บทความพิเศษ
เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI
หลักฐานธรรมกาย
ในคัมภีร์พุทธโบราณ
(ตอนที่ ๓๘)
ธรรมกายในสุวรรณประภาสสูตร
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ข่าวคราวเกี่ยวกับการเข้าช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชนและโค้ชของทีมฟุตบอล “หมูป่าอะคาเดมี”ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง “ขุนน้ำนางนอน” จังหวัดเชียงรายนั้น กลายเป็นข่าวที่โด่งดังไปทั่วโลกซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดกระแสความสนใจไปทั่วโลกอย่างหนึ่ง นอกจากการเกิดความตื่นตัวในการระดมสรรพกำลังของนานาประเทศเข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างอบอุ่นแล้วก็คือการเกิดกระแสความสนใจที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการใช้หลักสมาธิและการปฏิบัติธรรมเข้ามาบรรเทาปัญหา “วิกฤตติดถ้ำ” ในครั้งนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งที่เราชาวพุทธควรปลื้มใจ และควรอาศัยกระแสนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาค่านิยมและวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาให้เข้มแข็งและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น อาทิ การนำเอาพระสูตรหรือหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนบทสวดที่สำคัญต่าง ๆ มาประยุกต์เป็นหลักในการดำเนินชีวิต หรือนำมาประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น
ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล
นักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI)
เช่นเดียวกับที่ ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล นักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI)ที่ได้มุ่งมั่นศึกษาวิเคราะห์ความสำคัญของพระสูตรชื่อ “สุวรรณประภาสสูตร”1 ซึ่งเนื้อหาหลักของพระสูตรนี้ ดร.ชนิดากล่าวว่าเป็นการสรรเสริญพระพุทธคุณและการสร้างบารมีของพระบรมโพธิสัตว์เป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งคุณของพระสูตรเองว่ามีความละเอียดลึกซึ้ง เป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงแสดงไว้ ทรงสอดส่องดูแล และทรงเข้าถึง เป็นพระสูตรที่เหล่าพระโพธิสัตว์และเหล่าเทวดาต่างน้อมสักการบูชา เป็นต้น ทั้งนี้หากใครได้ศึกษา ทรงจำ สาธยายนำไปแสดง หรือฟังพระสูตรด้วยความตั้งใจก็ดี ย่อมก่อให้เกิดอานิสงส์อันยิ่งใหญ่นานัปการ นอกจากนี้ยังมีหลายบทหลายตอนที่กล่าวถึงการที่เทพต่าง ๆ เช่น ท้าวจตุโลกบาล (บทที่ ๗)
ศรีมหาเทวี (บทที่ ๙) เทพทฤฒาผู้ดูแลรักษาแผ่นดิน (บทที่ ๑๑) หรือมหาเสนาบดียักษ์ (บทที่ ๑๒) จะคอยคุ้มครองดูแลปกปักรักษาพระภิกษุผู้สาธยายพระสูตรหรือแสดงธรรมด้วยพระสูตรนี้ รวมทั้งปกปักรักษาพุทธศาสนิกชนที่มาฟังธรรมหรือฟังการสาธยายพระสูตรนี้ด้วย ฯลฯ และเพราะเหตุนี้เองจึงมีการนำเนื้อหาพระสูตรบางส่วนไปใช้ในพิธีกรรมในทำนองเดียวกันกับพระปริตรในสังคมพุทธเถรวาท หรือธารณีของพระพุทธศาสนามหายานและวัชรยาน เป็นต้น เนื่องจากพระสูตรได้พรรณนาอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่จากการได้เล่าเรียนเขียนอ่านหรือทรงจำพระสูตร และเผยแพร่ออกไปไม่น้อย จึงไม่น่าแปลกใจที่พระสูตรนี้ (เช่นเดียวกันกับพระสูตรมหายานอื่น ๆ ) จะมีการคัดลอกหลายครั้ง และแปลเป็นหลายภาษา เช่น ภาษาโขตาน ภาษาจีน ภาษามองโกเลีย ภาษาทิเบต เป็นต้น และการเผยแผ่พระสูตรนี้ก็เป็นไปได้อย่าง
กว้างไกลด้วย
Manuscript of Suvarnaprabhasasutra in Khotanese and in pothi form.
The British Library ? British Library Or.9609A/1.1
Sutra of Golden Light Scroll of Suvarnaprabhasasutra in Chinese. Ink on paper. Late 8th century
AD. The protective idea of the mantra, advanced in the sutra, is given further significance in the colophon. – Giles, L, Descriptive Catalogue of the Chinese Manuscripts from Tunhuang
in the British Museum. London : British Museum, 1957.
ความสำคัญของพระสูตรนี้มีการกล่าวไว้ในบทนำของพระสูตรฉบับแปลเป็นภาษาโขตานระบุว่า เหตุผลที่พระสูตรนี้ได้ชื่อว่าเป็น “ราชาแห่งราชาพระสูตร” (สูเตรนทรราชา) เพราะเป็นพระสูตรที่ประกาศความสูงส่งของพระพุทธจริยา ความละเอียดลึกซึ้งของศูนยตา และแสดงธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อนึ่ง พระสูตรยังแสดงถึงอายุที่ยืนยาวนับประมาณไม่ได้ของพระตถาคต การสร้างบารมีอันน่าอัศจรรย์ในอดีตของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย สมาธิการสร้างบารมีอันน่าอัศจรรย์ของพระโพธิสัตว์ ตลอดจนการได้รับพุทธพยากรณ์ของเหล่าเทพบุตร คำสรรเสริญพุทธคุณ การสารภาพความผิด (ที่เคยพลาดพลั้งทำไป) การส่งผลของกรรม การอนุโมทนา คำอธิษฐานและปณิธานทั้งหลายของพระโพธิสัตว์ รวมถึงอานุภาพอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การขจัดบาปธรรมให้สิ้นไป การช่วยเหลือเกื้อกูลสรรพสัตว์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน นอกจากนี้ พระสูตรยังสอนจริยวัตรอันควรแก่กษัตริย์ในการปกครองดูแลประชาชนในแผ่นดินให้ดำรงอยู่ในธรรมเพื่อจะไม่ต้องตกไปในอบาย2
ซากพระเจดีย์และวิหารของวัดในเมืองโบราณโขตาน
อนึ่ง การที่เนื้อหาบางตอนในพระสูตรมีแง่มุมเกี่ยวกับข้อปฏิบัติสำหรับพระราชาในการปกป้องคุ้มครองแว่นแคว้นและประชาชน รวมทั้งแสดงช่องทางในการพัฒนาแว่นแคว้นให้เจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งด้วยอานุภาพพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และด้วยความช่วยเหลือของเหล่าเทพเทวา พระสูตรนี้จึงถูกนำไปใช้กับการเมืองการปกครอง หรือใช้ในพระราชพิธีในบางประเทศ3 หรือพิธีบูชาเทวดา และเพราะชาวพุทธมหายานจำนวนหนึ่งเชื่อว่าการบูชาคัมภีร์ที่บรรจุหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ก็เท่ากับเป็นการบูชาพระธรรมกายอันเป็นเนื้อแท้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในบางท้องที่ จึงนำพระสูตรนี้ไปใช้ในพิธี “บูชาพระธรรม”4 (Bagchi 1967:1) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของพุทธศาสนิกชนท้องถิ่นนั้น ๆ เกี่ยวกับ “ธรรมกาย” ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน
หนังสือ “หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ เล่ม ๑”
ได้กล่าวถึงหลักฐานธรรมกายในชิ้นส่วนคัมภีร์
สุวรรณประภาสสูตรภาษาสันสกฤตใน Hoernle Collection
ด้วยการที่พระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่เกี่ยวข้องกับการบูชา (โดยเฉพาะการบูชาพระคุณของพระรัตนตรัย) ดังนั้น จึงได้ปรากฏว่า “สุวรรณประภาสสูตร” นี้จึงมีการกล่าวถึงคำว่า “ธรรมกาย” ในหลาย ๆ จุด ดังในหนังสือ “หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ เล่ม ๑”5 ได้กล่าวถึงหลักฐานธรรมกายในชิ้นส่วนคัมภีร์สุวรรณประภาสสูตรภาษาสันสกฤตใน Hoernle Collection ที่พบในเอเชียกลาง6 ซึ่งพบคำว่า “ธรรมกาย” ๑ ครั้ง และเนื้อหาที่น่าจะสื่อถึงการเข้าถึงดวงธรรมและพระภายในไปแล้วครั้งหนึ่ง ส่วนบทความนี้จะกล่าวถึง “ธรรมกาย” ที่พบทั้งหมดในพระสูตรฉบับเต็ม (ฉบับ ๑๙ หรือ ๒๑ บท) โดยอาศัยเนื้อหาคัมภีร์ภาษาสันสกฤตของสถาบันมิถิลา7 เป็นหลัก โดยเปรียบเทียบกับฉบับเก่าของโนเบล8
โดยในสวุรรณประภาสสูตรฉบับภาษาสันสกฤตของสถาบันมิถิลา พบคำว่า “ธรรมกาย” ๕ ครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้มีที่ใช้คำว่า “ธรรมกาย” โดยตรง ๓ ครั้ง ส่วนอีก ๒ ครั้งใช้คำว่า “สัทธรรมกาย” ซึ่งมีความหมายเดียวกันกับธรรมกาย เพียงแต่มีการขยายความให้ชัดเจนขึ้นว่า เป็นกายแห่งธรรมแท้ เท่านั้น เช่น ในบทที่ ๒ ตถาคตายุะปฺรมาณนิรฺเทศปริวรฺตะ9 เนื้อหากล่าวถึงประมาณอายุของพระโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามิได้สิ้นสุดเพียงแค่ชันษา ๘๐ พระสูตรบรรยายพระพุทธคุณและพุทธวิสัยอันเป็นอจินไตยไว้มากมายหลายประการ แล้วกล่าวถึง พระสรีรกายว่า เป็นพระกายที่เนรมิตขึ้นมาเพื่อเกื้อกูลสรรพสัตว์ เป็นร่างที่มีความแข็งแกร่งประดุจเพชร และกล่าวถึง “ธรรมกาย” ในคาถาที่ ๒๘ ว่า
ธรฺมกาโย หิ สมฺพุทฺโธ ธรฺมธาตุสฺตถาคตะ
อิทฤโศภควตฺกายอีทฤศี7 ธรฺมเทศนา
(Bagchi 1967 : 9)
(จริงอยู่ ธรรมกายคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมธาตุคือพระตถาคต
พระกายแห่งพระตถาคตเป็นเช่นนี้ พระธรรมเทศนาเป็นเช่นนี้)
ข้อความนี้ แม้จะกล่าวในตอนต้นว่า ธรรมกายเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และธรรมธาตุคือพระตถาคต แต่ในเวลาเดียวกัน ข้อความสุดท้ายกลับกล่าวในทำนองที่ว่าพระธรรมเทศนาก็เป็นเช่นเดียวกันกับพระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งบ่งชี้ว่า ในที่นี้ผู้เขียนกล่าวถึง “ธรรมกาย” ในความหมายว่าเป็น “พระธรรมเทศนา” นั่นเอง และน่าจะเป็นด้วยเหตุนี้ ในบางท้องที่จึงมีการนำเอาพระสูตรนี้ไปใช้ในพิธีบูชาคัมภีร์ หรือ “พิธีบูชาพระธรรม”8 โดยถือว่าเป็นการบูชาธรรมกายอันเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังได้กล่าวไว้ข้างต้น
ภาพเขียนสี พระพุทธเจ้า เมืองโขตาน
Buddha-freske fra Khotan,
Kina. British Museum, London.
ไม่เพียงแต่ข้อความตัวอย่างข้างต้นนี้เท่านั้น หากแต่ใน “สุวรรณประภาสสูตร” นี้ยังปรากฏข้อความสำคัญ ๆ ที่น่าสนใจอื่น ๆ อีกหลายตอน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นการกล่าวสรรเสริญคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความเต็มพร้อมไปด้วย “คุณค่าแท้” ในประการต่าง ๆ แห่งพระสัทธรรม การบำเพ็ญมหาบารมีอย่างยิ่งยวดของพระบรมโพธิสัตว์ อันเป็นการบำรุงเลี้ยง “พระธรรมกาย” ให้เติบใหญ่ ฯลฯ
Cosmological Buddha, Khotan,
(after Bussagli, 1979, p.55).
พระไวโรจนพุทธเจ้า เมืองโขตาน
“สุวรรณประภาสสูตร” จึงมิใช่เป็นเพียงพระสูตรธรรมดา ๆ หากแต่นับว่าเป็นพระสูตรสำคัญที่อาจไขความรู้ หลักการ ตลอดจนวิธีการที่สำคัญสำหรับชาวพุทธ ธรรมปฏิบัติ หลักการสำคัญที่อาจนำไปสู่การหลุดพ้น หรือแม้แต่การนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตให้ผาสุกต่อไปได้อีกด้วย ซึ่งจะต้องศึกษาวิเคราะห์กันอย่างลึกซึ้งต่อไป (อ่านต่อฉบับหน้า)
ในท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอให้ผู้อ่านทุกท่าน นักสร้างบารมีทุกท่าน พุทธศาสนิกชนทุกท่าน จงมีความสุขสวัสดี มีความองอาจกล้าหาญในการร่วมกันรักษามรดกแห่งพระพุทธศาสนาไว้ร่วมกันตลอดไป เทอญฯ ขอเจริญพร
1พระสูตรนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันหลายแบบ เช่น “สุวรรณภาโสตตมสูตร” “สุวรรณประภาโสตตมสูตร” “สุวรรณภาโสตตมสูเตรนทรราชา” หรืออาจเรียกสั้นๆ ว่า “สุวรรณภาสสูตร” หรือ “สุวรรณประภาสสูตร” (Skj?rv? 2004 : xxxii ; Emmerick 1970 : x) สุวรรณประภาสสูตรเป็นหนึ่งในพระสูตรสำคัญที่ชาวพุทธมหายานให้ความสำคัญมาก นิยมคัดลอกเนื้อหาและแปลเป็นภาษาท้องถิ่นหลายภาษาและหลายครั้ง2 ฉบับเก่าแก่ที่สุดมีเนื้อหาสั้นที่สุด คือ ๑๙ บท3 แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามกาลเวลา4 ทั้งเนื้อหาของพระสูตรก็มีความหลากหลาย มิได้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด จึงทำให้นักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า พระสูตรนี้เขียนขึ้นโดยนำเนื้อหาจากหลายแห่งมารวมกันและค่อย ๆ เติมเข้าไป (Emmerick 1670 : ix-xii; Bagchi 1970 : 1-2) โดยที่เนื้อหาหลักจำนวน ๑๙ บทของดั้งเดิมนั้น น่าจะมีการคัดลอกเผยแพร่มาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๙ (Gummer 2015 : 250) หรืออย่างน้อยสักระยะหนึ่งก่อน พ.ศ. ๙๕๗ หรือ ๙๖๓ ซึ่งเป็นปีที่การแปลพระสูตรนี้จากภาษาอินเดียมาเป็นภาษาจีนเสร็จสมบูรณ์เป็นครั้งแรก (Skj?rv? 2004 : xxxii ; Banerjee 2006)
2Skjærvø, Prods O. 2004. This Most Excellent Shine of Gold, King of Kings of Sutras : The Khotanese Suvar?abh?sottamas?tra. Cambridge, MA : Department of Near Eastern Languages and Civilizations, Harvard University.
3Banerjee, Radha. 2006. Suvar?aprabh?sottamas?tra. http://idp.bl.uk/downloads/GoldenLight.pdf.
4Bagchi, S. 1967. Suvarnaprabhasasutra. Darbhanga : The Mithila Institute of Post-Graduate Studies and Research in Sanskrit.
5ชนิดา จันทราศรีไศล. ๒๕๕๗. หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ ฉบับวิชาการ ๑. กรุงเทพมหานคร : รุ่งศิลป์การพิมพ์.
6Thomas, F. W. 1916. “Suvar?aprabh?sottama S?tra.” In A. F. R. Hoernle, eds., Manuscript remains of Buddhist literature found in Eastern Turkestan, pp. 108-116. Oxford : Clarendon Press.
7Bagchi, S. 1967. Suvarnaprabhasasutra. Darbhanga : The Mithila Institute of Post-Graduate Studies and Research in Sanskrit
8Nobel, Johannes. 1937. Suvar?aprabh?sottamas?tra : Das Goldglanz-S?tra; Ein Sanskrittext Des Mah?y?na-Buddhismus. Leipzig : O. Harrassowitz.
9การสะกดคำสันสกฤตดังกล่าวนี้ นักวิชาการปริวรรตมาจากอักษรหรือภาษาตามตัวสะกดเป็นสำคัญ