อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.
ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
ตอนที่ ๙ : สมณะ...กระแสต่อต้านแนวความคิดของพราหมณ์
แม้แนวความคิดในเรื่อง “พรหมัน-อาตมัน” และ “โมกษะ” รวมถึงหลัก “อาศรม ๔” จะได้รับการหยิบยกขึ้นมาตอบโจทย์เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏและความหลุดพ้นในช่วงยุค “อุปนิษัท” ก็ตาม แต่ทว่าแนวคิดที่ทวนกระแสและท้าทายอำนาจของพราหมณ์ ก็ไม่ได้เบาบางลงไป ซึ่งกลุ่มแนวคิดนี้เรียกตนเองว่า “สมณะ” (samaṇa)
ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เราจะได้พบเห็นคำว่า “สมณพราหมณ์” อยู่เนือง ๆ ซึ่งคำคำนี้ได้หมายเอากลุ่มแนวคิด ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ ในยุคปลายอุปนิษัทจนถึงยุคพุทธกาล นั่นคือ กลุ่มของ “สมณะ” และ “พราหมณ์” ดังตัวอย่างที่ปรากฏใน “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” ที่ว่า...
เอตมฺภควตา พาราณสิยํ อิสิปตเน มิคทาเย อนุตฺตรํ ธมฺมจกฺกํ ปวตฺติตํ อปฺปฏิวตฺติยํ สมเณน วา พฺราหฺมเณน วา เทเวน วา มาเรน วา พฺรหฺมุนา วา เกนจิ วา โลกสฺมึ
นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงหมุนแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันกรุงพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก ให้หมุนกลับไม่ได้
แนวคิดของกลุ่ม “สมณะ” นี้ เป็นแนวคิดแบบ “นาสติกะ” (nāstika) เป็นแนวคิดปฏิเสธความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าและคัมภีร์พระเวทอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งไม่ยอมรับขนบธรรมเนียมประเพณีของ “พราหมณ์” ที่นับถือในความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า และคัมภีร์พระเวท ที่เรียกว่า “อาสติกะ” (āstika) โดยในกลุ่มของ “สมณะ” นี้ ยังมีการแบ่งแนวคิดออกเป็นอีก ๒ กลุ่ม คือ
๑. กลุ่มที่มุ่งเน้นการใช้ “ตรรกะ” ในการแสวงหาความรู้ ความหลุดพ้น โดยแนวคิดกลุ่มนี้ นอกจากจะปฏิเสธอำนาจเหนือธรรมชาติอย่างพระเจ้าแล้ว ยังปฏิเสธในเรื่องญาณหยั่งรู้ต่าง ๆอีกด้วย ซึ่งเราสามารถพบเห็นหลักปฏิบัติและแนวคิดของกลุ่มนี้ได้จากคัมภีร์พระพุทธศาสนา อาทิ กลุ่ม “อาชีวก” (Ājīvaka) และ “ปริพาชก” (Paribājaka) เป็นต้น
๒. กลุ่มที่มุ่งเน้นการ “ปฏิบัติ” จนเห็นเป็นที่ประจักษ์ รู้แจ้งเห็นจริงด้วยประสบการณ์ของตนเอง แม้แนวคิดกลุ่มนี้จะปฏิเสธอำนาจเหนือธรรมชาติอย่างพระเจ้า แต่ยอมรับในเรื่องญาณหยั่งรู้ อาทิ แนวคิดของ “เชน” (Jaina) ซึ่งกล่าวกันว่ามีความใกล้เคียงกับแนวคิดบางประการของพระพุทธศาสนา
ในครั้งต่อไป เราจะมาดูแนวคิดของกลุ่ม “สมณะ” นี้กันต่อไป โดยจะหยิบยกเอากลุ่มแนวคิดที่ปรากฏร่วมสมัยกับพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ลัทธิของครูทั้ง ๖”
ครั้งต่อไปเราจะมาดูแนวคิดของกลุ่ม “สมณะ” ในส่วนของครูทั้ง ๖ กันนะครับ