ผลการปฏิบัติธรรม
เรื่อง : พระบริบูรณ์ ธัมมวิชโช
จงปลดตนเอง
ออกจากพันธนาการแห่งความปรารถนา
แล้วจะสมความปรารถนา
เราต่างซาบซึ้งและตระหนักกันดีว่า การนั่งสมาธินั้นเป็นสิ่งที่ดีเยี่ยมและผลของสมาธิก็เป็นความวิเศษสุดพรรณนา ดังนั้นทุกครั้งที่นั่งสมาธิ นักปฏิบัติเป็นจำนวนมากจึงไม่อาจจะพาตนเองเข้าไปถึงจุดของสมาธิอย่างแท้จริงได้ เพราะติดตรงที่เมื่อเริ่มต้นนั่ง ก็นั่งด้วยความมุ่งหวังหรือความปรารถนาว่า ตนเองจักพบความวิเศษแห่งการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่าง ความเบาสบายหรือองค์พระดวงธรรมผุดซ้อนขยาย เพราะโดยหลักของการปฏิบัติแล้ว เราไม่อาจจะบรรลุวัตถุประสงค์แห่งการทำภาวนาด้วยความอยากได้ อยากเห็น อยากเป็น หรือความคาดหวังใด ๆแต่ต้องเริ่มต้นนั่งอย่างถูกวิธี คือ นำใจมาหยุดมานิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นิ่ง ๆ เฉย ๆ หรือภาวนา “สัมมา อะระหัง” ไปเรื่อย ๆ โดยไม่คาดหวังอะไร เราจึงจะได้พบความสมปรารถนาโดยเราไม่จำเป็นต้องตั้งขึ้นมา เพราะความสมปรารถนาที่ว่ามีอยู่แล้วในตัวเราเอง
ดังเรื่องราวตัวอย่างผลการปฏิบัติธรรมของพุทธบุตร ๒ รูป ที่ท่านเมตตาถ่ายทอด
ประสบการณ์ให้ฟังเป็นตัวอย่าง
พระศรชัย มนฺตชโย อายุ ๕๖ ปี
ศูนย์อบรมวัดพระธรรมกาย
“อาตมาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมีอาชีพรับราชการครูอยู่ที่อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ อาตมาเข้าวัดพระธรรมกายได้เพราะลูกศิษย์ซึ่งเป็นทันตแพทย์มาชวนไปวัดแรก ๆ อาตมาไม่อยากไป เพราะคิดว่าวัดพระธรรมกายก็เหมือนกับวัดอื่น ๆ ที่เคยไป แต่เมื่อไปแล้วก็รู้สึกประทับใจ และตอนหลังได้ฟังหลวงพ่อทัตตชีโวเทศน์เรื่องศีล ๕ ก็ยิ่งประทับใจ รู้สึกถึงความสำคัญของการถือศีล ต่อมาอาตมาจึงอธิษฐานจิตตั้งใจที่จะรักษาศีล ๕ ให้ครบทุกข้อให้ได้ ซึ่งปรากฏว่าทำได้จริง ๆ ตอนหลังอาตมาจึงไปวัดตลอดและชวนคนไปวัดด้วย
“การบวชในครั้งนี้อาตมาคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดแม้ว่าตัดสินใจบวชช้าไปมากก็ตาม ในขณะบวชอาตมาได้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเต็มที่ มีความรู้ความเข้าใจแนวทางการปฏิบัติตนที่ถูกต้องมากขึ้น และได้นั่งสมาธิอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากทำให้มีความสุขสงบแล้ว ยังทำให้เข้าใจตัวเองได้มากขึ้น
“เวลานั่งสมาธิ อาตมานั่งตัวตรงในท่านั่งสมาธิแบบหลวงปู่ก่อนนั่งก็อธิษฐานขอให้หลวงปู่ หลวงพ่อ ช่วยคุมบุญให้ปฏิบัติเข้าถึงธรรมได้โดยง่าย พร้อมกับภาวนา ‘สัมมา อะระหัง’ กำกับ แล้วทำใจนิ่ง ๆ สักครู่ พอใจหยุดนิ่งดีแล้ว ในกลางท้องของอาตมาก็สว่างขึ้น ๆไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่า แสงสว่างนั้นมีความใส แล้วมีรูปองค์พระปรากฏเข้ามาแทนที่ความสว่างจากศูนย์กลางกาย อาตมารู้สึกปลื้มมาก ๆและองค์พระขยายใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
“อาตมารู้สึกว่าการบวชครั้งนี้คุ้มค่ามากจริง ๆ แต่เสียดายที่มาบวชตอนแก่ ทำให้เวลาในการสร้างบารมีน้อย อาตมาเสียดายวันเวลาที่ผ่านไปมาก ๆ”
อาตมารู้สึกว่าการบวชครั้งนี้คุ้มค่ามากจริง ๆ แต่เสียดาย
ที่มาบวชตอนแก่ทำให้เวลาในการสร้างบารมีน้อย
อาตมาเสียดายวันเวลา
ที่ผ่านไปมาก ๆ
พระสุนันต์ กิตฺติปาโล อายุ ๕๒ ปี
ศูนย์อบรมวัดพระธรรมกาย
“อาตมาจบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ชีวิตที่ผ่านมาของอาตมาก็เหมือนชาวโลกทั่วไปที่ต้องทำมาหากินเพื่อเก็บเงินสร้างคุณภาพชีวิตสร้างฐานะและความมั่นคงให้ชีวิต
“ก่อนบวชอาตมาเคยทำงานกับบริษัท ๒ แห่ง ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงที่ทำงานที่สหรัฐอเมริกาอาตมาได้ศึกษาธรรมะ ได้ปฏิบัติธรรม และดูช่อง DMC เกือบทุกวันจนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง คือ อาตมาเริ่มรักษาศีล ๕เป็นปกติ และอุโบสถศีลในวันพระ
“ก่อนหน้านี้อาตมาเคยบวชมาแล้ว ๓ ครั้ง ครั้งละประมาณ๙ วัน ที่ศูนย์อะซูซ่าของวัดพระธรรมกายที่แคลิฟอร์เนีย และเมื่อปีที่แล้วตั้งใจจะบวชอีก แต่โอกาสและเวลาไม่เหมาะสม จึงมาบวชช่วงเข้าพรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้ โดยตั้งใจบวชวันต่อวัน
“เมื่อบวชแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงกับชีวิตไปในทางที่ดีมาก ๆอาตมาได้เรียนรู้ว่า การเป็นพระแท้ต้องทำอย่างไร ได้ฝึกตน ทนหิวบำเพ็ญตบะ รู้จักบาปบุญ คุณโทษ นรกสวรรค์ กฎแห่งกรรมมากขึ้นได้เรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ และสิ่งที่รู้แล้วก็รู้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องบางอย่างทางโลกไม่มีคำตอบให้ แต่ทางธรรมมีคำตอบ
“สำหรับเรื่องการนั่งสมาธินั้น ช่วงที่อยู่ทางโลกได้นั่งสมาธิบ้างเป็นครั้งคราว แต่เมื่อมาบวชได้นั่งเป็นประจำ สำหรับอาตมาคิดว่าสมาธิช่วยให้มีสติสัมปชัญญะอยู่กับตัวเองตลอดเวลา และทำให้รู้สึกเบิกบาน สดชื่น แจ่มใส กระปรี้กระเปร่า
“ก่อนนั่งสมาธิ อาตมาแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกหล้า พร้อมกับนึกถึงองค์พระและภาวนา ‘สัมมาอะระหัง’ จากนั้นนั่งขัดสมาธิ แล้วหลับตาเบา ๆ ไม่ได้คิดอะไรทำใจนิ่ง ๆ ที่ศูนย์กลางกาย อาตมารู้สึกโปร่ง โล่ง เบา สบาย สดชื่นสักครู่ก็มีนิมิตเกิดขึ้น เห็นลักษณะเป็นองค์พระแก้วใสหลายองค์เกิดขึ้น เห็นอยู่สักครู่ใหญ่แล้วก็หายไป ทำให้ใจมีความสุขมาก”
จากผลการปฏิบัติธรรมของพระภิกษุทั้ง ๒ รูป เราจะพบว่าห้วงอารมณ์ที่ทำให้เกิดสมาธิคือ ห้วงอารมณ์ที่ใจหยุดนิ่ง ละเมียดละไม ละเอียดอ่อน เป็นกลาง ๆ ณ จุดแห่งสมาธิ เราจะพบกับความเงียบและความโล่งว่างอย่างแท้จริงที่มีอยู่ในจิตในใจของเราเองเป็นความโล่งว่างที่ดวงใจของเราไม่ถูกกระทำ คือ ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลใด ๆ ไม่มีความกดดันจากความปรารถนาใด ๆ เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วยตัวของตัวเอง ไม่มีอิทธิพลของความรู้สึกกดดันต่าง ๆมาเสี้ยมสอน ความขัดแย้งจะจบสิ้นลงอย่างสิ้นเชิง แต่การทำสมาธิจะล้มเหลวหากมีการใช้กำลังบังเกิดขึ้น แม้การใช้กำลังที่ว่าจะเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ลุ้นลึก ๆ เร่งนิด ๆ พยายามส่งจิตเข้ากลางให้ได้ อย่างนี้เป็นต้น แม้ทำเพียงแค่นี้ใจก็จะค่อย ๆ หลุดหรือถอนออกจากความเป็นสมาธิไปเรื่อย ๆ เพราะสมาธิ คือ ความละเอียดอ่อน คือ อ่อนโยน ละมุนละไม ปลอดโปร่ง โล่ง ว่างเบา สบาย ใจเฉย ๆ เป็นกลาง ๆ ไม่ได้เกิดจากการปรุงแต่งสร้างสรรค์ของจิต แต่เกิดจากการที่เราเข้าไปทำความสำรวมในจิตคือ หยุดนิ่งเฉย ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ และจะถูกสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัว ที่มีธรรมชาติละเอียด สะอาด ดึงดูดเข้าไปสู่กระบวนการแห่งการรับรู้สิ่งที่มีอยู่แล้ว พร้อมกับกลั่นตัวเราให้สะอาด บริสุทธิ์
หลุดพ้นเป็นบรมสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป..
อาตมาได้เรียนรู้ว่าการเป็นพระแท้ต้องทำอย่างไร
ได้ฝึกตน ทนหิวบำเพ็ญตบะรู้จักบาปบุญ คุณโทษ
นรกสวรรค์ กฎแห่งกรรม
มากขึ้น