บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙ /
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
ธัมมเทสนามัย
บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม
“สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยมีอยู่
เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี”
ถ้อยพุทธพจน์นี้มีใจความสรุปให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ คือ โลกนี้ยังมีผู้มีบุญอยู่เป็นจำนวนมาก หากไม่นำธรรมะไปให้ พวกเขาจะพลาดโอกาสที่ดีอย่างใหญ่หลวง การแสดงธรรมหรือการบอกเล่าเรื่องที่ดี ที่เป็นบุญกุศล จะช่วยยกใจผู้ฟังให้สูงขึ้น เช่น การโทรศัพท์เล่าธรรมะให้เพื่อนฟัง เป็นโฆษกเล่าธรรมะในรถระหว่างเดินทางไปปฏิบัติธรรมที่วัด ถือว่าเป็นการทำหน้าที่กัลยาณมิตรผู้ให้แสงสว่างแก่คนอื่น ผู้แสดงธรรมก็จะมีโอกาสไตร่ตรองธรรมที่ตัวเองนำมาบอกเล่าด้วย บุญกุศลจึงเกิดแก่
ผู้แสดงธรรมโดยตรง
พระมหากัปปินเถระ... อดีตพระราชาผู้สละราชสมบัติออกบวชจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ และเป็นยอดสาวกผู้เลิศในการให้โอวาทสั่งสอนภิกษุ มักเปล่งอุทานด้วยความสุขในผลสมาบัติว่า อะโห สุขัง อะโห สุขัง (สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ) ซึ่งทำให้ภิกษุปุถุชนพากันเข้าใจผิดว่า ท่านคงหวนระลึกถึงสุขในราชสมบัติก่อนออกบวช ภิกษุเหล่านั้นจึงพากันไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาเพื่อกราบทูลข้อสงสัย พระองค์ตรัสตอบว่า “บุตรของเราพูดอย่างนี้เพราะปรารภสุขในมรรค สุขในผลต่างหาก”
พระมหากัปปินเถระมีอุปนิสัยส่วนตัวชอบอยู่ตามลำพัง ชอบปลีกวิเวกอยู่ป่าและเรือนว่าง และเนื่องจากท่านหลุดพ้นจากกิเลสหมดแล้ว จึงทำให้ท่านขวนขวายน้อยในการสอนธรรมแก่ผู้อื่น
วันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ภิกษุทั้งพันรูป ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระเถระมาเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ของพวกเธอเคยแสดงธรรมแก่พวกเธอบ้างหรือไม่” พวกภิกษุลูกศิษย์กราบทูลว่า “อาจารย์ของข้าพระองค์ไม่เคยแสดงธรรมแก่พวกข้าพระองค์เลย เพราะท่านขวนขวายน้อยอยู่ปลีกวิเวกผู้เดียวพระเจ้าข้า”
พลานุภาพแห่งการแสดงธรรม
เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบแล้ว จึงตรัสเรียกพระเถระมาถามว่า “ดูก่อนกัปปินะ ได้ยินว่าเธอไม่เคยให้โอวาทแก่ลูกศิษย์ของเธอจริงหรือ” พระมหากัปปินะก็ทูลตอบไปตามความจริง“ดูก่อนกัปปินะ เธออย่าทำอย่างนี้อีก ตั้งแต่วันนี้ไป เธอต้องแสดงธรรมแก่ภิกษุลูกศิษย์ของเธอด้วย” ท่านก็น้อมรับพุทธดำรัส แล้วเรียกประชุมภิกษุทั้งพันรูปมาฟังโอวาท ทันทีที่จบโอวาท ภิกษุทุกรูปได้บรรลุเป็นพระอรหันต์โดยการเทศน์เพียงครั้งเดียวของท่าน จะเห็นได้ว่าหากท่านไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุลูกศิษย์แล้วไฉนเลยภิกษุทั้งพันรูปจะมีโอกาสบรรลุธรรมได้
การให้ธรรมทานเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะนอกจากผู้ฟังจะได้รับประโยชน์แล้วยังเกิดอานิสงส์ใหญ่ย้อนกลับมาถึงผู้ให้ธรรมทานอีกด้วย ดังเรื่องราวต่อไปนี้
พระเถระรูปหนึ่งชื่อว่า เขมกะ เป็นพระอนาคามีและเป็นพระธรรมกถึกผู้มีชื่อเสียงมาก วันหนึ่งท่านอาพาธเป็นไข้หนัก พักรักษาตัวอยู่วัดพทริการาม เหล่าพระเถระ ๖๐ รูปที่อยู่วัดโฆสิตารามซึ่งห่างออกไป ๓ คาวุต (๑๒ กม.) เป็นห่วงอาการของท่าน จึงให้พระรูปหนึ่งชื่อทาสกะเป็นตัวแทนไปเยี่ยมท่าน และฝากบอกว่าพระเถระทั้งหลายเป็นห่วงท่านพระทาสกะรีบออกเดินทางไปเยี่ยมพระเขมกะหลังจากสอบถามอาการแล้ว พระเขมกะตอบว่า“อาการกำเริบหนักขึ้นไม่มีทุเลาลง” พระทาสกะจึงรีบเดินทางกลับไปแจ้งอาการให้เหล่าพระเถระทราบในทันที
เมื่อเหล่าพระเถระทราบว่าพระเขมกะอาการหนัก คงไม่สามารถเดินทางมาแสดงธรรมที่วัดโฆสิตารามได้ จึงตัดสินใจส่งพระทาสกะไปสอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องอุปาทานขันธ์ ๕ หลังจากพระเขมกะตอบข้อสงสัยแล้ว พระทาสกะก็รีบลากลับไปแสดงธรรมแก่พระเถระตามที่ได้ฟังมา ครั้นฟังจบเหล่าพระเถระมีข้อสงสัยเพิ่มจึงส่งท่านกลับไปถามอีก พระทาสกะต้องเทียวไปเทียวมาอย่างนี้ ๔ รอบภายในวันเดียว
สาเหตุที่พระเถระทั้งหลายต้องส่งพระทาสกะเป็นตัวแทนไปเยี่ยมพระเขมกะเพราะสถานที่พักของท่านเป็นป่า มีพื้นที่คับแคบไม่อาจรองรับพระเถระทั้ง ๖๐ รูปได้ จึงจำเป็นต้องส่งพระทาสกะให้ไปฟังธรรม แล้วกลับมาถ่ายทอดแก่เหล่าพระเถระ
อานิสงส์ย้อนกลับแก่ผู้ให้ธรรมะ
เมื่อพระทาสกะต้องเทียวไปเทียวมาบ่อย ๆ ทำให้พระเขมกะเกิดความสงสาร และเข้าใจอัธยาศัยของพระเถระเหล่านั้นว่าต้องการฟังธรรมจากท่านมา จึงพยายามฝืนสังขารลุกขึ้นใช้ไม้เท้าพยุงกายเดินทางไปจนถึงวัดโฆสิตารามและแสดงธรรมแก่พระเถระทั้ง ๖๐ รูปพระเถระเหล่านั้นต่างตั้งใจฟังด้วยความเคารพในธรรม และเจริญวิปัสสนาไปพร้อม ๆ กับการฟังธรรม ครั้นจบพระธรรมเทศนา พระเถระทั้ง ๖๐ รูป ก็สามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในที่สุด
ส่วนพระเขมกะซึ่งเป็นผู้แสดงธรรมนั้นขณะแสดงธรรมท่านก็เจริญวิปัสสนาไปด้วยและได้อานิสงส์ที่เกิดจากการแสดงธรรมสามารถหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เช่นเดียวกัน
ธัมมเทสนามัย คือ การสร้างบุญด้วยการแสดงธรรม แนะนำถ่ายทอดสิ่งที่ดี ที่เป็นบุญกุศล การแนะนำที่ดีเช่นนี้เรียกว่าการสอนวิชาชีวิต คือวิชาที่จะทำให้ผู้ฟังเดินทางในสังสารวัฏโดยไม่พลัดไปเกิดในอบาย มีสุคติเป็นที่ไปอย่างเดียว ธรรมทานเยี่ยงนี้ย่อมจะก่อให้เกิดบุญมากมาย
สำหรับวิธีแสดงธรรมนั้น พระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) เมื่อบวชใหม่ ๆ ท่านได้รับคำแนะนำจากคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย ดังนี้ “ให้ถามตัวเองตั้งแต่เข้าวัดปฏิบัติธรรมว่า เราได้ปรับปรุงแก้ไขนิสัยตัวเองให้ดีขึ้นในเรื่องใดบ้าง อย่างไรบ้าง แล้วเราก็นำเรื่องนั้นไปเทศน์รับรองจะต้องถูกใจคน เพราะไม่ว่าคนยุคนี้หรือยุคไหน กิเลสที่อยู่ในใจก็มี ๓ ตัว เหมือนกัน คือ โลภ โกรธ หลง ถ้าเทศน์อย่างนี้ อย่างไรก็ต้องถูกใจเขา และยังเป็นการทบทวนความดีของเราไปด้วย ทำให้เกิดบุญด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย” ซึ่งหลักการเทศน์สอนง่าย ๆของคุณยายอาจารย์ฯ นี้ ถือเป็นแม่แบบการเทศน์สอนของพระภิกษุวัดพระธรรมกายมาทุกยุคทุกสมัย แม้แต่ฆราวาสก็สามารถนำวิธีการนี้มาประยุกต์ใช้ในการทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตรถ่ายทอดธรรมะได้เป็นอย่างดี
ส่วนอานิสงส์ของการให้ธรรมทานนั้นย่อมมีมากกว่าการให้วัตถุทาน เพราะการให้วัตถุทานแม้มีผลมากก็จริง เช่น ทำให้มีทรัพย์มากหรือได้ทิพยสมบัติในสวรรค์ แต่ก็ถือว่ายังข้องเกี่ยวในกามคุณ ๕ ยังต้องเวียนว่ายในวัฏสงสาร แต่การให้ธรรมทานสามารถทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ นำไปถึงพระนิพพานได้นอกจากนี้ ธรรมทานยังเป็นเหตุแห่งทาน ทุกอย่างเป็นรากเหง้าของสมบัติทั้งปวง เช่น เมื่อใครได้ฟังธรรมจนเข้าใจในบุญแล้ว เขาจึงตั้งใจทำบุญอย่างเต็มที่ หากยังไม่ได้ฟังธรรมเขาก็ อาจไม่มีจิตปรารถนาที่จะให้ทานแม้สักทัพพีหนึ่ง แม้พระสาวก เช่น พระสารีบุตร ที่สามารถนับเม็ดฝนที่ตกตลอดกัปได้ ก็ยังไม่สามารถบรรลุธรรมได้ด้วยตนเองจำเป็นต้องอาศัยผู้ให้ธรรมะ คือ พระอัสสชิเถระ จึงสามารถบรรลุโสดาบันได้ และอาศัยพระบรมศาสดามาประทานธรรมอีกครั้งจึงบรรลุสาวกบารมีญาณ (ญาณของพระอัครสาวก)
ดังนั้น ธรรมทานจึงประเสริฐที่สุดกว่าทานทั้งปวง และเนื่องจากการให้ธรรมทานมีความสำคัญมากเช่นนี้ เราทุกคนจึงควรขยายใจจากผู้รับธรรมะมาเป็น ผู้แบ่งปันธรรมะที่เราได้ฟังหรือศึกษามาแก่ชาวโลกที่ยังไม่รู้ และกำลังรอคอยแสงสว่างแห่งวิชาชีวิตจากเรา
สัพพะทานัง
ธัมมะทานัง
ชินาติ
การให้ธรรมทาน ย่อมชนะการให้ทั้งปวง