การกราบ (อภิวาท)
เป็นการแสดงความเคารพอ่อนน้อมถ่อมตนสูงสุดกว่า กิริยาอาการแสดงความเคารพทั้งหลายทั้งในทางโลก และทางธรรม
การกราบพระรัตนตรัย
นิยมกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๕ คือ หัวเข่า ๒ ฝ่ามือ ๒ หน้าผาก ๑ ให้จรดลงแนบกับพื้น และกราบ ๓ ครั้ง
๑. การเตรียมกราบ โดยอุบาสกนั่งท่าเทพบุตรและอุบาสิกานั่งท่าเทพธิดา วางมือทั้งสองไว้บนหน้าตัก
๒. กราบ ซึ่งมีจังหวะปฏิบัติ ๓ จังหวะ คือ
จังหวะที่ ๑ “อัญชลี” คือ ยกมือขึ้นประนมระหว่างอก
จังหวะที่ ๒ “วันทา” คือ ยกมือขึ้นประนม โดยให้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองอยู่ระหว่างคิ้วปลายนิ้วชี้จรดหน้าผาก
จังหวะที่ ๓ “อภิวาท” คือ หมอบกราบลงให้หน้าผากจรดพื้น ในระหว่างฝ่ามือทั้งสองวางฝ่ามือแบราบลงแนบกับพื้นห่างกันหนึ่งฝ่ามือ สำหรับอุบาสกนิยมให้ข้อศอกทั้งสองต่อกับเข่าทั้งสอง ส่วนอุบาสิกานิยมให้ข้อศอกทั้งสองขนาบเข่า
๓. เงยหน้าขึ้น อยู่ในท่านั่งคุกเข่า แล้วปฏิบัติตามจังหวะเดิม ๑-๒-๓ จนครบ ๓ ครั้ง
๔. ยกขึ้นจบ เมื่อเงยหน้าขึ้นครั้งที่ ๓ จึงเสร็จพิธี
สำหรับการกราบพระภิกษุสงฆ์ต้องคุกเข่าทั้ง ๒ ข้างลง แล้วเดินเข่าเข้าไปได้ระยะใกล้พอสมควรจึงนั่งคุกเข่าลงกราบ แล้วเดินเข่าถอยหลังออกมาเล็กน้อย จากนั้นยืนขึ้นเดินถอยเฉียงออกไป
การกราบบุคคล
การกราบบุคคลจะกระทำเฉพาะผู้มี
อาวุโสมาก เช่น บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ที่มี
อายุสูง โดยกราบไม่แบบมือนิยมกราบเพียงครั้งเดียวมีวิธีปฏิบัติดังนี้
๑. นั่งพับเพียบแบบเก็บเท้าตะแคงตัวด้านข้าง ไปทางบุคคลที่จะกราบนั้น
๒. หมอบลงกับพื้น พร้อมกับวางแขนขวาลงกราบกับพื้นตลอด ครึ่งแขนจากข้อศอกถึงมือตั้งสันมือขึ้นวางแขนซ้ายลงคู่กับแขนขวา มือทั้งสองแนบชิดแบบประนมมือให้ศอกขวาอยู่ข้างลำตัวศอกซ้ายต่อเข่าขวา
๓. ก้มศรีษะลงให้หน้าผากจรดสันมือ ปลายนิ้วชี้อยู่ระหว่างคิ้ว อย่ายกหัวแม่มือขึ้นมารับหน้าผากเป็นอันขาด และให้กราบเพียง ๑ ครั้ง เรียกการกราบแบบนี้ว่า กราบลงศอกแล้วเงยหน้าขึ้นอยู่ในท่านั่งพับเพียบ หรืออยู่ในท่าหมอบแล้วแต่กรณี
๔. เมื่อลุกขึ้นจากการหมอบ ใช้วางแขนทั้งสองข้างราบกับพื้น ยกส่วนสะโพกขึ้นก่อนแล้วยกตัวขึ้นตามคลานเข่าถอยหลังออกมาเล็กน้อย จึงลุกขึ้นยืนเฉียงออกมา อย่าหันหลังให้แล้วเดินออกมาจะเป็นกิริยาที่ขาดความเคารพ