รายงานพิเศษ
เรื่อง : พราวน้ำเพชร
ริมฝั่งโขง
แดนดินถิ่นอัศจรรย์
พิธีตักบาตรมิตรภาพไทย-ลาว
พิธีทอดผ้าป่าและพิธีตอกเสาเข็มสร้างอาคารอเนกประสงค์
พิธีจุดประทีปโคมลาน ลอยโคมธรรม ถวายเป็นพุทธบูชา
๑. พิธีตักบาตรมิตรภาพไทย-ลาว
ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้นำสองประเทศร่วมกันตักบาตรวันออกพรรษา... เช้าตรู่ของ วันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นเวลามงคลที่สองประเทศเพื่อนบ้านไทย-ลาว ร่วมกันจัด“โครงการตักบาตรมิตรภาพไทย-ลาว” เนื่องในเทศกาลออกพรรษา ณ วัดโพธิ์ชัย (พระอารามหลวง)อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย โดยมีนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศร่วมกันเป็นประธานในพิธีและมีพระสงฆ์จากสองประเทศ จำนวน ๓,๐๙๙ รูป รวมทั้งพุทธศาสนิกชนชาวไทย-ลาวจำนวนมากไปร่วมพิธี
พิธีตักบาตรในครั้งนี้ พระพรหมเมธี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค ๔, ๕, ๖, ๗ พร้อมด้วยพระอาจารย์ใหญ่บุนมา สิมมาพรม รองประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์แห่งประเทศลาว รับนิมนต์เดินทางไปเป็นประธานสงฆ์ เพื่อเป็นเนื้อนาบุญแก่สาธุชนไทย-ลาว
ไทย-ลาวมีความสัมพันธ์ฉันมิตรกันมาอย่างยาวนาน แม้ต่างประเทศ ต่างเชื้อชาติ แต่ไม่ต่างศาสนา พิธีตักบาตรในวันนี้นอกจากเป็นการทำบุญในวันออกพรรษาและเป็นการรักษาวัฒนธรรมชาวพุทธอันดีงามแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างมิตรภาพของประชาชนทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีกด้วย
เมื่อมาถึงบริเวณจัดงานแล้ว นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศเข้ากราบสักการะหลวงพ่อพระใสจากนั้นทั้งสองท่านจึงเข้าสู่ศูนย์กลางพิธี หลังจากกราบคณะสงฆ์แล้วนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีไทย กล่าวต้อนรับ จากนั้นนายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวแสดงความยินดีที่มีโอกาสมาร่วมตักบาตรมิตรภาพไทย-ลาว
หลังจากที่ทุกท่านร่วมกันกล่าวคำแสดงตนเป็นพุทธมามกะ รับศีลห้า และทำสมาธิแล้วคณะพระภิกษุสงฆ์เริ่มแปรแถวบิณฑบาต นายกรัฐมนตรีและประชาชนไทย-ลาวร่วมกันตักบาตรครั้งประวัติศาสตร์ด้วยใบหน้าที่แจ่มใส จิตใจที่เบิกบาน
หลังเสร็จพิธี ผู้นำทั้งสองประเทศรับประทานอาหารร่วมกัน จากนั้นนายกรัฐมนตรีไทยเดินทางไปส่งนายกรัฐมนตรีลาวบริเวณกลางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว
พิธีตักบาตรวันออกพรรษา
เชื่อมสายใยมิตรภาพ
สองแผ่นดิน
๒.พิธีทอดผ้าป่าสร้างอาคารอเนกประสงค์
ริมฝั่งโขง สายน้ำแห่งชีวิต... ณ พุทธอุทยานนานาชาติ อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคายวันนี้มีพิธีศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้นถึง ๓ พิธี คือ พิธีทอดผ้าป่า พิธีตอกเสาเข็มต้นแรกสร้างอาคารอเนกประสงค์ และพิธีจุดประทีปโคมลาน ลอยโคมธรรม ถวายเป็นพุทธบูชา
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีตักบาตรที่อำเภอเมืองหนองคายแล้ว พาหนะของผู้มีบุญล้วนมุ่งสู่อำเภอโพนพิสัย เพื่อไปร่วมพิธีทอดผ้าป่าสร้างอาคารอเนกประสงค์ซึ่งเริ่มพิธีในช่วงบ่าย เวลา ๑๓.๓๐ น.ณ ธรรมศาลา พุทธอุทยานนานาชาติ โดยมีพระครูธรรมธรอารักษ์ ญาณารกฺโข เป็นประธานสงฆ์ กัลฯบรรณพจน์ - กัลฯบุษบาดามาพงศ์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส
๓. พิธีตอกเสาเข็มต้นแรก เพื่อสร้างอาคารอเนกประสงค์
บริเวณลานธรรมพุทธอุทยานนานาชาติเย็นวันนี้มีสาธุชนในชุดขาวจำนวนมากนั่งรายล้อมเสาเข็มสีทองที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า เพื่อร่วมพิธีตอกเสาเข็มต้นแรกสร้างอาคารอเนกประสงค์ถวายเป็นพุทธบูชา
หลังจากประธานสงฆ์นำนั่งสมาธิแล้ว คณะประธานในพิธีปิดแผ่นทองเสาเข็มและโยกปั้นจั่นคณะสงฆ์สวดชยันโต ๓ จบ จากนั้นคณะประธานและคณะเจ้าภาพโปรยรัตนชาติ เป็นอันเสร็จพิธีตอกเสาเข็ม
อาคารอเนกประสงค์หลังนี้ สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา และเป็นสถานที่สำหรับอบรมโครงการต่าง ๆ ในการเผยแผ่งานพระพุทธศาสนาไปทั่วโลก
๔. พิธีจุดประทีปโคมลาน ลอยโคมธรรม ถวายเป็นพุทธบูชา
ในช่วงค่ำเป็นการประกอบพิธีจุดประทีปโคมลาน ลอยโคมธรรม ถวายเป็นพุทธบูชา กิจกรรมช่วงนี้จัดขึ้นก่อนตะวันตกดินเล็กน้อย เริ่มด้วยเสียงสวดสรรเสริญพระรัตนตรัยของสาธุชนที่ดังก้องฝั่งโขง เมื่อเสียงสวดมนต์สิ้นสุดลง ความเงียบสงัดพลันบังเกิดขึ้นเมื่อสาธุชนรวมใจกันปฏิบัติธรรมเพื่อจุดประทีปในใจ ก่อนจะจุดประทีปโคมเอกและโคมรองในลำดับต่อไป
หลังจากประทีปทุกดวงถูกจุดขึ้นทั่วลานธรรม และโคมลอยถูกปล่อยขึ้นสู่เบื้องบนเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแล้ว ความสว่างไสวก็บังเกิดขึ้นทั้งผืนดินผืนฟ้า ขับไล่ความมืดมิดให้มลายหายไป
๕. บั้งไฟพญานาค มหัศจรรย์แห่งแม่น้ำโขง
เสร็จงานบุญกันแล้ว ก็ถึงเวลาไปดูบั้งไฟพญานาค ปรากฏการณ์มหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นปีละครั้งในแม่น้ำโขง เรื่องราวอันลึกลับมหัศจรรย์ของบั้งไฟพญานาคดึงดูดผู้คนมากมายให้แห่แหนกันไปดูแม้ต้องอดหลับอดนอนก็ไม่ย่อท้อ หากได้เห็นเป็นบุญตาสัก ๕ ลูก ๑๐ ลูก ก็ชื่นอกชื่นใจแต่ออกพรรษาปีนี้ ผู้ไปชมบั้งไฟพญานาคที่โพนพิสัยล้วนสมหวังกลับมา เพราะปีนี้บั้งไฟขึ้นเยอะมากบางคนนับได้ร้อยกว่าลูก สร้างความเชื่อมั่นในความมีตัวตนของพญานาคมากขึ้น เพราะเสียงเล่าลืออย่างไรก็ไม่มีน้ำหนักเท่าสิ่งที่ประสบด้วยตนเอง ส่วนผู้ที่มีศรัทธาอยู่แล้ว ก็มีความศรัทธามากยิ่งขึ้น
วันออกพรรษาปีนี้ที่หนองคาย
จึงเป็นวันประวัติศาสตร์ของชีวิตอีกวันหนึ่งที่ยากจะลืมเลือน..
ริมฝั่งโขง แดนดินถิ่นอัศจรรย์
พุทธอุทยานนานาชาติตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๖๒ ถนนทางหลวงสายหนองคายบึงกาฬ อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย มีพื้นที่ประมาณ ๓๐๐ ไร่ ซึ่งครอบครัวเทพสุทินถวายไว้เป็นสมบัติของพระพุทธศาสนา โดยกัลฯสมศักดิ์ และกัลฯอนงค์วรรณ เทพสุทิน เป็นประธานในพิธีทอดผ้าป่าถวายที่ดินสร้างพุทธอุทยานนานาชาติ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕และเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕ มีพิธีทอดผ้าป่าและพิธีตอกเสาเข็มต้นแรกสถาปนาปทุมรัตน์ธรรมเจดีย์ โดยมีกัลฯบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เป็นประธานในพิธี และก่อนหน้านี้เมื่อวันที่๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ มีพิธีปลูกต้นสนจำนวน ๒๐,๐๐๐ ต้น
พุทธอุทยานนานาชาติตั้งขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ คือ เป็นศูนย์รวมใจชาวพุทธทั่วโลก, เป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าและเผยแผ่พระพุทธศาสนา, เป็นสถานที่ประชุมอบรมและฟังธรรมของพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า, เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติธรรมและประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ทั้งของประชาชนชาวไทยและในระดับนานาชาติ, เป็นพุทธานุสรณียสถานสืบสานตำนานบั้งไฟพญานาคให้ชาวโลกได้รับรู้ความจริง และเป็นรมณียสถานอันสงบร่มรื่นเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป
ทำไมต้องสร้างที่นี่? คุณครูไม่ใหญ่เคยกล่าวถึงเหตุที่เลือกบริเวณนี้ทำพุทธอุทยานนานาชาติไว้ว่า
“เป็นดำริของครูไม่ใหญ่ที่อยากจะมีที่สักแห่งหนึ่ง เป็นที่เผยแผ่ธรรมะอยู่ริมโขง แล้วจะเป็นจุดเชื่อมโยงกับการเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีที่เมืองสังกัสสนคร ซึ่งประวัติศาสตร์คำว่า “พุทธศาสนา” ถูกบันทึกไว้โดยพญานาคที่ใต้พิภพบาดาล ใต้ลำน้ำโขง
“เมื่อเราศึกษาค้นคว้าเรื่องราวฝันในฝันกันไปเรื่อย ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องเดิม แต่ผืนแผ่นดินนี้รูปร่างลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ดีที่จะทำเป็นจุดขยายธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสู่ชาวโลก ผ่านบั้งไฟพญานาคที่เกิดขึ้นในแม่น้ำมหัศจรรย์เพียงสายเดียวในโลก
“เดิมในละแวกนี้มีการบังเกิดขึ้นของบั้งไฟพญานาคเป็นจำนวนมาก แต่ตอนนี้ก็ถดถอยลงไปเรื่อย ๆ ถ้าหากเราไม่ฟื้นฟูกันตอนนี้ พญานาคเขามีอายุขัยเหมือนกัน เมื่อหมดอายุขัยก็ไปเกิดใหม่ พญานาคที่เกิดมาภายหลังได้ยินแต่เพียงคำเล่าลือ ไม่เคยเห็นด้วยตา ความเลื่อมใสศรัทธาจะหย่อนลงไป บั้งไฟพญานาคก็จะถดถอยลงไปเรื่อย ๆ ยิ่งกาลเวลาผ่านไป ถ้าไม่ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาแถว ๆ นี้ เมื่อความเสื่อมต่าง ๆ เกิดกับมวลมนุษยชาติมากขึ้น บั้งไฟก็จะลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ จากปีพุทธศักราช ๒๕๒๔ มาถึงวันนี้ จากจำนวนพันเหลือจำนวนร้อยเท่านั้นยุคถัด ๆ ไปก็ไม่ทราบว่าจะเหลือแค่ไหน อาจจะหมดสิ้นกันไปสักวันหนึ่ง เราจะได้ไปฟื้นฟูกัน
“เนื่องจากว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำมหัศจรรย์และมีบั้งไฟพญานาคอย่างนี้แห่งเดียวในโลก ก็จะเป็นจุดเชื่อมโยงชาวโลกที่อยากมาเห็นความมหัศจรรย์ของบั้งไฟพญานาค ตามเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังมา เบื้องต้นเขาอาจจะเริ่มเข้าใจจากตรงนี้ไปก่อน แต่พอเราเป็นต้นแบบในการชมบั้งไฟพญานาคอย่างถูกหลักวิชา เขาก็จะค่อย ๆ ซึมซับขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามกับคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจอยากปฏิบัติธรรม อยากเข้าถึงธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุ เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาก็จะขยายออกไปเป็นที่พึ่งแก่ชาวโลกได้ ดังนั้น ณ จุดตรงนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ไม่ใช่ไปดูคอนเสิร์ต การละเล่น หรือเป็นธรรมเนียมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของงานขยายธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก”..