ทบทวนบุญ
เรื่อง : มาตา
กฐิน
มหากุศล มหากาลทาน
ก่อนแสงแรกในวันอาทิตย์ต้นเดือนพฤศจิกายนจะสาดส่อง ผู้มีบุญจำนวนมากพากันมุ่งหน้าไปยังวัดพระธรรมกายด้วยใจที่เบิกบาน มีชีวิตชีวา เพื่อร่วมพิธีทอดกฐินสามัคคีบำรุงวัด ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการทอดกฐินครั้งที่ ๔๔ ของวัดพระธรรมกาย หลังจากก่อตั้งวัดมาเป็นเวลา ๔๘ ปีแล้ว
การทอดกฐิน ประเพณีคู่ชาติ คู่ศาสนา
การทอดกฐินเป็นประเพณีที่เคียงคู่ศาสนาพุทธมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล โดยมีจุดเริ่มเมื่อครั้งพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นพระภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ ๓๐ รูป มีศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ จึงออกเดินทางไปยังกรุงสาวัตถี แต่ขณะอยู่ระหว่างทางก็เข้าพรรษาเสียก่อน จึงต้องจำพรรษาที่เมืองสาเกต ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๖ โยชน์ ครั้นออกพรรษาแล้ว ก็รีบเดินทางไปเฝ้าพระพุทธองค์ แต่ระหว่างทางฝนตกหนัก ทำให้จีวรที่เก่าคร่ำคร่าของพวกท่านเปียกชุ่ม เปื่อยยุ่ย และเปรอะเปื้อนไปด้วยโคลนตม
พระบรมศาสดาทรงเล็งเห็นความยากลำบากของภิกษุทั้งหลาย จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสสามารถรับผ้ากฐินเพื่อนำมาผลัดเปลี่ยนได้ ซึ่งเป็นที่มาของประเพณีทอดกฐินมาจนถึงปัจจุบัน โดยเทศกาลทอดกฐินนี้สามารถจัดได้ในช่วงเวลา ๑ เดือน หลังจากวันออกพรรษาเป็นต้นไป คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ หรือตั้งแต่วันตักบาตรเทโวจนถึงวันลอยกระทง ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๕ ตุลาคม - ๒๒ พฤศจิกายน
ประเทศไทยเริ่มทอดกฐินตั้งแต่เมื่อไร ?
มีผู้สันนิษฐานว่า การทอดกฐินในประเทศไทยเกิดขึ้นตั้งแต่ศาสนาพุทธเริ่มแผ่ขยายเข้ามา แต่ที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนก็คือ ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ บันทึกไว้ว่า สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ชาวไทยมีการทอดกฐินในช่วงออกพรรษา โดยพากันจัดขบวนแห่เครื่องกฐินไปทอด ณ วัดในเขตอรัญญิกซึ่งอยู่นอกตัวเมือง
การทอดกฐินจึงเป็นประเพณีที่สำคัญคู่ชาติไทยมานานแล้ว อีกทั้งยังเป็นงานบุญสำคัญที่สุดงานหนึ่งในรอบปี ทำให้บางวัดมีผู้จองเป็นเจ้าภาพกฐินล่วงหน้านานหลายปี ตัวอย่างเช่น วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีผู้จองเป็นประธานเอกกฐินล่วงหน้าหลายร้อยปี โดยผู้จองกฐินมิได้คำนึงว่าตนจะได้เป็นผู้อัญเชิญผ้ากฐินหรือไม่ หวังเพียงมหากุศลที่จะเกิดขึ้นจากการทอดกฐินบำรุงพระพุทธศาสนาเท่านั้น
พิธีทอดกฐินสามัคคี ณ วัดพระธรรมกาย
หลังจากรอคอยกันมานานถึงหนึ่งปี วันอาทิตย์ที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๑ วัดพระธรรมกายก็จัดพิธีทอดกฐินประจำปี ซึ่งวันนี้มีพุทธศาสนิกชนผู้รักบุญและรู้คุณพระศาสนาเดินทางไปร่วมพิธีอย่างคับคั่ง ทั้งนี้เพื่อสั่งสมบุญ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และสืบทอดประเพณีอันดีงามซึ่งมีมาแต่ครั้งพุทธกาลไปสู่อนุชนรุ่นหลัง
ตลอดวันอันเป็นมงคลนี้ มีกิจกรรมบุญตั้งแต่เช้าจรดเย็น คือ ในช่วงเช้ามีพิธีตักบาตรและพิธีบูชาข้าวพระที่สภาธรรมกายสากล ส่วนพิธีทอดกฐินจัดในช่วงบ่าย โดยมีผู้ร่วมขบวนกฐินยาวเหยียด
ในช่วงเย็นมีพิธีกรานกฐิน ณ อุโบสถ ตามพระธรรมวินัย ซึ่งในช่วงนี้ สาธุชนผู้มีบุญทั้งหลายต่างแยกย้ายกันไปเอาบุญตามอัธยาศัย เช่น ไปสวดธรรมจักรที่มหารัตนวิหารคด ไปบูชาเจดีย์ หรือเวียนประทักษิณรอบพระมหาธรรมกายเจดีย์ เป็นต้น
กฐิน มหากุศล มหากาลทาน
เนื่องจากการทอดกฐินเป็นทั้งสังฆทาน และกาลทาน (๑ ปีมีครั้งเดียว) ทั้งยังมีความพิเศษอีกหลายประการ เช่น เป็นทานที่เกิดจากพระบรมพุทธานุญาต คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้มีการถวายผ้ากฐินแด่พระภิกษุด้วยพระองค์เอง ดังนั้นผู้ทอดกฐินและผู้มีส่วนร่วมทั้งด้วยการบริจาคทรัพย์ บริจาควัตถุสิ่งของ หรือขวนขวายช่วยจัดงานย่อมได้อานิสงส์ผลบุญมหาศาลติดตัวไปเป็นเสบียงบุญที่จะคอยส่งผลดลบันดาลให้บังเกิดความสุขความสำเร็จแก่ชีวิตข้ามภพข้ามชาติ ที่สำคัญ ผู้ถวายผ้าไตรจีวรเพื่อทอดกฐินนั้น ในพระไตรปิฎกแสดงอานิสงส์ไว้ด้วยว่า เมื่อบุญเต็มเปี่ยมแล้ว หากเป็นชายจะได้บวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ประทานการบวชให้ และจะมีจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์มาสวมกายในทันที หากเป็นหญิงจะได้เป็นเจ้าของเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ ซึ่งสุดแสนงดงามอลังการและมีค่ามหาศาลยิ่งกว่าเครื่องประดับใด ๆ ...
คณะผู้แทนประธานใหญ่กฐินสามัคคีประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ นำโดยกัลยาณมิตรภรณี ศรีพลแผ้ว
และกัลยาณมิตรศิริพร ศรีพลแผ้ว ร่วมกันอัญเชิญผ้าไตรเข้าสู่ศูนย์กลางพิธี
“ความดีทำเพียงครั้งเดียวแต่ระลึกได้หลายครั้ง และทุกครั้งที่ระลึกถึงจะนำมาซึ่งความปีติและความภาคภูมิใจ เป็นสุขใจที่ได้ระลึกนึกถึง ได้พูดถึง ได้เล่าสู่กันฟัง”
โอวาทหลวงพ่อธัมมชโย
วันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
“ผลของบุญมีจริง นรกสวรรค์มีจริง โดยเฉพาะบุญที่ทำในพระพุทธศาสนานั้นมีผลมากจริง ๆ”
โอวาทหลวงพ่อธัมมชโย
วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
พระภิกษุสงฆ์ผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส ณ วัดพระธรรมกาย
ร่วมพิธีกรานกฐินในอุโบสถ