครองโลกนั้น โลกทางกายภาพก็มีความสำคัญ นั่นคือที่มาของคำว่า Earth Day แต่การ จะคุ้มครองโลกทางกายภาพได้ต้องเริ่มต้นจากใจ ถ้าใจมนุษย์เร่าร้อนด้วยความโลภ โกรธ หลงเมื่อไร ก็ยากจะคุ้มครองโลกภายนอกให้เป็นสุขได้ เหมือนอย่าง ซัดดัม ฮุสเซ็น รบกันแล้ว เห็นท่าไม่ดีระเบิดบ่อน้ำมัน จุดไฟเผาในคูเวต มลพิษก็เกิดขึ้นมหาศาล จะเห็นว่าจากใจของคนเพียงคนเดียว เกิดผลสะเทือนต่อโลกทางกายภาพได้มากมาย
แม้ในเมืองไทย เราก็คงเคยเห็นคนที่หวัง ผลประโยชน์ส่วนตัวมากมาย เช่น บางคนถึงคราวหน้าแล้งก็ไปจุดไฟเผาป่า ถามว่าเผาทำไม เผาเพื่อเอาเห็ด พอป่าไหม้หมด เดี๋ยวฝนตกลงมาเห็ดก็ จะขึ้น จะได้เก็บเห็ดไปขาย ทางภาคเหนือของไทยทำกันเยอะมาก เรียกว่าถ้าถ่ายภาพจากดาวเทียมจะเห็นเป็นจุดที่ไฟไหม้ป่า บางทีเป็นพัน ๆ จุดเลย นี้คือภาพสะท้อนจากใจของคนที่คิดเอาแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว ถ้าเราเคยนั่งรถไปทางภาคเหนือ จะเห็นป้ายติด ๒ ข้างทาง เช่น เผาป่า คือ เผาชาติ ฯลฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีรณรงค์ไม่ให้คนเผาป่า แต่ยังได้ผลไม่มาก เพราะการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุต้องแก้ที่ใจมนุษย์
เพราะฉะนั้น ในวันคุ้มครองโลกของทุกปี วัดพระธรรมกายจึงจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้คนหันมาทำความดีเพื่อพัฒนาจิตใจกัน เมื่อจิตใจของทุกคนได้รับการพัฒนาแล้ว โลกย่อมได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง
วัดพระธรรมกายจัดงานบุญอะไรบ้างในวันคุ้มครองโลก
พอเราจับ Concept ได้แล้วว่าจะคุ้มครองโลกต้องเริ่มที่ใจคน ถ้าเริ่มที่ใจคนได้ โลกทางกายภาพไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ดิน อากาศ ฟ้า จะดีตามไปหมด รวมทั้งมนุษย์ สัตว์ สิ่งมีชีวิต ทั้งหลาย ก็จะอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก เพราะว่าจะไม่เบียดเบียนกัน ถ้าแก้ที่ใจจะแก้ได้หมดทุกเรื่อง พอจับประเด็นได้อย่างนี้ หลวงพ่อก็เลยเน้นว่า ๒๒ เมษายน ซึ่งเป็นวันคุ้มครองโลก ต้องเป็นวันที่เรามาสร้างบุญกัน คือทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา
ในการบำเพ็ญทานบารมี วันที่ ๒๒ เมษายน ก็จะมีการถวายมหาสังฆทานแด่พระทั้งประเทศ ในปีนี้ก็จะมีการเลี้ยงพระ ถวายสังฆทานพระจาก ๒๔,๐๐๐ วัด
ที่ผ่านมาเราคงเคยได้ยินคำว่า ถวายสังฆทาน ๙ วัด บางคนวิ่งรอกไปถวายวันละวัด หมดไป ๙ วัน ได้ ๙ วัด ก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว แต่นี่มาวันเดียวได้ ๒๔,๐๐๐ วัด คุ้มมาก นอกจากนั้นเรายังจะได้รักษาศีลและปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาร่วมกันด้วย
ถ้าคนมีศีล มีธรรม ละความโลภ โกรธ หลง ให้เบาลง แล้วโลกจะได้รับการคุ้มครอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ประเด็นสำคัญคือต้องทำอย่างไร ไม่ใช่พูดแค่หลักการสวย ๆ แล้วจบอยู่บนกระดาษ หรือจบแค่ในวงสัมมนา ถ้ามีแต่พูด แต่ไม่มีการปฏิบัติ อย่างนี้ไม่ได้ผล ที่ทุกวงประชุมของโลกต้องการ คือทำอย่างไรจะได้แนวความคิดที่ถูกต้อง แล้วสามารถนำแนวคิดนั้นไปสู่มหาชนในสังคมทั้งประเทศและ ทั้งโลกได้จริง
๒๒ เมษายน ไปร่วมงานไม่ได้ แต่อยากทำความดีให้แก่โลก ต้องทำอย่างไร
อยากให้เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับการปฏิบัติธรรม ดูตัวอย่างจากพระสัมมา- สัมพุทธเจ้าของเรา จะพบว่าพระองค์ประสูติ ที่สวนลุมพินีวัน คือประสูติในป่า และตรัสรู้ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ใน วันวิสาขบูชา นั่นก็คือตรัสรู้ในป่า บำเพ็ญเพียร ๖ ปี อยู่ในป่า ตรัสรู้ธรรมอยู่ในป่า แล้วพระองค์ก็ปรินิพพานใต้ต้นสาละ เมืองกุสินารา ก็คือปรินิพพานในป่า ทั้งประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน เหตุการณ์สำคัญของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล้วนแล้วแต่เกิดในป่า
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมในพระพุทธ-ศาสนากับป่าจึงสัมพันธ์กันใกล้ชิดมาก ฉะนั้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านจึงรักต้นไม้มาก วัดพระธรรมกายแต่ก่อนเป็นทุ่งนาโล่ง ๆ ไม่มีต้นไม้ มีแต่ต้นหญ้า ต้นไม้แต่ละต้นปลูกยาก เพราะแถวนี้ดินเปรี้ยว ต้นไม้ขึ้นยากมาก เวลาจะปลูกต้องเอาปูนขาวมาโรยผสมให้ดินลดความเป็นกรด แล้ว ค่อย ๆ ปลูกทีละต้น เราคงเคยเห็นภาพที่หลวงพ่อท่านลงมือปลูกต้นไม้เอง ท่านปลูกและเห็นการเจริญเติบโตของต้นไม้ ท่านจึงรักต้นไม้ทุกต้น ในวัด พระธรรมกายใครจะตัดต้นไม้ต้องไปขออนุญาตหลวงพ่อก่อน
หลวงพ่อท่านชอบให้ความร่มรื่นเกิดขึ้น นี้แหละคือการรักษาป่า รักษาธรรมชาติอย่างหนึ่ง สาขาวัดพระธรรมกายทุกแห่งเดี๋ยวนี้ก็ปลูกต้นไม้จนเขียวชอุ่มไปหมด และถ้าทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมืออย่างนี้ สิ่งแวดล้อมก็จะดีขึ้นเอง แล้วเราก็จะปฏิบัติธรรมดีขึ้น เวลานั่งสมาธิเห็นสีเขียว ๆ แล้วสบายอกสบายใจ พอใจสบายนั่งสมาธิก็จะดีขึ้น ฉะนั้นไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ ถ้าบ้านเรามีที่สักนิด ให้ลงต้นไม้สักต้น หาที่ไม่ได้ก็ปลูกในกระถาง ให้ใจเราผูกพันกับธรรมชาติ แล้วใจเราจะอ่อนโยน ถึงคราวปฏิบัติธรรมก็จะปฏิบัติได้ดี
สำหรับคนที่อยู่ไกล ๆ มาวัดไม่สะดวก จะทำอย่างไรในวันที่ ๒๒ เมษายน ให้จำหลักง่าย ๆ ว่า ให้หาทางปลูกต้นไม้สักต้นหนึ่ง มีที่ดินก็ปลูกลงดินเลย ถ้าไม่มีที่ก็ปลูกในกระถาง ให้สีเขียว ๆ เกิดขึ้น อย่างน้อยอยู่ในกระถางมันก็ยังคายออกซิเจนออกมา ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ และขณะเดียวกันให้เปิด DMC ดู ปฏิบัติธรรมและร่วมกิจกรรมพร้อมกับที่วัด ซึ่งมีการถ่ายทอดสดตลอดทั้งวัน ปฏิบัติธรรมเพื่อให้ใจเราเย็นลง ใจของเราก็จะได้รับการคุ้มครอง จากธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเราจะได้ช่วยกันขยาย กระแสคลื่นความเย็นจากใจของเรา ไปสู่ใจคนที่อยู่รอบ ๆ และในที่สุดก็จะขยายไปสู่เพื่อน ร่วมโลกทุก ๆ คน
มีเทคนิคในการนั่งสมาธิให้ใจสงบและได้รับ การคุ้มครองอย่างไรบ้าง
การทำสมาธิ คือการเอาใจมาหยุดมานิ่ง ให้สงบ ไม่คิดฟุ้งซ่าน ใจมนุษย์ท่านบอกมีธรรมชาติคล้ายลิง คือมันซน ลิงชอบกระโดดไปนั่นมานี่ อยู่ไม่สุข ใจเราเหมือนกัน บางทีชั่วโมงเดียวคิดได้ตั้งหลายเรื่อง อย่าว่าแต่ชั่วโมงเดียวเลย บางทีนาทีเดียวก็คิดได้ตั้งหลายเรื่อง และเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง คิดกระโดดไปเรื่อย การทำสมาธิคืออย่าให้ใจเรากระโดด ให้ใจนิ่ง ๆ อยู่เรื่องเดียว และนิ่งกับเรื่องที่ดี ให้เอาใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย คืออยู่ในตัว อย่าเอาใจไปนอกตัว นี่คือสมาธิในพระพุทธศาสนา
ฐานที่ตั้งของใจอยู่ที่ศูนย์กลางกาย เหนือสะดือ ๒ นิ้วมือ ตรงกึ่งกลางลำตัว ตรงนั้นคือศูนย์กลางกาย ให้เราเอาใจมานิ่ง ๆ ตรงนี้ เพื่อให้ใจของเราที่ซน ๆ นิ่งได้ง่ายขึ้น จากนั้นเราก็นึกถึงดวงแก้วใส ๆ ตรงจุดนี้ หรือจะนึกถึงพระที่เราคล้องคออยู่ หรือพระบนโต๊ะหมู่บูชาที่บ้านก็ได้ พระแก้วมรกตก็ได้ เราคุ้นกับพระองค์ไหนนึกพระองค์นั้น เพื่อให้ใจเรามีที่เกาะนิ่ง ๆ ถ้าเผลอไปคิดเรื่องอื่น พอรู้ตัวก็อย่าไปคิดต่อ กลับมานึกตรงนี้ใหม่ นิ่ง ๆ อย่างนี้ พอทำอย่างนี้บ่อย ๆ ใจจะเริ่มคุ้นกับศูนย์กลางกายมากขึ้น พอใจเราคุ้น ก็จะเกาะกับสิ่งนั้น แล้วจะเริ่มซนน้อยลง ไม่ไปเที่ยวเล่นแล้ว จะอยู่ตรงนี้มากขึ้น ๆ
พอนิ่งถูกส่วนเข้า เดี๋ยวของจริงจะเกิดขึ้น ผุดขึ้นมาที่ศูนย์กลางกาย จากนี้ไปจะเป็นของจริง ดวงแรกเป็นมโนภาพที่สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่เกาะ ของใจ ของจริงจะตามมาทีหลัง พอเป็นอย่างนี้ความสุขจะเกิดขึ้น เราจะเข้าใจที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า นตฺถิ สันติปรงฺ สุขงฺ สุขอื่นยิ่งกว่าใจสงบไม่มี คือสุขจากสมาธิมันเลิศกว่าความสุขอย่างอื่น ไปรับประทานอาหารอร่อย ๆ ดูหนังสนุก ๆ ฟังเพลงเพราะ ๆ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่เราพึงพอใจต่าง ๆ ความสุขที่เกิดจากสิ่งเหล่านี้สู้ความสุขจากสมาธิไม่ได้ คนละชั้นกันเลย สุขจากสมาธิเป็นสุขอิ่ม ๆ เย็น ๆ สบายอกสบายใจ ชุ่มฉ่ำ ใจเหมือนขยายไปทั้งโลก มีความรู้สึกรักเพื่อนมนุษย์ รักชีวิตอื่น รักสิ่งแวดล้อม รักธรรมชาติ ใจจะอ่อนโยน นุ่มนวลและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติรอบตัว จะมีความสุขเย็น ๆ ภายในเกิดขึ้น เป็นความสุขที่ประณีตเหนือกว่าความสุขทางเนื้อหนังมังสาภายนอก พอความสุขนี้เกิดขึ้นมาเมื่อไร แปลว่าเราได้รับการคุ้มครองแล้ว โลกก็จะได้รับการคุ้มครอง ใครมีใจอย่างนี้เมื่อไร คน ๆ นั้นจะไม่เป็นภัยกับโลก ไม่เป็นภัยกับใคร มีแต่นำความสงบร่มเย็นให้เกิดขึ้นแก่ทุกคน ทุกสังคม แล้วก็นำสิ่งดี ๆ มาให้แก่โลก ใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายเมื่อไร นั่นคือการคุ้มครองตัวเราและคุ้มครองโลกที่แท้จริง
ดูก่อนอานนท์ เราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทาน
(ทานที่ให้เฉพาะเจาะจงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง)
ว่ามีผลมากกว่าสังฆทานโดยปริยายใด ๆ เลย
สังฆทานเป็นประมุขของผู้หวังบุญ
พระสงฆ์นั่นแหละเป็นประมุขของผู้บูชา
เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
พุทธพจน์
|