ส่องธรรม ล้ำภาษิต
เรื่อง : พระครูสมุห์ณรงค์ ทนฺตจิตฺโต
พึงละ ๓ สิ่ง
โกธํ ชเห วิปฺปชเหยฺย มานํ สญฺโญชนํ สพฺพมติกฺกเมยฺย
ตนฺนามรูปสฺมึ อสชฺชมานํ อกิญฺจนํ นานุปตนฺติ ทุกฺขา.
บุคคลพึงละความโกรธ พึงเลิกถือตัว พึงก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวง
(เพราะ) ทุกข์ทั้งหลายย่อมไม่ติดตามผู้ไม่ข้องอยู่ในนามรูป ไม่มีกังวลนั้น
(ขุ.ธ. ๒๕/๔๔)
๓ สิ่งที่พึงละ จะหมดทุกข์พบสุขแท้จริง
ยึดมั่นถือมั่นในนามรูป (ขันธ์ ๕) ก็ทุกข์ เพราะขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน
การไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องละสิ่งพึงละ ๓ สิ่งนี้ให้ได้
ละความโกรธ-ความโกรธทำให้ปองร้าย ขัดเคือง ขุ่นเคือง ชิงชัง พยาบาท
เป็นเพลิงโทสะเผาผลาญสัตว์โลกมาช้านาน
ความโกรธเป็นไฟร้าย ทำลายผู้โกรธก่อนใคร ๆ ในโลก ความโกรธจึงเป็นสิ่งที่พึงละ
ละการถือตัว-การถือตัวมี ๓ ลักษณะ
ถือตัวว่าดีกว่าคนอื่น ก็ทำให้ทะนงตน หลงลำพอง
ถือตัวว่าด้อยกว่า ก็ทำให้ท้อแท้ ห่อเหี่ยว ไม่กระตือรือร้น
ถือตัวว่าเสมอ ก็ทำให้ไม่เกรงใจใคร ไม่ฟังใคร ไม่อ่อนน้อมใคร
การถือตัวจึงเป็นสิ่งที่พึงละ
ละกิเลส-กิเลสเป็นสิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมอง
กิเลส ๓ คือ โลภะ (ความโลภ) โทสะ (ความโกรธ) โมหะ (ความหลง)
กิเลสทำให้มนุษย์กระหาย เร่าร้อน ลุ่มหลง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
กิเลสทำให้ใจเสื่อมคุณภาพ ทำให้ชีวิตเสื่อมถอย กิเลสจึงเป็นสิ่งที่พึงละ
การละความโกรธ ละการถือตัว และละกิเลส จึงเป็นหน้าที่สำคัญของมนุษย์ทุกคน
ละก่อน-สุขก่อน ละเร็ว-สุขเร็ว ละหมด-ทุกข์หมด
ละไปทุกวัน สักวันสิ่งมัวหมองต้องหมดอย่างแน่นอน