DOU ความรู้สากล
เรื่อง : พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
พระสถูปเจดีย์
คือ สัญลักษณ์แสดงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา
หลังจากที่พระพุทธศาสนาเสื่อมสูญจากอินเดียและไปเจริญรุ่งเรืองในต่างประเทศแล้ว ชาวอินเดียส่วนใหญ่ลืมศาสนสถานทางพระพุทธศาสนา ปล่อยให้รกร้างขาดการดูแล จนกระทั่งมีนักโบราณคดีทำการขุดค้นโบราณสถานต่าง ๆ ในอินเดีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๗๖๓ จึงทำให้ชาวพุทธในอินเดียและต่างประเทศเกิดความตื่นตัวในการช่วยกันฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นใหม่อีกครั้ง
ในปี พ.ศ. ๒๔๐๕ นักโบราณคดีชาวอังกฤษค้นพบซากเมืองโบราณขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “สาเหต-มาเหต” เมืองโบราณนี้เป็น ที่ตั้งของวัดพระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี ซึ่งลักษณะเจดีย์และพระวิหารที่ค้นพบที่เมืองนี้ สอดคล้องกับเรื่องราวในพุทธประวัติที่อ้างถึงหมู่กุฏิพระสาวก หมู่พระเจดีย์ และธรรมศาลาในสมัยพุทธกาล
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ดร.ฟูห์เรอร์ 1 ค้นพบหลักศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งปักอยู่ท่ามกลางทุ่งนา มีอักษรพราหมีบันทึกไว้ และแปลเป็นภาษาไทยว่า “พระเจ้าปิยทัสสี ผู้เป็นที่รักของทวยเทพ ครั้งครองราชย์ได้ ๒๐ พรรษา เสด็จมาด้วยพระองค์เอง ทรงทำสักการบูชา และรับสั่งให้ทำเสาศิลาเป็นรูป วิคฑะ เพื่อเป็นเครื่องหมายว่า “ณ ตรงนี้ พระพุทธเจ้า ผู้ทรงพระนามว่าศากยมุนี ได้ประสูติ ณ หมู่บ้านลุมพินี พระองค์รับสั่งให้ ยกเสาศิลาเพื่อประกาศว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประสูติ ณ ที่นี้”
ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๔๑ นายดับเบิลยู.ซี. เปปเป (William Claxton Peppe) ขุดค้นสถูปแห่งหนึ่ง ณ หมู่บ้านปิปราหวา (Piprahwa) ทางทิศใต้ของกรุงกบิลพัสดุ์ ได้พบพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรจุในผอบ ซึ่งมีแผ่นจารึกเป็นภาษาพราหมี มีความหมายว่า “พระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้รับการบรรจุเอาไว้ โดยกษัตริย์ศากยะ
พระประยูรญาติของพระพุทธองค์” สถูปนี้เป็นสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ ใน ๘ แห่ง ซึ่งรับส่วนแบ่งมาจากนครกุสินารา ในครั้งที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ หลังจากค้นพบแล้ว ท่านมาเควส เคอร์สัน อุปราชผู้ครองอินเดียสมัยนั้น ซึ่งเป็นผู้มีความคุ้นเคยกับรัชกาลที่ ๕ ของไทย ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุที่ค้นพบมาให้ประเทศไทยด้วย ต่อมารัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์ทองสำริดเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนี้ไว้ที่ยอดพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร
นักโบราณคดียังค้นพบพุทธสถานอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งที่สร้างในสมัยพุทธกาลและยุคถัดมา เฉพาะในรัฐโอริสสาพบว่า “มีพุทธสถานโบราณอยู่ถึง ๑๒๘ แห่ง”
การสร้างพุทธศาสนสถาน เช่น การสร้างวัดหรือพระสถูปเจดีย์ ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการยืดอายุพระพุทธศาสนา ทั้งนี้เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสาวกนั้นดำรงอยู่ไม่นาน แต่ศาสนสถานที่สร้างไว้จะยังคงดำรงอยู่ เพื่อยืนยันคำสอนของพระองค์ตราบกระทั่งปัจจุบัน แม้กาลเวลาจะผ่านไปจนกระทั่งศาสนสถานเหล่านั้นอาจจะผุพังเหลือแต่ซากก็ตาม แต่สิ่งนี้ก็เป็นหลักฐานที่ยืนยันความมีอยู่จริงของพระพุทธองค์ ทำให้รู้ได้ว่าคำสอนในพระไตรปิฎกเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เป็นเพียงตำนานที่แต่งขึ้น และยังเป็นการแสดงถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา การค้นพบ วัดพระเชตวันหรือศาสนสถานสำคัญ ๆ เหล่านี้ จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการทำให้พระพุทธศาสนาสูงเด่นเป็นสง่าขึ้น และเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวพุทธหันมาฟื้นฟูพระพุทธศาสนาอีกครั้ง
สำหรับในประเทศไทยของเรา นอกเหนือจากการให้ความสำคัญกับการศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีสำนักเรียนทั้งนักธรรม บาลี พระอภิธรรม หรือมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ที่มุ่งเน้นให้การศึกษาทางด้านพระพุทธศาสนาแล้ว เรายังช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาด้วยการสร้างศาสนสถาน คือ วัดวาอาราม รวมถึงพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระบรมธาตุของพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังที่พระเทพญาณมหามุนีมีดำริให้สร้างมหาธรรมกายเจดีย์ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมใจของชาวพุทธ รวมทั้งการช่วยกันสร้างเจดีย์น้อยดอยสวรรค์ ณ วัดแม่ขิง จ.เชียงใหม่ หรือการอัญเชิญพระบรมธาตุไปประดิษฐาน ณ พุทธอุทยานนานาชาติ จังหวัดหนองคาย ก็เป็นการสร้างพุทธสถานเป็นศูนย์รวมใจให้มนุษย์และเทวาได้กราบไหว้ และเป็นการปักหลักสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาสืบต่อไป..
สำหรับผู้สนใจศึกษาเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจของพระพุทธศาสนา ศึกษาได้ที่มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย รายวิชา GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา