บทความพิเศษ
เรื่อง : Tipitaka (DTP)
ยุค
สื่อสิ่งพิมพ์
พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์
รอยธรรมบนแผ่นกระดาษ
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะปรินิพพานนานแล้ว แต่พระสัทธรรมคำสอนของพระองค์ยังคง ก่อประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่สรรพชีวิตดุจประทีปนำทางมานานกว่า ๒,๖๐๐ ปี ตลอดระยะเวลายาวนานนั้น รูปแบบในการสืบทอดพระธรรมและพระวินัยได้ปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมในแต่ละยุคสมัย
เริ่มจากการสืบทอดด้วยการสวดทรงจำที่เรียกว่า มุขปาฐะ ในยุคแรกเมื่อครั้งพุทธกาล ต่อมาจึงเข้าสู่ ยุคแห่งการจารึก ในช่วงประมาณปี พ.ศ. ๔๐๐ เศษ ในสมัยพระเจ้าวัฏฏคามินีอภัย แห่งประเทศศรีลังกา ทรงโปรดให้บันทึกคำสอนในพระไตรปิฎกลงบนใบลานเป็นครั้งแรก ต่อมาจึงเข้าสู่ยุคการสืบทอดด้วย สื่อสิ่งพิมพ์ในราวศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ เมื่อชาวตะวันตกจำนวนมากได้เข้ามาในดินแดนแถบเอเชีย
นักภาษาศาสตร์ชาวตะวันตกกลุ่มหนึ่งได้ให้ความสนใจวรรณกรรมภาษาโบราณในดินแดนแถบเอเชีย กอปรกับความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีการพิมพ์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสืบทอดพระไตรปิฎกบาลีด้วยการตีพิมพ์ พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ที่สำคัญ ๔ ฉบับหลักในปัจจุบัน ได้แก่ พระไตรปิฎกฉบับสมาคมบาลีปกรณ์ (PTS), พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ (ไทย), พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคีติ (พม่า) และ
พระไตรปิฎกฉบับพุทธชยันตี (ศรีลังกา)
นอกจากนี้ยังมีพระไตรปิฎกฉบับอื่น ๆ ที่จัดทำขึ้นใหม่ในปัจจุบัน อาทิเช่น พระไตรปิฎกบาลี อักษรเทวนาครี ฉบับสถาบันวิจัยวิปัสสนาแห่งประเทศอินเดีย, พระไตรปิฎกบาลี อักษรเทวนาครี ฉบับ นาลันทา, พระไตรปิฎกบาลี อักษรไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกบาลี อักษรลาว ฉบับลาวรัฐ, พระไตรปิฎกบาลี อักษรขอม ฉบับกัมพูชา และพระไตรปิฎกบาลี อักษรโรมัน ฉบับ
มหาสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม พระไตรปิฎกที่จัดทำขึ้นใหม่ดังกล่าวล้วนอาศัยพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ ๔ ฉบับหลักมาเปรียบเทียบกันบ้าง อาศัยการปริวรรตตัวอักษรพม่าในฉบับฉัฏฐสังคีติของพม่ามาเป็นอักษรของตนแล้วจัดพิมพ์ขึ้นใหม่บ้าง แต่ยังไม่ได้ทำการตรวจสอบเทียบเคียงไปถึงต้นแหล่งแห่งการจารึก คือ คัมภีร์ใบลาน ซึ่งในแง่การศึกษาพระไตรปิฎกถือเป็นหลักฐานชั้นปฐมภูมิ ส่วนพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ถือเป็นหลักฐานชั้น ทุติยภูมิ เพราะจัดทำโดยอาศัยข้อมูลจากคัมภีร์ใบลานอีกทอดหนึ่ง
การแบ่งกลุ่ม
พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์
พระไตรปิฎกบาลีฉบับพิมพ์มากมายหลายฉบับที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน อาจแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ พระไตรปิฎกฉบับจารีต และ พระไตรปิฎกฉบับวิชาการ
๑ พระไตรปิฎกฉบับจารีต คือ พระไตรปิฎกที่จัดทำขึ้นโดยยึดเอาเนื้อความตามคัมภีร์ใบลานสายจารีตของตนเป็นสำคัญ เช่น ฉบับสยามรัฐถือเอาใบลานสายอักษรขอมเป็นสำคัญ ฉบับพุทธชยันตีถือเอาใบลานสายอักษรสิงหลเป็นสำคัญ ฉบับฉัฏฐสังคีติถือเอาใบลานสายอักษรพม่าเป็นสำคัญ เป็นต้น
๒ พระไตรปิฎกฉบับวิชาการ คือ พระไตรปิฎกที่จัดทำขึ้นโดยให้ความสำคัญกับใบลานทุกสายจารีตอย่างทัดเทียมกันตามน้ำหนักของหลักฐานปฐมภูมิ คือ คัมภีร์ใบลาน โดยพยายามเทียบเคียงและวิเคราะห์เนื้อความแต่ละสายจารีตตามหลักวิชาการ พร้อมทั้งใส่เชิงอรรถระบุให้ทราบว่า เนื้อหาในแต่ละสายจารีต มีว่าอย่างไร
พระไตรปิฎกในกลุ่มนี้ที่นิยมใช้อ้างอิงกันอย่างแพร่หลายในหมู่นักวิชาการปัจจุบัน คือ ฉบับสมาคมบาลีปกรณ์แห่งประเทศอังกฤษ (Pali Text Society) แต่เป็นฉบับที่จัดทำมานานแล้ว ซึ่งขณะนั้นยังมี ข้อจำกัดในการรวบรวมคัมภีร์ใบลานอยู่มาก ทำให้ศึกษาเปรียบเทียบคัมภีร์ใบลานได้เพียง ๒-๓ ชุด อีกทั้งยังไม่มีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และพระไตรปิฎกแต่ละเล่มก็จัดทำ แยกกันเป็นเอกเทศโดยนักวิชาการบาลีเป็นคน ๆ ไป
โครงการพระไตรปิฎกวัดพระธรรมกาย จึงได้ทำงานสำรวจถ่ายภาพคัมภีร์ใบลาน รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลพระไตรปิฎกจากคัมภีร์ ใบลานทั้ง ๔ สายจารีตหลักของโลกขึ้น และ คัดเลือกคัมภีร์ที่เก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่สามารถหาได้ ๑๙ ชุด มาศึกษาเปรียบเทียบตามหลักวิชาคัมภีร์โบราณ เพื่อให้เห็นถึงความเป็นมาในการสืบทอดคัมภีร์ของแต่ละสายจารีตอย่างชัดเจน โดยนักวิชาการในโครงการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญคัมภีร์พุทธศาสนาและภาษาบาลีกว่า ๒๐ ท่าน
ทั้งพระภิกษุและฆราวาสจากหลากหลายประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศศรีลังกา และประเทศอังกฤษ เพื่อจัดทำ “พระไตรปิฎกฉบับวิชาการ” ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง ให้มีความถูกต้องสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่หลักฐานข้อมูลและเทคโนโลยีในปัจจุบันจะอำนวย
ด้วยความทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจและการสนับสนุนจากหลาย ๆ ฝ่าย บทสรุปการศึกษาเปรียบเทียบคัมภีร์ใบลานของทุกสายจารีตจึง แล้วเสร็จออกมาเป็นพระไตรปิฎกบาลีเล่มสาธิต คือ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย “สีลขันธวรรค” มอบถวายไว้เพื่อสืบทอดพระธรรมคำสอนอันล้ำค่าของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเพื่อเป็นประโยชน์แก่วงการวิชาการและการศึกษาภาษาบาลีสืบไป..
สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชมพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรต่าง ๆ ได้ที่นิทรรศการ
“การสืบทอดพุทธธรรม : จากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน” ที่สภาธรรมกายสากล เสา N24 (ฒ๒๔) ทุกวันอาทิตย์