วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ พิธีทอดกฐิน

บทความน่ารู้
เรื่อง : พระมหามนต์ชัย มนฺตาคโม (Ph.D.)
 

บทความน่ารู้

 

          ในพระบาลีวินัยปิฎกเล่าว่า ในครั้งพุทธกาล ครั้งหนึ่งภิกษุชาวเมืองปาฐา (ปาไฐยรัฐ) ประมาณ ๓๐ รูป ล้วนแต่เป็นผู้เคร่งครัดปฏิบัติธุดงค์ และต่างมีความศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะได้เฝ้าพระบรมศาสดา ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี จึงพากันเดินทางไปพอไปถึงเมืองสาเกต ซึ่งมีระยะทางห่างจากเมืองสาวัตถีราว ๖ โยชน์ หรือ ๙๖ กิโลเมตร ก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี จึงต้องจำพรรษาอยู่ที่นั่นตามพระวินัย ในระหว่างพรรษานั้นต้องลำบากด้วยที่อยู่ในฐานะเป็นอาคันตุกะ และต่างมีใจครุ่นคิดคำนึงถึงพระบรมศาสดาว่า แม้จากเมืองมาอยู่ ณ ที่ใกล้แล้ว ก็ยังมิได้ถวายบังคมเบื้องพระบาทมูลแห่งสมเด็จพระบรมศาสดาดังใจประสงค์

            ครั้นออกพรรษาปวารณาแล้ว ก็รีบเดินทางไปเฝ้า ระหว่างทางฝนตกหนัก น้ำท่วมหนทางเป็นโคลนตม แม้จะต้องฝ่าแดดกรำฝนอย่างไรก็ไม่ย่อท้อ เดินทางไปจนถึงกรุงสาวัตถีครั้นได้เข้าเฝ้าแล้ว พระพุทธองค์ตรัสถามสุขทุกข์และความก้าวหน้าแห่งการปฏิบัติธรรมด้วยพระสุรเสียงที่เปี่ยมด้วยพระเมตตา พระภิกษุเหล่านั้นต่างพากันกราบทูลให้ทรงทราบถึงความตั้งใจที่จะมาเฝ้า และความลำบากตรากตรำ  ในระหว่างเดินทางของตน เพราะอยู่ในช่วงฤดูฝน มีจีวรเก่า พากันเดินเหยียบย่ำโคลนตมจีวรเปรอะเปื้อนโคลนและเปียกชุ่มด้วยน้ำฝน

             จากนั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสธรรมมิกถาภิกษุเหล่านั้นก็สำเร็จพระอรหัตผลในลำดับนั้นพระบรมศาสดาทรงดำริถึงความยากลำบากของภิกษุเหล่านั้น จึงทรงมีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนแล้วกรานกฐินได้และจะได้รับอานิสงสจ์ ากพระวินัยบางข้อ (กรานกฐินเป็นพิธีฝ่ายภิกษุ ที่ภิกษุได้รับมอบผ้ากฐินแล้วนำผ้าที่ได้ไปตัดเย็บย้อมทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง)

           เมื่อนางวิสาขาทราบถึงพุทธานุญาตนี้แล้วนางก็ถวายผ้ากฐินเป็นคนแรก  กฐินทานจึงหมายถึง  การถวายผ้าแด่พระภิกษุสงฆ์ผู้ดำรงตนอยู่ในกรอบแห่งศีลสมาธิ และ ปัญญาผ่านการอยู่จำพรรษาตลอดฤดูฝน ณ อารามใดอารามหนึ่ง นับว่าเป็นกาลทานอันยิ่งใหญ่ย่อมก่อให้เกิดอานิสงส์มากมายแก่ผู้ทอดถวาย

ความหมายของคำว่า “กฐิน”

       กฐินมีความหมายเกี่ยวเนื่องถึง๔ ประการ คือ

       ๑. กฐิน หมายถึง ไม้สะดึง คือกรอบไม้แบบชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง เพื่อเป็นอุปกรณ์สำหรับใช้เป็นเครื่องมือเย็บจีวรซึ่งมีลักษณะเป็นวงกลม เล็กบ้าง ใหญ่บ้างในสมัยก่อนการเย็บจีวรต้องใช้ไม้สะดึงขึงให้ตึงก่อนแล้วจึงเย็บ เพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมือนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอเหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบันมีเพียงเข็มและด้ายเท่านั้น ในการทำจีวรให้ตึงเพื่อจะได้กะ ตัด และเย็บได้สะดวกนั้น “ไม้สะดึง” ที่ใช้เป็นกรอบแม่แบบสำหรับตัดเย็บผ้าหรือจีวรจึงเป็นเทคโนโลยีในการตัดเย็บเสื้อผ้าที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น

การทำจีวรในสมัยโบราณ ทั้งที่เป็นผ้ากฐินและมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเองก็จัดเป็นงานที่เอิกเกริกเลยทีเดียว มีเรื่องเล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบท ภาค ๔ ว่า : ครั้งเมื่อ
พระอนุรุทธเถระได้ผ้าบังสุกุลมาและจะทำจีวรเปลี่ยนผ้าครองสำรับเก่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบและเสด็จไปเป็นประธานในวันนั้นพร้อมพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป และพระอสีติมหาสาวก เพื่อร่วมกันช่วยทำ โดยมีพระมหากัสสปเถระนั่งอยู่ต้นผ้า พระมหาสารีบุตรเถระนั่งอยู่ท่ามกลาง พระอานนทเถระนั่งอยู่ปลายผ้าพระภิกษุสงฆ์ช่วยกันกรอด้าย พระบรมศาสดาทรงสนเข็ม พระมหาโมคคัลลานเถระเป็นผู้อุดหนุนกิจการทั้งปวง แสดงถึงพลังความสามัคคีของพระภิกษุสงฆ์ อันเป็นพระพุทประสงค์ในการทำผ้ากฐิน

        ๒. กฐินที่เป็นชื่อของผ้า หมายถึง ผ้าที่ถวายให้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล ๑ เดือนนับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ผ้าที่ถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาดผ้าเก่า ผ้าบังสุกุลคือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว ผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าตกตามร้านก็ได้ ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ เป็นภิกษุหรือสามเณรก็ได้ เมื่อถวายแด่สงฆ์แล้วก็เป็นอันใช้ได้

     ๓. กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา คือการทำบุญ คือการถวายผ้ากฐินเป็นทานแด่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบ ๓ เดือนเพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้มีผ้านุ่งหรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐินหรือที่เรียกว่า “ทอดกฐิน” คือทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำถวายในท่ามกลางสงฆ์ เรียกได้ว่าเป็นกาลทาน คือ การถวายทานที่ทำได้เฉพาะกาล ๑ เดือน ถ้าถวายก่อนหน้านั้นหรือหลังจากนั้นไม่เป็นกฐิน ท่านจึงถือว่าหาโอกาสทำได้ยาก

       ๔. กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรม คือกิจกรรมของสงฆ์ ซึ่งจะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของภิกษุทั้งหลายทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาลการหาผ้า การทำจีวรทำได้โดยยาก และไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน ๑๐ วัน แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้ว ทรงอนุญาตให้แสวงหาผ้าและเก็บผ้าไว้ทำเป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาวอีก ๔ เดือน (จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน๔) 

ความพิเศษของกฐินทาน

     กฐินทานมีความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น คือ ในปีหนึ่งแต่ละวัดสามารถรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว นอกจากนั้นยังมีความพิเศษอย่างอื่นอีก ได้แก่

         ๑. จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้

         ๒. จำกัดเวลา คือ ต้องถวายภายในระยะเวลา๑ เดือน นับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป

         ๓. จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน

         ๔. จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่สงฆ์กำหนดไว้

         ๕. จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐินต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๕ รูป

         ๖. จำกัดคราว คือ วัดวัดหนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ ๑ ครั้งเท่านั้น

        ๗. เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่นมหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาตถวายผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้พระองค์ทรงอนุญาตเอง ไม่มีผู้ใดมาทูลขอ

ประเพณีทอดกฐินในปัจจุบัน

       ช่วงเช้าวันทอดกฐิน เหล่าอุบาสกอุบาสิกา จะเริ่มต้นเช้าอันเป็นวันมงคลด้วยการทำบุญตักบาตรพระภิกษุสามเณรที่จำพรรษาณ อาวาสดังกล่าว ภาพพระภิกษุและสามเณรเดินเรียงรายเป็นทิวแถวด้วยอาการสงบ สีเหลืองทองของผ้ากาสาวพัสตร์ต้องแสงตะวันยามเช้าสร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้เอิบอาบในใจพุทธศาสนิกชนที่พบเห็นอย่างไม่เสื่อมคลาย

       พิธีทอดกฐินสามัคคีเพื่อถวายผ้ากฐินตามพระบรมพุทธานุญาตนั้น บางวัดจัดขึ้นในช่วงสายและต่อด้วยการถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน ซึ่งเป็นบุญอีกงบหนึ่ง โดยธรรมเนียมแล้วมักมี “บริวารกฐิน” เพื่อถวายจตุปัจจัยไทยธรรมสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายภายในวัดตลอดทั้งปี รวมทั้งค่าก่อสร้าง ซ่อมแซม และต่อเติมศาสนสถาน เพื่อให้กิจการพระศาสนาขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      บางวัดก็ถือโอกาสนี้นำสาธุชนประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกัน อย่างเช่นที่วัดพระธรรมกายซึ่งจัดกิจกรรมทอดกฐินในช่วงบ่าย ส่วนช่วงสายนั้นให้ทุกคนมีโอกาสปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาเพื่อกลั่นกาย วาจา ใจ ให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ก่อนจะทำบุญใหญ่

        สำหรับกิจกรรมที่มาพร้อมกับประเพณีกฐิน คือ “ขบวนอัญเชิญผ้ากฐิน” นั้น ขึ้นกับแต่ละวัด แต่ละท้องถิ่น ว่าจะจัดอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่มักจัดอย่างดี เพื่อให้คู่ควรกับความสำคัญของพิธีทอดกฐิน ซึ่งจัดขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้นริ้วขบวนอาจประกอบด้วยขบวนธงทิว ขบวนพานพุ่มดอกไม้ โดยมีสาธุชนและบุตรหลานมาร่วมขบวน ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาของไทยที่หล่อหลอมให้เยาวชนใกล้วัดตั้งแต่เล็ก

       ส่วนการฉลองหรือสมโภชองค์กฐินไม่ควรมุ่งความสนุกสนาน ควรตัดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นออกไป เพราะมิใช่วัตถุประสงค์ของการจัดพิธีทอดกฐิน และที่ควรทำอย่างยิ่ง คืองดการเลี้ยงสุราเมรัยและการเล่นอบายมุขต่าง ๆระหว่างการเดินทางและขณะอยู่ในวัด

         การได้ผ้ากฐินแบบมีเจ้าภาพซึ่งถือเป็นคฤหบดีกฐินนั้น เมื่อมีผู้มาทอดผ้า ณ เบื้องหน้าคณะสงฆ์โดยไม่ได้เจาะจงถวายภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง คณะสงฆ์ต้องทำพิธีอปโลกน์กฐินหมายถึงการที่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเสนอขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ ถามความเห็นชอบว่า ผ้ากฐินในปีนี้ควรถวายแก่ภิกษุรูปใด

         ส่วนพิธีกรานกฐินนั้น เป็นสังฆกรรมที่คณะสงฆ์ทำพิธีกันในอุโบสถ โดยพระภิกษุผู้ได้รับการเลือกสรรจากคณะสงฆ์ว่าเป็นผู้มีสติปัญญาสามารถที่จะกรานกฐินได้

อานิสงส์หรือผลดีของการทอดกฐิน

       การทอดกฐินถือเป็นการทำบุญพิเศษซึ่งผู้ทอดต้องตระเตรียมจัดทำเป็นงานใหญ่ต้องร่วมมือกันหลายคนถึงจะสำเร็จ จึงเชื่อกันว่า การทอดกฐินเป็นพิธีที่ก่อให้เกิดบุญที่มีอานิสงส์แรง

        ผลดีของการทอดกฐินนั้นมีหลายประการ กล่าวคือ ได้สงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษาให้ได้ผ้านุ่งห่มใหม่ ได้ชื่อว่าทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ได้ชื่อว่าก่อให้เกิดความสามัคคีเพราะเปน็ การรว่ มมอื กนั ทำ คุณงามความดี และหากการถวายกฐินนั้นมีส่วนในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ก็จะได้ชื่อว่ามีส่วนช่วยรักษาศาสนสถานและศาสนวัตถุให้ยั่งยืนต่อไป

         นอกจากนี้ การทอดกฐินมิได้มีอานิสงส์เฉพาะเจ้าของกฐินเท่านั้น แม้ผู้ชักชวนให้ผู้อื่นทอดกฐิน ก็ได้รับอานิสงส์เช่นกัน ดังหลักฐานในนรชีวกฐินทานชาดก ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญญาสชาดก ได้เล่าเรื่องที่พระพุทธองค์เมื่อครั้งเสวยพระชาติเกิดเป็นนายนรชีวะอยู่ในครอบครัวยากจน แต่ได้ชักชวนเศรษฐีที่มีความเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ให้มีศรัทธาถวายผ้ากฐินแด่พระภิกษุสงฆ์ที่มีพระพุทธองค์ทรงเป็นประธานเศรษฐีมีความยินดีจัดกฐินไปถวายพระภิกษุสงฆ์และทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงผลหรืออานิสงส์แห่งการถวายผ้ากฐิน

       พระปทุมุตตรสัมพุทธเจ้าตรัสตอบว่า“บุคคลเหล่าใดปรารถนาหาความสุขนั้น ได้ถวายผ้ากฐินจีวรไว้ บุคคลเหล่านั้นจะพ้นจากความทุกข์ เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ก็ย่อมจะถึงความสุขในหมู่เทวดาและมนุษย์ และจะไม่ไปเกิดในอบายภูมิมีนรกเป็นต้น นี้เป็นผลแห่งกฐินทาน”

กฐินทานเป็นกาลทานอันยิ่งใหญ่
ที่ก่อให้เกิดอานิสงส์มากมาย
แก่ผู้ทอดถวาย

      เมื่อเศรษฐีได้ฟังอานิสงส์กฐินทานเช่นนั้น ก็มีใจชื่นบานยิ่งนัก ส่วนนายนรชีวะที่หมอบกราบแทบพระบาทของพระพุทธเจ้า ได้กราบทูลว่า ตนเป็นผู้ชักชวนให้เศรษฐีมาทำบุญสำเร็จด้วยกาย วาจา ใจ จึงขอตั้งวาจาธิษฐานว่า“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยกุศลผลบุญที่ข้าพระองค์ได้ชักนำกุฎุมพี (เศรษฐี) ให้ถวายผ้ากฐินนี้ ขอให้ข้าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในกาลภายหน้า แม้ข้าพระองค์ยังไม่ไปถึงความเป็นพระพุทธเจ้าตราบใด ชื่อว่าความเข็ญใจอย่าได้มีแก่ข้าพระองค์เลย พระเจ้าข้า”

พระปทุมุตตรสัมพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า ด้วยผลแห่งบุญนั้น นายนรชีวะจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าศากยมุนีในอนาคตกาล ก็คือพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายในบัดนี้

 

บทความน่ารู้

พิธีทอดกฐิน
จึงเป็นพิธีที่ก่อให้เกิดทั้งโภคสมบัติ
เพราะเราเป็นผู้บริจาคเอง
และบริวารสมบัติ
เพราะเราเป็นผู้บอกบุญ
แก่ญาติมิตรให้มาร่วมการกุศล
เราทั้งหลายพึงทำความปีติ
ในบุญของเราให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ด้วยเถิด..

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๓๓ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๖

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล