ข้อคิดรอบตัว
เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D.) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
รวยฝ่าวิกฤต
วิธีจัดการกับวิกฤตข้าวยากหมากแพงแต่รายได้เท่าเดิมทำอย่างไร?
มีอยู่ ๒ วิธี คือ ๑. ลดรายจ่าย ๒. เพิ่มรายได้ ถ้าทำได้เราจะผ่านวิกฤตไปได้อย่างสบาย ๆ คำว่าลดรายจ่ายนั้น ถ้าจะเปรียบเหมือนต้นไม้ก็คือ เราต้องทำตัวเองให้เป็นต้นไม้ที่กินน้ำน้อย ถ้าทำตัวเป็นต้นไม้ใหญ่ที่กินน้ำมากช่วงฝนฟ้าตกตามฤูดกาลเราก็อยู่ได้ แต่ถ้าไปเจอฝนแล้งบางทก็ตาย แต่ถ้ากินน้ำน้อยแล้ว ป้องกันการระเหยได้ดี ฝนไม่ตกเป็นปีบางทียังอยู่ได้
ตัวเราเองเช่นเดียวกัน แม้ภาวะเศรษฐกิจไม่ดีก็ต้องอยู่ให้ได้ เหมือนไม้ที่กินน้ำน้อย แต่ถ้าเกิดภาวะเอื้อให้เมื่อไร พร้อมที่จะทะยานเลย อย่างเช่นไม้ในทะเลทราย น้ำน้อยก็อยู่ได้ แต่ถ้าน้ำมากก็โตเร็ว เหมือนอย่างแก้วมังกร ซึ่งเป็นกระบองเพชรตระกูลหนึ่ง ถ้าเราให้น้ำดี ๆ จะโตเร็ว ให้ผลมาก แต่ให้น้ำน้อยก็อยู่ได้ เราก็ต้องเป็นให้ได้อย่างนั้น ต้องสามารถกลับคืนสู่พื้นฐาน (back to the basic) ว่าจริง ๆ แล้วความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตคืออะไร แต่คนเรามักจะเกิดความคุ้นเคยกับของเดิม ๆ รู้สึกว่าอันนี้ขาดไม่ได้ อันนั้นก็ขาดไม่ได้ ปรากฏว่าลดรายจ่ายได้เดือนหนึ่งแค่ ๕๐๐ บาท ซึ่งยังไม่พอ
ถ้านึกไม่ออกว่าจะลดอย่างไร ขอแนะนำว่าสำหรับท่านชายให้ลองมาบวชด้วยกันสักครั้ง แล้วจะพบว่ารายจ่ายลดลงไปได้อย่างไร เคยพาพระธรรม-ทายาทที่บวชภาคฤดูร้อนไปเดินธุดงค์ที่เขาใหญ่ เวลาเดินธุดงค์ต้องแบกสัมภาระทุกอย่างติดตัวไป เพราะฉะนั้นต้องคิดแล้วคิดอีกว่าของแต่ละชิ้นจำเป็นหรือเปล่า ถ้าเมื่อไรเอาของส่วนเกินไป น้ำหนักก็จะเพิ่มน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ๑ กิโลกรัม มีความหมายมาก เดิน๑๐๐ - ๒๐๐ เมตร ไม่รู้สึก แต่ถ้าเดินวันละ ๒๐กิโลเมตร จะพบว่าน้ำหนักที่ต่างแค่ ๑ กิโลกรัม ก็มีความหมาย ดังนั้นต้องคิดแล้วคิดอีกว่าแต่ละชิ้นจำเป็นจริงหรือเปล่า ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ไม่เอาดีกว่าการเดินธุดงค์ทำให้เห็นได้ชัดว่า สิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตจริง ๆ คืออะไร
หลัก ๆ เราจะรู้ว่าสิ่งจำเป็น คือ ปัจจัย ๔ แต่มีบ้านที่ไหนที่หอบติดตัวไปได้ ถึงเวลากลางคืนกางกลดมีมุ้งครอบเราก็อยู่ได้ เราจะพบว่าจริง ๆ แล้วแค่กลดก็อยู่ได้ มีมุ้งครอบ มีเสื่อผืนก็อยู่ได้ แล้วเราจะตอบตัวเองได้อีกหลายอย่าง ที่เราบอกว่าที่นอนไม่นุ่ม ไม่มีแอร์ อะไรต่าง ๆ นานา พอ back to thebasic จริง ๆ เราจะพบว่า กลดหลังเดียวอยู่กลางทุ่งก็อยู่ได้ ใต้ต้นไม้ก็ได้ นี่คือเรื่องที่อยู่อาศัย
ในเรื่องของเครื่องนุ่งห่ม ถ้าเป็นคนทั่วไปต้องคิดว่าจะใส่ชุดไหนออกจากบ้านดี ชุดนี้ก็ดี ชุดนั้นก็เข้าท่า ไปงานต้องใส่ชุดอย่างนี้จะดูดีขึ้นมาอีกนิดสุดท้ายคือชุดเต็มตู้เลย แต่พอมาบวช ผ้า ๓ ผืน สบงจีวร สังฆาฏิ ก็อยู่ได้ หน้าที่หลักของเครื่องนุ่งห่มจริง ๆ คือ ปกปิดความละอายและป้องกันความหนาวความร้อน เหลือบ ยุง ริ้น ไร ไม่ให้รบกวนจนเกินไปเท่านั้น
ดังนั้น ถ้าเราหาชุดที่กลาง ๆ สุภาพเรียบร้อยใช้ได้เกือบจะทุกโอกาส ถ้าอย่างนี้มีแค่ ๕ - ๖ ชุดก็เหลือเฟือแล้ว แล้วคนที่ทำได้อย่างนี้ก็มีมากมายเช่น จอร์จ วอชิงตัน คาร์เวอร์ บิดาแห่งการเกษตรสมัยใหม่ ที่นำผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมาผ่านกระบวนการทางเคมี สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆมากมาย เขาเกิดมาจากความเป็นทาส แล้วค่อย ๆไต่เต้าขึ้นมา จนสุดท้ายได้รับการยอมรับอย่างสูงชุดที่เขาใส่ไปทำงานวันแรกที่โรงเรียนสอนคนผิวดำเมื่อตอนอายุ ๒๐ กว่าปี กับชุดที่เขาใช้เมื่อวันที่ละจากโลกนี้ไป คือชุดเดียวกัน ดังนั้นคุณค่าของคนไม่ได้อยู่ที่ชุด แต่อยู่ที่คุณธรรมและความรู้ความสามารถ คาร์เวอร์เกิดมาด้วยความเป็นทาส แต่มลรัฐที่เขาอยู่ถือวันตายของเขาเป็นวันหยุดประจำปีของมลรัฐมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าเขาสร้างคุณูปการแก่ประเทศชาติและสังคมโลกมากเหลือเกินเพราะฉะนั้นเรื่องชุดเป็นเรื่องเล็ก แต่คุณธรรม ความรู้ ความสามารถ กับสิ่งที่ทำเพื่อสังคมสำคัญกว่า
ทั้งหมดนี้คือกระบวนการลดรายจ่าย พอกินน้ำน้อยแล้วมันยืนได้นาน ไม่ต้องห่วงอะไรมาก แม้มีรายได้มานิดหน่อย มีน้ำมานิดเดียวก็ยังหล่อเลี้ยงชีวิตตัวเองไปได้
ถามว่าต้องทำอย่างไร จริง ๆ แล้วเศรษฐกิจจะเกิดวิกฤตขนาดไหนก็แล้วแต่ กิจกรรมทางธุรกิจก็ยังดำเนินไปได้ อาจจะซบเซาลงไปบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะหยุด หยุดซื้อหยุดขายกันหมด จริง ๆยังมีการซื้อการขาย มีการทำธุรกิจอยู่แต่ลดลงกว่าเก่าเท่านั้นเอง ทั่วโลกก็เป็นอย่างนี้
แล้วมีหลักความจริงอยู่อย่างหนึ่งว่า ทุกธุรกิจล้วนต้องการคู่ธุรกิจที่ไว้วางใจได้ เศรษฐกิจแย่ ๆอย่างนี้ บริษัทก่อสร้างว่างงานกันเป็นแถว แต่บางบริษัทมีงานทำจนล้นมือ งานเข้ามาเยอะจนกระทั่งแทบจะจัดสรรคนไปรองรับงานไม่ไหว เพราะเขาทำได้ดี พอทำดีทุกคนก็อยากมาจ้าง เจ้าอื่นว่างงานไม่มีใครจ้าง แต่เจ้านี้คนแห่กันมาจ้าง เพราะฝีมือดีผลงานดี พองานเสร็จก็เกิดการบอกต่อ พอบอกต่อคนอื่นก็อยากจะมาจ้างอีก เพราะฉะนั้นถ้าเราทำให้ตัวเรามีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น คือ
๑. ซื่อสัตย์ ๒. มีความรับผิดชอบ มีความสามารถใคร ๆ ก็แห่เข้ามา ถ้าเรารักษาตรงนี้ได้ อย่างไรเราก็อยู่ได้ แล้วก็โตสวนกระแสแน่นอน
มีท่านหนึ่งทำขนมปัง ขนมเค้กต่าง ๆ ขาย มีสาขา ๔ - ๕ แห่ง ยอดขายวันหนึ่งทุกสาขารวมกันแล้วประมาณหนึ่งล้านบาท ผลกำไรไม่ต้องพูดถึงเพราะพวกอาหารกำไรพอสมควรอยู่แล้ว ขายได้วันละล้าน นี่คือเรื่องจริง เพราะทุกชิ้นที่ร้านนี้ผลิตอร่อยหมดทุกอย่าง มีคุณภาพ และมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ขนมเค้กรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมาตลอดเวลา ไม่มีการจำเจลูกค้าแห่กันมาซื้อมากมาย ขนมแพงกว่าร้านอื่นหลายเท่า แต่ก็มีคนซื้อ ขายได้วันละล้าน ผลิตภัณฑ์แป้งก็เป็นแบบคุณภาพ คัดดีกว่าเขา แต่ก็ไม่ได้แพงกว่ากันมากมาย ส่วนผสมทุกอย่างคุณภาพชั้นหนึ่งทั้งนั้น แต่ราคาของขนมที่ผลิตออกมาแพงกว่าร้านอื่นหลายเท่าตัว แล้วคนก็ยังแห่มาซื้อ มันอยู่ที่ว่าถ้าเราสร้างความแตกต่างในผลิตภัณฑ์ของเราขึ้นมาได้ หรือว่าผลิตภัณฑ์นั้นโดดเด่นขึ้นมา อย่างไรก็ไปได้
บางคนบอกว่าตัวเองไม่ใช่เจ้าของกิจการ แต่เป็นพนักงานในบริษัท กำลังเล็งอยู่ว่าจะถูกเจ้านายลอยแพหรือเปล่า ไปเตรียมตัวทำขนมปังดีไหม ตอบว่าในแง่ตัวบุคคลก็เหมือนกัน ตัวเราเองเสมือนเป็นผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่ง เราจะสร้างคุณค่าในตัวเราได้อย่างไร สมมุติว่าถ้าพนักงานบริษัทมีอยู่ ๑,๐๐๐ คนเขาให้ออกไป ๙๐๐ คน เราจะอยู่ในจำนวน ๑๐๐ คนที่เหลือได้ เราต้องเป็นคนที่มีคุณค่าของบริษัท เราต้องสร้างความแตกต่าง ถามว่าจะสร้างอย่างไร หลักการเดียวกันคือ ทุกธุรกิจต้องการคนซื่อสัตย์ไว้ใจได้ คนที่รับผิดชอบงาน คนที่มีฝีมือ มีความรู้ ความสามารถถ้าบริษัทรู้ว่าพนักงานคนนี้ซื่อสัตย์ ไม่มีลับลมคมในไม่มีเม้มเข้ากระเป๋า ไว้วางใจได้ แค่นี้ก็กินขาด แถมยังรับผิดชอบงานอีก มอบหมายงานอะไรก็ทำจนเสร็จไม่อู้ รับอะไรมาแล้วก็ทำสุดฝีมือจนเสร็จ แล้วยังหมั่นศึกษาเรียนรู้พัฒนาตัวเองตลอด ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่สามารถก้าวทันเทคโนโลยี ทันการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่รับผิดชอบอยู่ได้ ถ้าอย่างนี้ละก็ไม่มีเจ้านายคนไหนเอาออก มีแต่รักษาไว้ เพราะรู้ว่าคนอย่างนี้คือคนที่จะค้ำบริษัท
คนที่บริษัทจะเอาออก คือคนที่เป็นเหมือนส่วนเกิน ตอนธุรกิจดี ๆ ก็เลี้ยงเอาไว้ พอไม่ดีเขาก็ต้องเอากาฝากออกก่อนเลย ถ้าเราพัฒนาตัวเองได้ดีเราก็เป็นเสมือนแก่นแกนลำต้นของบริษัท ซึ่งจะทำให้เรามีความมั่นคงในตัวเอง เพราะคนอย่างนี้มีคุณค่าเจ้านายต้องง้อ กลัวว่าจะลาออกไปอยู่ที่อื่น แล้วคนแบบนี้ถ้าจะไปทำธุรกิจส่วนตัวก็จะประสบความสำเร็จ แต่จะเป็นอย่างนี้ได้ต้องสร้างคุณค่าและความแตกต่างขึ้นมา โดยใช้หลักการเดียวกัน
มีหนี้อย่างไรไม่ให้ทุกข์?
ต้องแบ่งเป็น ๒ กรณี กรณีที่ ๑ คือ กรณีที่มีหนี้ไปแล้ว กรณีที่ ๒ คือ กรณีที่ยังไม่มีหนี้ ถ้าอย่างกรณีที่ ๒ นี้ ไม่ยาก เราก็อย่าไปก่อหนี้ ซึ่งหนี้โดยทั่วไปมี ๒ แบบ แบบที่ ๑ หนี้เพื่อการบริโภค คือ ใช้แล้วหมดไป อันนี้ให้หลีกเลี่ยงที่สุด ไม่จำเป็นจริง ๆหัวเด็ดตีนขาดไม่เอาเลย ถ้าจะมีหนี้ควรเป็นหนี้เพื่อการลงทุน อย่างเช่นการผ่อนบ้าน แม้เป็นหนี้แบบหนึ่งแต่ว่าเรามีสินทรัพย์อยู่ในมือ แต่ถ้าไปรูดบัตรเครดิตมาซื้อของ อย่างนี้ไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะเป็นหนี้เพื่อการบริโภค และมันจะหมดไปกับสิ่งที่ไม่ควร ไม่ใช่ความจำเป็นจริง ๆ แต่มีคนเป็นหนี้แบบนี้กันมากสำหรับคนที่เป็นหนี้ไปแล้ว ถามว่าจะทำอย่างไรก็ต้องมีกระบวนการแก้ปัญหา ซึ่งต้องว่าเป็นกรณี ๆไป แต่โดยหลักการพื้นฐานสุดท้ายหนีไม่พ้น back tothe basic คือ ลดรายจ่าย แล้วเพิ่มรายได้ เสร็จแล้วในเรื่องหนี้ก็หาทาง refinance คือ ถ้าเป็นหนี้ที่ดอกเบี้ยแพง ๆ ก็หาทางทำให้ดอกเบี้ยถูกกว่านั้นบางอย่างต้องเจรจาประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ ก็ต้องทำ แล้วจากนั้นเราต้องลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ แล้วค่อย ๆ เคลียร์หนี้ให้หมดไป
ธรรมะสำหรับคนมีหนี้มีอย่างไรบ้าง?
ตามหลักพระพุทธศาสนา เรารู้ว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากผลบุญผลบาปที่เราเคยทำไว้ เรื่องกฎแห่งกรรม ใครทำกรรมอย่างไรก็จะได้รับผลอย่างนั้น นี่คือสิ่งที่เราทุกคนทราบ เพราะฉะนั้นหนี้ที่เกิดขึ้น เราเป็นคนก่อเอง แล้วบางอย่างก็ไม่ใช่เราก่ออย่างเดียว แต่เจ้าหนี้โหดด้วย คืออันดับ ๑ เป็นที่ตัวเรา ว่าเราเลือกอย่างไรถึงกู้หนี้อันนี้ อันดับที่ ๒ คือบางอย่างเป็นวิบากกรรมในปัจจุบัน บางอย่างก็เป็นวิบากกรรมในอดีตชาติที่เราไม่รู้ ภพในอดีตเราอาจจะเป็นเจ้าหนี้โหด ๆ วิบากกรรมก็เลยตามมาให้เราเจอเจ้าหนี้อย่างนี้บ้าง ดังนั้นทั้งหมดที่เราเจอขณะนี้มันเกิดจากผลกรรมที่เคยทำไว้ทั้งในอดีตชาติและปัจจุบันชาติมาประมวลรวมกันส่งผลให้เจอ แต่เราก็
รู้หลักอีกอย่างหนึ่งว่า แต่ละวันเราสร้างกรรมใหม่เรื่อย ๆ ทั้งที่เป็นบุญและเป็นบาป เราจึงต้องหลีกเลี่ยงว่าแต่ละวันอย่าไปสร้างอกุศลกรรม ให้พลั้งเผลอน้อยที่สุด ให้สร้างบุญเยอะ ๆ ไม่ว่าจะด้วยการให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนา
บางคนบอกหนี้ยังเยอะแล้วจะให้ทานได้อย่างไรให้เราใส่กระปุกหยอดวันละสลึงก็ได้ คงไม่ทำให้เดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีกมากมายเท่าไร ให้คิดเรื่องทานพอใจคิดเรื่องทานแล้ว จะได้ไปเหนี่ยวนำบุญในอดีตที่เรายังมีอยู่ ซึ่งบางทีมันขาดช่วงไป ให้มาเชื่อมต่อแล้วก็ส่งผลดี ๆ แก่ตัวของเรา
มีหลักอย่างนี้ว่า ประการแรก คนเราแต่ละคนเวียนว่ายตายเกิดนับภพนับชาติไม่ถ้วน ชาติที่เราเคยเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกก็เคยมี จนสุด ๆ ก็เคยมี แต่เราลืม เพราะบางทีเราก็ทำบุญ บางทีก็ตระหนี่ สลับกันไป ดังนั้นเวลาสมบัติเกิด จะเกิดเป็นช่วง ๆ บางทีรวย แต่พอความตระหนี่ตอนนั้นมาส่งผลก็เลยจน แต่ตอนที่จนก็ยังมีบุญเก่าภพใดภพหนึ่งรออยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราได้สร้างบุญใหม่ใจคิดถึงเรื่องการให้ขึ้นมาเมื่อไร จะเกิดบุญใหม่ขึ้นมาที่ใจเรา แล้วจะไปเหนี่ยวนำบุญเก่าที่ขาดช่วงให้มาเชื่อมต่อ ถ้าสายสมบัติเชื่อมกันติดอย่างนี้ จะเป็นเหตุปัจจัยภายในที่ดึงดูดทรัพย์ใหม่ ๆ ภายนอกมาถึงเรา เราจะกลับมีฐานะขึ้นมาได้อีก อาจจะไปเจอคน เจอจังหวะทางธุรกิจที่ลงตัว สุดท้ายก็ฟื้นขึ้นมาได้ ดังนั้นอย่าดูเบาเรื่องการให้ทาน แม้ตอนที่กำลังลำบากสุด ๆ ก็ต้องคิดเรื่องให้ทาน เราอาจจะไม่ได้ให้อะไรมากมาย แต่ขอให้คิดถึงการให้ทุกวัน จะมากจะน้อยก็ให้ สลึงก็ให้ บาทก็ให้ เท่าไรก็ให้ หยอดกระปุกเอาไว้เต็มเมื่อไรไปทำบุญ นี่คือการทำทาน
ประการที่ ๒ คือ รักษาศีล ประการที่ ๓ คือ ทำสมาธิภาวนา นี่คือบุญกิริยาวัตถุที่ทำให้เกิดบุญ ถ้าทำอย่างนี้แล้วบุญจะมาหล่อเลี้ยงใจเรา แล้วบุญที่เราสร้างในแต่ละวัน ในขณะที่มีกายมนุษย์อยู่มีผลมาก แค่ผลบุญที่เราสร้างในหนึ่งวัน ก็มากพอที่จะทำให้เราเป็นเศรษฐีใหญ่ทั้งชาติได้ในชาติใดชาติหนึ่งต่อไปในภายหน้า ที่เราเจอความลำบากขณะนี้ มันเกิดจากวิบากกรรมในอดีต เราก็ค่อย ๆ เคลียร์ ค่อย ๆ แก้ไปแต่บุญใหม่ที่เราสร้างวันนี้ทวีคูณเป็นล้าน ๆ เท่า ดังนั้นแต่ละวันปัญหาที่มีเราก็แก้ไป แต่บุญเราก็ต้องสร้างทำอย่างนี้แล้วให้หลับด้วยความสุขได้ทุกวันเลยว่า วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันที่เรามีกำไรชีวิต เกิดมาชาตินี้วันนี้คุ้มแล้ว หลับอย่างสบายใจได้ แม้ว่าหนี้เรายังไม่หมดก็ตาม ปัญหามีแก้ไป งานเราก็ทำไป บุญเราก็สร้างไปสมาธิเราก็นั่งไป เราได้สร้างเหตุที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในอนาคตอีกมหาศาล ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นมันมากกว่าปัญหาที่เราเจอตรงนี้มาก ทำได้อย่างนี้ทุกวัน ๆ เราจะเป็นลูกหนี้ที่มีความสุข ใจจะแจ่มใส ผ่องใส หลับแล้วหน้าไม่นิ่ว คิ้วไม่ขมวด แต่ว่ามองปัญหาได้อย่างชัดเจนด้วยใจที่นิ่ง ๆ แล้วเห็นช่องทางการแก้ปัญหาได้อย่างดีด้วย
เคล็ดลับเศรษฐีมีอะไรบ้าง?
คาถาหัวใจเศรษฐี “อุ อา กะ สะ” เอามาจากหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงบอกว่า คนเราถ้าประกอบด้วยธรรม ๔ ข้อนี้ จะรวยเป็นเศรษฐี
อุ ย่อมาจาก อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยันนั่นเอง ขยันทำมาหากิน หารายได้
อา ย่อมาจาก อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการเก็บรักษา คือ เก็บทรัพย์เป็น การเก็บทรัพย์ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เป็นเรื่องสำคัญว่าจะเก็บในรูปแบบไหนที่เหมาะสม หาได้ต้องเก็บเป็นด้วย
กะ ย่อมาจาก กัลยาณมิตตตา คือ มีเพื่อนดี ถ้าใช้ศัพท์ปัจจุบันคือมี connection ดี มีเครือข่ายคนดีรอบตัว ใครทำธุรกิจจะเข้าใจตรงนี้ดีว่า การมีพรรคพวกในวงการธุรกิจทำให้เรามีข้อมูล ทำให้เราประสบความสำเร็จ การมีเครือข่ายคนดีรอบตัวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการประสบความสำเร็จในธุรกิจ
สะ ย่อมาจาก สมชีวิตา คือ เลี้ยงชีวิตเหมาะสม ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ทำธุรกิจก็ไม่ลงทุนเกินตัว ทุกอย่างพอดี ๆ แล้วจะไปได้ดี
ถ้าทำครบ ๔ ข้อ คือ หาเป็น เก็บเป็น มีเครือข่ายคนดี แล้วใช้ทรัพย์ได้เหมาะสม เราก็จะเป็นเศรษฐี....