ธรรมอินเทรนด์
เรื่อง : ชนนี
|
---|
หลากหลายภาษา แต่สื่อความหมายเดียวกันว่า "ฉันรักเธอ" และยังสื่อความรู้สึกเดียวกันอีกด้วย เพราะความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ เชื้อชาติ หรือศาสนา ไม่ได้ทำให้ความรักของคนเราแตกต่าง กันอย่างมีนัยสำคัญ
๑๔ กุมภาพันธ์ วันแห่งความรัก ที่ตั้งชื่อตามนามของเซนต์วาเลนไทน์ ว่า วันวาเลนไทน์ เป็นวันที่หนุ่มสาวนิยมมอบสิ่งที่สื่อความหวานแหวว ให้แก่กัน เช่น กุหลาบแดง การ์ดรูปหัวใจ หรือช็อกโกแลต วันนี้ยังเชื่อกันว่า เป็นวันที่เหมาะต่อการสารภาพรัก หรือแสดงออกถึงความรักที่มีต่อกัน และเป็นวันดีที่สุดในการแต่งงาน
คนไทยเราก็ปลื้มวันวาเลนไทน์กันซะจริงๆ นอกจากเด็กวัยรุ่น และหนุ่มสาวแล้ว คนทุกวัยก็ให้ความสำคัญ กับวันนี้มากเช่นกัน ไม่งั้นในแต่ละปี คงไม่มีคนแห่ไปจดทะเบียนสมรสที่เขตบางรักกันอย่างคับคั่งหลายร้อยคู่ แต่..ถ้าเลิกปลื้มกันเมื่อไร ก็ไปเจอกันที่เขตบางจาก
ความรัก เป็นสิ่งที่ปุถุชนยากจะหนีพ้น มันอยู่รอบๆ ตัวเรา แม้ตัวเราเองก็เป็นผลิตผลของความรัก เจ้าความรักนี่มันมีอิทธิพลเหนือจิตใจมนุษย์ทั่วไปอย่างยิ่ง หลายคนก่อร่างสร้างตัวได้เพราะความรัก ในขณะที่หลายชีวิตต้องย่อยยับหรือหักเหไปเพราะผิดหวังในความรัก
ในเมื่อความรักมีความสำคัญ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคน จึงมีคนจำนวนหนึ่ง ตั้งหน้าตั้งตาศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับความรักกันอย่างเอาจริงเอาจัง ดังตัวอย่าง เช่น *ศาสตราจารย์ ด้านจิตเวชคนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยปีซา ในอิตาลี ได้ศึกษาเรื่องชีวเคมีที่ทำให้คนเป็นไข้ใจ โดย วัดระดับสารซีโรโทนิน (Serotonin) ในเลือดของอาสาสมัคร ๒๔ คน ที่เพิ่งเริ่มมีความรักใหม่ๆ ในช่วง ๖ เดือนแรก ผลการศึกษาพบว่า ระดับสาร ซีโรโทนินของคนที่อยู่ในช่วงรักหวานชื่น กำลังหมกมุ่นอยู่กับความคิดถึงคนรักวันละหลายชั่วโมง มีลักษณะทางเคมีที่คล้ายกับ คนที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ คือ ทั้งสองกลุ่มมีระดับซีโรโทนิน ในเลือดต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่มีอาการทั้งสองถึงร้อยละ ๔๐น่าแปลก! ที่ผลของการศึกษาในครั้งนี้ มา สอดคล้องกับพุทธดำรัสเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้วอย่างอัศจรรย์
สอดคล้องอย่างไร?
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า "กามทั้งหลายเกิดจากความดำริ" คือ อันที่จริงแล้ว วัตถุกามทั้งหลาย เช่น สาวสวย หนุ่มหล่อ อาหารอร่อย ฯลฯ มันก็มีอยู่คู่โลก แต่เราไปคิดปรุงแต่งว่า ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ คิดไปคิดมา คิดซ้ำคิดซาก สิ่งเหล่านี้ก็เลยมามีอิทธิพลต่อใจของเรามากขึ้น ทุกที ยิ่งคิดก็ยิ่งฟุ้งซ่าน ถ้าเราไม่คิดวนเวียนอยู่แต่เรื่องเหล่านี้ มันก็จะไม่สามารถมามีอิทธิพลเหนือเราได้
ทีนี้ลองมารู้จักกับ โรคย้ำคิดย้ำทำ กันว่าคืออะไร โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) หรือ OCD เป็นอาการทางประสาทอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย โดยมีอาการ ย้ำคิด หรือย้ำทำเป็นอาการเด่น แต่ส่วนใหญ่จะพบทั้งสองอาการ ตัวอย่างเช่น การตรวจดูว่าปิดแก๊สแล้วหรือยังซ้ำๆ นับ ๑๐ ครั้ง ความกังวลว่ามือสกปรก ล้างมือวันละ ๒๐-๓๐ ครั้ง เป็นต้น คนปกติก็อาจมีความคิดหรือพฤติกรรรมเช่นนี้ได้ แต่ไม่มากจนกระทบกระเทือนต่อชีวิตประจำวัน แต่สำหรับผู้ป่วย OCD อาการเหล่านี้ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างมาก ผู้ป่วยต้องเสียเวลาไปกับความคิด หรือพฤติกรรมในแต่ละวันค่อนข้างมาก อย่างน้อยก็วันละ ๑ ชั่วโมง
จากบางรัก แล้วก็ไปบางจาก คราวนี้คง มาถึง..บางอ้อ กันแล้วเพราะคนที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ ก็เกิดจากการดำริเหมือนกับคนที่กำลังมีความรัก นี่แหละถึงได้กล่าวว่า ผลการทดลองนี้สอดคล้องกับพุทธดำรัสเมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ถ้าใครคิดจะบรรเทาไข้ใจ ก็ให้เปลี่ยนเรื่องดำริซะ หันไปคิด "สัมมา อะระหัง" แทนดีกว่า จะได้เป็นบุญเป็นกุศลแก่ชีวิตสืบต่อไป
เรื่องรักๆ ใคร่ๆ นี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังเคยตรัสไว้ว่า คือ "ความทุกข์" ผู้ใดมีความรักมาก ก็ทุกข์มาก ผู้ใดมีความรักน้อยก็ทุกข์น้อย ผู้ใดไม่มีสิ่งอันเป็นที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความเศร้าโศก
ความรัก และสิ่งที่เรารัก ต่างก็ตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ คือ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปในที่สุด ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นมาก คนที่ต้องปวดร้าว จะเป็นใคร ถ้าไม่ใช่เรา
ในฐานะที่เป็นนักเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา เราทราบกันดีว่า จะต้องพยายามประคับประคองใจของเราให้ใสอยู่เสมอ เพราะทุกนาที คือ ชีวิตของเรา เราอาจจากโลกนี้ไปเมื่อไรก็ได้ ถ้าเรามี ความรัก (ก็ความทุกข์นั่นแหละ) แล้วไม่รู้จักปล่อยวาง กังวลถึงเรื่องนี้มากไป อาจจะทำให้เราไปไม่ได้ไกล เพราะความกังวลจะเหนี่ยวรั้งเราไว้ ทำให้ใจเราไม่ใสมากพอ ยิ่งถ้าหากใครกำลังทุกข์ทรมานเพราะความรักในช่วงที่ต้องทำศึกชิงภพ ทายได้เลยว่า "คุณแพ้สงครามครั้งนี้แน่นอน"
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็อยากจะฝากคำถามไว้ให้คิดกันเล่นๆ ว่า
..ระหว่างตัวเอง กับคนอื่น คุณจะรักใครมากกว่ากัน
..ระหว่างใจใส กับใจหมอง คุณจะเลือกอะไร คุณลิขิตได้