วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ สยบคำถามดราม่า (Drama) กรณีวัดพระธรรมกาย..โปรยดอกไม้

เคลียร์ข่าววัด
เรื่อง : ร.ลิ่วเฉลิมวงศ์
Line ID : natchy1972

 

สยบคำถามดราม่า (Drama)
กรณีวัดพระธรรมกาย..โปรยดอกไม้

พอใกล้ช่วงธรรมยาตราทีไร ก็มีคนซูม (Zoom)
มาที่วัดพระธรรมกายเป็นกรณีพิเศษทุกครั้ง
แถมยิงคำถามเข้ามามากมายว่า..ทำไมต้องตั้งชื่อดอกไม้ใหม่ ?
เอาเงินไปทำบุญอย่างอื่นดีกว่าไหม ?
พระเหยียบดอกไม้ได้หรือ ?
ต้องลงทุนปลูกจริงจังเลยหรือ มันเวอร์ไปไหม ?

 

          แต่ไม่เป็นไร..ในเมื่อถามกันเข้ามา เราก็ตอบกันไป โดยไม่ได้หวังจะไปเปลี่ยนความคิดอะไรใครจริงจัง แต่แค่อยากให้ผู้อ่านได้มุมมองใหม่อีกด้าน ได้แลกเปลี่ยนความคิด เพราะเป็นการดีไม่ใช่น้อยเลย ที่เราจะได้รู้นอกเหนือจากสิ่งที่เคยรู้ !!!


        ทำไมถึงมีชื่อดอกไม้ที่เป็นคำเฉพาะ เช่น ดอกเบญจทรัพย์ ดอกทรัพย์บานชื่น ทำไมไม่เรียกแบบที่คนทั่วไปเขาเรียกกัน ?

         ก็คล้ายกับการตั้งชื่อไว้เพื่อเป็นปริศนาธรรม (Dharma Puzzle) ที่แฝงคำสอนที่เป็นธรรมะ เช่น “ดอกเบญจมาศ” ซึ่งเราจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ดอกเบญจทรัพย์” หมายถึง ทรัพย์ ๕ ประการ คือ รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ทิพยสมบัติ นิพพานสมบัติ

         แต่การที่เราจะมีทรัพย์ทั้ง ๕ ประการนี้ได้นั้น ก็ต้องประพฤติธรรม โดยการรักษาศีล ๕ (เบญจศีล = Five Basic Buddhist Precepts of Moral Practices) และประพฤติธรรม ๕ อย่าง ที่เรียกว่า เบญจธรรม (Five Dharma) คือ เมตตา สัมมาอาชีวะ ความสำรวมในกาม สัจจะ สติสัมปชัญญะ

        ส่วน “ดอกบานชื่น” ที่ปีนี้นำมาปลูกด้วย เราก็เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ดอกทรัพย์บานชื่น” โดยมีความหมายว่า การที่ชีวิตคนเราจะมีความชื่นอกชื่นใจ มีความเบ่งบาน มีความสุข และประสบความสำเร็จแบบนิรันดร์ได้นั้น ก็ต้องมีทั้งทรัพย์ภายนอกและภายใน ซึ่งทรัพย์ภายในนั้นก็คือ “อริยทรัพย์” และการเข้าถึงธรรม หมดกิเลสนั่นเอง...


  เอาเงินค่าปลูกดอกไม้เพื่อโปรยไปทำบุญอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือ..จะดีกว่าเอาดอกไม้มาให้พระเหยียบไหม ?

     ผู้เขียนเองก็เคยคิดประเด็นนี้เหมือนกัน เพราะสมัยก่อนที่ผู้เขียนยังไม่ได้ศึกษาพระไตรปิฎก เวลาไปทำบุญวัดไหนก็ตาม ผู้เขียนไม่เคยทำบุญด้วยดอกไม้หรือพวงมาลัยเลย เพราะคิดว่าเป็นสิ่งไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ แถมกินไม่ได้ เป็นสิ่งสิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุ แต่พอมาศึกษาธรรมะมากขึ้น มาค้นเจอว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เราทำบุญด้วยวัตถุทาน ๑๐ ประการ ซึ่งได้แก่ ข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อาศัยและประทีปโคมไฟ ซึ่งดอกไม้ก็เป็นหนึ่งในวัตถุทาน ๑๐ ประการนั้น

        แต่ถ้าศึกษาให้ลึกไปกว่านั้น มีเรื่องราวในพระไตรปิฎกจำนวนมากที่กล่าวถึงอานิสงส์ผลบุญของการโปรยดอกไม้ว่า..ส่งผลให้เกิดในตระกูลสูง ได้เป็นกษัตริย์ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดินับชาติไม่ถ้วน จนสุดท้ายก็บรรลุธรรมเลยทีเดียว จึงทำให้มีคนในยุคพุทธกาลจำนวนมากชอบทำบุญด้วยดอกไม้กัน

         อย่างใน มหาปรินิพพานสูตร ก็พบว่า ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพานที่เมืองกุสินารา ก็มีเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพากันมาบูชาพระองค์ด้วยดอกไม้ของหอมกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

         พอผู้เขียนได้รู้ข้อมูลตรงนี้ ก็รู้สึกขึ้นมาทันทีเลยว่า ที่ผ่านมาการที่เราไม่ยอมทำบุญประเภทนี้ เราพลาดแล้ว อีกทั้งพอหันมาดูหน้าตาตัวเองในกระจกก็เลยเข้าใจแล้วว่า ทำไมชาตินี้ถึงเกิดมาไม่สวย ก็คงเป็นเพราะอัธยาศัยการทำบุญด้วยของสวยงามเพื่อน้อมบูชาด้วยจิตประณีตเรามีมาน้อย

        ฉะนั้น เราต้องทำบุญให้ครบทุกอย่างถึงจะดีที่สุด คือ ทำทานด้วยวัตถุ ๑๐ ประการ รักษาศีล และทำสมาธิ เพื่อให้บารมีทั้ง ๑๐ ทัศเต็มบริบูรณ์ เราถึงจะมีบุญพอที่จะหมดกิเลสบรรลุธรรม


          ทีนี้มาตอบคำถามประเด็นพระเดินเหยียบดอกไม้

        แท้จริงแล้วพระเดินเหยียบดอกไม้ไม่ใช่สิ่งผิดประการใดเลย อีกทั้งยังมีหลักฐานยืนยันชัดเจนในอรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ รัตนสูตรในขุททกปาฐะ พรรณนารัตนสูตร, อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปกิณณกวรรคที่ ๒๑ ปกิณณกวรรควรรณนา ๑. เรื่องบุรพกรรมของพระองค์ ซึ่งเรื่องมีอยู่ว่า ในครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำเหล่าภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป ธรรมยาตราไปโปรดชาวเมืองเวสาลีในช่วงที่ประสบภัยพิบัติร้ายแรง ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารก็มีรับสั่งให้ปรับพื้นที่เส้นทางเสด็จและเตรียมการอย่างมโหฬาร อีกทั้งยังรับสั่งให้สร้างวิหาร ซึ่งใช้เป็นที่ประทับในทุก ๆ ๑ โยชน์

        ครั้นถึงวันที่พระพุทธองค์เสด็จ พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงตั้งขบวนรับเสด็จ โดยจัดให้มีการโปรยดอกไม้ ๕ สี โดยโปรยสูงถึงหัวเข่ากันทีเดียว เพื่อให้คณะของพระพุทธองค์เสด็จผ่าน ซึ่งถือว่าการต้อนรับในครั้งนั้นทำแบบอลังการงานสร้าง เพราะประชาชนทั้งเมืองต้องมาช่วยกันเพื่อไม่ให้ขาดตกบกพร่องเลยทีเดียว…


       ข้อมูลในพระไตรปิฎกมีแค่โปรยหรือถวายดอกไม้ใช่หรือไม่ ทำไมวัดพระธรรมกายถึงกับต้องลงทุนปลูกจริงจังเพื่อมาโปรยกันเลยหรือ มันเวอร์ไปไหม ?

     ในพระไตรปิฎกมีข้อมูลชัดเจนว่า การปลูกต้นไม้เป็นพุทธบูชามีจริง มากไปกว่านั้นยังทำกันจริงจังนานถึง ๕ ปีเลยทีเดียว ซึ่งนานกว่าการปลูกดอกไม้ที่วัดพระธรรมกายมาก ๆ เพราะวัดปลูกกันแค่เดือนกว่า ๆ เท่านั้น ดังเช่น เรื่องในอดีตชาติของ พระอสนโพธิยเถระ ที่ท่านเอาหน่ออ่อนต้นประดู่โพธิพฤกษ์มาปลูกเป็นพุทธบูชา เพื่อน้อมถวายพระติสสสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งท่านได้ประคบประหงมดูแลต้นไม้นั้นเป็นอย่างดีด้วยจิตเลื่อมใสยาวนานถึง ๕ ปี จนออกดอกบานสะพรั่ง


     ต่อมา พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์แก่ผู้ปลูกว่า จะเข้าถึงอานิสงส์ใหญ่อันไม่มีประมาณจักได้เสวยเทวสมบัติในเทวโลกตลอด ๓๐ กัป และจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๖๔ ครั้ง เมื่อเคลื่อนจากดุสิตพิภพแล้ว จักรื่นรมยอยู่ในความเป็นมนุษย์ ผู้นั้นมีใจแน่วแน่เพื่อความเพียรสงบระงับ ไม่มีอุปธิ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว
จักไม่มีอาสวะ ได้บรรลุพระนิพพาน จะเป็นผู้สงบระงับในที่ทุกสถาน ด้วยบุญที่ปลูกต้นโพธิ์เป็นพุทธบูชา

      เมื่อผู้ปลูกได้ฟังอย่างนั้น ก็บังเกิดมหาปีติและตั้งใจทำบุญจนตลอดชีวิต หลังจากละโลกแล้วได้ท่องเที่ยวไปในสุคติโลกสวรรค์และมนุษย์ จนมาถึงสมัยพุทธกาล ก็ได้บังเกิดในตระกูลที่สมบูรณ์ด้วยสมบัติทุกสิ่งทุกอย่าง ถึงพร้อมด้วยศรัทธาแล้วบุญก็ส่งผลให้ออกบวชตอนอายุเพียง ๗ ขวบเท่านั้น และได้บรรลุพระอรหัตผลขณะปลงผมนั่นเอง [อ่านเพิ่มได้ที่พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ อสนโพธิยเถราปทานที่ ๑๐ (๖๐) ว่าด้วยผลแห่งการปลูกไม้โพธิ์]

       พอมาถึงบรรทัดนี้ หน้ากระดาษหมดพอดีดังนั้น..จะขอตอบเรื่องอานิสงส์การโปรยดอกไม้ในพระไตรปิฎกแบบจัดเต็มในฉบับหน้าแล้วกัน แต่ขอบอกว่า..น่าสนใจมาก ๆ อย่าลืมติดตามกันนะคะ...

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๙๒ เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๑

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล