คอลัมน์ท้ายเล่ม
เรื่อง : โค้ก อลงกรณ์
รอยไม้เรียว
“ตั้งแต่เข้าวัดมาเคยถูกไม้เรียวตีบ้างไหม?”
คำถามจากเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ผมตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าผู้ถามไม่คุ้นเคยกันมาก่อน คงต้องคิดว่าผมดื้อมาก น่าจะต้องโดนไม้เรียวฟาดบ่อย ๆ หรือไม่ก็คงเห็นว่าผมเรียบร้อยมาก ชีวิตคงไม่น่าจะเคยสัมผัสไม้เรียว แต่ในเมื่อคนถามคือเพื่อนสนิทกัน ผมจึงต้องคาดเดาว่าคงเป็นคำถามหยอกล้อ จึงตอบไปว่า เคยโดนตีครับ!
“แล้วใครเป็นคนตี?”
“คิดว่าใครตีล่ะครับ ถ้าไม่ใช่หลวงพ่อ”
“หลวงพ่อตีจริง ๆ เลยหรือ?”
“ครับ!” สีหน้าเขาไม่ค่อยอยากจะเชื่อ
“ถูกตีบ่อยไหม?”
“เป็นประจำ”
“จริง ๆ หรือ”
“ถ้าไม่เชื่อก็ลองดูนี่ ‘รอยไม้เรียว’ ”
ช่วงแรก ๆ ที่เข้ามาช่วยรับบุญดูแลอุปัฏฐากหลวงพ่อ อะไรที่ไม่เคยทำก็ต้องเริ่มฝึกทำให้เป็น หลายอย่างที่ทำเป็นก็ต้องมาปรับให้ดียิ่งขึ้น แต่ก็มีบ้างที่ทำอะไรผิดพลาด
หลวงพ่อเล่าให้ฟังถึงคำที่คุณยายบอกท่าน เวลาที่ใครเขาทำผิด อย่าไปดุ อย่าไปด่าว่าเขา แต่ให้สอนเขา สอนเขาว่าที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร สอนอย่างนี้เขาจะไม่โกรธเกลียดเรา ผมจะนึกถึงคำของคุณยายเสมอ เมื่อผมทำหน้าที่แล้วเกิดการผิดพลาด
โดยทั่วไปเมื่อทำอะไรผิดจะรู้สึกกลัวถูกทำโทษ สมัยที่ยังเด็ก เวลาที่น่ากลัวที่สุดคือ ก่อนจะถูกก้านมะยมเป็นกำ ๆ ฟาดลงมาที่น่อง เช่นเดียวกับตอนที่ต้องลุกออกไปยืนหน้าชั้นเรียน โดยมีคุณครูยืนถือไม้เรียวรออยู่
แม้ตอนนั้นจะเข้าใจลึกซึ้งว่า ‘ไม้เรียว’ คือสัญลักษณ์ตัวแทนของความรัก ความหวังดี ของพ่อแม่ ครู ผู้ปกครอง ที่แฝงมาในรูปของคำสอนก็ตาม แต่มันก็ยังเป็นสิ่งที่ น่ากลัวอยู่ดี
หากทดลองแทนค่า ‘คำสอน’ ด้วย ‘ไม้เรียว’ ลงในคำสอนของคุณยายที่ว่า อย่าไปดุ ด่า ว่า แต่ให้ ‘สอน’ ผลลัพธ์ที่ได้คือ อย่าไปดุ ด่า ว่า แต่ให้ ‘ไม้เรียว’
ให้ไม้เรียว ความหมายก็คือ ให้ตี
ดังนั้น เวลาที่เห็นใครทำผิด อย่าไปดุ อย่าไปด่าว่าเขา แต่ให้สอนเขา หรือให้
ไม้เรียวกับเขา ความหมายก็คือให้ลงมือตี
ตั้งแต่อยู่วัดมาเคยถูกไม้เรียวตีไหม?
เคยครับ !
ใครเป็นคนตี?
แล้วคิดว่าใครจะตีล่ะครับ ถ้าไม่ใช่หลวงพ่อ
ผมถูกท่านตีครั้งแรกและน่าจะเป็นครั้งที่หนักที่สุดของผมด้วยสาเหตุมาจากเรื่องตัดต้นไม้
หลวงพ่อท่านเป็นคนที่รักต้นไม้มาก ยิ่งสมัยก่อนพื้นที่ในวัดเป็นดินเปรี้ยว ต้นไม้โตยาก กว่าจะปลูกขึ้นมาได้แต่ละต้นลำบากและใช้เวลานานมาก ต้นไม้ในวัดจึงเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าทางใจสูงที่หลวงพ่อท่านหวงแหน ดังนั้นถ้าต้นไม้ในวัดถูกตัดเมื่อไรมักจะเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งใคร ๆ ก็รู้ ยกเว้นผมเท่านั้นที่เป็นผู้มาใหม่ยังไม่ทราบธรรมเนียมนี้
บ่ายวันหนึ่งเจ้าคนที่ยังไม่รู้ธรรมเนียมปฏิบัติก็ปีนขึ้นไปตัดกิ่งการเวกที่เลื้อยคลุมหลังคากุฏิของท่านออก พอท่านกลับเข้ามาที่กุฏิช่วงค่ำ ความมืดก็มาช่วยปกคลุมให้ทุกอย่างเป็นปกติเรียบร้อยดี ยังไม่เกิดอะไรขึ้น แต่พอรุ่งเช้าเท่านั้น ความสว่างก็มาเปิดความมืดคลุมหลังคาออกเผยความจริงให้ปรากฏ ถ้าเป็นหนังการ์ตูน ฉากเหตุการณ์นี้จะต้องมีเสียงอึกทึกครึกโครม เกิดโกลาหล ทุกคนจะต้องออกตามหาตัวการกันจ้าละหวั่นในขณะที่อีกฉากหนึ่ง เจ้าตัวการกำลังหลบซ่อนตัวอยู่ในมุมมืด นั่งกอดเข่าตัวสั่นด้วยความหวาดกลัว
แต่บรรยากาศที่เกิดขึ้นจริงต่างจากฉากในการ์ตูนอย่างสิ้นเชิง แต่ความรู้สึกกลัวจริง ๆ นั้นยิ่งกว่า ก่อนที่ผมจะเดินเข้าไปกราบเรียนหลวงพ่อว่า ผมเป็นคนตัด เหตุเพราะมีหนูขึ้นมาอาศัยทำรังบนหลังคา กลัวว่าหนูจะวิ่งส่งเสียงรำคาญหลวงพ่อเวลาจำวัด ความรู้สึกที่กลัวในเวลานั้นคือ ถ้าเดินเข้าไปแล้ว กลัวไม้เรียวในมือท่านจะฟาดลงมาอย่างแรงที่กลางใจ
เมื่อวินาทีแห่งความจริงมาถึง พอเดินเข้าไปผมเห็นหลวงพ่อท่านนั่งนิ่ง ๆ ไม่พูดอะไรสักคำ หลังจากนั้นอีกสักพักใหญ่ ๆ ท่านก็ตีผมเบา ๆ ด้วยคำสอนที่ว่า จะทำอะไรให้ดูดี ๆ คิดให้รอบคอบเสียก่อน
เหตุการณ์นี้ท่านตีผมด้วยแรงไม้เรียวที่แสนเบา แต่รอยไม้เรียวยังคงแจ่มชัดในความทรงจำ
ตั้งแต่เข้าวัดมา ครั้งนี้เป็นครั้งที่ผมถูกตีหนักที่สุด ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับการลง ไม้เรียวของหลวงพ่อคุณครูไม่เล็กอย่างที่คนอื่นเขาเจอกัน
ครั้งหนึ่งหลวงพ่อคุณครูไม่เล็กอธิบายถึงความจำเป็นของการถือศีล ๕ ให้สามีภรรยา คู่หนึ่งฟังว่า คนถือศีล ๕ อุปมาเหมือนคนเติมน้ำในแท็งก์ ถ้าแท็งก์รั่วก็เติมไม่เต็ม เราสั่งสมบุญเพราะต้องการบุญ ถ้าเราถือศีล ๕ ไม่ครบ เหมือนเราเจาะแท็งก์ บุญก็รั่ว เติมเท่าไรก็ไม่เต็มสักที
เมื่อทั้งคู่เห็นความสำคัญของศีล ๕ และตั้งใจที่จะรักษาศีลอย่างเคร่งครัด ทางฝ่ายภรรยาก็เกิดรู้สึกเห็นใจสามีที่จะต้องทำงานหนักและจะต้องรักษาศีลควบคู่ไปด้วย จึงพูดขอเปิดโอกาสผ่อนปรนเพื่อยืดหยุ่นให้สามีของเธอมีโอกาสได้สูบบุหรี่บ้าง
หลวงพ่อคุณครูไม่เล็กฟังแล้วก็ตีด้วยไม้เรียวเลยว่า “ในโลกนี้มันก็มีเรื่องอยู่ ๓ เรื่อง หนึ่งเรื่องของกู สองเรื่องของมึง สามเรื่องของมัน มึงจะให้แฟนมึงสูบบุหรี่ก็เป็นเรื่องของมึง ไม่ใช่เรื่องของกู แต่กูถามนิดเดียว วันนี้มึงไม่รวย อีกสิบปีถ้ามึงรวย ถ้าเกิดวันนั้นแฟนมึงขอยืดหยุ่นมีแฟนเพิ่ม มึงจะทำยังไง มึงยืดหยุ่นไหมล่ะ” รอยไม้เรียวครั้งนี้ ซิบ ๆ ที่ใจ ทำให้ทั้งคู่ได้คิด และเกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา
การลงไม้เรียวของหลวงพ่อทั้งสองนั้นคนละแบบ ผมไม่อยากนึกเลยว่า ถ้าเกิดโดนฟาดแรง ๆ สักครั้งจะเป็นอย่างไร แต่คิดว่าไม่น่าจะโดนแล้ว เพราะพออายุมากขึ้น เรากลับโดนตีน้อยลง และที่ผ่านมาหลายต่อหลายครั้ง หลวงพ่อท่านก็อดใจ เงื้อมือแล้วไม่ตี
การไม่ลงมือตี ไม่ได้หมายถึงท่านไม่สอน การไม่ตีคือการสอนที่ไม่ใช้คำพูด
การที่เห็นท่านนิ่งเงียบ สำหรับผมคือให้โอกาสเรากลับมาคิดทบทวน
บ่อยครั้งที่ผมรู้สึกว่า การที่ท่านอดใจถือไม้เรียวค้างไว้ ไม่ตีนั้น กลับเกิดรอย ไม้เรียวชัดเจนในใจเรามากกว่าท่านลงมือตีจริง ๆ เสียอีก
หากโดนตีแม้เพียงครั้งเดียวก็ตาม เราต้องปรับปรุง อย่าผิดอีก เพราะไม่มีใครอยากตีเราซ้ำ ๆ ในเรื่องเดิม ๆ ดีที่สุดคือโดนตีทีเดียวเราต้องจำ นำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาเตือนและสอนตัวเองให้ได้ตลอด เหมือนที่หลวงพ่อคุณครูไม่ใหญ่ท่านบอกไว้ว่า “อย่างพวกเราไม่ต้องพูดอะไรกันเยอะ โอวาทที่เคยให้สามารถเอามาใช้ได้อีกเรื่อย ๆ เอามาใช้ได้ตลอดชาติ เช่นเดียวกับที่พ่อแม่ให้กายมนุษย์เรามาแล้ว เราสามารถหายใจได้เองตลอดชาติ”
ตั้งแต่เข้าวัดมาเราต่างเคยถูกไม้เรียวตี
ถ้า ‘ไม้เรียว’ คือสัญลักษณ์ของ ‘คำสอน’
บางครั้งไม้เรียวทำหน้าที่ ‘ตี’ บางทีก็ ‘ขู่’
ตีให้จำ ขู่ให้กลัว ให้เราไม่กล้าทำผิด
เชื่อว่าไม่มีใครไม่ถูกหลวงพ่อทั้งสองของพวกเราตี
จำได้ไหมครับว่าเราถูกตีด้วยเรื่องอะไรบ้าง?
มาถึงวันนี้ ลองถามตัวเองดูสิว่า
รอยไม้เรียวที่ถูกตีนั้นยังแจ่มชัดในความทรงจำอยู่ไหม!
.................................