กุศลกรรมบถ ๑๐
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
วิรัติวัดศีล
เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ เจตยิตฺวา กมฺมํ กโรติ กาเยน วาจาย มนสา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม
บุคคลคิดแล้วจึงทำกรรมด้วยกาย วาจา ใจ
แม้ว่าศีลจะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่การได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาศีลนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ไม่ทำความชั่วเท่านั้น เพราะบางคนที่ไม่ทำความชั่ว อาจเป็นเพราะไม่มีโอกาส เช่น นักโทษที่ถูกคุมขัง ไม่มีโอกาสไปทำร้ายหรือลักขโมยของใคร ก็ไม่อาจเรียกว่าเป็นคนมีศีล แก่นของศีลนั้นขึ้นอยู่กับเจตนาและความตั้งใจสมาทาน คือ ต้องเกิดจากความคิดที่จะทำก่อน เมื่อคิดแล้วจึงลงมือทำทั้งทางกาย วาจา ฉะนั้นเจตนาและความตั้งใจงดเว้นจากความชั่ว คือ ความหมายของคำว่า เวรมณี หรือ วิรัติ
วิรัติ เป็นเหมือนไม้บรรทัดวัดศีล ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศีลก็ต่อเมื่อมีวิรัติอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ คือ ๑. สมาทานวิรัติ
๒. สัมปัตตวิรัติ ๓. สมุจเฉทวิรัติ
สมาทานวิรัติ คือ ความตั้งใจงดเว้นจากบาปเพราะได้สมาทานศีลไว้แล้ว หมายความว่า เราได้ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะรักษาศีล ครั้นประสบเหตุการณ์ที่ยั่วยวนให้ล่วงละเมิดศีล ก็ไม่ยอมให้ศีลขาด เหมือนสมาทานวิรัติของอุบาสกผู้ใจบุญคนหนึ่ง เมื่ออุบาสกท่านนี้ได้รับศีลจากพระเถระ ก็ตั้งใจน้อมนำไปปฏิบัติ ไม่ล่วงละเมิดศีลที่สมาทานไว้
วันหนึ่ง อุบาสกได้ออกไปไถนาที่กลางทุ่ง พอถึงเวลาพัก ก็ปลดโคออกจากแอก ปล่อยให้กินหญ้าตามสบาย แต่ปรากฏว่าโคหายไป อุบาสกจึงออกตามหา จนไปถึงภูเขาลูกหนึ่ง ขณะนั่งพักเหนื่อย อุบาสกถูกงูเหลือมรัดตัว จึงชักมีดหมายจะแทงงูให้ตาย แต่แล้วกลับฉุกคิดว่า “เรารับศีลจากพระแล้ว จะมาล่วงละเมิดศีลหาควรไม่” แต่ใจหนึ่งก็นึกกลัวตาย “หากไม่ฆ่างู เราก็ต้องตายกลายเป็นอาหารของมัน” ด้วยความกลัวตาย จึงเงื้อมีดขึ้นถึง ๓ ครั้ง เพื่อจะฆ่างูให้ตาย แต่ในที่สุดก็สอนตัวเองได้ว่า “อย่าเลย ตายเป็นตาย เราจะยอมเสียชีวิต แต่ไม่ยอมเสียศีล” คิดได้ดังนั้นจึงโยนมีดทิ้ง แล้วหลับตานึกถึงบุญที่เกิดจากการตั้งใจรักษาศีลชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แม้ร่างกายจะเจ็บปวดทุกข์ทรมานเพราะแรงรัดของงูเหลือม แต่ก็พยายามข่มใจ ให้ใจมีปีติในศีลที่บริสุทธิ์ ด้วยเดชแห่งศีลที่ตั้งใจรักษา เหตุอัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้น งูเหลือมเกิดจิตเมตตาและคลายตัวออก เหมือนไม่อยากทำร้ายเขา แล้ว ก็เลื้อยเข้าป่าไป นี่ก็เป็นเพราะอานิสงส์การรักษาศีลที่สมาทานไว้ไม่ให้ขาด ทำให้รอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด..
สัมปัตตวิรัติ คือ ความตั้งใจงดเว้นจากบาป เมื่อเกิดเรื่องปัจจุบันทันด่วนขึ้นเฉพาะหน้า แม้ว่าจะไม่ได้สมาทานศีลไว้ แต่เมื่อมีเหตุการณ์ที่ชวนให้ล่วงละเมิดศีล ก็คำนึงถึงชาติตระกูล การศึกษา หรือความดีต่าง ๆ เป็นต้น แล้วเกิดหิริโอตตัปปะขึ้น จึงตั้งใจที่จะงดเว้นจากบาปในขณะนั้น
ดังเรื่องราวของคนใจงามที่ชื่อจักร เมื่อครั้งที่เขายังเป็นเด็กอยู่นั้น คุณแม่ล้มป่วยลงด้วยโรคที่หาสาเหตุไม่เจอ หมอบอกว่าต้องใช้เนื้อกระต่ายเป็น ๆ มาทำยารักษาจึงจะหาย พี่ชายของจักรจึงบอกให้จักรไปจับกระต่ายมา ด้วยความที่อยากให้คุณแม่หายป่วย จักรไม่สงสัยในคำสั่งของพี่ชายเลย รีบออกเดินทางไปทุ่งนาที่ติดชายป่าละเมาะเพื่อหากระต่าย แล้วก็ได้พบกระต่ายน้อยตัวหนึ่งกำลังกินข้าวกล้าอย่างเพลิดเพลิน เขาค่อย ๆ เดินย่องเข้าไปใกล้ ๆ เพื่อจะจับเป็นให้ได้ ฝ่ายเจ้ากระต่ายน้อยได้ยินเสียงคน ก็รีบวิ่งหนีเอาตัวรอดแต่โชคร้ายกระโดดพลาดไปโดนเถาวัลย์พันเกี่ยวเอาไว้ ได้แต่ดิ้นรนไปมาจนขนหลุดลุ่ยและร้องด้วยความตกใจกลัว
เด็กชายจักรวิ่งไล่ตามมาติด ๆ เห็นเป็นโอกาสดีก็รีบเข้าไปจับทันที แต่เมื่อสังเกตเห็นอาการลนลานของกระต่ายน้อย ก็เกิดความสงสารขึ้นมาอย่างจับใจ พลางนึกในใจว่า “ควรหรือที่เราจะเอาชีวิตของผู้อื่น มาแทนชีวิตมารดาของเรา” ด้วยความเมตตาที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน อีกทั้งไม่อยากทำบาป จึงปล่อยกระต่ายน้อยเข้าป่าไป พร้อมกับพูดปลอบใจว่า “เจ้าจงไปกินหญ้ากินน้ำของเจ้าตามสบายเถิด แม้ว่าเราจะรักแม่มาก แต่ก็ไม่อยากเบียดเบียนเจ้า เราต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์”
เมื่อกลับถึงบ้าน จักรผู้มีใจงดงามจึงเล่าความจริงให้พี่ชายฟัง แทนที่จะได้รับคำชมเชยหรืออนุโมทนา กลับถูกต่อว่าด้วยความไม่พอใจ หาว่าเป็นลูกอกตัญญู มีเจตนาจะให้แม่ตายหรืออย่างไร แต่จักรก็มิได้โต้ตอบอะไร ได้แต่ขยับตัวเข้าไปใกล้ ๆ คุณแม่ที่อ่อนล้าเต็มที แล้วเขาก็ตั้งสัจวาจาว่า “ตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิดมา ยังไม่เคยจงใจฆ่าสัตว์ตัวใด ด้วยคำสัตย์นี้ ขอให้คุณแม่จงหายจากโรคเถิด และด้วยบุญที่ข้าพเจ้าได้ปล่อยกระต่าย ให้ชีวิตเป็นทาน ขอให้คุณแม่จงหายป่วยเป็นอัศจรรย์ด้วยเถิด”
ทันใดนั้น มารดาของเขาซึ่งดูเหมือนจะหมดแรง ก็กลับมีเรี่ยวแรงขึ้นมาทันที และแทนที่จะสิ้นลม ก็กลับหายป่วยลุกเดินได้ตามปกติเป็นอัศจรรย์ นี่คือตัวอย่างของผู้ที่ปฏิบัติตามหลักสัมปัตตวิรัติ คือ งดเว้นบาปในทันที การจะปฏิบัติวิรัติข้อนี้ได้ ต้องมีหิริโอตตัปปะฝังแน่นอยู่ในใจ เมื่อเกิดเหตุที่ต้องให้ล่วงละเมิดศีล จึงจะสามารถยับยั้งตัวเองไว้ได้
สมุจเฉทวิรัติ เป็นการงดเว้นจากบาปได้อย่างเด็ดขาด เป็นวิรัติของพระอริยเจ้า ซึ่งละกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงได้แล้ว เมื่อใจท่านปราศจากกิเลสที่เป็นเหตุให้ทำความชั่ว จึงไม่มีการผิดศีลอย่างแน่นอน เหมือนพระจักขุบาลเถระ ท่านเป็นพระอรหันต์ที่ดวงตาดับสนิท แต่ธรรมจักษุของท่านสว่างไสวยิ่งนัก มีอยู่วันหนึ่ง หลังจากฝนตกใหม่ ๆ ลูกศิษย์ยังไม่ทันปัดกวาดลานจงกรมให้เรียบร้อย ท่านก็ออกไปเดินจงกรมตามปกติที่เคยปฏิบัติเป็นกิจวัตร ท่านเหยียบแมลงตายเป็นจำนวนมาก เมื่อพระอาคันตุกะมาพบ จึงกล่าวหาว่าท่านมีเจตนาฆ่าสัตว์ แต่อาศัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้ฟังว่า พระเถระตาบอดมองไม่เห็น แต่ท่านได้เห็นธรรมแล้ว เป็นพระอรหันต์ผู้ละบาปได้แล้ว ศีลที่รักษานั้นเป็นเสตุฆาตวิรัต คือ งดเว้นจากการทำบาปได้อย่างเด็ดขาด
เราจะเห็นว่า ศีลวิรัตินั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะการกระทำใดหากปราศจากความตั้งใจมุ่งมั่นแล้ว การกระทำนั้นย่อมไม่หนักแน่น
มั่นคง และพร้อมที่จะแปรเปลี่ยนเรื่อยไป ดังนั้นแม้จะยังไม่ได้ทำความชั่วก็ตาม หากไม่มีวิรัติก็ไม่จัดว่าเป็นการรักษาศีล ที่สำคัญ การรักษาศีลนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการป้องกันวิบากกรรมไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพราะถ้าศีลบริสุทธิ์ เราก็ไม่ผิดพลาดไปสร้างกรรมใหม่ วิบากกรรมที่จะมาตัดรอนจึงไม่มี หรือหากมีก็อ่อนกำลังลง เป็นการป้องกันภัยของชีวิตในปัจจุบันและในภพชาติต่อไปไม่ให้พบกับความทุกข์ยาก ให้พบแต่ความสุขทุกภพทุกชาติ
ท่านสาธุชนทั้งหลาย ถ้ารักตัวเองจริงต้องรักษาศีล เพราะศีลจะหล่อหลอมชีวิตเราให้มั่นคงในกุศลธรรม เราจึงจำเป็นต้องหมั่นเตือนตนว่า ชีวิตไม่ได้สิ้นสุดที่เชิงตะกอนเพียงเท่านั้น แต่ยังข้องเกี่ยวถึงโลกหน้าอีกด้วย ชีวิตที่ไม่มีศีลเป็นชีวิตที่ไม่ปลอดภัย เราจึงต้องรักษาปณิธาน อาศัยสติคอยควบคุมกาย วาจา และใจ อดทนไม่ให้ล่วงละเมิดศีลชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันกันเลยทีเดียว เมื่อศีลเราบริสุทธิ์ สมาธิจะก้าวหน้า ปัญญาจะสว่างไสว ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้เราได้บรรลุมรรค ผล นิพพานนั่นเอง
“สมบัติใดในมนุษย์และสมบัติในสวรรค์ สมบัติทั้งสองนั้น หากผู้มีศีลปรารถนา ก็ทำได้ไม่ยาก อนึ่ง ใจของ
ผู้มีศีลบริสุทธิ์ ย่อมแล่นไปสู่นิพพาน-สมบัติ อันเป็นสมบัติที่สงบระงับสุดยอดโดยแท้”