ทบทวนบุญ
เรื่อง : พระสมศักดิ์ จนฺทสีโล
ฝึกคนรุ่นใหม่ เตรียมไทยสู่ AEC
ก่อนที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ความเป็นประเทศในเครือ AEC อย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่ กี่ปีข้างหน้า ไม่เพียงทางด้านเศรษฐกิจสังคมที่กำลังเตรียมปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น แต่ในทางพระพุทธศาสนาก็มีการเตรียมปลูกฝังศีลธรรมให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ เพราะใครเลยจะทราบว่า เมื่อกระแสไหลบ่าของวัฒนธรรม แฟชั่น และความนิยมแบบต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทย สังคมไทยจะได้รับผลกระทบจากสิ่งดังกล่าวมากน้อยเพียงใด ดังนั้น ในวันที่ ๕ เมษายน ที่ผ่านมา มูลนิธิพัฒนาการศึกษาเพื่อศีลธรรม วัดพระธรรมกายและมูลนิธิธรรมกาย ชมรมพุทธศาสตร์สากลฯ และองค์กรภาคีต่างๆ ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาคุณธรรมนำวิชาการ โรงเรียนฝันในฝัน โรงเรียนมาตรฐานสากล โรงเรียนดีศรีตำบล สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคุรุสภา จึงจัดให้มีพิธีบรรพชาพร้อมกันทั้งโครงการอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย ครั้งที่ ๙, โครงการบรรพชาสามเณรมัธยมปลายต้นแบบสู่ AEC, โครงการอบรมธรรมทายาทอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน ระดับอุดมศึกษา รุ่นที่ ๔๒, และโครงการอุปสมบทหมู่ธรรมทายาท รุ่นบูชาธรรม ๗๐ ปี พระเทพญาณมหามุนี โดยใช้ชื่องานนี้ว่า “โครงการอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย ครั้งที่ ๙”
โครงการสร้างเยาวชนเพื่อเป็นต้นแบบ
เพื่อเร่งการพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้มีวินัย มีความเคารพ มีความอดทน มีศีลธรรม มีคุณธรรม และมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นเยาวชนดีที่โลกต้องการ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๙ โครงการบรรพชาสามเณรมัธยมปลายต้นแบบสู่ AEC จึงเกิดขึ้น
ในโอกาสเดียวกันนี้ ยังมี โครงการอบรมธรรมทายาทอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน ระดับอุดมศึกษา รุ่นที่ ๔๒ ที่จัดขึ้นเพื่อสร้างนิสิตนักศึกษาให้เป็นต้นแบบที่สำคัญในการขับเคลื่อนศีลธรรมและคุณธรรมในสถาบันอุดมศึกษา และเมื่อจบการศึกษาออกไปทำงาน ก็จะเป็นผู้ที่มีความรู้ คู่คุณธรรม เป็นผู้นำในการขยายเครือข่ายคนดีกลับสู่ชุมชนสังคม พลังคนดีจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้ผ่านพ้นปัญหาอุปสรรค กลับเข้าสู่สังคมที่เจริญรุ่งเรืองและร่มเย็นเป็นสุข
อีกโครงการหนึ่งเป็น โครงการอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย ครั้งที่ ๙ ซึ่งมีผู้สมัครมาจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อฝึกความเป็นผู้นำฟื้นฟูศีลธรรมในชุมชน
นอกจากนี้ ยังมี โครงการอุปสมบทหมู่ธรรมทายาท รุ่นบูชาธรรม ๗๐ ปี พระเทพญาณมหามุนี จัดขึ้นในวาระฉลองอายุวัฒนมงคลของพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ที่มีอายุครบ ๗๐ ปี
ธรรมทายาทในโครงการต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นนี้ เข้าร่วมประกอบพิธีบรรพชาในคราวเดียวกันในวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗
คือศรัทธามหาชน ล้นลานธรรม
หลังจากที่องค์กรภาคีต่าง ๆ มีดำริให้ดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว ศูนย์อบรมทั่วประเทศก็เปิดรับสมัครและให้การอบรมแก่ผู้ร่วมโครงการอย่างพร้อมเพรียง และในวันที่ ๕ เมษายน ที่ผ่านมา ณ ลานธรรม หน้ามหาธรรมกายเจดีย์ วัดพระธรรมกาย ในภาคเช้ามีการประกอบพิธีเวียนประทักษิณของนาคธรรมทายาท AEC ทั้งระดับมัธยมและอุดมศึกษาจากทั่วประเทศ ตลอดจนนาคธรรมทายาทรุ่นบูชาธรรม ๗๐ ปี พระเทพญาณมหามุนี และนาคธรรมทายาทโครงการอุปสมบทหมู่ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย
เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. มีพิธีบรรพชา ณ สภาธรรมกายสากล โดยมีพระธรรมกิตติวงศ์ ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พร้อมทั้งมี เจ้าคณะจังหวัด ตลอดจนพระมหาเถรานุเถระจากทั่วประเทศเมตตาคล้องอังสะแก่ผู้เข้ารับ การบรรพชา
พิธีอุปสมบทแก่นาคธรรมทายาทรุ่นอุดมศึกษาและรุ่นบูชาธรรมฯ จัดขึ้นในวันต่อไป ส่วนผู้บวชในโครงการอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย ครั้งที่ ๙ เดินทางไปเข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดที่เป็นศูนย์อบรมและวัดใกล้เคียงในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ
โครงการอบรมทุกโครงการเริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม และจะดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ ๑๙ - ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ หลังการอบรม คาดว่าผู้เข้ารับการอบรมจักเป็นกำลังที่มีคุณภาพของสังคมและเป็นผู้นำในการทำความดีต่อไป และก่อให้เกิดเครือข่ายบ้าน วัด และโรงเรียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านศีลธรรมให้แก่ทุกคนในชุมชน และช่วยให้หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษาเกิดพลังในการขับเคลื่อนงานด้านศีลธรรมอย่างต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม ส่วนผู้เข้าโครงการบรรพชาอุปสมบทรุ่นบูชาธรรม ๗๐ ปี พระเทพญาณมหามุนี หลายรูปก็ถือโอกาสแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ในเพศสมณะ เป็นกำลังของพระศาสนาต่อไป..
วัตถุประสงค์ของการบวช
พระธรรมกิตติวงศ์ ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต
เจ้าอาวาสวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗
“...เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการบวชของเธอทั้งหลายในครั้งนี้มีต่างกันไป ช่วงนี้เป็นช่วงที่ปิดเทอม จึงมีนักเรียนเป็นจำนวนมากใช้เวลาหยุดเทอมมาสร้างบุญบารมีให้แก่ตัวเอง บางคนก็มาบวชตามธรรมเนียม หมายความว่า เมื่อมีเวลาพอที่จะบวชได้ก็มาบวช นี่ก็ถือว่ารักษาธรรมเนียมการบวชในพระพุทธศาสนาเอาไว้ ส่วนหนึ่งมีเป้าหมายสูงขึ้นไป คือบวชเพื่อตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ เพื่อตอบแทนข้าวป้อนน้ำนมที่พ่อแม่เลี้ยงดูอุ้มชูมาจนกระทั่งเจริญเติบโตเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาได้ เป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณพ่อรู้คุณแม่ให้ปรากฏเป็นรูปธรรม พ่อแม่ที่เป็นชาวพุทธแต่โบราณ เมื่อมีลูกเป็นผู้ชายก็ปรารถนาจะให้ลูกบวช ต้องการจะเห็นผ้าเหลืองหุ้มห่อตัวลูก ต้องการให้ลูกมาเป็นลูกของพระพุทธเจ้า เมื่อลูกยังเล็ก อุตส่าห์เลี้ยงดูให้เจริญเติบโต แข็งแรง สมประกอบ ไม่ให้พิกลพิการ เดี๋ยวจะบวชไม่ได้ อุ้มชูประคบประหงมมาเป็นสิบ ๆ ปี เราก็ทำความปรารถนาของท่านให้เห็นเป็นรูปธรรม ก็คือมาบวชเลี้ยงจิตใจของพ่อของแม่เอาไว้ ให้พ่อแม่อิ่มใจ เกิดปีติเกิดยินดี นี่คือการแสดงความกตัญญูกตเวทีในระดับหนึ่ง โบราณท่านจึงบอกว่าบวชตอบแทนบุญคุณพ่อแม่
“แต่เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของการบวช ก็คือบวชโดยมีวัตถุประสงค์ มีเป้าหมายมาที่ตัวเอง คือตัวเราผู้บวช โบราณท่านใช้คำว่าบวชเรียน คือบวชแล้วต้องเรียน คำว่าเรียนในที่นี้ อาจจะเรียนธรรมะ เรียนคำสอนของพระพุทธเจ้าจากครูบาอาจารย์ที่เป็นพระพี่เลี้ยง เรียนนักธรรม เรียนบาลี เรียนอะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นเรื่องคำสอนของพระพุทธเจ้า นี่เรียกกันว่าเรียนในห้องเรียน หรือเรียนโดยมีครูบาอาจารย์โดยตรง เรียนอีกแบบหนึ่งก็คือเลียนแบบ เลียนแบบก็คือศึกษาหาความรู้ ใช้ตาเป็นครู ใช้หูเป็นอาจารย์ ดูพระพี่เลี้ยงเป็นตัวอย่าง ท่านเคารพอย่างไร กราบอย่างไร ไหว้อย่างไร ประพฤติปฏิบัติอย่างไร ทำสมาธิอย่างไร ก็ประพฤติปฏิบัติตามท่าน เลียนแบบท่าน เมื่อเราได้เลียนแบบ เราก็เป็น เราก็ได้ เหมือนเธอทั้งหลายก่อนบวชก็คงได้เห็นตัวอย่างและได้เรียนกันมาพอสมควร ครูบาอาจารย์พี่เลี้ยงแนะนำให้เธอท่อง ให้เธอกราบเป็น เมื่อก่อนกราบพระไม่ถูก ไหว้พระไม่ถูก ตอนนี้ก็กราบถูก กราบเป็น สวดมนต์เริ่มเป็น ประพฤติปฏิบัติเริ่มเป็น สงบขึ้น เรียบร้อยขึ้น นี่ก็คือเลียนแบบ ก็เป็นการเรียนเหมือนกัน
“บวชเรียนก็คือ บวชเพื่อการนี้ ทั้งศึกษา ทั้งหาความรู้ ทั้งเลียนแบบ รู้แล้วเลียนแบบแล้ว ก็นำเอาไปใช้ นำไปประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนอย่างไรเราก็ทำตามนั้น ให้งดอะไร เว้นอะไร เราก็งดได้ เว้นได้ ความประพฤติปฏิบัติของเราก็จะสงบงามเรียบร้อย พระพุทธเจ้าสอนเรื่องให้งดเว้นอบายมุข เหล้ายาปลาปิ้ง การพนันเที่ยวเตร่ สูบบุหรี่กินเหล้า สิ่งเหล่านี้ เป็นทางแห่งความเสื่อม เรารู้เราเข้าใจก็พยายามเลิก พยายามละ ไม่ติด ไม่เข้าใกล้อบายมุข แปลว่า ปากทางแห่งความเสื่อมความฉิบหายด้วยประการทั้งปวง สุขภาพร่างกายก็ไม่ดี พระพุทธเจ้าสอนไว้ เรารู้แล้วก็งดได้ เว้นได้ ไม่ทำ พระพุทธเจ้าสอนให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นทางดีเราก็ทำ ชีวิตเราก็เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าพัฒนาขึ้น นี่เป็นเบื้องต้น ถ้าหากว่าเราอยู่เป็นพระต่อไป ปฏิบัติสูงขึ้นไป ละกิเลสได้ก็เป็นพระอริยบุคคลได้ นี่คือเป้าหมายของการบวช บวชเพื่อต้องการพ้นจากทุกข์ อย่างที่เธอทั้งหลายเปล่งวาจาขอบวชว่า
‘สัพพะทุกขะนิสสรณะนิพพานะสัจฉิกะระณัตถายะ’
“สัพพะทุกขะนิสสรณะ หมายถึง สลัดออกจากทุกข์ทั้งปวง นิพพานะ สัจฉิกะระณัตถายะ หมายถึง ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หมดทุกข์ทั้งปวง ในที่นี้ก็คือหมดกิเลส อันเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ ละโลภ ละโกรธ ละหลงได้ ตัดกิเลสได้เด็ดขาด ก็นิพพาน ถ้ายังไม่ถึงระดับนั้น บรรเทาได้เราก็มีความสุข มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า นี่คือเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการบวชที่สำคัญ...”