วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ วิสาขบูชา วันสำคัญของชาวโลก

ข้อคิดรอบตัว
เรื่อง : พระมหาสมชาย ?านวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D.) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC

 

 


วิสาขบูชา วันสำคัญของชาวโลก

 


แก่นแท้ของวันวิสาขบูชา คือ อะไร?


    คนทั่วไปมองว่า วันวิสาขบูชาซึ่งเป็นวันที่     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เป็นวันพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งก็ถูก แต่ถ้าจะให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเราจริง ๆ วันวิสาขบูชาควรเป็นวันที่เราพิจารณาตัวเองว่า ขณะนี้เรากำลังดำเนินชีวิตไปในเส้นทางใด แล้วเส้นทางนั้นจะนำเราไป    สุคติโลกสวรรค์หรือไปอบาย 


    การตรวจสอบว่า เรากำลังเดินถูกทางหรือ     ไม่ ทำได้โดยการเทียบกับบุคคลที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลก คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนกับเวลาเราเจอของชิ้นหนึ่งที่มีลักษณะกลม ๆ ซึ่งเราไม่รู้ว่ากลมจริงหรือเปล่า แต่เมื่อเอาของที่กลมดิ๊กมาเทียบ เราก็จะรู้เลยว่า ของนั้นกลมหรือเบี้ยว เช่นเดียวกัน คนทั่วไปมักเข้าใจว่า แม้ตนเองไม่ได้เข้าวัด แต่ก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ถือว่าใช้ได้แล้ว ซึ่ง      ความคิดแบบนี้ถือเป็นความประมาทอย่างยิ่ง แต่ถ้าเราดูเส้นทางการสร้างบารมีของบุคคลต้นแบบ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะพบว่า ทางที่เราเดินอยู่ตอนนี้ถูกหรือไม่ ถูกกี่เปอร์เซ็นต์ 


    ดังนั้น วันวิสาขบูชานอกจากเป็นวันของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังเป็นวันที่เราควรจะดูพระองค์ในฐานะบุคคลต้นแบบ แล้วพยายามดำเนินตามรอยบาทพระบรมศาสดา ถ้าอย่างนี้ชีวิตของเราจะมีแต่ความสุข ความสำเร็จ และความสว่างไสวทั้งภพนี้ภพหน้าตลอดไป 


เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ทรงเดินได้ถึง ๗ ก้าว เหตุการณ์นี้เป็นจริงหรือไม่?


    เรื่องนี้บางท่านคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่พระราชกุมารที่เพิ่งประสูติจะทรงเดินได้ เพราะเด็กทั่วไปก็ยังเดินไม่ได้ นี้คือการคิดตามวิสัยคนทั่วไป แต่พระบรมโพธิสัตว์สร้างบารมีมาถึง ๒๐       อสงไขยกับแสนมหากัป บารมีเต็มเปี่ยมแล้ว เราเอาความคิดอย่างคนธรรมดาไปใช้กับพระองค์ไม่ได้ เมื่อประสูติแล้วทรงเดิน ๗ ก้าวจริง ๆ และมีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับจริง ๆ พอครบ ๗ ก้าว  พระราชกุมารก็ทรงชูนิ้วขึ้นหนึ่งนิ้ว แล้วทรงเปล่งอาสภิวาจา (วาจาอันยิ่งใหญ่) ว่า “เราเป็นผู้เลิศที่สุดในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ภพนี้เป็นภพสุดท้าย ภพใหม่สำหรับเราไม่มีอีกแล้ว” อาสภิวาจาที่ทรงกล่าวมานี้สะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุ และบันทึกเอาไว้ทั้งในคัมภีร์พุทธประวัติ และพระไตรปิฎกของบาลีเถรวาท พระไตรปิฎกฉบับจีน        ฉบับญี่ปุ่น ข้อความนี้ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่า “เทนโจวเทนเกะ ยุยงะอิจิเนียว” แปลว่า “ทั้งบนฟ้า คือในมวลหมู่เทพยดาทั้งปวง และใต้ฟ้า คือบรรดามวลมนุษย์ เราเป็นหนึ่งในโลก” ของภาษาจีนออกเสียงไม่เหมือนกัน แต่ตัวหนังสือตัวเดียวกัน 


    ในโลกนี้ยังมีสิ่งที่เราพิสูจน์ไม่ได้หรืออธิบายไม่ได้อีกมากมาย ตัวอย่างเช่น คนทรงที่ภูเก็ตเวลาเทศกาลกินเจ เขาเอาหอกแทงเข้าไปในปาก เดินลุยไฟ ปีนบันไดดาบ ฯลฯ วันรุ่งขึ้นแผลก็หาย แบบนี้หมอจะอธิบายอย่างไร แต่ถ้าเราทำอย่างนั้นบ้าง บางทีเดือนหนึ่งยังไม่หายเลย แค่คนทรงยังสามารถทำสิ่งที่มนุษย์สามัญทำไม่ได้ อย่าว่าแต่พระบรมโพธิสัตว์ซึ่งสูงส่งกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นขอให้ตรองดี ๆ ก่อนที่จะสรุปอะไร


ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ทำไมต้องบำเพ็ญทุกรกิริยาถึง ๖ ปี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ต้องบำเพ็ญทุกรกิริยาแบบนี้หรือไม่? 


    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบางพระองค์ไม่ต้องบำเพ็ญทุกรกิริยาและแสวงหาโมกขธรรมนาน              ถึง ๖ ปี บางพระองค์แค่ ๗ วัน บรรลุธรรมเลยก็มี ส่วนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราที่ต้องบำเพ็ญทุกรกิริยาถึง ๖ ปี กว่าจะตรัสรู้ธรรม เป็นเพราะวิบากกรรมที่ทำมาในอดีตชาติ เรื่องมีอยู่ว่า         ชาติหนึ่งพระองค์ฉลาดมาก พอไปเห็นคนที่ไม่ฉลาดก็ดูถูกเขาว่าหัวทึบ วิบากกรรมจึงติดตามตัวมา ขนาดชาติสุดท้ายจะตรัสรู้ธรรมแล้วยังต้องบำเพ็ญทุกรกิริยาตั้ง ๖ ปี ลำบากแสนสาหัสกว่าจะตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณได้ 


อริยสัจ ๔ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุคืออะไร?


    อริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เริ่มจาก ทุกข์ ก็คือ ความทุกข์ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ซึ่งทุกคนต้องเจอแน่นอน ไม่มีใครไม่เกิด เมื่อเกิดมาแล้วทุกคนก็ต้องแก่       และต้องตายในที่สุด และยังมีทุกข์จรอีก เช่น ความเจ็บไข้ได้ป่วย การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก      ความไม่สบายกายไม่สบายใจต่าง ๆ สารพัดอย่าง 


    ความทุกข์มีสาเหตุมาจากอะไร? พระองค์ทรงพบว่า สมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์ ได้แก่ ตัณหา ความทะยานอยาก เพราะมีความทะยานอยากจึงเกิดทุกข์ ถ้าไม่ทะยานอยากก็ไม่ทุกข์ ตัณหาความทะยานอยากแบ่งเป็น ๓ อย่าง คือ “กามตัณหา” ความอยากได้ “ภวตัณหา” ความอยากเป็น และ“วิภวตัณหา” ความอยากที่จะไม่เป็นนั่นเป็นนี่ 


    พระองค์ทรงดูต่อไปว่ามีทางพ้นทุกข์หรือไม่ ก็ทรงเจอว่ามีสภาวะที่เรียกว่า นิโรธ คือ            ความดับหรือความหยุด นี้แหละเป็นทางพ้นทุกข์ 


    แล้วทำอย่างไรจะไปสู่ทางพ้นทุกข์ได้ ก็ต้องอาศัย มรรค คือ มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ สัมมาทิฐิ เห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ สัมมาสติ มีสติชอบ และสัมมาสมาธิ มีสมาธิชอบ มรรคมีองค์ ๘ คือ เส้นทางสายกลางที่หลีกเลี่ยงจากทางสุดโต่ง ๒ สาย คือ การหมกมุ่นในกามคุณ (กามสุขัลลิกานุโยค) อันนี้หย่อนเกินไป ส่วนการทรมานตัวเอง (อัตตกิลมถานุโยค) ก็ตึงเกินไป     ต้องเดินตามเส้นทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) โดยอาศัยอริยมรรคมีองค์ ๘  ถึงจะเป็นหนทางสู่การพ้นทุกข์ได้จริง 


    เนื่องจากอริยสัจ ๔ เป็นธรรมที่เป็นแกนกลาง เราจึงยกสิ่งนี้ขึ้นมากล่าว แต่ในความเป็นจริงเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกไม่เฉพาะอริยสัจ ๔ แต่ทั้งขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท ทรงรู้หมด อีกทั้งสรรพความรู้ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้ โลกหน้า อดีต ปัจจุบัน อนาคต นรก สวรรค์ นิพพาน ทรงรู้หมด ทรงมีพระสัพพัญญุตญาณ คือ ญาณทัสนะที่หยั่งรู้ความจริงของโลกและชีวิตทั้งมวล คือ รู้ทุกสรรพสิ่งในโลก ธรรมะใน          พระไตรปิฎกที่พระองค์ทรงสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ไม่ใช่คิดไปสอนไป ความรู้ทุกอย่างที่ทรงสอนตลอด ๔๕ พรรษา เกิดขึ้นพรึ่บเดียวตั้งแต่ตอนตรัสรู้ธรรมแล้ว นี้คือความแตกต่างระหว่างการรู้โดยใช้ความคิดกับการเห็นแจ้งด้วยญาณทัสนะจากสมาธิ


    คนทั่วไปรู้โดยใช้ความคิด นักวิทยาศาสตร์อยากจะรู้อะไรก็ตั้งสมมุติฐาน แล้วตั้งกระบวนการวิจัย ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล สุดท้ายก็สรุปเป็นคำตอบ บางทีนึกว่าถูกแล้ว แต่อีก ๕๐ ปี บอกว่าผิด ยกเลิกทฤษฎีเก่า ตั้งทฤษฎีใหม่ขึ้นมา แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นแจ้งด้วยญาณทัสนะ         จากสมาธิ ไม่ได้เกิดจากความคิด เป็นความรู้ระดับที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา คือ ความเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยญาณทัสนะ ความรู้อย่างนี้ถูกตลอด ไม่มีผิด และเป็นอกาลิโก ไม่ขึ้นกับกาลเวลา จะกี่ล้านปีก็ถูกตลอด แล้วก็รู้หมดในเวลาแค่พรึ่บเดียว 


    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ที่มีคำตอบมากกว่าปัญหา ชีวิตพระองค์ไม่มีปัญหา เพราะทุกปัญหามีคำตอบหมดแล้ว เวลามีใครไปกราบทูลถามปัญหา พระองค์ทรงตอบได้ทันที เช่น         มีผู้ถามว่า อะไรเป็นมงคลแห่งชีวิต? พอถามจบก็ทรงตอบครบ ๓๘ ข้อ รวดเดียวจบ ถ้าหากใช้    ความคิด ถามปุ๊บตอบปั๊บไม่ได้แน่ แต่พระองค์ทรงตอบทันที และทรงจัดเป็นหมวดหมู่ เรียงลำดับขั้นตอนเรียบร้อย แล้วกี่ล้านปีก็ถูกอย่างนั้นตลอดกาล เพราะทั้งหมดเกิดจากการเห็นแจ้งด้วย      ญาณทัสนะ คำตอบมีรออยู่แล้ว ใครถามก็ตอบได้เลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ในวันวิสาขบูชาใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ก็คือความจริงของโลกและชีวิตทั้งมวลนั่นเอง


ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักธรรมอะไรไว้? 


    ในวันสุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงฝากปัจฉิมโอวาทไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด” พูดง่าย ๆ ว่า เราต้องแก่ ต้องตายแน่นอน เพราะฉะนั้นอย่าประมาท จะไม่ประมาทต้องทำอย่างไร ต้องเร่งบำเพ็ญประโยชน์ตน คือ ตั้งใจสร้างความดีให้เต็มที่ ทั้งทาน ศีล ภาวนา ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา และให้บำเพ็ญประโยชน์ท่านด้วย คือต้องแนะนำคนอื่นให้ทำความดีตามไปด้วย ถ้าทำอย่างนี้ได้ ชื่อว่าไม่ประมาท ใครไม่ทำอย่างนี้ยังประมาทอยู่ 


    จะเห็นได้ว่าชีวิตของพระองค์งามพร้อม เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งมหาชนจริง ๆ ขนาดกำลังจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน มีผู้มาขอเข้าเฝ้ากราบทูลถามปัญหาธรรมะ พระสาวกไม่ให้เข้าไปรบกวน พระองค์ทรงทราบก็อนุญาตให้เข้าเฝ้า แล้วทรงสอนธรรมะจนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เรียกว่าตลอด ๔๕ พรรษา ทรงบำเพ็ญประโยชน์โดยการสอนชาวโลกให้พ้นทุกข์จริง ๆ 


ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลกอยู่ที่ประเทศไทย คนไทยควรทำอย่างไรในฐานะชาวพุทธ?


    การเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลกนั้น ไม่ได้เป็นเพราะการประกาศ ซึ่งเป็นแค่เปลือก แต่ถ้าจะดูที่แก่น เราต้องนึกว่า ธรรมชาติของน้ำย่อมไหลจากที่สูงลงไปที่ต่ำ การที่เราจะเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลกได้ กระแสพุทธธรรม วัฒนธรรมชาวพุทธ จะต้องหลั่งไหลจากประเทศไทยไปสู่นานาอารยประเทศ นั่นคือพระพุทธศาสนาในประเทศไทยต้องเจริญรุ่งเรือง          ชาวพุทธต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมให้เป็นแบบอย่างแก่ชาวโลก ให้เกิดเป็นสามัญสำนึกของคนทั้งโลกว่า ถ้าอยากจะศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาก็ต้องมาประเทศไทย จะเรียนปริยัติต้องมาประเทศไทย จะปฏิบัติธรรมต้องมาประเทศไทย ถ้าอยากรู้ว่าชาวพุทธอยู่กันอย่างไรต้องมาดู        ชาวพุทธในประเทศไทย 


    แล้วตอนนี้วัตรปฏิบัติของเราเป็นแบบอย่างให้ชาวโลกได้หรือยัง? ถ้ามีคนอยากเรียนรู้        พระพุทธศาสนา อยากรู้ว่าเป็นชาวพุทธต้องทำอย่างไร พอเขามาถึงประเทศไทยแล้วเจอเรา            เราเป็นต้นแบบได้หรือ? ถ้าเป็นได้แสดงว่าเราเป็นคนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง         พระพุทธศาสนาของโลกจริง ๆ ถ้ายังไม่ได้ขอให้รีบตั้งใจปรับชีวิตของเราให้เป็นแบบอย่างให้ได้     ถ้าทำอย่างนี้ตัวเราเองก็จะได้ดีด้วย และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ชาวโลกได้ด้วย


ถ้าเราอยากเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเป็นไปได้หรือไม่?


    ฐานะของความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นฐานะกลางที่ทุกชีวิตมีโอกาสเป็นได้ ก่อนที่           พระโพธิสัตว์จะตั้งความปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็เป็นมนุษย์ธรรมดาเหมือนเรา           แต่เมื่อเจอภัยเรือแตก ต้องแบกมารดาลอยคอแหวกว่ายอยู่กลางมหาสมุทรตั้ง ๗ วัน ท่านก็คิดว่า      ชีวิตนี้เป็นทุกข์ เกิดแรงบันดาลใจตั้งความปรารถนาพุทธภูมิ มีความมั่นใจว่าต้องมีทางพ้นทุกข์     และจะต้องไปแสวงหาให้เจอให้ได้ เมื่อเจอแล้วจะไม่พ้นทุกข์คนเดียว จะเอาหนทางนั้นมาสอน      ให้คนทั้งโลกรู้ตาม พ้นทุกข์ตามไปด้วย 


    ผู้ใดตั้งความปรารถนาอย่างนี้ เราเรียกว่า พระโพธิสัตว์ คือ สัตว์ผู้ปรารถนาพระโพธิญาณ แต่ช่วงแรกยังเป็นอนิยตโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ที่ยังไม่เที่ยงแท้ว่าจะตรัสรู้ ยังอาจล้มเลิกความตั้งใจได้ พระโพธิสัตว์ที่เที่ยงแท้ต้องมีใจที่เด็ดเดี่ยวจริง ๆ กี่ภพกี่ชาติก็ไม่ยอมเลิกกลางคัน แม้บางชาติ     พลาดพลั้งขนาดไปตกนรก พอหลุดจากนรกขึ้นมาได้ก็ยังเดินหน้าสร้างบารมีต่อไป เมื่อบารมี        เต็มเปี่ยมก็จะพบกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วได้รับพุทธพยากรณ์ว่า บุคคลผู้นี้ต่อไปจะตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว เรียกว่า นิยตโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์     ที่เที่ยงแท้ จะบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน แต่กว่าจะถึงจุดนั้นได้ต้องสร้างบารมีนานมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ต้องสร้างบารมีนานถึง ๑๖ อสงไขยกัป เมื่อบุญในตัวเต็มที่แล้ว ได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว ก็ยังต้องสร้างบารมีต่อไปอีก ๔ อสงไขยกับแสนมหากัป จึงได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 


    ฉะนั้น พวกเราทุกคนมีสิทธิ์ แต่อยู่ที่ว่าเอาจริงหรือไม่ ตั้งใจเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวันนี้    ก็เป็นพระโพธิสัตว์แล้ว แต่บารมียังอ่อน ๆ เป็นอนิยตโพธิสัตว์ไปก่อน ถ้าสร้างไปตลอดชีวิต         ชาติหน้าบารมีก็จะแก่ขึ้นมาอีกนิด สร้างบารมีตลอดต่อเนื่องร้อยชาติ บารมีก็แก่ขึ้นมาอีกหน่อย สร้างอีกล้าน ๆ ชาติบารมีก็แก่ขึ้นเรื่อย ๆ จนได้เป็นนิยตโพธิสัตว์ แล้วสุดท้ายก็ตรัสรู้ธรรมเป็น       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เช่นเดียวกัน 


มีข้อแนะนำอย่างไรที่จะช่วยให้ทำความดีได้อย่างต่อเนื่อง? 


    ให้ดูอย่างวันพระ ที่ ๗ วันมีครั้งหนึ่ง เพราะว่าต้องเติมกำลังใจกันทุก ๗ วัน ไม่อย่างนั้น   อาจจะไปไม่รอด เหมือนชาร์จแบต ๗ วันครั้งหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ดูเหมือนแบตของมนุษย์คุณภาพอ่อนลง เพราะมีสิ่งที่ทำให้แบตรั่วเยอะ เช่น อบายมุขต่าง ๆ สื่อไม่ดีต่าง ๆ พลังงานที่สะสมเอาไว้รั่ว      ออกไปได้รอบด้าน ดังนั้นถ้าเราจะสำเร็จในการสร้างบารมีได้ เราต้องชาร์จแบตบ่อย ๆ โดยอาศัยกิจวัตรประจำวัน เช่น เช้าตื่นขึ้นมาสวดมนต์ แล้วอาราธนาศีล ๕ ก่อนออกจากบ้าน ย้ำทุกวันจะได้      ไม่พลาด กลางคืนก็ให้สวดมนต์แล้วนั่งสมาธิก่อนนอนทุกคืน ระหว่างกราบพระก็ให้เอาใจระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบครั้งที่หนึ่ง ระลึกถึงพระปัญญาธิคุณของพระองค์ กราบครั้งที่สอง      ระลึกถึงพระบริสุทธิคุณของพระองค์ กราบครั้งที่สาม ระลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์ อย่างนี้เป็นต้น แล้วตรวจสอบตัวเองทุกวันว่า วันนี้เราพลาดอะไรหรือไม่ ถ้าพลาดให้ปรับศูนย์ใหม่ พรุ่งนี้จะต้องไม่พลาด และต้องดูพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นแบบ ให้ทาน รักษาศีล ทำภาวนาทุกวัน โดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในใจ ถ้าอย่างนี้เราจะสามารถสร้างบารมีได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะเราชาร์จแบตทั้งเช้าทั้งเย็น ถ้าจะให้แน่ใจก็ทำอย่างที่หลวงพ่อท่านสอน ทุก ๑ ชั่วโมง ขอ ๑ นาที หลับตานิ่ง ๆ นาทีเดียวเท่านั้น เอาใจมาหยุดที่ศูนย์กลางกาย อย่างนี้ไม่พลาด


    วิสาขบูชาปีนี้ขอให้เป็นวันแห่งการตั้งหลักในการสร้างบารมีของพวกเราทุกคน สำรวจตัวเองอีกทีว่า วิถีชีวิตที่ดำเนินอยู่ทุกวันนี้ตรงตามแบบอย่างของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า การให้ทาน การรักษาศีล การเจริญสมาธิภาวนาของเราดีแล้วหรือยัง ถ้ายังให้เริ่มตั้งหลักใหม่ แล้ว
ชาร์จแบตบ่อย ๆ ทุกวัน ทั้งเช้าทั้งเย็น หรือถ้าชาร์จทุกชั่วโมงได้ก็ยิ่งดี 


วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ขอเรียนเชิญพุทธศาสนิกชนร่วมบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันวิสาขบูชา 
ร่วมพิธีบูชาข้าวพระ และพิธีอุปสมบทอุทิศชีวิตสามเณรเปรียญธรรม ณ วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๕๑ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล