วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ความสันโดษ ทรัพย์อันประเสริฐ

DOU ความรู้สากล
เรื่อง : พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙

 

ความสันโดษ ทรัพย์อันประเสริฐ,เนื้อนาใน,อยู่ในบุญ

ความสันโดษ ทรัพย์อันประเสริฐ

      มีธรรมอยู่ ๒ ข้อ คือ “สันโดษ” (ความยินดีในของของตน) กับ “อัปปิจฉา” (ความมักน้อย) ซึ่งคนส่วนมากเข้าใจสับสนกันอยู่ จึงเอาธรรม ๒ ข้อนี้ไปรวมกัน คือ ชอบพูดว่า“สันโดษมักน้อย” เลยทำให้เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า สันโดษ คือ ความมักน้อย เกิดความเข้าใจว่า ธรรมข้อนี้สอนให้คนเราอยากมีอะไรน้อย ๆ และยินดีตามที่ตนมีตนได้ ได้อย่างไรก็พอใจอยู่แค่นั้น เมื่อเกิดความเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็มักคิดเลยเถิดไปว่า ธรรมข้อนี้เป็นเครื่องถ่วงความเจริญก้าวหน้าของตนและประเทศชาติ บางคนยังเกิดความเข้าใจวิปลาสออกไปถึงขนาดกล่าวว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คนเกียจคร้าน

       ความสันโดษ คือ ความยินดีในของของตน พอใจด้วยปัจจัย ๔ คือ ผ้านุ่งห่ม อาหารที่นอนที่นั่ง และยา ตามมีตามได้ การมีความสุขความพอใจด้วยเครื่องเลี้ยงชีพที่หามาได้ด้วยความเพียรพยายามอันชอบธรรม
ของตน ไม่โลภ ไม่ริษยาใครความจริงธรรม ๒ ข้อนี้ มีความหมายตามหลักพระพุทธศาสนา ดังนี้“สันโดษ” คือ ความยินดี พอใจในของที่ตนมี“อัปปิจฉา” คือ ความมักน้อย   

      ถ้ามีคำถามว่า การที่พ่อแม่รักลูก พอใจในลูกของตนนั้น เป็นสิ่งที่ดีไหม การที่สามีพอใจในภรรยาของตนเป็นสิ่งที่ดีไหม ภิกษุรักวัดของตนเป็นสิ่งที่ดีไหม พลเมืองรักชาติบ้านเมืองของตนเป็นสิ่งที่ดีไหม คำตอบก็คือ
เป็นสิ่งที่ดี

      ผู้ที่มีความพอใจในของของตนก็คือ ผู้มีความสันโดษ ซึ่งสำนวนในพระพุทธศาสนาท่านใช้ว่า “ยินดีในของที่ตนมี”เมื่อเราพอใจในบุคคลหรือสถาบันใด ๆแล้ว เราย่อมป้องกันรักษา ทำนุบำรุง และส่งเสริมให้เจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า สันโดษทำให้เจริญ ในทางตรงกันข้ามความไม่สันโดษย่อมทำให้เสื่อม เช่น ชายที่มีภรรยาแล้วไม่พอใจในภรรยาของตน กลับไปรักหญิงอื่นหรือภรรยาคนอื่น หรือเรื่องทรัพย์สินเงินทอง ตลอดจนเรื่องตำแหน่งหน้าที่การงานก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากขาดความสันโดษก็อาจเป็นเหตุให้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือรับสินบนได้ ทั้งนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงสอนให้เราไม่ปรับปรุงตนเองให้เจริญก้าวหน้าแต่ทรงสอนให้เราพอใจตามมีตามได้และแสวงหาโดยสุจริตเท่านั้น

    พระพุทธศาสนาได้จัด “สันโดษ” เป็นนาถกรณธรรม คือ ธรรมอันเป็นที่พึ่งข้อหนึ่งเพราะเป็นธรรมที่ช่วยปรับปรุงตัวเราให้เป็นคนขยัน ไม่ดูถูกตนเอง มีความพอใจและเชื่อมั่นในตนเอง ทั้งป้องกันตัวเองไม่ให้ประพฤติผิดศีลธรรมและกฎหมายได้ด้วยสันโดษในแง่ที่เป็นธรรมปฏิบัติของภิกษุนั้นแบ่งออกเป็น ๓ ประการ คือ

     ๑) ยถาลาภสันโดษ คือ ยินดีตามที่ได้หมายความว่า เมื่อได้สิ่งใดมาด้วยความเพียรของตน ก็พอใจในสิ่งนั้น ไม่เดือดร้อนเพราะอยากได้ของที่ไม่ได้ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของคนอื่น ไม่ริษยาคนอื่น๒) ยถาพลสันโดษ คือ ยินดีตามกำลังหมายความว่า พอใจเพียงแค่พอแก่กำลังร่างกาย สุขภาพ และขอบเขตการใช้สอย
ของตน ของที่เกินกำลังก็ไม่หวงแหนเสียดายไม่เก็บไว้ให้เสียเปล่า หรือไม่ฝืนใช้ให้เป็นโทษแก่ตน

  ๒) ยถาพลสันโดษ คือ ยินดีตามกำลังหมายความว่า พอใจเพียงแค่พอแก่กำลังร่างกาย สุขภาพ และขอบเขตการใช้สอยของตน ของที่เกินกำลังก็ไม่หวงแหนเสียดายไม่เก็บไว้ให้เสียเปล่า หรือไม่ฝืนใช้ให้เป็นโทษแก่ตน

    ๓) ยถาสารุปปสันโดษ คือ ยินดีตามสมควร หมายความว่า พอใจตามที่สมควรแก่ภาวะ ฐานะ แนวทางชีวิตและจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน เช่น ภิกษุพอใจแต่ของอันเหมาะสมแก่สมณสารูป หรือหากได้ของใช้ที่ไม่เหมาะกับตน แต่จะมีประโยชน์แก่ผู้อื่นก็นำไปมอบให้แก่เขา เป็นต้น

     ความสันโดษนี้มุ่งหมายไปที่การสันโดษในปัจจัย ๔ ซึ่งภิกษุที่สันโดษก็ไม่จำเป็นจะต้องอยู่แบบไม่มีอะไร ต้องอยู่แบบซอมซ่ออย่างที่เรียกกันติดปากว่า ต้องสมถะติดดินเท่านั้น ไม่ใช้ข้าวของปัจจัย ๔ อะไรเลย แต่ความสันโดษทำให้เราพอใจยินดีในสิ่งที่ได้มา ไม่ว่าจะมากหรือน้อย หรือดีเลวอย่างไรก็ยินดีทั้งนั้น สิ่งใดก่อให้เกิดความสบายแก่ตน ก็ยินดีต่อสิ่งนั้นสิ่งใดสมควรแก่ตน ก็ยินดีต่อสิ่งนั้น ซึ่งสันโดษนี้จะแตกต่างกับความมักน้อย เพราะสันโดษไม่มีการจำกัดว่ามากน้อยเท่าใด แต่ให้ยินดีในสิ่งที่ได้มา และเมื่อภิกษุสันโดษแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปอวดอ้างคุณความดีว่าตนเป็นผู้สันโดษ เพราะการกระทำเช่นนั้นกลับกลายเป็นการถือตัว มีมานะ หรือบางครั้งก็เป็นสันโดษแบบกุหนา คือ ทำตนว่าเป็นผู้สันโดษมักน้อย ไม่ปรารถนาจะรับสิ่งของใด ๆ เพื่อทำให้ทายกนึกนิยมสรรเสริญตน และคิดว่าถ้าหาเครื่องไทยธรรมมาถวายพระภิกษุรูปนี้ก็จะได้บุญมาก ความสันโดษเช่นนี้เป็นการสันโดษที่ทำให้กิเลสเพิ่มพูนขึ้น ไม่ถือว่าเป็นจุดมุ่งหมายของความสันโดษ

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญความสันโดษไว้ว่า “ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างเยี่ยม” หมายความว่า ความยินดีด้วยของของตนนั้นเป็นทรัพย์อันประเสริฐ เพราะเป็นเหตุให้เกิดความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปส่วนความไม่ยินดีในของของตนนั้น เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายหรือเสื่อมทรามอย่างยิ่ง ดังเช่นพระเทวทัตที่ขาดความสันโดษไม่รู้จักประมาณตนว่ายังไม่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลเลย เมื่อเห็นพระอรหันตสาวกรูปอื่นได้รับความเคารพสักการะมากกว่าตนก็เกิดความริษยาเร่าร้อนใจ ทำให้หลงลืมการบำเพ็ญสมณธรรม กลับไปทะเยอทะยานหวังให้มีผู้คนมาเคารพสักการะมาก ๆ เฝ้าคิดวางแผนการร้ายต่าง ๆ จนต้องก่อกรรมทำเข็ญถึงกับถูกธรณีสูบในที่สุด ก็เพราะขาดสันโดษนี่เอง

     ความสันโดษมีคุณมากแก่ผู้คนในสังคมที่มีค่านิยมในการให้ความสำคัญกับเปลือกนอกที่แสดงให้เห็นผ่านทางวัตถุมากกว่าการยอมรับในคุณค่าของตัวตนที่แท้จริงของกันและกันปัญหาในสังคมแห่งชนชั้น เหยียดหยามดูแคลนกันและกันจะไม่เกิดขึ้นเลยหากเราฝึกที่จะมีความสันโดษ และเมื่อมีความสันโดษ ชีวิตก็จะมีความสุขในแบบที่เราเป็นได้

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๗๓ เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๐

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล