วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หลวงพ่อตอบปัญหา : นิสัยมีความอดทนนั้นเป็นอย่างไร ?

หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

 

หลวงพ่อตอบปัญหา

         คำถาม : นิสัยมีความอดทนนั้นเป็นอย่างไร ?

         หลวงพ่อทัตตชีโว : เราได้พูดถึงนิสัยดี พื้นฐานของมนุษย์มาแล้ว ๒ ประการ คือ นิสัยมีความเคารพและมีวินัย คราวนี้มาถึงนิสัยดีพื้นฐานประการที่สาม นั่นคือ นิสัยมีความอดทน

         นิสัยอดทนคืออะไร คือ ไม่ท้อถอยในการประกอบคุณงามความดีทุกชนิด จึงทำให้เป็นผู้ไม่ยอมล้มเลิกกลางคันในการทำความดีทุกกรณี

         คำว่าอดทนนี้ มาจากคำว่า อด กับ ทน

         คราวใดประสบกับสิ่งที่อยากได้แต่ไม่ได้ คราวนั้นเรียกว่าต้องอด คราวใดไม่อยากได้แต่จำต้องได้ คราวนั้นเรียกว่าต้องทน

         อด คือ อยากได้แต่ไม่ได้ ทน คือ ไม่อยากได้แต่ต้องได้

         อดทน คือ การที่สามารถรักษาใจให้เป็นปกติ มีความหนักแน่น มั่นคง ไม่หวั่นไหวเมื่อถูกกระทำด้วยสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาหรือสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคอดทนจึงเป็นลักษณะของความยืนหยัด ไม่ท้อถอย ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใด ๆ เกิดขึ้น

         ลักษณะของความอดทนแบ่งได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ
         ๑. อดใจไม่ยอมล้มเลิกการทำความดี แม้ถูกบีบคั้น ข่มขู่
         ๒. อดใจไม่ลุ่มหลงทำความชั่ว แม้ถูกยั่วเย้า ยั่วยวน

         ความอดทนนั้นมีหลายระดับ ความอดทนในระดับที่สูงขึ้นยิ่งต้องอาศัยสติปัญญา ความรู้ความเข้าใจต่อโลกและชีวิตที่ถูกต้อง อาศัยคุณภาพใจที่บริสุทธิ์ สะอาด จึงจะมีความอดทนระดับที่สูงขึ้นไปได้

         ความอดทนทั้ง ๔ ระดับ ได้แก่

         ๑. ความอดทนต่อความลำบากตรากตรำ ต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย

         ๒. ความอดทนต่อทุกขเวทนาจากโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดกับตัวเอง ต้องอาศัยความทรหดอดทนทางร่างกายและแฝงไว้ด้วยความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่การงาน

         ๓. ความอดทนต่อการกระทบกระทั่ง ทนต่อความเจ็บอกเจ็บใจ ทนต่อคนที่อยู่ร่วมกันความอดทนประการนี้หนักหนาสาหัสกว่าความอดทน ๒ ประการแรก

        ๔. ความอดทนต่ออำนาจกิเลสที่ยั่วเย้ายั่วยวนใจ อดทนต่อความลุ่มหลงในอบายมุขความอดทนประการสุดท้ายนี้หนักหนาสาหัสที่สุด คิดดูว่าระหว่างถูกด่าแต่ไม่โกรธ กับถูกชมแต่ไม่ยิ้ม อย่างไหนยากกว่ากัน

        นิสัยดีที่เป็นพื้นฐานของนิสัยดี ๆ ทั้งหมดในโลกนี้ จะเป็นคุณูปการแก่ผู้ประพฤติให้ประสบแต่ความสุข ความสำเร็จ ความสมปรารถนาในชีวิต

        นิสัยดีเหล่านี้จะได้มาจากไหน ไม่มีใครมอบให้แก่กันได้ ไม่อาจจะซื้อขายแลกเปลี่ยนกับอะไร แต่นิสัยดีเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จากการที่มีครูผู้รู้ให้การอบรม แนะนำฝึกหัดให้เราได้ฝึกฝนด้วยตนเองให้แกร่งกล้าขึ้นมาเป็นลำดับ ๆ ผู้ใหญ่ผู้ปกครองก็มีหน้าที่อบรมบ่มนิสัยสร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็ก ๆ เยาวชนลูกหลานมีโอกาสทำความดีบ่อย ๆ สม่ำเสมอ ไม่เปิดโอกาสให้ทำนิสัยไม่ดี

        ธรรมชาติของนิสัยนั้น ถ้าอะไรที่เป็นนิสัยแล้ว เมื่อสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมเอื้อให้ทำอย่างไร ก็อดไม่ได้ที่จะทำนิสัยนั้นตามที่เคยทำ ถ้าไม่ได้ทำก็จะเกิดความไม่สบายใจ รู้สึกหงุดหงิด ไม่ว่าจะเป็นนิสัยดีหรือนิสัยไม่ดีก็ตาม

        ถ้าจะเลิกนิสัยไม่ดีต้องปล่อยให้อดทำ ปล่อยให้หงุดหงิดไป อย่ายอมอ่อนข้อให้ ต้องห่างจากนิสัยนั้นไป ไม่ทำอีก บ่อย ๆ เข้านิสัยนั้นก็จะซาลงไป ก็จะเลิกนิสัยนั้นไปได้

        ถ้าเป็นนิสัยดี ๆ ต้องสนับสนุน อย่าหยุดทำ ให้โอกาสทำนิสัยดีนั้นบ่อย ๆ ใครมีนิสัยดี ๆ ต้องให้เกียรติเขา ยกย่องเขา เขาจะได้ทำต่อ ในที่สุดเขาจะได้นิสัยดี ๆ นั้นอย่างถาวร ช่วยกันทำอย่างนี้แล้ว ก็จะได้มีมนุษย์ต้นแบบความดีเดินให้เห็นบนโลกมนุษย์กันมาก ๆ

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๙๒ เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๑

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล