วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๑๒)

อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.

 

ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

ตอนที่ ๑๒ : ตัวเลขที่น่าสนใจในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา...๕ / ๕๕ / ๓๐ / ๑,๐๐๓ / ๑๒๐,๐๐๐

       ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาภายหลังจากพระพุทธองค์ได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณมนุษย์และเทวดาทั้งหลายต่างได้รับอมตธรรม อันเป็นผลจากการบำเพ็ญบารมีอย่างยิ่งยวดของพระพุทธองค์เมื่อครั้งยังเป็นพระบรมโพธิสัตว์ ซึ่งมีตัวเลขที่น่าสนใจที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น “คลื่นลูกแรก” ของการปักหลักพระพุทธศาสนาในชมพูทวีป ตัวเลขที่ว่านี้ คือ ๕ / ๕๕ / ๓๐ / ๑,๐๐๓ / ๑๒๐,๐๐๐

            ตัวเลข คือ ปัญจวัคคีย์หรือนักบวช ๕ ท่าน มีท่านโกณฑัญญะ เป็นต้น สำหรับท่านโกณฑัญญะ ซึ่งในภายหลังได้รับการขนานนามว่า “พระอัญญาโกณฑัญญะ” นี้ มีบทบาทสำคัญยิ่งในฐานะของ “พยานในการตรัสรู้” ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเกิดอะไรขึ้นต่อพระพุทธศาสนา หากการแสดงธรรมในครั้งแรกไม่ปรากฏผู้บรรลุธรรม

        ตัวเลข ๕๕ คือ ยสกุลบุตรและสหายของท่านอีก ๕๔ ท่าน โดยยสกุลบุตรท่านนี้ ซึ่งในภายหลังคือ “พระยสะ” นับว่ามีคุณูปการยิ่งในการเผยแผ่ช่วงแรก เพราะมีท่านเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญ จึงทำให้มี “อุบาสก-อุบาสิกา” ผู้ขอถึงและเขาถึงพระรัตนตรัย อีกทั้งยังได้สหายท่านมาเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่ในช่วงแรกอีกด้วย

         ตัวเลข ๓๐ คือ ภัททวัคคีย์หรือราชกุมารทั้ง ๓๐ พระองค์ ซึ่งภายหลังจากที่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล และได้รับการอุปสมบทแล้ว จึงได้จาริกไปเผยแผ่ธรรมะ

          ตัวเลข ๑,๐๐๓ คือ ชฎิล ๓ พี่น้องและบริวาร มี “อุรุเวลกัสสปะ” เป็นผู้นำ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงใช้เวลาช่วงหนึ่งกับท่านอุรุเวลกัสสปะ ทั้งนี้เป็นเพราะท่านอุรุเวลกัสสปะเป็นอาจารย์ใหญ่ของท่านนทีกัสสปะ คยากัสสปะ และบริวาร อีกทั้งยังเป็นอาจารย์ที่นับถือของชาวเมืองมคธอีกด้วย

        ตัวเลข ๑๒๐,๐๐๐ คือ จำนวนชาวเมืองมคธในกรุงราชคฤห์ รวมทั้งพระราชาผู้ปกครอง คือ “พระเจ้าพิมพิสาร” ซึ่งภายหลังจากการฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ชาวเมือง ๑๑๐,๐๐๐ คน รวมทั้งพระเจ้าพิมพิสารได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล และชาวเมืองอีก ๑๐,๐๐๐ คน ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

       ชุดตัวเลขที่กล่าวมานี้ นอกจากช่วยให้เราจดจำเหตุการณ์ของ “คลื่นลูกแรก” ในการปักหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ยังมีความเชื่อมโยงที่น่าสนใจในแต่ละเหตุการณ์ อันจะทำให้เราสามารถนำไปเป็นแบบแผนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อีกด้วย ซึ่งเราจะมาดูในรายละเอียดกันในตอนต่อ ๆ ไป

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๙๒ เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๑

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล