วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ตำรับยอดเลขา จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว” วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑

ตำรับยอดเลขา

เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

 

 


ตำรับยอดเลขา


จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว” 

วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑

 


ตอนที่ ๕

จรรยาข้อที่ ๙-๑๐

 

     “ตำรับยอดเลขา” นำมาจากหนังสือ “จรรยาบ่าว” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว โดยไม่ได้ระบุชื่อผู้เขียน เมื่อหลวงพ่อทัตตชีโวอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านอยากให้ญาติโยมรู้เรื่องราวดี ๆ จึงเมตตานำมาเทศน์ให้ฟังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ต่อมาพิมพ์รวมเล่มและตั้งชื่อใหม่ว่า “ตำรับ ยอดเลขา” โดยลำดับเนื้อความตามต้นฉบับเดิม และคัดลอกของเก่าไว้ให้ดูด้วย เพื่อรักษาศัพท์บางคำไว้ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เขียน

 

ต้องเอาใจใส่ตรวจตรากิจการอยู่เสมอ


การดูแลสมบัติของผู้อื่นอย่างดี 
ไม่ว่าจะเป็นของเจ้านาย ของเพื่อน ของวัด 
หรือของสาธารณะก็ตาม จะเป็นบุญติดตัวไปว่า 
สมบัติของเราไม่ว่าตกไปอยู่ที่ไหนก็ตาม 
จะมีทั้งมนุษย์และเทวดาช่วยกันปกปักรักษาไว้ให้อย่างดี

 

๙. ต้องเอาใจใส่ตรวจตรากิจการอยู่เสมอ    

 

    สรรพสิ่งของอันใด ๆ ก็ดี ซึ่งท่านมอบหมายให้เรารักษานั้น เราจะต้องเอาใจใส่อย่างมาก คือต้องตรวจตราดูแลเสมอ ๆ อย่าให้ของเหล่านั้น ตกเรี่ยเสียหายบุบฉลายทรุดโทรมไป ด้วยเหตุไม่มีความระมัดระวัง อันใช่เหตุจำเป็นที่จะเสีย และให้คิดรักของของท่านเหมือนของของเรา เมื่อผู้ใดมาหยิบยืมไป ต้องจดต้องจำไว้เป็นหลักถาน เมื่อนำมาก็ต้องตรวจตราให้รู้ว่าถ้วนหรือขาดเสียหายชำรุดทรุดโทรมอย่างไร เมื่อเห็นชำรุดเสียหายก็ให้รีบนำความร่ำเรียนเสียให้ท่านทราบทันท่วงที อย่าเพิกเฉยเลยละให้เป็นปากเป็นเสียง ต้องไต่สวนมัวหมองแห่งเราทำเผอเรอต่อไปได้จึงจะดี เมื่อเห็นนานเกินควรยังมิได้นำส่ง ต้องตักเตือนให้ส่ง เมื่อเราควรจะเตือนตรงไปได้ก็ให้เตือนไป ถ้าไม่ควรที่เราจะเตือนเองได้ ก็ร่ำเรียนให้ท่านเตือนกัน


    เมื่อทำได้เช่นนั้น ก็นับว่าเรามีความกตัญญูและสามารถในหน้าที่ ความเมตตาปรานีแห่งนายก็จะมีแก่เราเป็นอันมาก


    สำหรับข้อนี้ ต้องเริ่มทำความเข้าใจเสียตั้งแต่ต้น เช่น อยู่บ้านก็ให้มีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของบ้าน เป็นเจ้าของสถานที่ เป็นเจ้าของสำนักงานนั้น ๆ แม้ใช้สอยของของท่านก็ทำความรู้สึกเหมือนกับเป็นของของเรา


    คนบางคนเป็นคนน่าสงสาร ไม่มีใครอยากให้หยิบยืมอะไร แค่ยืมหนังสือตำรามาอ่านซึ่ง   ไม่เห็นจะสึกหรออะไร เขาก็ไม่ให้ เพราะพอยืมหนังสือของเขามาอ่านแล้ววางทิ้งแบ ๆ ไว้ สันหนังสือก็หัก กระดาษก็ยับ ซ้ำดีไม่ดีกาวที่ทาไว้หลุดอีก บางทีวางทิ้งไว้ปล่อยให้เด็กมาฉีกหนังสือเขาเสียหาย วันหลังพอเอ่ยปากขอยืมใครเขา เขาก็พากันเบือนหน้าหนี บ้างก็อ้างว่ายังอ่านไม่จบ ทั้งที่อ่านจบไปตั้งนานแล้ว หรืออ่านไม่จบจริง ๆ ก็ตามเถิด ต่างกับบางคนที่รักษาของของผู้อื่นเหมือนกับเป็นของตัวเองเสมอ คนแบบนี้แม้ยังไม่เอ่ยปากขอยืมหนังสือจากผู้ใดเลย พอเขาได้หนังสือดี ๆ มา เขาก็นึกถึงก่อนแล้ว อยากให้ได้อ่านหนังสือดี ๆ เพราะคน ๆ นี้ นอกจากจะอ่านด้วยความระมัดระวังถนอมหนังสือไม่ให้ช้ำแล้ว เมื่อส่งกลับบางทียังใส่ปกอย่างเรียบร้อยคืนมาด้วย การดูแลของผู้อื่นอย่างดีนี้ ไม่ว่าจะเป็นของสาธารณะหรือของเพื่อนก็ตาม จะเป็นบุญติดตัวไปว่า สมบัติของเขาแม้จะตกไปถึงไหนก็ตาม จะมีทั้งมนุษย์ทั้งเทวดามาช่วยกันปกปักรักษาไว้


    สำหรับเรื่องนี้ หลวงพ่อเองได้รับบทเรียนกับตัวเองมาแล้วคือ ที่วัดพระธรรมกายนี้มีสไลด์ (Slide) ให้ยืมเอาไปฉายให้แก่ผู้สนใจ มีทั้งหน่วยงานในวัดและหน่วยงานกัลยาณมิตรต่างจังหวัด หรือเวลามีธุดงค์มีการอบรมตามที่ต่าง ๆ ก็ให้ยืมไป โดยให้ทั้งสไลด์ที่เป็นแผ่น ให้ทั้งเครื่องฉาย หรือบางทีก็ให้โอเวอร์เฮดโปรเจกเตอร์ (Overhead Projector) ที่ใช้ฉายกับแผ่นใสไปด้วย เนื่องจากเห็นว่าเป็นการส่งเสริมการเผยแผ่พระศาสนา จึงไม่เคยหวง ยินดีจัดให้ทุกอย่าง แต่ผู้นำไปใช้    บางรายไม่ถนอมของเลย เมื่อนำของมาคืน บางทีกระจกแตก หลอดขาด แล้วก็ไม่แจ้งให้เราทราบ  คนของเราก็สะเพร่าไม่ได้ตรวจดูก่อนนำไปใช้งานต่อ พอถึงเวลาฉาย คนเขาก็รอดูสไลด์ตาม         ที่ประกาศเอาไว้ ปรากฏว่าเครื่องเสีย ใช้การไม่ได้ เสียงานเสียการหมด


    หลวงพ่อจึงต้องใช้วิธีใหม่ โดยกำหนดลงไปเลยว่า ชุดนี้เป็นของหลวงพ่อใช้ ไม่ให้ยืม ส่วนที่สำหรับมีไว้ให้ยืม ก็มีไว้ส่วนหนึ่ง และไม่ควรเป็นชนิดออโตเมติกซึ่งบอบบาง ต้องใช้ชนิดที่ทนมือทนเท้าไม่เสียง่าย ๆ จึงจะดี แต่ขนาดมีให้ยืมแล้ว ยังไม่ส่งคืนตามเวลา ต้องให้หลวงพ่อมีงานเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือต้องคอยทวงของคืน


    ฟังมาถึงตรงนี้แล้ว ใครที่เคยทำผิดพลาดมาในทำนองเดียวกันนี้ก็ขอให้เลิกเสีย เมื่อยืม    ของของใคร นอกจากจะรู้จักถนอมของแล้ว ต้องรีบนำกลับไปคืน ยิ่งถ้าหากว่าของนั้นเป็นของ    ผู้บังคับบัญชา ของนาย ต้องรู้จักถนอมให้ดี ของบางอย่างเป็นของส่วนตัวของท่านโดยเฉพาะ อย่าเอาไปใช้เด็ดขาด เพราะจะเป็นการละลาบละล้วงและตีตัวเสมอท่าน ส่วนใครที่ทำหน้าที่รักษาของของเจ้านาย ก็ต้องหมั่นทวง หมั่นตาม แต่ต้องทำตามความเหมาะสม เช่น ถ้าเป็นระดับผู้ใหญ่ยืมไป เราเป็นเด็กจะไปทวงก็ใช่ที่ ควรเรียนให้ท่านทราบ แล้วให้ท่านไปทวงกันเอง จึงจะเหมาะ


๑๐
อย่าเลินเล่อในการรักษาและขับรถยนต์

 

การขับรถนั้น ถ้าพลาดเพียงนิดเดียว ก็อาจบาดเจ็บ
หรืออาจถึงแก่ชีวิตได้ คนที่รักชีวิตตัวเอง 
จึงต้องไม่ขับรถเร็วหรือประมาทเลินเล่อ 
และต้องหมั่นตรวจเช็กรถยนต์
ให้อยู่ในสภาพปกติอยู่เสมอ 
อย่าดันทุรังใช้แม้ในสภาพผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ 

 

๑๐. อย่าเลินเล่อในการรักษาและขับรถยนต์

 

   เราเป็นคนขับรถยนต์และรถม้าก็ดี เราควรจะปฏิบัติการนั้น ๆ อันเป็นหน้าที่เราทำด้วยการพินิจพิเคราะห์ให้ดี ปราศจากความสะเพร่าและมักง่ายในเหตุการณ์ต่าง ๆ การรักษาก็ให้ทำให้สอาดเรียบร้อยตามหน้าที่ตลอดถึงสิ่งของที่จะใช้ในการนั้น อย่าให้สุรุ่ยสุร่าย หมดเปลืองไปด้วยเหตุไม่จำเป็นได้จึงจะดี และสิ่งใดที่เป็นของทำยากและราคามาก อันซึ่งเรายังไม่เคยทำแก้ไข ก็อย่าเพ่อไปแก้ไขทำเข้าก่อน ซึ่งไม่มีความรู้ พลาดพลั้งของนั้นจะเสียมากไป เมื่อเจตนาดี อยากจะรู้อยากจะทำได้บ้าง ก็จงร่ำเรียนสืบสวนกับผู้รู้เขา เข้าใจดีเสียก่อนจึงทำ และสิ่งใดที่รู้สึกว่าเสีย ฤๅขัดข้องมีขึ้นนั้น ต้องร่ำเรียนให้นายท่านทราบ เพื่อจะได้รีบแก้ไขเสีย อย่าละเลยไว้จนเสียมาก ฤๅเกิดอันตรายจึงจะดี และในการขับรถก็ดี ต้องพินิจพิเคราะห์ลู่ทางไปมาให้ดี อย่าเผลอเพลินปล่อยอารมณ์ไม่ได้ จะเกิดเหตุ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ย่อมเป็นอันแน่ที่จะต้องเสีย อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเสียเงินและเสียเวลาใช้ ถ้าถูกอย่างสำคัญร้ายแรงเข้า ร่างกายไม่นายก็เรา ฤๅทั้งนายทั้งเรา แตกหักเถลิกเปิกปอกชอกช้ำ จนถึงแก่ชีวิตอันตรายก็ได้ เพราะฉะนั้น เราควรจะระวังอันตรายต่าง ๆ ให้มาก เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เขาเป็นกันมาแล้ว เราก็ย่อมรู้สึกบ้างไม่ใช่ฤๅ ว่ามันมีทางเสียทั้งนั้น หาดีและเสมอตัวบ่มิได้ เพราะเหตุฉะนั้น เราอย่าเผลอและระวังให้มาก จะขับรถไปมาก็อย่าให้เร็วปรู๊ดเกินไป นั่งก็ไม่สบาย และจะแข่งขันเอาไปรค์กับใครที่ไหนเล่า เมื่อเร็วมาก จะยับยั้งในเหตุการณ์อะไรที่มีขึ้นบ้างก็ไม่สู้ทันท่วงที จึงไม่จำเป็นต้องเร็วนัก


    อีกประการหนึ่งจวนถึงที่เลี้ยวก็ดี ที่มีถนนและตรอกทางผ่านก็ดี และที่ทางคับขันก็ดี ฤๅที่ประชุมชนคนพลุกพล่านก็ดี ผ่านทางกับรถรางรถไฟก็ดี ต้องเดินช้า ๆ และเปิดแตรยาว ๆ มาก กับยับยั้งตั้งใจระวังให้มาก ดูซ้ายแลขวาให้รอบคอบ เพราะอันตรายจะมีย่อมมีตำบลดังกล่าวนี้เป็นพื้น เหตุอันตรายที่เป็นกันมาก็ด้วยเผลออย่าง ๑ อวดฤทธิ์อวดแรงอย่าง ๑ อวดฤทธิ์อวดแรงนั้นได้กับว่าข้าฝีมือดี คล่องแคล่ว เชี่ยวชาญ แข็งแรงพอทุกอย่างในทางหนี    ทีไล่ ช้าไม่ใคร่ได้ เสียรัศมีไป ฤๅดูเหมือนคนขับไม่เป็น รถของเราก็ดีและเร็ว อยู่ข้างหลังรับฝุ่นละอองของใครไม่ยอม ออกจะเป็นเช่นนี้ จึงโดนกับโผงเข้าบ่อย ๆ แต่ว่าอันตรายสำคัญ ๆ มักจะนายผู้ชายไม่ใคร่ได้ไปในรถโดยมาก เพราะเหตุฉะนี้และพ่อเอ๋ย จงระวังระไวให้ดี อย่าเผลอ อย่าขับให้รุนแรง แข่งขันกันทำไมไม่ต้องการ ถึงรถม้าก็เหมือนกัน ยับยั้งแต่พอควรดีกว่า อันตรายก็จะไม่มี ฤๅน้อยลง เพราะอยู่ในสามารถมนุษย์ทำได้ควรทำ

 

   สำหรับข้อนี้ ผู้เขียนอธิบายไว้อย่างละเอียดลออแล้วคือ สอนคนขับรถว่าไม่ให้ประมาทเลินเล่อ หรืออยากดัง ขับรถเร็วจนเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือรถม้าที่ใช้ในสมัยก่อน เพราะถ้าพลาดเพียงนิดเดียวก็อาจบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิตได้ และประการสำคัญ อย่าทำตัวเป็นคนโง่แล้วขยัน คือไม่มีความรู้เรื่องเครื่องยนต์ดีพอ และไม่ศึกษาให้ดีเสียก่อน พอเห็นเครื่องยนต์เสีย ก็พยายามซ่อมเอง ถอดไปถอดมาแล้วใส่คืนไม่ได้หมด กลายเป็นฝรั่ง (ญี่ปุ่น) ทำเกิน             


    สมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยม หลวงพ่อก็เคยเป็นอย่างนี้เหมือนกัน โยมพ่อซื้อรถจักรยานให้ขี่        ไปโรงเรียน พอมันเสีย เราก็คิดว่าน่าจะซ่อมเองได้ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เลยถอดออกเป็น     ชิ้น ๆ เสร็จแล้วใส่คืนไม่ได้ ต้องไปตามช่างมาประกอบให้ ทีนี้นั่งดูเขาด้วย พอดูแล้วคิดว่าเข้าใจดี คราวหน้าลองซ่อมเองอีก ก็ยังเหลืออีก ๒ - ๓ ชิ้น นี่ถ้าเป็นรถยนต์ก็คงเสียหายมากกว่านี้ และในฐานะที่เราเป็นคนขับรถ ก็อย่าสักแต่ว่าขับโดยไม่เอาใจใส่สภาพรถ หลวงพ่อจะสั่งคนขับรถเป็นนักเป็นหนาว่า ถ้ารู้สึกว่ารถผิดปกติให้รีบตรวจเช็กเสีย ถ้าเกินกำลังก็ให้ส่งเข้าอู่เช็ก อย่าไปดันทุรังใช้ ไม่ใช่ว่ามีเสียงดังแกร็ก ๆ มาเป็นอาทิตย์แล้ว ก็ยังปล่อยให้ดังอยู่อย่างนั้น เดี๋ยวไปตายเอากลางทางแล้วจะทำอย่างไร ดังนั้นอะไรก็ตามถ้ามีทีท่าว่าจะเสียหายแล้ว อย่าฝืนใช้ไป ยอมเสียเงินเข้าอู่ตรวจซ่อมเสียดีกว่า อย่าเข้าทำนองเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่ายเลย.. 

 


(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๓๙ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล