พิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
พิธีวิสาขบูชา
ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ตรงกับวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประชาชนจึงพากันทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนาตอนเช้าครั้นตอนย่ำค่ำ ต่างพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องสักการะไปพร้อมกันที่วัด โดยยืนเบื้องหน้าพระพุทธปฏิมา กล่าวคำบูชา และเดินเวียนเทียน ทำวัตร สวดมนต์ และฟังพระธรรมเทศนาต่อไปจึงเสร็จพิธี
พิธีเข้าพรรษา ออกพรรษา
ปฐมเหตุที่จะมีประเพณีเข้าพรรษาในพุทธศาสนานั้น ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ประทับ ณ กรุงราชคฤห์ ในฤดูฝน ภิกษุพวกฉัพพัคคีย์ (๖ รูป) เทียวสัญจรไปมา ย่ำเหยียบข้าวกล้าในนาของชาวเมืองให้เสียหาย เพราะไม่รู้จักกาลเทศะ ประชาชนพากันติเตียน พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมให้ภิกษุอยู่จำพรรษา ๓ เดือน นับแต่แรม ๓ ค่ำ เดือน ๘ ถึงกลางเดือน ๑๑ ห้ามมิให้ไปพักค้างคืน ณ ที่อื่น
วันเข้าพรรษา
ถือกันว่าเป็นวันพิเศษในพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนขมักเขม้นในการบุญกุศลยิ่งกว่าธรรมดาบางคนรักษาศีลอุโบสถถึง ๓ เดือน (ไตรมาส) บางคนไปวัดฟังเทศน์ทั้ง ๓ เดือนตั้งใจงดเว้นบาปทั้งปวงส่วนพระภิกษุสงฆ์เมื่อใกล้ถึงวันเข้าพรรษา ก็ปัดกวาดเสนาสนะ ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมยิ่ง ๆ ขึ้น ในวันเข้าพรรษาจะประชุมกันในพระอุโบสด ไหว้พระ สวดมนต์ ทำพิธีเข้าพรรษา (อธิษฐานพรรษา)แล้วขอขมาต่อกันและกัน ครั้นในวันต่อไปก็เอาดอกไม้ ธูป เทียน ไปขอขมาพระเถรานุระต่างวัดซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ
วันออกพรรษา
พระสงฆ์จะทำปวารณาแทนการทำอุโบสด คือ เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ และเมื่อออกพรรษาแล้วภิกษุจะไปค้างแรมที่ใด ๆ ก็ได้ตามพุทธานุญาตสำหรับพุทธศาสนิกชน เมื่อวันออกพรรษาต่างพากันไปทำบุญตักบาตร รักษาศีล เจริญภาวนา ฟังเทศน์ตามวัดวาอารามต่างๆ
พิธีทอดกฐิน
คำว่ากฐิน คือ กรอบไม้สำหรับขึงผ้าให้ตึง เพื่อสะดวกแก่การเย็บปัก ซึ่งเรียกว่า สะดึง
ผ้ากฐิน คือ ผ้าสำเร็จรูปโดยอาศัยไม้สะดึงขึงผ้าแล้วช่วยกันเย็บ เมื่อสำเร็จเป็นรูปแล้วก็ปลดออกจากสะดึง
การทอดกฐิน คือ ทอดผ้าซึ่งเย็บจากไม้สะดึงนั่นเอง (แม้ปัจจุบันไม่ได้ใช้สะดึงแล้วก็ยังเรียกเหมือนเดิม จึงเป็นความหมายสำหรับพิธีประจำปีไป) เขตทอดกฐิน ตามวินัยบัญญัติ คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นเวลา ๑ เดือน
พิธีมาฆบูชา
ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต แปลว่า การประชุม ที่ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
๑.พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกัน
๒.ท่านเหล่านั้นอุปสมบทจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งสิ้น (เอหิภิกขุอุปสัมปทา)
๓.ท่านเหล่านั้นมาประชุมโดยมิได้นัดหมาย
๔.วันนั้นเป็นวันเพ็ญเต็มดวงเสวยมาฆฤกษ์ และวันเพ็ญเดือนมาฆะนี้ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปลง อายุสังขาร(ตกลงพระทัยเพื่อจะปรินิพพาน) ในพรรษาสุดท้ายของพระพุทธองค์
พิธีจุดมาฆประทีปรอบมหาธรรมการเจดีย์
พุทธศาสนิกชนนิยมทำบุญตักบาตรไปวัดฟังพระธรรมเทศนา ส่วนทางวัดก็มีการจัดประทีป ธูป เทียน เป็นเครื่องบูชา บางวัดก็เทศน์ตลอดรุ่ง บางวัดก็จุดมาฆประทีปบูชาพระพุทธเจ้าอย่างยิ่งใหญ่ และเมื่อถึงเวลาพระภิกษุและสามเณรตลอดทั้งพุทธศาสนิกชนต่างเตรียมดอกไม้ ธูป เทียนไปประชุมพร้อมกัน ในพระอุโบสด พุทธศาสนิกชนยืนเบื้องหลังพระสงฆ์สามเณรจุดธูปเทียนประนมมือ กล่าวคำบูชา พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และกล่าวถึงกาลกำหนดวันมาฆบูชา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ ฯลฯ
ต่อจากนั้นก็เดินเวียนเทียนรอบพระสถูปหรือพระเจดีย์ ๓ รอบ เดินด้วยอาการสงบเสงี่ยม จะระลึกถึงพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ด้วยการสวดบท อิติปิโส ภควาฯ ก็ได้ จากนั้นพุทธศาสนิกชนก็จะมาประชุมพร้อมกันใน พระอุโบสด หรือศาลาฟังธรรม ทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังพระธรรมเทศนาต่อไป