เคลียร์ข่าววัด
เรื่อง : ร.ลิ่วเฉลิมวงศ์ Line ID : 0815660072
วัดพระธรรมกายสร้างใหญ่
ผิดหลักคำสอน พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือไม่
พระองค์สอนให้สมถะ ให้ทำอะไรเล็ก ๆ ไม่ใช่หรือ ?
ก่อนจะสรุปว่า “การสร้างวัดใหญ่” ผิดหรือถูก ก็อยากให้ลองเปิดพระไตรปิฎกศึกษาประวัติการสร้างที่ประทับของพระบรมศาสดาและการสร้างวัดในสมัยพุทธกาลกันเลยดีกว่า จะได้กระจ่างชัดว่าวัดพระธรรมกายสร้างใหญ่ผิดหรือไม่ ?
จากเรื่องราวที่ปรากฏใน พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏฯ อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พราหมณวรรควรรณนา เรื่องพระโชติกเถระ หน้า ๕๑๙-๕๕๒ ระบุไว้ชัดว่า...
ในสมัยที่ “โชติกเศรษฐี” เกิดเป็นบุรุษที่ชื่อ “อปราชิต” ได้สร้างที่ประทับที่มีความงดงามอลังการชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนถวายแด่พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า เฉพาะไม้ที่นำมาทำเสาทั้งหมดของวัดล้วนประดับตกแต่งอย่างวิจิตรด้วยแก้ว ๗ ประการ มีทั้งเสาทองคำ เสาเงิน เสาเพชรนิลจินดาชนิดต่าง ๆ จำนวนมาก อีกทั้งกระเบื้องทุกแผ่นที่นำมามุงหลังคาก็ไม่ใช่กระเบื้องธรรมดา เพราะฝังรัตนชาติประดับประดาลงไปจนเกิดความวิจิตรตระการตายิ่งนัก
เท่านั้นยังไม่พอ แม้กระทั่งหน้าต่างแต่ละบานล้วนประดับด้วยรัตนชาติทั้ง ๗ ประการด้วยเช่นกัน แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือ ส่วนที่เป็นยอดพระคันธกุฎีของพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทำด้วยทองคำสุกปลั่ง มีด้านปลายเป็นแก้วประพาฬ งามระยิบระยับจับใจ
ที่น่ารื่นรมย์อย่างที่สุดก็คือ บริเวณนอกหน้าต่างแต่ละบานปลูกดอกไม้ ๕ สี และสร้างสระโบกขรณีขนาดใหญ่ ๓ สระ ที่เต็มไปด้วยน้ำหอมที่สกัดจากพันธุ์พืชหอม เพื่อให้ส่งกลิ่นหอมรวยระรินเข้าไปในพระคันธกุฎีเวลาลมพัดที่สำคัญที่สุด ภายในพระคันธกุฎียังมี “แก้วมณีโชติรส” กลมใสขนาดใหญ่เท่าผลแตงโมส่องสว่างเรืองรอง จนเป็นข่าวขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ ทำให้ผู้คนแห่กันเข้ามาดู
นอกจากนี้ บริเวณนอกพระคันธกุฎีโดยรอบยังมีรัตนชาติโปรยบนพื้นสูงถึงเข่า เพื่อให้คนที่มาฟังธรรมหยิบรัตนชาติกลับบ้านไปถ้ารัตนชาติพร่องลง อปราชิตก็จะให้คนไปโปรยเช่นนี้ใหม่
พออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า แค่ที่ประทับของพระบรมศาสดายังสร้างด้วยวัตถุธาตุที่มีค่าสูงลิบขนาดนี้ คงจะมีขนาดเล็กนิดเดียวแน่ ๆ แต่พอมาดูหลักฐานที่ระบุไว้ในพระไตรปิฎก เราต้องตกใจทีเดียวเพราะพื้นที่เฉพาะภายในวิหารอย่างเดียวก็สามารถรองรับพระภิกษุที่มาเป็นเนื้อนาบุญได้ถึง ๖๘ แสนรูป (๖,๘๐๐,๐๐๐ รูป) ตลอด ๙ เดือน ในพิธีเฉลิมฉลองพระคันธกุฎีหลังจากสร้างเสร็จ
ตรงนี้คงต้องให้ผู้อ่านลองคำนวณพื้นที่เล่น ๆ ว่า ต้องใช้เนื้อที่เท่าไรในการรองรับพระจำนวนมหาศาลขนาดนี้ นี้แค่เพียงพื้นที่ในวิหารเท่านั้น ยังไม่รวมพื้นที่บริเวณที่สร้าง “กุญชรศาลา” ซึ่งเป็นศาลาประดับแก้ว ๙ประการ และยังไม่รวมพื้นที่ที่ขุดสระโบกขรณีขนาดใหญ่จำนวน ๓ สระ
จากหลักฐานตรงนี้ แสดงให้เห็นได้ว่า “วัดในสมัยพุทธกาล แค่พระคันธกุฎีซึ่งเป็นที่ประทับของพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีขนาดใหญ่กว่าที่มนุษย์ยุคนี้จะจินตนาการไปถึง” ซึ่งถ้าเทียบกับวัดพระธรรมกายแล้ววัดพระธรรมกายเล็กถนัดตาไปเลยทีเดียว !
และด้วยอานิสงส์จากการที่อปราชิตสร้างพระคันธกุฎีขนาดใหญ่วิจิตรอลังการจนดึงดูดผู้คนเข้าวัดจำนวนมหาศาลนี้เอง จึงทำให้เขาได้เกิดเป็น “โชติกเศรษฐี” เศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกในสมัยพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงขั้นเป็นเศรษฐีที่รวยกว่าพรราชา รวยกว่าอนาถบิณฑิกเศรษฐี และรวยกว่านางวิสาขาเลยทีเดียว
นอกจากพระคันธกุฎีที่โชติกเศรษฐีสร้างแล้ว มาดูการสร้างวัดในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราบ้าง จากหลักฐานที่ปรากฏใน อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน เถรสูตร หน้า ๙๑ พบว่า “วัดพระเชตวัน” ในกรุงสาวัตถี ซึ่งเป็นวัดที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีใช้เงินมากถึง ๕๔ โกฏิ ราว ๕๔๐ ล้านกหาปณะเลยทีเดียว ซึ่งใน ๕๔ โกฏินี้ แบ่งเป็นค่าซื้อที่ดิน ๑๘ โกฏิค่าก่อสร้าง ๑๘ โกฏิ ค่าจัดงานฉลอง ๑๘ โกฏิและใช้เวลาฉลองวัดอยู่นานถึง ๙ เดือน
หากศึกษากันให้ลึกลงไปอีก จะพบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่วัดนี้นานถึง ๑๙ พรรษา โดยทรงใช้วัดที่ใหญ่โตอลังการนี้เป็นที่ปักหลักวางรากฐานเพื่อเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่ศาสนาในยุคนั้น จนกระทั่งพระพุทธ-ศาสนาสืบทอดยาวนานมาถึงยุคของเราได้
ต่อมา เรามาค้นข้อมูลต่อในหน้า ๑๐๕ ของ อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบทปุปผวรรควรรณนา เรื่องนางวิสาขา เกี่ยวกับประวัติการสร้าง “วัดบุพพาราม” ในกรุงสาวัตถี ซึ่งนางวิสาขาสร้างถวาย โดยใช้เงินมากถึง ๒๗ โกฏิ เป็นค่าที่ดิน ๙ โกฏิ ค่าก่อสร้าง ๙โกฏิ ค่าจัดงานฉลอง ๙ โกฏิ
แต่เนื่องจากวัดนี้เป็นวัดที่มีปราสาทซึ่งมียอดทำด้วยทองคำ และมีความวิจิตรตระการตายิ่งนัก จึงเรียกปราสาทนี้ว่า “โลหะปราสาท” อีกทั้งบนยอดปราสาทยังสร้างเป็นที่จุน้ำได้ถึง ๖๐ หม้อ ในส่วนของโครงสร้างวัดก็มีจำนวนห้องถึง ๑,๐๐๐ ห้อง แบ่งเป็นชั้นล่าง ๕๐๐ ห้อง ชั้นบน ๕๐๐ ห้อง ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง ๙ เดือน ซึ่งวัดนี้พระบรมศาสดาทรงอนุญาตให้พระมหาโมคคัลลานะช่วยดูแลเรื่องการก่อสร้างเองเลยทีเดียว
ส่วน “วัดเวฬุวัน” ในกรุงราชคฤห์นั้นเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ที่พระเจ้าพิมพิสารถึงกับทรงยกพระราชอุทยานส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นที่ดินที่ดีที่สุดถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระวินัยปิฎก มหาวรรคภาคที่ ๑ หน้า ๑๑๗ พระไตรปิฎกฉบับมหา-มกุฎฯ)
จากหลักฐานการสร้างวัดในสมัยพุทธกาล ยังไม่เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตำหนิอปราชิต พระเจ้าพิมพิสาร อนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือนางวิสาขาเลยว่า “สร้างวัดใหญ่โตไม่สมถะ” มิหนำซ้ำพระองค์ยังทรงส่งเสริมการก่อสร้างอย่างจริงจัง ถึงขนาดทรงส่งพระมหาโมคคัลลานะไปดูแลการก่อสร้างให้
ที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่านั้นก็คือ พอนางวิสาขาขายเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ ซึ่งเป็นเครื่องประดับส่วนตัวที่มีค่าสูงลิบ เพื่อเอามาเป็นค่าก่อสร้างวัด พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่ทรงห้ามอะไรสักนิด อีกทั้งตอนที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีลงทุนถึงขนาดขนเงินที่มีทั้งหมดใส่กระบุงมาปูเรียงบนที่ดินที่จะซื้อต่อจากเจ้าเชตราชกุมารเพื่อเอามาสร้างวัด พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงตำหนิอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า “โอเวอร์” แต่ประการใดเลย หรือแม้กระทั่งกรณีของพระเจ้าพิมพิสารที่ทรงยกที่ดินที่ดีที่สุดให้สร้างวัด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ทรงห้ามแต่อย่างใด
ตรงกันข้าม เมื่อทุกคนสร้างวัดเสร็จพระองค์ทรงรับและอนุโมทนาชื่นชมในมหาทานบารมี อีกทั้งยังทรงเห็นด้วยกับการจัดงานฉลองวัดอย่างอลังการนานถึง ๙ เดือนติดต่อกัน
เมื่อทุกท่านอ่านมาถึงจุดนี้ อาจจะคิ้วชนกันสงสัยเพิ่มไปกว่าเดิมว่า “ทำไมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงสอนให้สมถะ ?”
แท้จริงแล้ว หากเราศึกษาพระไตรปิฎกอย่างถ่องแท้จริง ๆ จะพบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้พระภิกษุสมถะในเรื่องความเป็นอยู่ว่า..ให้ภิกษุเป็นผู้อยู่ง่ายเลี้ยงง่าย ให้รู้จักประมาณในเรื่องส่วนตัว แต่เรื่องส่วนรวมในการสร้างศาสนสถานเพื่อปักหลักพระพุทธศาสนาให้มั่นคงพระองค์ไม่ได้ทรงสอนให้สมถะ เพราะพระองค์ทรงต้องการเผยแผ่พระศาสนาให้กว้างไกลที่สุดต่างหาก
จากข้อมูลตรงนี้ ทำให้เห็นชัดแล้วว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงส่งเสริมชื่นชมอนุโมทนาเห็นด้วยกับการสร้างวัดใหญ่ ๆ จำนวนมาก เพราะยิ่งสร้างใหญ่ ก็จะยิ่งรองรับคนให้เข้าวัดปฏิบัติธรรมได้เยอะที่สุด เกิดประโยชน์ต่อคนจำนวนมากที่สุด และเมื่อมีคนเข้าวัดปฏิบัติธรรมมาก ผู้คนก็จะเป็นคนดีบรรลุธรรมตามพระองค์ได้โดยง่าย
ลองคิดดูเถิด หากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีนโยบายและทรงสั่งห้ามไม่ให้สร้างวัดใหญ่ แต่ทรงบอกว่าให้สร้างเป็นกระต๊อบเล็ก ๆ สมถะ ๆ มุงแฝกพอหลบฝนได้ก็พอป่านนี้ก็คงไม่เหลือซากหรือหลักฐานว่าเคยมีวัดในพุทธกาลตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน แล้วอย่างนี้อะไรจะเป็นโบราณวัตถุยืนยันว่า วัดในครั้งพุทธกาลมีจริง เกิดพระพุทธศาสนาขึ้นจริง
ภาพกุฏิจริงของพระเดชพระคุณของหลวงพ่อธัมมชโย(ขวา) ภาพกุฏิสามเณรวัดพระธรรมกาย(ซ้าย)
จากหลักการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ไว้ในเรื่องของการสร้างวัด วัดพระธรรมกายจึงทำตามมาโดยตลอด เพียงแต่ยังสร้างวัดได้ไม่วิจิตรประณีตใหญ่โตเท่าในสมัยพุทธกาลแค่นั้นเอง
ส่วนในเรื่องความเป็นอยู่ส่วนตัวของเจ้าอาวาส ท่านก็สร้างกุฏิแบบสมถะ เป็นกุฏิปูนขนาดเล็ก ๆ ๔ x ๓ เมตร เอาแค่พออยู่ได้เท่านั้น ภายในกุฏิไม่มีทีวี ไม่มีตู้เย็น มีเพียงเตียงไม้ ไม่ได้อยู่คฤหาสน์เหมือนที่ถูกใส่ร้ายบิดเบือนตัดต่อภาพใด ๆ เลย
ส่วนพระลูกวัดก็อยู่ตึกสงฆ์ ที่ต้องสร้างหลายชั้นเพื่อประหยัดพื้นที่ในแนวราบ ลองคิดดูเถิดว่า หากสร้างตึกตามแนวราบให้พระจำนวนมากเกือบ ๓ พันกว่ารูปอยู่ จะต้องใช้พื้นที่มากขนาดไหน ? อีกทั้งการพักอาศัยก็อยู่เป็นห้องรวมหลาย ๆ รูป จำวัดเรียงกันใช้ห้องน้ำรวมกัน ไม่มีรูปใดมีห้องส่วนตัว
ส่วนสามเณรก็อยู่กุฏิจากมุงด้วยแฝกจำวัดเรียงรวม ๆ กันหลาย ๆ รูปตามอัตภาพเช่นกัน
๑. วาติกัน ภาพจาก http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspxNewsID=9570000109874&Html=1&TabID=2&
๒. นครเมกกะ ภาพจาก http://pantip.com/topic/32764798
๓-๔. ภาพการรวมคน ๓.๕ ล้านคน ของผู้นำองค์กร Art of Living(ศาสนาฮินดู) ภาพจากhttps://www.facebook.com/TheArtOfLivingGlobal/
จากเรื่องราวทั้งหมดจะเห็นว่า การสร้างวัดใหญ่นอกจากไม่ผิดแล้วยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำอย่างยิ่ง อย่างศาสนาอื่นเขายังมีวิสัยทัศน์สร้างศาสนสถานให้ใหญ่โตอลังการกว่าศาสนาพุทธ ก็เพื่อรวมคนให้ได้มาก ๆ สร้างความเข้มแข็งและดำรงอยู่ให้ยาวนานที่สุดเช่นกัน
เช่น นครเมกกะของศาสนาอิสลามนครรัฐวาติกันของศาสนาคริสต์ และที่กำลังมาแรงคือ ท่านศรี ศรี ระวี แชงการ์ (Sri SriRavi Shankar) ผู้นำองค์กร Art of Livingของศาสนาฮินดู ที่สามารถรวมคนจากทั่วโลกได้ถึง ๓,๕๐๐,๐๐๐ คน จาก ๑๕๔ ประเทศและมีอาสาสมัครมาช่วยงานกว่า ๑๕,๐๐๐ คน
พอดูจากศาสนาอื่นแล้วรู้สึกสังเวชใจเมื่อย้อนกลับมามองประเทศไทย ทั้ง ๆ ที่เป็นเมืองพุทธแท้ ๆ ซึ่งนอกจากจะไม่ส่งเสริมการสร้างวัดใหญ่แล้ว กลับทำลายสถาบันสงฆ์อีกต่างหาก