บทความพิเศษ
เรื่อง : Tipitaka (DTP)
ผ้าห่อถักทอด้วยศรัทธา
หนังสือใบลานเป็นเอกสารโบราณที่ใช้จดจารคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์ ความสำคัญของหนังสือใบลานในประเทศไทยมีมาพร้อม ๆ กับการยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา คนไทยโบราณจึงมักเรียกหนังสือโบราณนี้ว่า“คัมภีร์ใบลาน” คติการสร้างคัมภีร์ใบลานในหมู่พุทธศาสนิกชนนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเชื่อว่าจะได้อานิสงส์อันยิ่งใหญ่จะนับจะประมาณมิได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีธรรมเนียมนิยมสร้างคัมภีร์ใบลานถวายไว้กับพระศาสนามากมาย
ผ้าห่อคัมภีร์ ผ้าห่อคัมภีร์มีไม้ไผ่คั่น
การบันทึกอักขระลงบนใบลานใช้วิธี“จาร” คือใช้เหล็กแหลมขีดเขียนเป็นตัวอักษรบนใบของต้นลาน เพราะใบลานเป็นวัสดุธรรมชาติที่บางเบาและคงทนถาวรมาก คัมภีร์โบราณที่เก่าแก่ที่สุดฉบับหนึ่งของไทย คือ“ติงสนิบาตกุสราชชาดก” จารด้วยอักษรธัมม์ล้านนา เมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๔ มีอายุ ๕๐๐ กว่าปีก็ทำจากใบลาน ส่วนคัมภีร์ใบลานที่เก่าแก่ที่สุดที่เก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ คือ คัมภีร์สมนฺตปาสาทิกา วินยฏฐกถา (ทุติย) ปาจิตฺติยวณฺณนา ฉบับชาดทึบ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ เมื่อปีจ.ศ. ๙๗๗ (พ.ศ. ๒๑๕๘) จารด้วยอักษรขอมบาลี อายุเกือบ ๔๐๐ ปี ก็ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี ตัวอักษรที่จารยังปรากฏอ่านได้อย่างชัดเจน
อายุการใช้งานของคัมภีร์ใบลานนอกจากขึ้นอยู่กับวัสดุแล้ว ยังขึ้นอยู่กับการเก็บรักษา จึงต้องมีผ้าห่อคัมภีร์หุ้มไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกหรือการชำรุดฉีกขาด เกิดเป็นธรรมเนียมการถวายผ้าห่อคัมภีร์ใบลานขึ้น สะท้อนให้เห็นศรัทธาอันเปี่ยมล้นของผู้ถวายที่บรรจงสร้างผ้าห่อคัมภีร์ขึ้นอย่างพิถีพิถัน นอกจากนี้ผ้าห่อคัมภีร์ยังสะท้อนวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
ดังเช่น พุทธศาสนิกชนในท้องถิ่นอีสานมีธรรมเนียมนิยมสร้างผ้าห่อคัมภีร์ใบลานถวายวัดด้วยผ้าที่มีคุณภาพดี ซึ่งมักเป็นผ้าที่ทอขึ้นเอง เนื่องจากวัฒนธรรมไทยไม่อนุญาตให้ผู้หญิงจารพระธรรม ที่ถือว่าการจารอักขระแต่ละตัวมีอานิสงส์มากมหาศาลประหนึ่งสร้างโบสถ์วิหาร ดังนั้นฝ่ายหญิงจึงหากุศโลบายสร้างบุญด้วยการบรรจงทอผ้าห่อคัมภีร์ขึ้น มีทั้งผ้าซิ่น ผ้าลายขิด ผ้าทอยกดอกผ้าทอยกดิ้น ผ้าไหม และผ้าต่วน เป็นต้นเพื่อให้ได้อานิสงส์เท่าเทียมกับฝ่ายชายบางครั้งอาจใช้วิธีสอดไม้ไผ่หรือตอกคั่นโดยตลอด เพื่อเพิ่มความคงทนแข็งแรงให้โครงผ้าและป้องกันไม่ให้ใบลานหักหรืองอการทอผ้าห่อคัมภีร์กลายเป็นงานศิลปหัตถกรรมอันประณีต มีลวดลายสีสันอันวิจิตรตามความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและศรัทธาปสาทะของผู้ทอ
เชือกห่อคัมภีร์ เชือกยาวมัดรอบคัมภีร์ใบลาน
คัมภีร์ใบลานเมื่อห่อผ้าเรียบร้อยดีแล้วผู้ถวายจะมัดโดยรอบด้วยเชือก เพื่อไม่ให้คัมภีร์แตกมัดและป้องกันสัตว์เข้าไปกัดกินใบลานข้างใน เชือกนี้มีความยาวมาก ทำด้วยวัสดุที่หลากหลาย เช่น ผ้า ปอ ไหม ในสมัยโบราณมีผู้มีศรัทธามากถึงขนาดเอาผมตนเองมาถักเป็นผมเปียหรือฟั่นเป็นเชือกยาว ๆ ใช้มัดคัมภีร์ก็มี ในการพันเชือกเป็นเปลาะ ๆ นั้น มีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับธรรมเนียมปฏิบัติในแต่ละท้องถิ่น
ผ้าห่อคัมภีร์ลายดอก มัดด้วยเชือก ๔ เปลาะ
เปลาะละ ๔ รอบ พร้อมฉลากไม้สีทอง
ผ้าห่อคัมภีร์มัดด้วยเชือก ๔ เปลาะ เปลาะละ ๔ รอบ
พร้อมฉลากผ้า ระบุข้อความ พระบาลี
ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ๑๐ ผูก ๑๘ ลาน
ป้ายฉลากไม้ อักษรธัมม์อีสาน
ป้ายฉลากไม้ อักษรธัมม์อีสาน บาลี ปาจิตตี
มัดต้น ๑๐ ผูก
นอกผ้าห่อมีป้ายบอกชื่อ คัมภีร์ จำนวนผูกเสียบอยู่ด้านหน้า เรียกว่า “ฉลาก”ทางเหนือเรียกว่า “ไม้ปั่นชัก” วัสดุที่ใช้ทำฉลากมีหลายชนิด ได้แก่ ผ้า ไม้ งา
ทองเหลือง และนิยมเรียกชื่อฉลากตามวัสดุที่ใช้ เช่น ฉลากผ้า ฉลากไม้ ฉลากงา และฉลากทองเหลือง
ทุกองค์ประกอบของคัมภีร์ใบลานนับตั้งแต่ผ้าห่อคัมภีร์ เชือกมัด ป้ายฉลากล้วนเกิดจากศรัทธาปสาทะของเหล่าบรรพชน ในฐานะพุทธศาสนิกชนเราจึงควรตระหนักถึงความสำคัญและช่วยกันอนุรักษ์มรดกธรรมอันลำ?ค่าให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติและศาสนาสืบไป..