วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ธรรมกาย ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทยุคต้น

 

บทความพิเศษ
เรื่อง : ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล
 
ธรรมกาย
ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทยุคต้น
 
องค์พระ ธรรมกาย ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทยุคต้น
 
 
        พระไตรปิฎกเป็นแหล่งความรู้สำคัญในพระพุทธศาสนา พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในประเทศศรีลังการาวพุทธศตวรรษที่ ๕ จากนั้นก็คัดลอกกันเรื่อยมาในดินแดนอุษาคเนย์
 
        เมื่อมีประเด็นถกเถียงในวงวิชาการว่าธรรมกายนั้นหมายถึงกายแห่งการตรัสรู้ธรรมหรือหมวดหมู่แห่งคำสอนของพระพุทธองค์  กันแน่ ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล จึงได้ค้นคว้าหาคำตอบจากพระไตรปิฎกบาลี จากการวิเคราะห์อย่างลุ่มลึกในเชิงภาษา ได้คำตอบที่ยืนยันว่า ธรรมกายนั้น น่าจะหมายถึง “กายแห่งธรรม” หรือ “กายแห่งการตรัสรู้ธรรม” มากกว่าอย่างอื่น เนื่องจากในอัคคัญญสูตร พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า “ธรรม” ในความหมายว่าเป็นสิ่งสูงสุด คำว่า “ธรรม” จึงควรหมายถึง “โลกุตตรธรรม” ส่วนความหมายของ “กาย” มีเหตุผลที่ยืนยันได้ชัดเจนว่าเป็น “องค์รวมที่ทำหน้าที่ได้” อันเป็นความหมายแบบเดียวกับ “ร่างกาย” 
 
        ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล บ.ศ.๙ จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านศาสนศึกษาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันกำลังทำการวิจัยเรื่องธรรมกายจากคัมภีร์โบราณภาษาคานธารีและสันสกฤตที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา
 
         “ธรรมกาย” เป็นคำที่คุ้นเคยกันดีในหมู่   ชาวพุทธ แต่ความหมายของธรรมกายในใจของชาวพุทธแต่ละกลุ่มอาจไม่เหมือนกัน ในขณะที่ชาวพุทธในบางประเทศรู้จักธรรมกายเพียงในฐานะที่เป็น “คำสอนของพระพุทธองค์” ชาวพุทธในบางท้องที่กลับรู้จักธรรมกายมาช้านานในฐานะที่เป็นกายแห่งการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือกายอันเป็นที่รวมคุณธรรมและคุณวิเศษของพระองค์ หรือในฐานะที่เป็นกายที่แท้ หรือตัวตนที่แท้จริงของพระพุทธองค์ 
 
        เมื่อความเข้าใจเรื่องธรรมกายในหมู่ชาวพุทธแตกต่างกันอย่างนี้ จึงน่าศึกษาว่า คำว่า “ธรรมกาย” ในคำสอนเก่าแก่ที่เก็บรักษาไว้โดยชาวพุทธในแต่ละท้องถิ่นนั้นเป็นอย่างไร 
 
          เริ่มต้นจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว คือความหมายของธรรมกายในพระพุทธศาสนาเถรวาทยุคต้น โดยศึกษาที่ตัวหลักฐาน คือข้อความที่ปรากฏคำว่า “ธรรมกาย” ใน พระไตรปิฎกบาลี อันเป็นตัวแทนคำสอนที่เก่าแก่ที่สุดในพระพุทธศาสนาเถรวาท 
 
         ในพระไตรปิฎกบาลี พบคำว่า ธรรมกาย ๔ แห่ง คือ ๑ แห่งใน อัคคัญญสูตร และอีก ๓ แห่งใน อปทาน ซึ่งบทความนี้ จะนำเสนอในเชิงวิเคราะห์อย่างง่าย เพื่อพิจารณาความน่าจะเป็นในเชิงวิชาการ สำหรับความหมายของธรรมกายในพระไตรปิฎกบาลี 
 
1. อัคคัญญสูตร: คำว่า ธรรมกาย เป็นชื่อของพระตถาคต
 
          หลักฐานชิ้นแรกในพระไตรปิฎกบาลี ที่ปรากฏคำว่า “ธรรมกาย” อยู่ในอัคคัญญสูตร     ปาฏิกวรรคในทีฆนิกาย เป็นข้อความที่พระพุทธ-องค์ตรัสกับสามเณรสองรูป นามว่า วาเสฏฐะและภารทวาชะ ผู้ออกบวชจากตระกูลพราหมณ์ เนื้อหากล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ที่ได้ชื่อว่า เป็น บุตรของพระพุทธองค์ ดังนี้
 
        “วาเสฏฐะและภารทวาชะ ใครก็ตามที่มีศรัทธาตั้งมั่นในพระตถาคต หยั่งรากลึก มั่นคง โดยที่สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกไม่อาจทำให้กลับกลายได้ ควรเรียกผู้นั้นว่า เป็นบุตรเกิดแต่พระอุระ เกิดแต่พระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้เกิดจากธรรม เป็นผู้ที่ธรรมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทแห่งธรรม ทั้งนี้ เพราะอะไร เพราะคำว่า ธรรมกาย พรหมกาย ธรรมภูต หรือ พรหมภูต ก็ตาม ล้วน เป็นชื่อของตถาคต” (แปลอย่างง่าย จากพระไตรปิฎกบาลีสยามรัฐ เล่มที่ ๑๑ ข้อ ๕๕ หน้า ๙๒)
 
        ข้อความเกี่ยวกับ “ธรรมกาย” ในอัคคัญญสูตรนี้ เป็นหลักฐานเพียงชิ้นเดียวในพระไตรปิฎกบาลี ที่นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องธรรมกายในพระพุทธศาสนายุคดั้งเดิมทุกคนอ้างอิงถึง แต่ก็ตีความต่างกันไป 
 
       บางท่านว่า “ธรรมกาย” เป็นคำนาม แปลว่า หมวดหมู่แห่งคำสอนของพระพุทธองค์ บางท่านว่า เป็นคำคุณศัพท์ ที่ขยายความว่ากายที่แท้จริงของพระพุทธองค์ ก็คือ คำสอนที่ทรงมอบให้กับพุทธบริษัท และบางท่านตีความว่า กายของพระองค์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ส่วนธรรมชาติที่แท้ของพระองค์นั้น ก็คือ นิพพาน 
 
         ยังมีบางท่านแสดงความเห็นเพียงว่า คำว่า “ธรรมกาย” มีมานานแล้ว ส่วนการตีความ      ธรรมกายว่าหมายถึงคำสอนของพระพุทธองค์นั้น เกิดขึ้นในภายหลัง ...
 
         เนื่องจากธรรมกายเป็นคำสมาส เกิดจากคำว่า ธรรม + กาย ดังนั้นการที่ตีความธรรมกายแตกต่างกันไป ก็เป็นเพราะความหมายที่หลากหลายของคำศัพท์ทั้ง ๒ นี้เอง
 
        กาย อาจหมายถึง ตัว ตน ร่างกาย หรือจะหมายถึง ที่ประชุมรวม กลุ่ม หมวดหมู่ พวก ฝูง กอง ก็ได้
 
         ธรรม อาจหมายถึง ธรรมชาติที่มีอยู่จริงและเข้าถึงได้ และอาจหมายถึง คำสอน หรือ ถ้อยคำที่กล่าวถึงธรรมชาติที่มีอยู่จริงนั้น ก็ได้เช่นเดียวกัน 
 
        เมื่อองค์ประกอบทั้งสองมีนัยหลากหลายอย่างนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่การศึกษาด้วย      สุตมยปัญญา และ จินตมยปัญญา คือด้วยการเรียนรู้และด้วยการตรึกตรอง จะทำให้เข้าใจความหมายของธรรมกายในนัยที่แตกต่างกันได้ จนกว่าจะได้เข้าถึงธรรมแท้ที่มีอยู่ภายในตนด้วยตนเอง อันเป็นความเข้าใจโดยภาวนามยปัญญา คือปัญญาอันเกิดจากการเจริญภาวนา
 
(อ่านต่อฉบับหน้า)
 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 127 พฤษภาคม ปี2556

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล