เรื่องเด่น
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เมื่อประมาณ ๕-๖ ปีมานี้ คำว่า Mes Aynak (เมส ไซนัค) ซึ่งเป็นที่ตั้ง พุทธโบราณสถานในประเทศอัฟกานิสถาน เริ่มเป็นที่ รู้จักและสนใจของชาวโลกมากขึ้น เมื่อบริษัทแห่งหนึ่งของจีนชนะการ ประมูลทำเหมืองแร่ทองแดงที่เมส ไซนัค ซึ่งเป็นแหล่งแร่ทองแดงที่ใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของโลก และหากมีการทำเหมือง พุทธสถานเก่าแก่หลายแห่งในบริเวณนี้จะถูกทำลายจนไม่เหลือซาก ในขณะที่รัฐบาลอัฟกานิสถานมีเหตุผลและความจำเป็นทางเศรษฐกิจ องค์กร NGO และองค์กรพระพุทธศาสนาทั่วโลกก็มีเหตุผลที่จะต้องอนุรักษ์พุทธโบราณสถาน เมส ไซนัค เอาไว้ เพื่อเป็นมรดกอันล้ำค่าของโลกใบนี้ และเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังเห็นร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของ พระพุทธศาสนาในอดีต
ด้วยเหตุนี้องค์กรต่าง ๆ จากทั่วโลกจึงร่วมกันรณรงค์เพื่อพิทักษ์พุทธโบราณสถาน เมส ไซนัค ด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิเช่นจัดประชุมและรวบรวมรายชื่อเสนอต่อผู้รับผิดชอบ เช่น UNESCO และประธานาธิบดีแห่งอัฟกานิสถาน ฯลฯ เพื่อหาทางประนีประนอมให้ขุดเจาะเหมือง ทองแดงโดยไม่ทำลายพุทธสถาน
ครั้งหนึ่ง พระพุทธศาสนา เคยรุ่งเรืองสูงสุดในดินแดนนี้
อัฟกานิสถานในอดีตเป็นแหล่ง รวมความเจริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนา จึงมีโบราณสถานและพระพุทธรูปเก่าแก่หลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งพระพุทธรูปยืนสูง ๕๕ เมตร ที่ บามิยัน ซึ่งถูกรัฐบาลตาลีบันระเบิดทำลายไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งสร้างความสะเทือนใจแก่คนทั้งโลก
เมส ไซนัค ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงคาบูล (Kabul) เมืองหลวงของประเทศอัฟกานิสถาน ห่างออกไปประมาณ ๔๐ กิโลเมตร บริเวณที่ตั้งเมสไซนัคในปัจจุบัน อดีตคืออาณาเขตของแคว้นคันธาระ ซึ่งเป็นแคว้นที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอดีต และเป็นสถานที่ที่มีพระพุทธรูปเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก รวมทั้งเป็นที่ตั้งของโบราณสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาจำนวนมาก มีทั้งวัด วิหาร เจดีย์ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ทั้งสิ้น ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่มีการสำรวจพบมรดกอันล้ำค่าทางพระพุทธศาสนาจำนวนมากที่นี่ เช่น ซากหลักฐานอารามสงฆ์ ร่องรอยของโบสถ์ประดับด้วยประติมากรรมดินเหนียว
ภาพวาดฝาผนัง ภาพเขียน ฝาผนังแสดงพุทธประวัติ และพระพุทธรูปเก่าแก่นับพันองค์ รวมทั้งโบราณวัตถุอีกมากมายนอกจากนี้ยังมีพุทธสถานอีกหลายสิบแห่งในบริเวณกว่า ๒๕๐ ไร่ ที่ยังไม่ได้ขุดค้น
ปกป้องพุทธสถานเมส ไซนัค เป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคน
แ ม้ว่า อัฟ ก า นิส ถ า น จ ะ มีกฎหมายเกี่ยวกับการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ แต่ปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศทำให้รัฐบาลอัฟกานิสถานไม่อาจเลิกล้มการสัมปทานเหมืองทองแดง ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันปกป้องพุทธสถานแห่งนี้ ซึ่งการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องพุทธสถาน เมส ไซนัค เริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนเมื่อสมาพันธ์พิทักษ์โบราณสถานแห่ง อัฟกานิสถาน (APAA) พยายามรวบรวม รายชื่อ เพื่อยื่นอุทธรณ์ไปยัง UNESCO ให้ใส่ชื่อโบราณสถานแห่งนี้ไว้ในกลุ่มโบราณสถานที่กำลังถูกคุกคาม และขอให้รักษาพื้นที่แกนหลักของแหล่งโบราณคดีนี้ไว้ แต่ก็สามารถรวบรวมรายชื่อได้เพียง ๕๐๐ ชื่อเท่านั้น
ต่อมา เมื่อพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายและประธานมูลนิธิธรรมกายทราบข่าว ท่านจึงให้การสนับสนุนการรวบรวมรายชื่อ ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกพระธัมฯ และพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างดียิ่ง ทำให้การรวบรวมรายชื่อครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ ๕๐,๐๐๐ รายชื่อ ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์
ถวายโล่ประกาศเกียรติคุณแด่ พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)
คุณนาเดีย ทาร์ซี ประธาน APAA รู้สึกซาบซึ้งใจในความเมตตาของพระเทพญาณมหามุนี เป็นอย่างยิ่ง จึงเดินทางมาถวายโล่ประกาศเกียรติคุณแด่พระเทพญาณมหามุนีที่วัดพระธรรมกาย ในฐานะที่ท่านและหมู่คณะร่วมมือกับ นานาชาติทั่วโลกปกป้องพุทธโบราณสถาน เมส ไซนัค และยื่นจดหมายขอบคุณองค์กรเครือข่าย รวมทั้งร่วมบรรยายและอภิปรายหา แนวทางในการพิทักษ์พุทธโบราณสถาน เมส ไซนัค ที่ห้องประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยมี องค์กรการศึกษา สถาบันวิจัย และองค์กร
ทางพระพุทธศาสนาในประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และองค์กรพระพุทธศาสนา ระหว่างประเทศ ร่วมกับคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภา ผู้แทนราษฎร มูลนิธิธรรมกาย และองค์กร เครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมเป็นคณะกรรมการจัดงาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมฟัง การบรรยายทั้งสิ้นกว่า ๒๕๐ ท่าน การบรรยายครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้ ความรู้แก่พุทธศาสนิกชนไทย และผู้ที่สนใจ เรื่องราวของพุทธสถาน เมส ไซนัค เพื่อรวบรวมความคิดเห็นของผู้ทรงคุณธรรมทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้สนใจทั่วไปในการกำหนดเป็นแนวทางพิทักษ์รักษาและ อนุรักษ์พุทธโบราณสถานดังกล่าวเสนอแก่ผู้เกี่ยวข้องต่อไป
สามัคคี คือพลัง และทางรอด
เมส ไซนัค มีกำหนดให้ ถูกทำลายให้เสร็จสิ้นภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยบริษัทที่เป็นเจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ทองแดงของรัฐบาลจีน ล่าสุด APAA และองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกได้นำเสนอวิธีการที่ดีที่สุดในการอนุรักษ์
พุทธสถาน เมส ไซนัค แห่งอัฟกานิสถานให้คงไว้เป็นสมบัติของชาวพุทธทั่วโลก ด้วยการย้ายพระพุทธรูป รูปปั้น และสิ่งก่อสร้างออกจาก เมส ไซนัค ก่อนการทำเหมืองแร่ทองแดงจะเริ่มขึ้น ซึ่งบริษัทที่ได้รับสัมปทานให้เวลานักโบราณคดี ๓ ปี เพื่อขุดค้นพุทธสถานแห่งนี้ ในฐานะที่ประเทศไทยได้รับเกียรติ จากองค์กรพุทธทั่วโลก ให้ทำหน้าที่เป็นผู้นำ ทางความคิดในระหว่างการจัดสัมมนาในหัวข้อต่าง ๆ ชาวพุทธและองค์กรพระพุทธศาสนาของไทยจึงมีหน้าที่เป็นปาก เสียงแทนชาวพุทธทั่วโลกในเรื่องนี้ ซึ่งสำหรับประเด็นปัญหานี้เราก็พยายามทำอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันชาวพุทธยังไม่เป็นหนึ่งเดียวกันจึงยังไม่มีพลังมากพอที่จะไปกำหนดทิศทางของเรื่องนี้ได้ทั้งหมด ดังนั้นความสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวพุทธควรสร้างให้เกิดขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจคุ้มครองปกปักรักษาพระพุทธศาสนาที่จะมีขึ้นในอนาคต
“โลกจะไม่ถูกทำลายโดยคนที่ทำไม่ดีแต่ถูกทำลายโดยคนที่ได้แต่มองโดยไม่ทำอะไรเลย”
อัลเบิร์ต ไอสไตน์